ความมหัศจรรย์ของคณิตศาสตร์กับ Computer Science MUSLIMTHAIPOST

 

ความมหัศจรรย์ของคณิตศาสตร์กับ Computer Science


1,023 ผู้ชม

เหตุผลที่ “คณิตศาสตร์” มีความสำคัญจนต้องนำมาเรียนกันอย่างลึกซึ้งเป็นภาควิชา เขาเรียนอะไรกัน ? และตอบทุกข้อข้องใจให้น้องๆ สำหรับการเรียน Computer Science



ความมหัศจรรย์ของคณิตศาสตร์กับ Computer Science

ขอขอบคุณ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย





สำหรับน้องๆ ที่สนใจจะเรียน Computer Science หรือ ภาควิชาคณิตศาสตร์ เรามีคำตอบให้ค่ะ ว่าเรียนอะไรกันบ้าง










ขอขอบพระคุณอาจารย์ผู้ให้สัมภาษณ์

ศาสตราจารย์ ดร. ชิดชนก เหลือสินทรัพย์
ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การศึกษา
 Ph.D. (Computer Science) University of Illinois at Urbana-Champaign
 M.S. (Computer Science) University of Illinois at Urbana-Champaign
 B.Eng. (Computer Engineering) Chulalongkorn University
หัวข้องานวิจัย  Neural Network,  VLSI Design automation
ขอขอบคุณเป็นพิเศษ สำหรับนิสิตปริญญาเอก ภาควิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์

นายวิธวินท์ สุสุทธิ


นายพีระพล ขุนอาสา

น.ส.ปิยะนันท์ พนากานต์




 จากการที่มีน้องๆ ได้มาโพสต์ไว้ในกระทู้เว็บวิชาการว่า Computer Science เขาเรียนอะไรกัน พี่ๆ ทีมงานจึงค้นหาข้อมูลจนได้ทราบว่า Computer Science อยู่ในภาควิชาคณิตศาสตร์ค่ะ ทำให้เกิดคำถามในใจว่า เหตุใด “คณิตศาสตร์” ต้องเรียนกันลึกซึ้งเป็นภาควิชา


ทีมงานวิชาการจึงได้ไปสัมภาษณ์อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมนิสิตปริญญาเอก จากภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตอบข้อข้องใจของน้องๆ (และทีมงาน) ค่ะ


ความสำคัญของคณิตศาสตร์ที่ต้องเรียนกันอย่างลึกซึ้ง
ศ.ดร.ชิดชนก - คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาที่ดี สอนให้มีความคิดเป็นระบบ คิดอย่างเป็นขั้นตอนที่แน่นอน มีเหตุมีผลประกอบของสิ่งต่างๆ ได้ดี รวมทั้งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวิจัยด้วย เพราะหากไม่มีเครื่องมือในการวิจัย งานวิจัยจะไม่ก้าวหน้า


ความยากง่ายของการเรียนคณิตศาสตร์
ศ.ดร.ชิดชนก -การเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ อยู่ที่ผู้สอนด้วย เพราะหากสอนสนุก ผู้เรียนจะเรียนด้วยความสนุก ไม่เบื่อและรู้สึกไม่ยาก หากพิสูจน์ทฤษฎีไปเรื่อยๆ อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อได้
คณิตศาสตร์มีข้อสรุปที่มาจากปัญหาที่เราเจอทุกวัน สรุปเป็นขั้นตอน สรุปเป็นกฎเกณฑ์ที่แน่นอน เป็นศิลปะขั้นสูง เพราะไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ เป็นสิ่งที่คนคิดขึ้นมา แล้วผู้สอนจะอธิบายอย่างไรให้ผู้เรียนเข้าใจ หากอธิบายแล้วไม่เข้าใจ ผู้เรียนจะรู้สึกไม่สนุก
น.ส.ปิยะนันท์ – ตอนแรกไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ แต่คณิตศาสตร์สามารถนำมาใช้อธิบายงานวิจัยได้ชัดเจน สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน แน่นอน ทำให้งานวิจัยน่าเชื่อถือด้วย

นายพีระพล  – การเรียนมีสองแบบ คือ การนำมาแก้ทฤษฎีอย่างเดียวจะไม่ค่อยสนุกเท่าไร แต่อีกรูปแบบหนึ่งเมื่อนำมาแก้ไขปัญหาจะสนุก โดยนำสิ่งที่อยู่ในทฤษฎีหรือตำรา ออกสู่โลกแห่งความเป็นจริงจะสนุก

นายวิธวินท์ – อาจารย์ผู้สอนสำคัญมาก เป็นแรงดึงดูด ให้เด็กสนใจ เพราะการเรียนในระดับที่สูงขึ้นๆ เนื้อหาวิชามีความซับซ้อนมากขึ้น เราจะสามารถนำความรู้คณิตศาสตร์มาแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้นควรปลูกฝังให้ชอบคณิตศาสตร์ตั้งแต่เด็ก
คุณสมบัติของผู้ที่สามารถเรียนภาควิชาคณิตศาสตร์
ศ.ดร.ชิดชนก -เบื้องต้น ต้องมีความสนใจ อยากรู้ มีการคิดที่เป็นเหตุผลบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้ว ทุกคนสามารถเรียนได้ แต่อาจจะได้รับการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ที่ ไม่ได้โยงปัญหาจริงกับการแก้ปัญหาโดยใช้คณิตศาสตร์ ทำให้ผู้เรียนไม่ทราบว่า จะสามารถนำความรู้ด้านคณิตศาสตร์ไปทำอะไรได้บ้าง
ควรมีความรู้คณิตศาสตร์พื้นฐานบ้าง ซึ่งคณิตศาสตร์เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ตั้งแต่สมัยโบราณ จากปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างในสมัยก่อน การนับจำนวน มีปัญหาในการแบ่งที่ดิน เป็นต้น  แล้วแก้ปัญหา สร้างกฎเกณฑ์ ทำให้เกิดเป็นความรู้ทางคณิตศาสตร์   
การท่องจำสูตร
หากเข้าใจที่มาของปัญหาแล้ว สูตรไม่จำเป็นต้องท่องจำ เขียนขึ้นมาได้เสมอ ในปัจจุบัน การสอนในสถาบันกวดวิชาจะสอนทางลัด โดยให้จำเป็นรูปแบบ หากพบรูปแบบนี้ ให้แก้ปัญหาด้วยวิธีใด ไม่ได้สอนให้เข้าใจเบื้องหลังที่แท้จริงของสูตรสมการ เพราะความจริงคณิตศาสตร์มาจากแนวคิดพื้นฐานแล้วนำมาเขียนให้กระชับขึ้นด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่มีสิ่งซับซ้อนมากมาย


เทคนิคเรียนคณิตศาสตร์ให้เก่ง
ศ.ดร.ชิดชนก -ต้องเข้าใจที่มาของปัญหา ความสัมพันธ์ระหว่างที่สิ่งเกี่ยวข้องกับปัญหานั้น เขียนให้กระชับขึ้น อย่าไปจำรูปแบบในการแก้ไขปัญหา ควรทำการบ้านอย่างสม่ำเสมอ


นายวิธวินท์ –  การเรียนแบ่งเป็นสองแบบ คือ
1. การเรียนเพื่อทำความเข้าใจและการเรียนเพื่อทำวิจัย
2. การเรียนเพื่อทำข้อสอบ ซึ่งจะเป็นการเรียนในลักษณะการกวดวิชา เราอาจจะไม่เข้าใจอย่างแท้จริง เมื่อไม่เข้าใจแล้ว คำถามจะตามมาว่า เราเรียนคณิตศาสตร์ไปเพื่ออะไร การเรียนในลักษณะนี้ คือ การเรียนเพื่อสอบผ่าน ได้เกรดดีๆ สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้


การเรียนคณิตศาสตร์จริงๆ แล้ว เราไม่ได้เรียนคณิตศาสตร์เพื่อสอบเพียงอย่างเดียว แต่เราเรียนไปเพื่อนำไปแก้ปัญหาต่างๆ


คณิตศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะหากไม่มีคณิตศาสตร์จะไม่มีหลายสิ่งหลายอย่างในโลกนี้ อย่างเช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ กล้องวิดีโอ เป็นต้น หากไม่มีคณิตศาสตร์จะไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งหากเราเรียนแบบให้สอบผ่านทำข้อสอบได้เท่านั้น สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราควรเรียนแบบทำความเข้าใจ ทำงานวิจัย เพื่อคิดค้นสิ่งใหม่ๆ แล้วแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น


หลักสูตรของภาควิชาคณิตศาสตร์มีสาขาย่อยใดบ้าง
ศ.ดร.ชิดชนก -ในขณะนี้ทางภาควิชาคณิตศาสตร์
สำหรับ ระดับปริญญาโท และ ปริญญาเอก มีสาขาย่อย 3 หลักสูตร
pure math
Applied Math + Computational Science
Computer Science และ IT
สำหรับระดับปริญญาตรี
Math
Computer Science


จบการศึกษาจาก ภาควิชาคณิตศาสตร์ สามารถประกอบอาชีพใดได้บ้าง
ศ.ดร.ชิดชนก -สามารถประกอบอาชีพได้ทุกอาชีพ แล้วแต่ความชอบและความถนัดของแต่ละคน เพราะเราได้ฝึกการคิดอย่างมีขั้นตอน เป็นระบบ มีเหตุผลในการแก้ปัญหาที่ดี เพราะฉะนั้นทุกอาชีพหากใช้ความคิดแก้ปัญหาแบบเป็นขั้นตอน เป็นเหตุเป็นผลและใช้เครื่องมือในทางคณิตศาสตร์ที่เรียนรู้มา จะสามารถพัฒนาอาชีพของตนเองได้ดี ยกตัวอย่าง การวางแผนเก็บขยะ จะสามารถคำนวณหาเส้นทางการเก็บขยะที่สั้นที่สุด และกลิ่นเหม็นน้อยที่สุด เป็นต้น


นายพีระพล - หากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท นิสิตส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพกับบริษัทเอกชน ภาคธุรกิจ ในหน่วยงานคอมพิวเตอร์ ส่วนในระดับปริญญาเอก นิสิตส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์ หรือเป็นผู้บริหารในภาคธุรกิจบ้าง


นายวิธวินท์– สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายมาก เช่น โปรแกรมเมอร์ system analysis นักวิเคราะห์ระบบ อาจารย์ คณิตประกันภัยเป็นคนวางแผน ออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น


วิทยาการคอมพิวเตอร์ คือ อะไร
ศ.ดร.ชิดชนก -เป็นสาขาที่แตกออกมาจากภาควิชาคณิตศาสตร์ เพื่อสร้างเครื่องคำนวณ ซึ่งในที่สุดเราคาดว่าจะเลียนแบบความฉลาดของมนุษย์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ 


วิทยาการคอมพิวเตอร์ ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องใด
ศ.ดร.ชิดชนก -เป็นการศึกษาในหลากหลายวิชา เช่น คณิตศาสตร์ พีชคณิตบูลีน (Boolean Algebra) ตรรกะ ไฟฟ้า และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น จะเป็นการศึกษาวิชาต่างๆ เหล่านี้ แต่พื้นฐานที่แท้จริง คือ วิชาคณิตศาสตร์


คณิตศาสตร์มีความสำคัญอย่างไรกับคอมพิวเตอร์
ศ.ดร.ชิดชนก -คณิตศาสตร์เป็นแนวคิดที่นำมาประยุกต์ให้เป็นจริง โดยผ่านวงจรไฟฟ้า กลายเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมา คณิตศาสตร์พื้นฐานที่ใช้กันในปัจจุบัน คือ Logic and Boolean Algebra


ความรู้พื้นฐานในการสอบเข้าเพื่อเรียน วิทยาการคอมพิวเตอร์
นายวิธวินท์- ในส่วนของปริญญาโทและปริญญาเอก คือ ความรู้พื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์กับคณิตศาสตร์ เช่น Algorithm, Discrete Mathematics, computer system, computer organization 
ในส่วนของปริญญาตรี คือ เน้นสายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่ถนัดเรื่องตรรกะ


วิทยาการคอมพิวเตอร์ กับ วิศวคอมพิวเตอร์ แตกต่างกันอย่างไร
ศ.ดร.ชิดชนก -หากพูดถึงระดับสูงของงานวิจัย จะไม่แตกต่าง แต่หากพูดถึงระดับทั่วไป จะเห็นว่าวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จะแตกออกมาจากวิศวกรรมไฟฟ้า โดยเฉพาะพวกอิเล็กทรอนิกส์  วิทยาการคอมพิวเตอร์กับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จะเรียนรายวิชาที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่จะเน้นรายวิชาใดเป็นพิเศษ
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จะเน้นการออกแบบวงจร มีวิชาอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
วิทยาการคอมพิวเตอร์ จะเน้นพวก Algorithm  พวกทฤษฎีมากกว่า


ความจำเป็นของการมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว
ศ.ดร.ชิดชนก -ขึ้นอยู่กับว่า นำคอมพิวเตอร์ไปทำอะไร หากต้องการค้นหาข้อมูลวารสารหรือต้องการ Run program แล้วห้อง lab ปิด  เห็นด้วยที่จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์  แต่หากไม่สะดวก ที่ห้อง lab มีเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ใช้อยู่แล้ว โดยเฉพาะนิสิตระดับปริญญาเอก จะมีคอมพิวเตอร์คุณภาพสูง เพราะต้องคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และมีการแข่งขันกับต่างประเทศสูง เพื่อลงวารสารต่างประเทศ จึงให้คนละ 1 เครื่อง เพียงแต่ไม่สามารถนำกลับบ้านได้ ส่วนนิสิตระดับปริญญาโท แบ่งกันเครื่องละ 2-3 คน และปริญญาตรี สามารถให้ใช้ในห้อง lab ผลัดกันใช้


นายพีระพลและนายวิธวินท์–โดยส่วนตัวคิดว่า นิสิตปริญญาตรี ปี 1-2 ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ เพราะหากซื้อแล้ว เครื่องคอมพิวเตอร์ตกรุ่นไปก่อน และการเรียนการสอนเน้นทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่  แต่หากนิสิตปริญญาตรี ปี 3-4 คิดว่ามีจะดีกว่า แต่ไม่มีก็ไม่เป็นไร เพราะมีวิชาที่ต้องเขียนโปรแกรมมากขึ้น วิชาที่ต้องทำ project  หรือ งานกลุ่ม หากต้องการทดสอบหรือฉุกคิดอะไรได้ ให้จดใส่กระดาษแล้วนำมาทดสอบภายหลัง  หากมีจะสะดวกมากขึ้น


ระดับปริญญาโทหรือเอก จะมีความจำเป็นมาก เพราะการทำวิจัยในระดับปริญญาโทและเอก เป็นข้อมูลใหม่ ต้องมีการทดสอบ หากมีความคิด ฉุกคิดขึ้นมา ต้องการทดสอบโดยทันที  และใช้ค้นหาข้อมูลวารสารวิชาการต่างประเทศจำนวนมาก


การเปลี่ยนชื่อภาควิชา  
ศ.ดร.ชิดชนก -เนื่องจากวิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นผลผลิตโดยตรงของคณิตศาสตร์ ทางภาควิชาของเราจึงกำลังจะเปลี่ยนชื่อเป็นภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และจะเป็นผลดีกับมหาวิทยาลัย เพราะผลงานการตีพิมพ์วารสารต่างประเทศ ของสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์มีจำนวนมาก


ความสำคัญของภาษาอังกฤษ 
ศ.ดร.ชิดชนก -ภาษาอังกฤษเป็นภาษาวิชาการของโลก ไม่ว่าจะศึกษาสาขาใด ควรจะใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เพราะเป็นสิ่งจำเป็น ส่วนหนังสือภาษาไทยก็ควรอ่านเพิ่มเติมด้วย


น.ส.ปิยะนันท์ – เมื่อศึกษาไปเรื่อยๆ จะเก่งภาษาอังกฤษไปในตัว
นายพีระพล  – หนังสือวารสารภาษาไทยผลิตออกมาน้อยด้วย เนื่องจากคนไทยไม่ค่อยชอบเขียนหนังสือ ส่วนหนังสือภาษาอังกฤษ เราต้องการค้นคว้าเพียงเรื่องเดียว แต่จะพบหนังสือภาษาอังกฤษประมาณ 10 เล่ม เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษ
นายวิธวินท์– ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมาก ไม่ว่าในการเรียนการสอนวิชาใด เพราะต้องใช้ในการค้นคว้ามาก


คุณสมบัติของผู้ที่ต้องการเรียนด้านนี้  
ศ.ดร.ชิดชนก -การเรียนไม่ว่าเรียนสาขาใด คุณสมบัติเบื้องต้นที่จำเป็นต้องมี คือ ความอยาก ต้องมีกิเลสในการที่จะเรียนรู้ ต้องการค้นคว้า หาความรู้ในเรื่องนั้นๆ คุณสมบัติอื่นๆ ที่ทำให้ความอยากสามารถเป็นรูปธรรมได้ คือ ความรู้พื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ และ ควรมีระบบการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล แต่ถ้าไม่มี ไม่เป็นไร คนเราสามารถปรับตัวได้เสมอ หากได้มาเรียนรู้ที่นี่ ความคิดจะเป็นระบบเอง ขอให้มีความอยากรู้เท่านั้น


รูปแบบการสอน   
ศ.ดร.ชิดชนก -ในระดับปริญญาตรี เน้นทั้งสองด้านทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ (ฝึกการเขียนโปรแกรม) ส่วนในระดับปริญญาโท-เอก เราจะเน้นให้นิสิต คิดแก้ปัญหา และตั้งปัญหาด้วยตัวเองให้ได้ เป้าหมายการเรียนไม่เหมือนกัน การศึกษาในระดับปริญญาตรี ควรเป็นผู้ตามที่ดี เรียนรู้ ส่วนระดับปริญญาโท-เอก เราต้องการให้เป็นผู้นำทางวิชาการที่ดี คิดเอง แก้ปัญหาเองได้และจบการศึกษาจากที่นี่ไปแล้ว สามารถเป็นผู้นำนิสิต


น.ส.ปิยะนันท์ – ประทับใจในเทคนิคการสอนของอาจารย์ที่ทำให้เรามีกระบวนการการเรียนรู้ ฝึกการคิด เน้นให้เราคิดแก้ปัญหาในการเรียน ซึ่งจะแตกต่างจากปริญญาตรี หากเราผ่านไปได้ เราจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกๆ เรื่อง หากเรามีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี มี logic ในการคิด เราจะปรับปรุงการเรียนของเราได้ หากเราทราบว่าอ่อนวิชานี้ตรงจุดใด วิชานี้มีลักษณะเป็นอย่างไร เราจะสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น น้องๆ จะสามารถพิสูจน์ได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ คนเราสามารถเก่งได้หลายๆ ด้านค่ะ


การมีโปรแกรมสำเร็จรูปมีผลกระทบหรือไม่
ศ.ดร.ชิดชนก -ไม่มีผลกระทบกับการเรียนการสอน เพราะขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ หากนำโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ ไปใช้ โดยที่เราไม่ทราบว่าสิ่งที่ให้มาถูกหรือผิดอย่างไร แล้วได้ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี โดยที่เราไม่ทราบเบื้องหลังการทำงานของโปรแกรม เราควรจะทราบการทำงานของโปรแกรมนั้นๆ ด้วย เพื่อนำมาปรับแก้ไข เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่เราต้องการและสามารถตรวจสอบการทำงานของผู้ปฏิบัติงานได้ว่าถูกต้องหรือไม่


การเรียนการสอนที่จุฬาฯ จะสอนให้เป็นผู้นำ สร้างโปรแกรมใหม่ๆ ด้วยตัวเองได้ ส่วนโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ เราจะต้องทราบหลักการทำงานของโปรแกรมเหล่านั้น เพราะหากเราซื้อแต่โปรแกรมสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นหลังการใช้งานได้
เราต้องการสร้างผู้ผลิต ผู้สร้างโปรแกรมต่างๆ ให้แก่ประเทศไทย


นายวิธวินท์– มุมมองส่วนตัวคิดว่า ไม่มีผลกระทบ เพราะการมีโปรแกรมให้ใช้งานจำนวนมากเป็นข้อดี เราสามารถทำงานได้สะดวกขึ้น ในแง่ของการวิจัย เราอาจโปรแกรมเหล่านั้นนำมาใช้บางส่วน โดยไม่ต้องเสียเวลาไปเขียนขึ้นมาใหม่ ทำให้สะดวกขึ้น แต่โปรแกรมเสริมดังกล่าวจะต้องมีรูปแบบและผลออกมาไปในแนวที่เราต้องการ
นายพีระพล – ไม่มีผลกระทบ เพราะเราจำเป็นต้องเรียนรู้ หากเราไม่ทราบโครงสร้างภายใน หรือหลักการภายในโปรแกรมเหล่านั้น เราจะไม่สามารถนำโปรแกรมเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ได้ตามที่เราต้องการ กล่าวคือ หากเกิดปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น เราจะสามารถใช้ทฤษฎีที่มีอยู่ในโปรแกรมนั้นๆ มาแก้ปัญหาได้
น.ส.ปิยะนันท์ – ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้งานด้วย หากระดับที่ใช้งานปกติ การมีโปรแกรมสำเร็จรูปมากมาย ทำให้การใช้งานต่างๆ สะดวกขึ้น ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้โปรแกรม ผู้ใช้จะรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องทราบระบบภายใน เป็น user อย่างเดียว แต่การเรียนการสอนในระดับที่สูงขึ้น ประเทศเราต้องการหน่วยงานที่เป็นหน่วยพัฒนา ค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ สร้างวงจรใหม่ๆ สิ่งคำนวณใหม่ๆ เช่น การปล่อยสัญญาณไฟเพื่อไม่ให้การจราจรติดขัด เป็นต้น เราจะต้องเรียนรู้ถึงระบบภายในโปรแกรมต่างๆ เหล่านั้น ว่าสามารถพัฒนาตามแนวที่เราต้องการ เพื่อให้ประเทศชาติพัฒนาต่อไป


ความต้องการในตลาดประเทศไทย
ศ.ดร.ชิดชนก -ทุกสาขาอาชีพในปัจจุบันมีความจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น หากเรียนสาขานี้แล้ว ไม่ตกงานแน่นอน ถ้าไม่เลือกงาน หางานง่ายกว่าอาชีพอื่น

นายพีระพล –  หางานง่าย หากไม่เลือกงาน เพราะคอมพิวเตอร์อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งทุกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ขวดน้ำ การออกแบบขวดน้ำ การบรรจุปริมาณน้ำลงในขวด จะมีคอมพิวเตอร์เป็นตัวควบคุมทั้งหมด เป็นต้น


จบการศึกษาจากวิทยาการคอมพิวเตอร์ สามารถประกอบอาชีพใด
ศิษย์เก่าประกอบอาชีพใด
ศ.ดร.ชิดชนก -ผู้ที่จบการศึกษาและศิษย์เก่าที่นี่ สามารถประกอบอาชีพได้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น เป็นอาจารย์, system analysis, programmer, project design, พัฒนา software, ประกอบธุรกิจส่วนตัว, ทำงานราชการ ทำงานกับบริษัทเอกชนต่างประเทศ เป็นต้น


ประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนภาควิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์
ศ.ดร.ชิดชนก -ในความคิดส่วนตัว การเรียนในระดับปริญญาเอก การเรียนการสอนเน้นการวิจัย อาจารย์ที่ปรึกษามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง อาจารย์จะให้ความคิดที่ดี มุมมองแปลกใหม่ที่เราคาดไม่ถึง หากปัญหาที่เราแก้ไขเอง อาจใช้ระยะเวลานานนับเดือน แต่หากปรึกษาอาจารย์ ได้รับคำแนะนำที่ดี ใช้เวลาเพียงไม่นาน จะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเราแวดล้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง

นายพีระพล - การศึกษาระดับปริญญาเอก เน้นงานวิจัย เมื่อได้รับคำแนะนำจากอาจารย์มากขึ้น เราจะสามารถเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ผลงานของเราสามารถแข่งขันได้ด้วย
น.ส.ปิยะนันท์ – หากน้องๆ สนใจที่จะเข้ามาศึกษาต่อที่นี่ ไม่ว่าระดับปริญญาตรี-โท-เอก ขอให้น้องๆ ตั้งใจเรียนและเมื่อน้องได้เข้ามาศึกษาแล้ว จะได้แนวคิด วิธีปฏิบัติ ได้เห็นการทำงานของอาจารย์ผู้มีผลงานชิ้นใหญ่ทำชื่อเสียงระดับประเทศ อาจารย์มีแนวคิดอย่างไร แล้วเรานำมาใช้กับตัวเอง
ศ.ดร.ชิดชนก -ผลงานของนิสิตเราทำชื่อเสียงให้แก่ภาควิชาและประเทศ เพราะได้รับการตีพิมพ์หลายครั้งในวารสารชั้นนำในสาขา computer science  ที่มีการแข่งขันทั่วโลก 


แนะนำภาควิชาคณิตศาสตร์
ศ.ดร.ชิดชนก -ภาควิชาคณิตศาสตร์เป็นภาควิชาเก่าแก่มากของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาของเราต้องการผลิตนิสิตที่จบออกมาแล้วเป็นผู้นำด้านวิชาการ เป็นผู้สร้างสรรค์ในภาคธุรกิจ มิใช่ผู้ซื้อเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว เราผลิตนิสิตเพื่อออกไปรับใช้สังคม
นอกจากนี้ การเรียนการสอนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ยากอย่างที่คิด หากเราตั้งใจจริง ไม่มีอะไรที่จะยากเกินความสามารถของคนเรา ทั้งระดับปริญญาตรี-โท-เอก ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน  เพราะฉะนั้นหากเข้ามาเรียนที่นี่ จะได้เรียนรู้กับอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง ที่มีผลงานยอมรับในระดับนานาชาติ และจะได้เครือข่ายจากศิษย์เก่า รุ่นพี่รุ่นต่างๆ เพราะยังมีการติดต่อกันอยู่


น.ส.ปิยะนันท์ –  วิชาคณิตศาสตร์ไม่ยากอย่างที่คิด เมื่อแรกเข้ามาศึกษาที่นี่ ยังไม่ค่อยชอบวิชาคณิตศาสตร์เท่าไร แต่เมื่อได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ เริ่มคล่องขึ้น อ่านรู้เรื่องขึ้น ทำให้เข้าใจและปัจจุบันชอบวิชาคณิตศาสตร์มาก มาเรียนกันเยอะๆ นะคะ ไม่ยากค่ะ
นายวิธวินท์ – จากการที่อินเตอร์เน็ตขยายวงไปอย่างกว้างขวาง อยากให้น้องๆ เข้ามาศึกษากันเยอะๆ เพื่อช่วยกันพัฒนา ให้ประเทศไทยก้าวทันและเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต อยากเชิญชวนให้น้องๆ เข้ามาเรียน เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศของเราครับ



หากน้องๆ มีข้อสงสัยเพิ่มเติม อาจารย์และพี่ๆ ในภาควิชาคณิตศาสตร์ ยินดีต้อนรับน้องๆ เพื่อให้น้องๆ ได้สัมผัสภาควิชาคณิตศาสตร์อย่างแท้จริงค่ะ 
อย่าลืมนะคะ การเรียนทุกสาขาไม่ยากค่ะ อยู่ที่ว่าเราจะตั้งใจเรียนมากแค่ไหน และสนใจในวิชาที่เรียนมากเพียงใด
ขอให้โชคดีในการเรียนทุกคนค่ะ 

ที่มา www.vcharkarn.com



อัพเดทล่าสุด