จะมีวิธีรับมืออย่างไร กับเพื่อนช่างนินทาและเจ้านายขี้บ่น


881 ผู้ชม


จะมีวิธีรับมืออย่างไร กับเพื่อนช่างนินทาและเจ้านายขี้บ่น




หลายวันก่อนนี้  "นายฉลาด"  เพื่อนร่วมงานผมคนหนึ่งมาปรึกษาถึงเรื่องการทำงานของเขาว่า ทุกวันนี้เขาต้องทำงานภายใต้แรงกดดัน ทั้งนี้ เพราะมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานประเภทขี้นินทาเป็นที่สุด และเจ้านายที่ขี้บ่น จุกจิก  เรื่องมาก  ทำให้บรรยากาศในการทำงานไม่มีความสุขมากนัก ตอนนี้ "ฉลาด" คิดจะลาออก เพราะว่าอยากจะหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะอดทนอยู่นาน แต่เนื่องจากงานที่ทำอยู่ในตอนนี้ แหม..! เงินเดือน ก็มากอยู่นะ..แล้วทางออกของ "ฉลาด" จะเป็นอย่างไรละ..  ผมบอกกับ ฉลาด ว่า การทำงานในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กๆ หรือใหญ่โต ระดับมหาชน ก็ต้องเจอกับปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง เช่น อาจจะได้ทำงานที่ไม่ชอบ ไม่ตรงกับสายงานหรือความรู้ความสามารถ หรือจะเป็นปัญหาเพื่อนร่วมงานที่มีความประพฤติหรือนิสัยนินทา  ปัญหาของผู้บังคับบัญชาที่เข้มงวด จุกจิก  และปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น   สำหรับกรณีของ "ฉลาด" มี 2 เรื่องที่ต้องแก้ไข คือเรื่องของเพื่อนร่วมงานประเภทชอบนินทา และปัญหาเจ้านายขี้บ่น  จุกจิกจู้จี้ ทางออกของ "ฉลาด"  ก็คือ....

 เพื่อนร่วมงานช่างนินทา 
เมื่อต้องเจอกับเพื่อนร่วมงานช่างนินทา สิ่งที่ "ฉลาด" ควรปฏิบัติคือ อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับบรรดาเพื่อนร่วมงานเหล่านั้นมากนัก..แต่ไม่ถึงขนาดต้องร่วมวงนินทากับเขาให้รู้แล้วรู้รอดไป..
แต่แค่ว่าหากเลี่ยงได้ก็ต้องเลี่ยง หากกรณีที่ "ฉลาด" เป็นผู้ที่ถูกนินทาเองละ..ก็ต้องทำใจ โดยยึดถึงความคิดว่า "คนพวกนี้หากคุณมีให้เห็นอยู่ทั่วไป ไม่เจอที่นี่ก็ต้องเจอที่อื่นๆ ขอให้ก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไปอย่างตั้งใจ"  เพราะหากคุณตั้งใจทำงาน ทำสิ่งที่ดี ๆ คนดี ๆ เขาก็ชื่นชม คนที่นินทาจะว่ายังไงก็ปล่อยเขาไป อย่าตอบโต้หรือเก็บมาคิดจนมาทำลายบรรยากาศในการทำงานโดยเด็ดขาด และที่แน่ๆ ผลงานของคุณจะออกมาก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับบรรดาขาเมาท์แม้แต่น้อย..ฉะนั้น คำตอบของการที่มีเพื่อนร่วมงานช่างนินทา คือ การวางเฉย ไม่สนใจ ก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างตั้งใจต่อไปครับ..

  จ้านายขี้บ่น จุกจิกจู้จี้
 
 อันนี้เป็นนิสัยยอดฮิตของผู้ที่จะต้องขึ้นมาสู่ตำแหน่งเจ้าคนนายคน คิดในทางที่ดีก็แล้วกันว่า นั่นเป็นงานที่เขาต้องรับผิดชอบให้ดีที่สุด  แต่ถ้ามันมากจนเกินไป  คุณก็ทำหูทวนลมเสียบ้าง  ทางออกของ "ฉลาด" ที่น่าจะช่วยได้ก็คือ ทำทุกสิ่งให้สุดความสามารถและระวังความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ และถ้าคุณรักงานนี้มากก็ต้องระวังเรื่องการนินทาเจ้านาย การระบายความในใจอาจจะช่วยให้คุณสบายใจขึ้น แต่ก็ต้องดูเวลาและสถานที่หรือแม้แต่คู่สนทนาด้วยต้องมองให้ถ้วนถี่  ..สำหรับเจ้านายขี้บ่น ผมมีเคล็ดลับมาบอกว่า คุณต้องชมเจ้านายบ้าง อย่างน้อยก็จะทำให้วันนั้นเจ้านายคุณอารมณ์ดี  ไม่อาละวาดทำลายอารมณ์คนอื่นทั้งวัน  หลังจากให้คำแนะนำ "ฉลาด"  ให้ปฏิบัติตัวใหม่ ปรากฏว่า..ได้ผลครับ..วันนี้ "ฉลาด" ล้มเลิกการลาออก และเริ่มกลับมาทำงานในบรรยากาศที่ดีอีกครั้ง..แต่ก็ไม่วายมีปัญหามาปรึกษาอีกครับ..แต่คราวนี้เป็นปัญหาเรื่องของเพื่อนขี้หลี ..ปัญหาที่ถูกใช้งานจนเกินราคาค่าจ้าง ประเภทไม่ยอมจ้างคนเพิ่ม...ซึ่งผมเองก็เตรียมคำตอบให้กับ "นายฉลาด" ไว้แล้ว..คำตอบที่ว่าจะเป็นอย่างไร ติดตามอ่านต่อฉบับหน้านะครับ...

 


ที่มา: นิตยสาร Recruit Update ฉบับที่ 408 วันที่  16-31  สิงหาคม 2547

อัพเดทล่าสุด