ปาเลสไตน์ vs ไทย หรือ ไทย vs ปาเลสไตน์ องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (อิสราเอลกับปาเลสไตน์) MUSLIMTHAIPOST

 

ปาเลสไตน์ vs ไทย หรือ ไทย vs ปาเลสไตน์ องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (อิสราเอลกับปาเลสไตน์)


713 ผู้ชม


ปาเลสไตน์ vs ไทย หรือ ไทย vs ปาเลสไตน์ องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (อิสราเอลกับปาเลสไตน์)

อเมริกากำลังวิ่งเต้นสุดฤทธิ์ ที่จะขัดขวางไม่ให้ปาเลสไตน์ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติให้มีสถานะเป็น รัฐ ซึ่งสวนทางกับกระแสสนับสนุนปาเลสไตน์ในยูเอ็น ในตอนนี้ยังไม่รู้ว่าความพยายามของปาเลสไตน์จะปรากฏผลลัพธ์ในท้ายที่สุด อย่างไร
 ชาวปาเลสไตน์ต้องการให้สหประชาชาติรับรองดินแดนปาเลสไตน์ ให้เป็น “รัฐสมาชิก” ของสหประชาชาติ โดยมีเส้นเขตแดนตามแนวก่อนสงครามหกวัน โดยมีเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวง ซึ่งเป็นสิ่งที่อิสราเอลไม่อาจยอมรับได้
 องค์การปกครองปาเลสไตน์ หรือ Palestinian Authority ได้พยายามที่จะจัดตั้งรัฐเอกราชขึ้นในเวสต์แบงก์และกาซา ซึ่งอิสราเอลได้เข้ายึดครองตั้งแต่ปี 1967 ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันมาหลายครั้ง กินเวลาร่วม 2 ทศวรรษแล้ว รอบล่าสุดได้ล้มเหลวเมื่อหนึ่งปีก่อน
 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ปาเลสไตน์เริ่มใช้กลยุทธ์ทางการทูตใหม่ คือ ขอให้ประเทศต่างๆ รับรองรัฐปาเลสไตน์ ล่าสุด ปาเลสไตน์เตรียมที่จะร้องขอให้สหประชาชาติรับปาเลสไตน์เข้าเป็นสมาชิก โดยให้เหตุผลว่า กลุ่มสี่ฝ่าย (สหรัฐ สหภาพยุโรป สหประชาชาติ รัสเซีย) ซึ่งรับอาสาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในปัญหาตะวันออกกลาง ได้กำหนดเส้นตายของการเจรจารอบล่าสุดไว้ที่เดือนกันยายนปีนี้ ในเมื่อครบกำหนดเส้นตายแล้ว การเจรจายังไม่คืบหน้า ปาเลสไตน์จึงมีสิทธิ์ชอบธรรมที่จะจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์
 เหตุที่การเจรจา ไม่คืบหน้า เพราะอิสราเอลยังคงยืนกรานไม่ลดราวาศอกในจุดยืนในทุกประเด็น แม้กระทั่งเรื่องการก่อสร้างนิคมชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งได้ระงับไปพักหนึ่ง อิสราเอลก็ไม่ขยายเวลาของการระงับนั้นอีกแล้ว
 ที่ ผ่านมา ทุกฝ่ายยอมรับว่าหนทางสร้างสันติภาพตะวันออกกลาง คือการให้มีรัฐ 2 รัฐดำรงอยู่ร่วมกัน นั่นคือรัฐอิสราเอลกับรัฐปาเลสไตน์ แต่การเจรจาไม่คืบหน้าเพราะจนแล้วจนรอดก็ยังหาข้อยุติในประเด็นสำคัญๆ ไม่ได้
 ประเด็นเจรจาที่ตกลงกันไม่ได้ตลอดมา คือ เรื่อง (1) สถานภาพของเยรูซาเลม อิสราเอลถือว่าเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงชั่วนิรันดร์ของตนซึ่งไม่อาจแบ่งแยก ได้ แต่ปาเลสไตน์นั้นต้องการเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์ที่ จะจัดตั้งขึ้น
 (2) อนาคตของถิ่นฐานชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งไม่สามารถจะหาข้อสรุปได้ว่า จะจัดการอย่างไรกับนิคมชาวยิวกว่า 200 แห่ง ซึ่งชาวยิวราว 500,000 คนได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนปาเลสไตน์
 (3) แนวเส้นเขตแดน รัฐปาเลสไตน์จะมีพรมแดนตามเส้นก่อนเกิดสงครามหกวันเมื่อปี 1967 ใช่หรือไม่ อิสราเอลบอกว่าไม่มีทาง
 (4) สิทธิคืนถิ่นของผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ นับแต่อิสราเอลก่อตั้งประเทศเมื่อปี 1948 ชาวปาเลสไตน์ได้พลัดที่นาคาที่อยู่อพยพไปอาศัยในประเทศข้างเคียง เช่น จอร์แดน อียิปต์ จนถึงขณะนี้ได้ออกลูกออกหลาน จนมีประชากรราว 4.6 ล้านคนแล้ว
 ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ว่า คนเหล่านี้จะคืนถิ่นเดิมในพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นรัฐอิสราเอลได้หรือไม่ อย่างไร 
 ในเวลานี้ สถานภาพของปาเลสไตน์ในสหประชาชาติ ยังเป็นแค่ “หน่วยการปกครอง” ที่เป็นผู้สังเกตการณ์
 ปาเลสไตน์ คาดหวังว่า ถ้าได้เป็นรัฐสมาชิกอย่างเต็มตัวของสหประชาชาติ ก็จะมีโอกาสเข้าเป็นภาคีในหน่วยงานต่างๆ ของยูเอ็น และได้เข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาต่างๆ
 ถ้าดินแดนปาเลสไตน์ได้รับการ รับรองว่าเป็นรัฐ ปาเลสไตน์ก็จะสามารถฟ้องร้องอิสราเอลในศาลอาญาระหว่างประเทศได้ เช่น กรณีอิสราเอลปิดกั้นฉนวนกาซา, กรณีการสร้างนิคมชาวยิว, กรณีอิสราเอลทำสงครามโจมตีกลุ่มฮามาสในกาซาเมื่อสองปีก่อน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มน้ำหนักของปาเลสไตน์ในการเจรจากับอิสราเอล เพราะต่างก็เป็น “รัฐที่มีอธิปไตยเท่าเทียมกัน”
 ขณะนี้ ที่สมัชชาใหญ่กำลังอยู่ในวาระอภิปรายทั่วไป ประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส จะไปพูดที่ยูเอ็นในวันศุกร์ตอนเที่ยงวัน จากนั้นจะยื่นเรื่องต่อเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อขอเข้าเป็นรัฐสมาชิกของยูเอ็น จากนั้นตามกฎของยูเอ็น นายบัน กีมูน จะต้องส่งเรื่องการขอสมัครนี้เข้าสู่คณะมนตรีความมั่นคง
 เมื่อประธานของ คณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งเวลานี้คือเอกอัครราชทูตเลบานอนประจำยูเอ็น ได้รับเรื่องแล้ว ก็ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบใบสมัคร ซึ่งโดยทั่วไปใช้เวลา 35 วัน
 คาดกันว่าในช่วงเวลานี้เอง ทุกฝ่ายคงวิ่งเต้นล็อบบี้กันอย่างสุดตัว ทั้งสหรัฐ อิสราเอล และปาเลสไตน์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตัวเองต้องการ
 การที่ปาเลสไตน์จะเข้าเป็นรัฐ สมาชิกได้นั้น จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะมนตรีความมั่นคง โดยต้องได้เสียงสนับสนุน 9 ใน 15 เสียง ซึ่งก่อนหน้านี้ปาเลสไตน์บอกว่า ตัวเองหาเสียงสนับสนุนได้ครบแล้ว แต่ล่าสุดบางประเทศกำลังถูกสหรัฐกดดันอย่างหนักให้ถอนการสนับสนุน
 นอก จากนี้ ปาเลสไตน์จะได้เข้าเป็นรัฐสมาชิกอย่างเต็มตัว ก็ต่อเมื่อไม่ได้ถูกวีโต้จากชาติสมาชิกถาวร ซึ่งข้อนี้ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะสหรัฐประกาศแล้วว่าจะใช้สิทธิยับยั้ง
 ถ้าสหรัฐวีโต้ หรือถ้าปาเลสไตน์เปลี่ยนใจที่จะขอสมาชิกภาพ โดยขอเป็นแค่ “รัฐผู้สังเกตการณ์นอกสมาชิกภาพ” คณะมนตรีความมั่นคงก็สามารถออกข้อมติ แล้วส่งให้ที่ประชุมของสมัชชาใหญ่พิจารณาได้ ซึ่งอาจมีการลงมติภายใน 48 ชั่วโมงก็ได้ หรืออาจรอให้สมัชชาเสร็จสิ้นวาระการอภิปรายทั่วไปก่อนก็ได้ ซึ่งตกราวปลายเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคม
 การจะเข้าเป็น “รัฐผู้สังเกตการณ์นอกสมาชิกภาพ” นั้น ต้องได้รับเสียงข้างมากสนับสนุนในสมัชชา ซึ่งมี 193 ชาติสมาชิก ตอนนี้ปาเลสไตน์บอกว่า ตัวเองได้เสียงสนับสนุนแล้วอย่างน้อย 126 เสียง ฉะนั้นมีโอกาสสูงที่ปาเลสไตน์จะได้รับสถานะนี้
 นั่นแปลว่า ปาเลสไตน์จะมีโอกาสได้เป็นรัฐกับเขาเสียที โดยผ่านการรับรองของเสียงส่วนใหญ่ในเวทีสหประชาชาติ แม้ว่ายังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกยูเอ็นอย่างเต็มตัว
 แล้วทำไมสหรัฐจึงขัดขวาง?
 ถ้า ปาเลสไตน์ได้เสียงสนับสนุนในคณะมนตรีความมั่นคง 9 เสียงใน 15 เสียง สหรัฐก็จะถูกมองเป็น “จระเข้ขวางคลอง” ในเวทีโลก และถูกโลกมุสลิมมองในแง่ลบ
 ภายในสหรัฐเอง ชาวอเมริกันเชียร์ฝ่ายอิสราเอลมาโดยตลอด สมาชิกสภาคองเกรสก็สนับสนุนอิสราเอล บารัก โอบามา กำลังจะลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีในปีหน้า จึงต้องรักษาฐานเสียงเอาไว้.

Source: https://www.thaipost.net/sunday/250911/45538

อัพเดทล่าสุด