คนทำงานยุคอินเตอร์เน็ต อยู่ยังไง? ถึงจะลงล็อก


673 ผู้ชม


คนทำงานยุคอินเตอร์เน็ต อยู่ยังไง? ถึงจะลงล็อก




- ในยุคที่อะไรต่อมิอะไร เปลี่ยนแปลงได้ฉับไวเพียงคลิกเดียว "คนทำงาน" จะนอนใจเย็นใจเหมือนอมฮอลล์ต่อไปไม่ได้แล้ว
        - สำรวจเมล็ดพันธุ์ความคิดดีๆ ให้หัวใจพองโต กับ 3 คนวงในแวดวงบริหารจัดการคน
        - "ศศินทร์-นิด้า-วัทสัน ไวแอท" ระบุยุคนี้ต้องอิงความรู้ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง ขันน๊อตศักยภาพให้แน่นเวลาองค์กรคับขัน เหนื่อยแค่ไหน? ก็ต้องทำ และฟิตตัวให้พร้อมรับความยืดหยุ่น
        - คำนิยามมนุษย์เงินเดือนยุคนี้ "อย่ามัวแต่รอสวรรค์มาทรงโปรด แต่ต้องถีบตัวเองให้ไปถึงสวรรค์"
       
        คลิกความคิดคนทำงานยุคอินเตอร์เน็ต อยู่แบบไหน? ทำตัวอย่างไร? ถึงจะลงล็อกกับงานที่ทำ เปิด 3 มุมมองของคนวงในที่จะมาช่วยกันวัดชีพจรคนทำงาน
       
        มีกำลังใจแน่นเปรี๊ยะ? หรือว่าถึงเวลาต้องยกเครื่องกันขนานใหญ่เสียที?
       
       ทำตัวให้เป็นหัวกะทิสุดๆ
       
        ผศ. ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาหลักสูตร สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า คนทำงานต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ส่วนหนึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารที่จะต้องบริหารจัดการและดูแลพนักงานในช่วงอายุที่แตกต่างกัน โดยเน้นย้ำการสื่อสารให้ชัดเจน
       
        แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมาก บางครั้งพนักงานปรับตัวไม่ทัน พนักงานก็อาจจะตั้งคำถามว่า รักษาพนักงานไว้ได้ไหม? บางครั้งถ้ารักษากันไว้ไม่ได้จริงๆ อย่างน้อยที่สุดบริษัทก็ต้องปฏิบัติกับเขาเหล่านั้นอย่างยุติธรรม
       
        ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งบริษัท GE เคยปลดพนักงาน 60,000 คนทั่วโลก พนักงานบอกว่าเขาได้รับโอกาสจากบริษัทให้ปรับปรุงตัวเอง แต่ถ้ายังไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ GE ก็ยินดีจ่ายค่าชดเชยให้ ขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง ญี่ปุ่น หรือเกาหลี ตอนนี้ก็เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานไปหมดแล้ว บริษัทชั้นนำอย่าง โตโยต้า ซัมซุง ไม่มีการจ้างงานตลอดชีพ แต่เน้นประสิทธิภาพจากผลการปฏิบัติงานแทน
       
        ดังนั้นองค์กรไทยก็จำเป็นต้องไปในทิศทางเดียวกันนี้เหมือนกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการทำตามธรรมเนียมฝรั่ง หรือการมองข้ามความภักดี เพราะความภักดีที่ว่านั้นจะต้องอยู่ภายใต้ผลงานที่คงเส้นคงวา แต่ปัญหาที่เจอคือ เวลาองค์กรแบบไทยนำเอาเครื่องมือการจัดการจากต่างแดนมาใช้ มักจะไม่ดูให้ถ้วนถี่ว่าเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพการณ์แค่ไหน? หลายบริษัทต้องมองอดีตของตนเองด้วยว่า ที่ผ่านมาบริษัทจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานเป็นธรรมหรือไม่? เพียงไร?
       
        "ถ้าอยู่กันแบบธุรกิจครอบครัว แล้วผู้บริหารบอกกับพนักงานว่า เราจะอยู่กันจนแก่นะ แต่เงินเดือนบริษัทจ่ายให้ไม่สูง นี่เป็นผู้บริหารรุ่นที่ 2 บอกกับพนักงาน พอเจอรุ่นลูกซึ่งเป็นยุคที่ 3 เขาไม่รู้ว่าพ่อกับปู่บอกกับลูกน้องไว้อย่างไร? วันดีคืนดีพอคิดจะใช้แนวคิดเดียวกับ GE มันก็ไม่ยุติธรรมสิ
       
        เพราะก่อนหน้านั้น บริษัทไม่ได้จ่ายเงินให้พนักงานตามผลงาน เงินเดือนไม่สูงทั้งที่ต้องทำงานมาก แต่สัญญาจะเลี้ยงจนแก่เฒ่า ดังนั้นถ้าจะจ่ายตามผลงาน ก็ต้องคิดถึงผลงานของพนักงานในอดีตด้วย นี่คือความคิดของลูกจ้าง
       
        อย่างไรก็ดี อยากจะบอกว่า วันนี้โลกเปลี่ยนไป เราต้องปรับปรุงตนเองอยู่ตลอดเวลา ทำตัวเองให้มีคุณค่าอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องปรับตัว สร้างคุณค่าเพิ่ม หาจุดเด่นในตนเองให้พบ ถึงเหนื่อยหน่อย แต่เป็นงานที่ต้องทำ"
       
        ผศ. ดร. ศิริยุพากล่าวต่อว่า นิยามของมนุษย์เงินเดือนในเศรษฐกิจยุคดิจิตอล ต้องทำตัวให้เป็นหัวกะทิสุดๆ ถึงจะปลอดภัยที่สุด หรือทำอย่างไรก็ได้ ที่จะไม่เป็นพนักงานเกรดซี แต่ต้องรักษาตัวเองให้อยู่ระดับเกรดบีหรือเกรดเอ
       
        มนุษย์เงินเดือนอย่ามองตัวเองว่าแค่ทำงานกินเงินเดือน แต่ให้มองคุณค่าตัวเอง มองว่าตัวเองคือเถ้าแก่ และคิดภาพตามเจ้าของเงินว่า ถ้าเราเป็นเจ้าของธุรกิจเอง เราจะกังวลเรื่องอะไรบ้าง? อย่าทำงานเฉพาะที่ผู้บริหารสั่งให้ทำ แต่ต้องคิดเลยขอบโต๊ะไปว่า เราจะมีวิสัยทัศน์ ทำให้องค์กรก้าวหน้าได้อย่างไร? อย่ามองเฉพาะขอบเขตหน้าที่การงานของตัวเอง
       
        และการเป็นมนุษย์เงินเดือนจะรอสวรรค์มาโปรดไม่ได้ ต้องถีบตัวเองให้ถึงสวรรค์ หรือดึงสวรรค์ให้หันมามองเห็นเรา ต้องหาโอกาสแจ้งเกิด ไม่ใช่รอแมวมอง และต้องคิดอยากเป็นเถ้าแก่ด้วย ถ้าปรับวิธีคิดแบบนี้ได้ จะเห็นว่ามุมมองของตัวเองเปลี่ยนไปจากเดิม
       
        "ก่อนจะไปขอขึ้นค่าตัว คุณมีคุณค่าแค่ไหนในสายตาเจ้านายของคุณ เพราะก็มีบางคนที่เป็นโรคจิตมีเงินในกระเป๋า แต่ไม่ยอมจ่าย ถ้าเจ้านายเชื่อใจคุณ คุณจะทำในสิ่งที่เขาคาดไม่ถึงมาก่อน เพราะบางคนมีความสามารถ แต่อาจจะไม่อยากทำ เพราะที่เป็นอยู่มันเซ็งซะแล้ว เราต้องทำตัวเองให้มีค่าตัวสูงขึ้น เพื่อให้คนอื่นเห็น"
       
       สร้างความยืดหยุ่นให้มาก
       
        ขณะที่ ผศ.ดร.กัลยาณี คูณมี อาจารย์โครงการบัณฑิตศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การทำงานในสังคมยุคนี้ คนกินเงินเดือนต้องประหยัดค่าใช้จ่าย ระมัดระวัง และเก็บออมมากขึ้น พยายามพัฒนาตัวเอง เพิ่มพูนความรู้ทักษะให้สามารถทำงานได้หลากหลาย
       
        แนวโน้มของการทำงานปัจจุบัน ต้องการลักษณะคนทำงานแบบยืดหยุ่น เน้นทำงานเป็นทีม หมุนเวียนไปทำหน้าที่ได้หลากหลาย ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ ขณะที่องค์กรก็เริ่มแบนราบ การเลื่อนขั้นมีน้อยลง ดังนั้นพนักงานต้องเข้าใจว่า การพัฒนาตัวเองไม่ได้ทำไปเพื่อมุ่งหวังได้เลื่อนขั้น
       
        แต่เป็นการพัฒนาฝีไม้ลายมือการทำงาน ให้มีความยืดหยุ่นสูง เตรียมพร้อมสำหรับการรับมือในทุกสถานการณ์ ทั้งภาวะปกติและภาวะกดดัน
       
        การทำงานยุคใหม่นี้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เจอกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่โหมเข้ามาตลอดเวลา ในฐานะคนทำงานต้องสร้างค่าให้ตัวเอง ให้คนอื่นมองว่าเรามีความสามารถ ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย ขณะที่บริษัทเองก็ต้องหันมาให้ความสนใจกับพนักงานมากขึ้นด้วย ทั้งคนใหม่คนเก่าที่ต่างก็มีข้อดีข้อด้อยต่างกัน ทำอย่างไรองค์กรถึงจะสามารถพัฒนาคนทั้งสองกลุ่ม ให้แบ่งปันความเก่งระหว่างกันได้
       
        "การให้ความสำคัญกับคนใหม่เป็นแนวคิดการมองแบบระยะสั้น เพราะถ้าเป็นคนใหม่แล้วเก่งด้วยก็จะอยู่องค์กรไม่นาน บริษัทต้องให้คุณค่ากับคนเก่าที่อยู่นาน มีความภักดีสูง และพร้อมพัฒนาตัวเอง ควรส่งเสริมให้มาก"
       
       การทำงานเป็นแพจะหายไป
       
        จิระณัฐ สัมพัญญู ที่ปรึกษา บริษัท วัทสัน ไวแอท (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า ปัจจุบันบริษัทหันมาเน้นศักยภาพในระดับบุคคลสูงขึ้น พนักงานต้องเน้นความรู้ในเชิงลึกและมุมกว้างมากขึ้น หลายบริษัทเริ่มนิยมโครงการสร้างคนดีคนเก่ง แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วมนุษย์ทำงานรุ่นใหม่อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีศักยภาพอะไรพิเศษเสริมมากขึ้น จะได้สามารถขึ้นสู่การเป็นผู้บริหารในอนาคตได้ ต้องเน้นกระบวนการเรียนรู้พัฒนาตัวเอง การเรียนรู้ผ่านโค้ช ต้องเลือกการเรียนรู้ที่ทำให้ตัวเองปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง
       
        มนุษย์เงินเดือนต้องปรับตัวเองให้เก่งเฉพาะบุคคลมากขึ้น ระบบการทำงานเป็นแพจะหายไป คนเก่งสำคัญระดับหนึ่ง แต่ภาพรวมพนักงานทุกคนเป็นฟันเฟืองให้องค์กร จึงต้องพยายามพัฒนาศักยภาพที่ดีของแต่ละคนออกมาใช้เวลาที่องค์กรคับขัน "ช่วงหนึ่งเอ็มบีเอบูมมากๆ แต่ตอนนี้หลายคนเริ่มหันมามอง competency ที่เป็นเรื่องของความสามารถเฉพาะที่จำเป็นต่อองค์กรจริงๆ"
       
        แปลว่ามนุษย์เงินเดือนต้องกลับมาหาจุดแข็งพื้นฐานเดิมๆ คนระดับกลางๆ ที่พื้นฐานความสามารถไม่สูงมากนัก ต้องกลับมาดูตัวเองว่า ทำอย่างไรถึงจะฝึกปรือขึ้นไปได้ ก็ต้องมองเรื่องพื้นฐานจำเป็นให้เต็มเสียก่อน เช่น ทักษะการวิเคราะห์ การปฏิสัมพันธ์กับคน ถัดมาก็ไปสร้างความรู้ใหม่ๆ มาเพิ่มเติม
       
        หลายที่ที่เข้าไปให้คำปรึกษา เขาบอกว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้คนเก่งมากๆ อย่างเช่น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความสามารถในการวิเคราะห์ ทำให้คนแตกต่างกันในปัจจัยพื้นฐานพวกนี้ มากกว่าความรู้ความสามารถเฉพาะทางเพียงถ่ายเดียว
       
        คนทำงานยุคอินเตอร์เน็ตเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ต้องเร่งเดินหน้าปรับกระบวนท่า เพื่อให้ "เข้าล็อก" กับองค์กรให้เร็วที่สุด เท่าที่จะทำได้...

 

 

แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

อัพเดทล่าสุด