ออสซี่ตื่นเต้นเจอกระดูกไดโนเสาร์ยักษ์เยอะกว่าครั้งไหนๆ MUSLIMTHAIPOST

 

ออสซี่ตื่นเต้นเจอกระดูกไดโนเสาร์ยักษ์เยอะกว่าครั้งไหนๆ


788 ผู้ชม


หลังจากชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ยักษ์ได้เผยออกมายังดินแดนของซีกโลกใต้เมื่อ 28 ปีก่อน ทว่าออสเตรเลียเพิ่งได้หลักฐานที่เป็นชิ้นเป็นอันครั้งแรกซึ่งบ่งชี้ว่า อดีตเมื่อ 98 ล้านปีเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของไดโนเสาร์ขนาดใหญ่มาก่อน โดยหลักฐานที่ว่าคือซากฟอสซิลของไดโนเสาร์กิ   

ออสซี่ตื่นเต้นเจอกระดูกไดโนเสาร์ยักษ์เยอะกว่าครั้งไหนๆ

 

สก็อตต์ ฮอคนูลล์ กับฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่พบมากกว่าครั้งไหนๆ (ภาพเอพี) 


หลังจากชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ยักษ์ได้เผยออกมายังดินแดนของซีกโลกใต้เมื่อ 28 ปีก่อน ทว่าออสเตรเลียเพิ่งได้หลักฐานที่เป็นชิ้นเป็นอันครั้งแรกซึ่งบ่งชี้ว่า อดีตเมื่อ 98 ล้านปีเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของไดโนเสาร์ขนาดใหญ่มาก่อน โดยหลักฐานที่ว่าคือซากฟอสซิลของไดโนเสาร์กินเนื้อและกินพืช 3 ชนิดที่พบเมื่อ 3 ปีก่อน
สำนักข่าวเอพีระบุว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันเป็นครั้งแรกว่า ครั้งหนึ่งออสเตรเลียเป็นถิ่นอาศัยของไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่ดุร้ายและเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว อย่างไดโนเสาร์กินเนื้อที่พวกเขาตั้งชื่อให้ว่า "ออสตราโลเวนอาเทอร์"(Australovenator) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่หนักถึง 500 กิโลกรัม มีกรงเล็บที่แหลมคมที่ขาหน้าอันทรงพลังข้างละ 3 อัน สัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์นี้เคยอาศัยอยู่ในดินแดนซีกโลกใต้เมื่อ 98 ล้านปีมาแล้ว
 
ออสซี่ตื่นเต้นเจอกระดูกไดโนเสาร์ยักษ์เยอะกว่าครั้งไหนๆ
ภาพวาด "บันโจ" ไดโนเสาร์กินเนื้อที่ทีมสำรวจตื่นเต้นที่สุด (เอเอฟพี)
ซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ดังกล่าวถูกพบเมื่อ 3 ปีก่อนที่รัฐควีนแลนด์ของงออสเตรเลีย โดยทีสำรวจได้พบส่วนเป็นขาหน้า กระดูกซี่โครง ขากรรไกรและเขี้ยว และยังได้พบฟอสซิลของไดโนเสาร์กินพืชคอยาวชนิดใหม่อีก 2 สายพันธุ์ เชื่อว่าไดโนเสาร์กินพืชนี้หนักได้ถึง 20 ตัน ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ผลการสำรวจดังกล่าวเป็นรายงานหน้า 51 หน้า เผยแพร่ลงวารสารออนไลน์ "พลอสวัน" (PLoS ONE) ทั้งนี้ ซากฟอสซิลที่ค้นพบเป็นหลักฐานที่เป็นชิ้นเป็นอันครั้งแรก นับแต่ซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ใหญ่ได้เผยขึ้นมาดินแดนของออสเตรเลียเมื่อ 28 ปีที่ผ่านมา
นักบรรพชีวินวิทยาได้อธิบายว่า ออสเตรเลียเป็นด่านใหม่ของการศึกษาบรรพชีวินวิทยาของสัตว์มีกระดูกสันหลัง และยังเป็นแหล่งทรัพยากรด้านความเข้าใจเกี่ยวกับยุคไดโนเสาร์ที่ยังไม่มีการ ศึกษามากนัก เนื่องจากมีฟอสซิลเพียงไม่กี่ชิ้นที่ถูกค้นพบที่ออสเตรเลีย แต่การค้นพบนี้ก็ถือว่ามากแล้วเพราะการเป็นทวีปที่แบนราบทำให้มีความเสถียร ทางธรณีวิทยามากกว่า แผ่นเปลือกโลกในทวีปอื่นที่ผลักดันชั้นหินซึ่งเก็บรักษาซากฟอสซิลนานหลายสิบ ล้านปีให้ขึ้นมายังพื้นผิวและช่วยให้ง่ายต่อการค้นพบ
ในการค้นพบล่าสุดที่ควีนแลนด์นั้น นักบรรพชีวินวิทยาต้องอาศัยรถเกลี่ยหน้าดินนำดินออกไปลึกมากกว่าเมตร จึงเผยให้เห็นโคลนทรายที่เก็บรักษาฟอสซิลไว้ ซึ่งทีมผู้ค้นพบได้ตั้งชื่อให้กับฟอสซิลไดโนเสาร์กินเนื้อที่ยาวถึง 5 เมตร ว่า "บันโจ"(Banjo) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ ออสตราโลเวนอาเทอร์ วินทอนเอนซิส (Australovenator wintonensis) โดยบันโจนั้นตั้งตามชื่อของ เอ บี บันโจ แพเทอร์สัน (A.B. Banjo Paterson) ผู้แต่งเพลง "วอลท์ซิง มาทิลดา" (Waltzing Matilda) ซึ่งเป็นเพลงชาติอย่างไม่เป็นทางการของออสเตรเลีย ทั้งนี้บันโจได้แต่งเพลงดังกล่าวที่ฟาร์มเลี้ยงแกะใกล้ๆ กับเมืองวินตัน ซึ่งเป็นเมืองปศุสัตว์ที่อยู่ใกล้ๆ กับบริเวณที่ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ อีกทั้งชื่อละตินของบันโจยังหมายความว่า "นักล่าแดนใต้แห่งวินตัน" (Winton's Southern Hunter)
"บันโจเป็นเหมือนเสือชีตาร์แห่งยุคนั้น ซึ่งรูปร่างเพรียวและว่องไว เขาเป็นเหมือน "เวโลซิแรปเตอร์" (Velociraptor) ของออสเตรเลีย แต่บางครั้งใหญ่กว่าและปราดเปรียวกว่า" สก็อตต์ ฮอคนูลล์ (Scott Hocknull) นักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ควีนแลนด์ (Queensland Museum) ผู้นำในการศึกษาครั้งนี้กล่าวแถลง โดยได้เปรียบเทียบไดโนเสาร์นักล่าแห่งออสเตรเลียกับนักล่าขนาดเท่าไก่งวงของ ภาพยนต์ "จูราสซิคปาร์ค" (Jurassic Park)
(คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
ออสซี่ตื่นเต้นเจอกระดูกไดโนเสาร์ยักษ์เยอะกว่าครั้งไหนๆ
ภาพวาดไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ชนิดต่างๆ เทียบกับภาพชิ้นส่วนกระดูกที่ค้นพบ (บนลงล่าง) ภาพตัดขวางด้านขวาของมาทิลดา ภาพตัดขวางด้านซ้ายของมาทิลดา ภาพตัดขวางของแคลนซี และ ภาพตัดขวางของบันโจ 
(รอยเตอร์)

ส่วนอีก 2 ชนิดซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินพืชตัวยาว 16 เมตร ตัวหนึ่งคล้ายยีราฟมีชื่อว่า วินตันออไทแทนวอทท์ไซ (Wintonotitan wattsi) ซึ่งแปลได้ว่า วอทท์ยักษ์ใหญ่แห่งวินตัน และมีชื่อเล่นภาษาละตันว่า "แคลนซี" (Clancy) และไดโนเสาร์อีกตัวที่คล้ายฮิปโปโปเตมัสคือ ไดแมนทีนอาซอร์อัสมาทิลเด (Diamantinasaurus matildae) ซึ่งแปลว่า มาทิลดาสัตว์เลื้อยคลานแห่งแม่น้ำไดแมนทินา และมีชื่อเล่นว่า "มาทิลดา" (Matilda) โดยก่อนหน้านี้ทราบเพียงว่าทั้งสองเป็นประเภทเดียวกับไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยอาศัยอยู่ ไททาโนซอร์ (titanosaur) ที่ยังไม่ทราบชนิด
ไดโนเสาร์ทั้ง 3 ชนิดอาศัยอยู่ในกลางยุคครีเตเชียส (Cretaceous) ซึ่งอยู่ในช่วง 145-65 ล้านปีที่แล้ว โดยฟอสซิลกระดูกของมาาทิลดาและบันโจนั้นผสมปนเปกันอยู่ ซึ่งฮอคนูลล์คาดว่ามาทิลดานั้นติดอยู่ในโคลนของแม่น้ำ และบันโจก็หล่นลงไปตายยังจุดเดียวกัน
"สิ่งที่มีค่าสำหรับเราคือบันโจ เพราะมันเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่พบในออสเตรเลีย ไดโนเสาร์กินเนื้อทั้งหมดที่เราเคยพบมาในอดีตนั้น เราได้เห็นเพียงกระดูกชิ้นเดียว ไม่ก็ฟันอย่างเดียว" ฮอคนูลล์กล่าว
ขณะที่ จอห์น ลอง (John Long) นักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์วิคทอเรีย (Museum Victoria) ซึ่งไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับการค้นพบครั้งนี้ กล่าวว่า "เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง" โดยครั้งสุดท้ายที่ไดโนเสาร์ขนาดใหญ่จริงๆ นั้นพบตั้งแต่ปี 2523 ในรัฐมัตตาบัวร์ราใกล้ๆ กับควีนแลนด์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนกระดูกของไดโนเสาร์กินพืชยาว 9 เมตรที่ชื่อ มัตตาบัวร์ราซอรัส (Muttaburrasaurus) ซึ่งครั้งนั้นได้พบเพียงกระดูกชิ้นเดียวของไดโนเสาร์ขนาดใหญ่
"นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้ชิ้นส่วนกระดูกที่ต่อกันได้ชัดเจน และมรกระดูกเพียงพอที่จะต่อกลับคืนได้อย่างแน่นอน เรารู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ประจำถิ่นในออสเตรเลียเพียงน้อยนิด ซึ่งรายงานทางวิชาการใดๆ คล้ายกันนี้จะเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งของความรู้ที่เรามีก่อนหน้านี้" ลอง กล่าว
ทางด้านฮอคนูลล์กล่าวอีกว่า เขาและทีมจะเดินหน้าขุดหากระดูกของไดโนเสาร์ 3 ชนิดนี้ต่อไป ในบริเวณอื่นๆ ของวินตัน ซึ่งเป็นเมื่องที่มีฟอสซิลกระดูกโพล่มาให้เห็นได้เกือบ 80 ปีแล้ว


ที่มาข้อมูล : ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 12 กรกฎาคม 2552

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1501

อัพเดทล่าสุด