เทคนิคสมัครงานของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. "พีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธ์


1,301 ผู้ชม


เทคนิคสมัครงานของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. "พีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธ์




เทคนิคสมัครงาน
ของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. "พีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธ์"

 หนังสือ คนบางกอก...พีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธ์ เป็นอัตชีวประวัติของอดีตรัฐมนตรีช่วยว่า-
การกระทรวงคมนาคมผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่อ่านแล้ว "สนุก" จนวางไม่ลง
     จากเด็กชุมชนมิ่งเมือง เริ่มเรียนหนังสือที่วัดสามปลื้มจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนปทุมคงคา แล้วเข้าเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
     พอจบปริญญาตรีก็เหินฟ้าไปเรียนต่อที่อเมริกา ได้ปริญญาโทวิศวอุตสาหกรรม    แล้วกลับมารับราชการเป็นอาจารย์อยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี...แต่มาสนุกตรงที่ท่าน
กระโดดไปทำงานธนาคารจนเจริญก้าวหน้า เชี่ยวชาญด้านค่าเงินตราต่างประเทศจนได้รับสมญาว่า "ขงเบ้งการเงินการธนาคาร" จากสื่อยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐ
    โดยเริ่มงานที่ธนาคารหวั่งหลีและขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง (SVP) ที่ธนาคารกรุงเทพ
     ตรงนี้แหละที่น่าสนใจจนต้องเก็บมาฝากผู้อ่านของเราถึงเทคนิคการสมัครงานว่าท่านทำอย่างไร จึงฝ่าด่านหินของแบงก์เกอร์(Banker)ระดับปรมาจารย์จนได้งานทำทั้งที่ไม่ได้ร่ำเรียนทางการเงิน
การธนาคารโดยตรง คัดมาให้อ่านกันเต็ม ๆ เลยค่ะ!

----------------------
การสัมภาษณ์..คือโอกาส
ต้องเปิดเผย...เปิดใจ...ทีท่าใฝ่รู้
     การสัมภาษณ์ คืออะไร?
หลายคนเมื่อต้องไปสอบสัมภาษณ์จะเกิดวิตกจริตกลัวว่าจะไม่ผ่าน ที่จริงแล้วการ สัมภาษณ์ คือกระบวนการโปร่งใสเพื่อจะคัดสรรหาคนดี ความดี โอกาสดี ให้เกิดความเป็นจริงในการทำประโยชน์เรียกว่า
"ทำงานร่วมกัน ทำงานด้วยกัน อย่างมีประสิทธิภาพ"  นั่นเอง
     รู้กาละ รู้เทศะ และรู้จักประมาณตน เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมี สำหรับผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ต้องเตรียมการให้พร้อม ผมเองเมื่อต้องไปพบกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารหวั่งหลี จึงได้ตรวจสอบความพร้อม และประมาณคุณสมบัติตัวเองอีกครั้ง
 ผมประเมินตัวเองพร้อมทั้งข้อมูลเชิงลึกของธนาคารที่ผมเสาะหาได้ในขณะนั้น ดังนี้

      "เรื่องคุณวุฒิ M.B.A. หรือ MS คงผ่านแล้ว จึงได้รับนัดให้เข้าสัมภาษณ์ ผมใช้ภาษาพอได้ทั้งอังกฤษและจีนแต้จิ๋ว...เรื่องอัธยาศัยน่าจะพอใช้ได้ดี...เป็นคนพื้นเพสำเพ็งช่วยทางบ้านค้าขายมาตลอด...และด้วยพื้นฐานความเป็นครูบา-อาจารย์...มีความซื่อสัตย์สุจริตเพียงพอ...ผมคิดว่าเท่านี้จะพอร่วมงานกับธนาคารได้ดี...เพราะธนาคารกำลังต้องการคนสู้งานเพื่อขยายงาน  โดยเฉพาะที่สำเพ็งกำลังจะเปิดสาขาใหม่ด้วย"

ด่านแรก...ได้ขวัญกำลังใจ
ด่านสุดท้าย...ได้คำตอบ
    
ผมไม่ทราบมาก่อนเลยว่าจะต้องสัมภาษณ์กับใครบ้าง เพียงรู้จากจดหมายตอบรับฉบับเดียวให้ไปพบเพื่อสัมภาษณ์กับ Ms.Huse, Vice President ของธนาคารหวั่งหลี แต่ทั้งหมดผมต้องผ่านการสัมภาษณ์ถึง 5 ด่านประกอบด้วย 2 ซิตี้แบงก์เกอร์ และ 3 พี่น้องตระกูลหวั่งหลี
     เริ่มจาก Mr.Huse มาต่อที่คุณสุวิทย์ ผู้จัดการใหญ่ ตามด้วย คุณวรวีร์ ผู้ดูแลสินเชื่อทั้งธนาคาร และคุณทำนุ ผู้ดูแลฝ่ายปฏิบัติการของธนาคาร แล้วจึงปิดท้ายด้วยคุณ T.Y. ผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิบัติการของธนาคาร
     ผมรู้สึกประทับใจการทำงานของผู้บริหารตั้งแต่แรกพบในขณะที่ผมนั่งคอยคุณ Huse เพื่อสัมภาษณ์ อยู่ๆ ท่าน
ก็เดินออกมาพร้อมกล่าวขอโทษหลังจากเลยเวลานัดไปประมาณ 45 นาที ทั้งที่ท่านยังไม่เสร็จธุระกับแขกในห้อง
พร้อมทั้งขอเวลาอีก 15 นาที หลังจากนั้นจึงเดินออกมารับผมเข้าไปนั่งคุยประมาณ 15 นาที แล้วจึงพาผมเข้าพบกรรมการ ผู้จัดการใหญ่คือ คุณสุวิทย์ด้วยตนเอง ทำให้ผมรู้สึกอบอุ่นตั้งแต่ก้าวแรกที่ธนาคารหวั่งหลี

คำตอบดี...มีคุณค่า
ต้องไม่...มุสา
    
พบคุณสุวิทย์เหมือนพบผู้ใหญ่ใจดี ท่านถามผมหลายคำถาม ผมก็ตอบไปอย่างเปิดเผยผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด ทั้งได้เรียนถามท่านกลับไปหลายคำถามด้วย และแล้วก็ถึงจุดไคลแมกซ์เมื่อท่านถามผมว่า... "อย่างนี้คุณพีระพงศ์ก็อยู่กับเราไม่นานใช่ไหมครับ?" ไม่ทราบว่าอะไรดลใจให้ผมตอบออกไปทันทีว่า... "ถ้าแบงก์คุ้ม ผมไม่คุ้ม ผมคงไม่อยู่ครับ ถ้าผมคุ้มแต่ แบงค์ก็ไม่คุ้ม ผมก็ไม่หน้าด้านอยู่ เหมือนกันครับ" เป็นความรู้สึกที่แท้จริง ไม่ได้มุสา ผมจำได้ดีครับเพราะเป็นคำตอบที่ผมเองก็รู้สึกภูมิใจในจุดยืนของตัวเองจริง ๆ ที่กล้าเรียนท่านไปตามตรงว่า ผมมีความคิดเช่นนั้น

     ดูเหมือนท่านพอใจมากมีความสุขกับคำตอบของผม เพราะเห็นท่านอมยิ้มหลังจากนั้นท่านก็กล่าวขอโทษ และขอตัวที่ต้องไป "แบงก์เกอร์ลันซ์" ตามนัด ทั้งที่ท่านเป็นผู้บริหารสูงสุด แต่ความสุภาพ แบบผู้ดี เต็มร้อย สุดประทับใจจริง ๆ
     ท่านให้เลขาพาผมไปพบ คุณวรวีร์ สัมภาษณ์ต่อ คุณวรวีร์ ท่านได้สอบถามผมว่าสนใจงานสินเชื่อบ้างไหม? มีประสบการณ์บ้างหรือไม่?  นับเป็นผู้ใหญ่ใจดีอีกท่านครับ
     เสร็จการสัมภาษณ์จากคุณวรวีร์ เลขาท่านพาผมไปพบคุณทำนุ ด่านนี้เหมือนปราการใหญ่ที่น่ากลัวครับ ท่านเป็น
เพียงผู้เดียวของตระกูลหวั่งหลีที่รอบรู้การธนาคารอย่างเชี่ยวชาญจริง ๆ เพราะท่านมีประสบการณ์มากมายจากธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ ท่านมีคำถามง่าย ๆ ที่ตอบยากมากถ้าไม่รู้ข้อมูล ระบบการธนาคารของไทยอยู่บ้าง  คงยุ่งทีเดียว
    
บังเอิญผมทราบประวัติ คุณบัญชา ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ว่าท่านเรียนจบวิทยาศาสตร์สาขาเคมี ผมจึงได้ใช้ข้อมูลนี้ในการอ้างอิงเมื่อถูกถามว่า "จบวิศวะจะทำงานแบงก์ได้หรือ? "ผมจึงตอบท่านว่างานแบงก์ไม่ใช่งานไฮเทคมากมายครับ แต่งานการธนาคารสิ่งที่จำเป็นต้องใช้มากที่สุด คือ... "ความซื่อสัตย"สุจริตและการเอาจริงพร้อมสู้งานหนัก"
     ผมได้เรียนยืนยันกับคุณทำนุว่า ผมมีคุณสมบัติทั้ง 2 ประการนี้ครับ และยังได้ยกตัวอย่างของ คุณบัญชา ว่าท่านจบวิทยาศาสตร์สาขาเคมีท่านยังทำได้ดี เพราะฉะนั้นผมค่อนข้างมั่นใจว่าจะทำงานกับธนาคารได้ดีครับ ท่านยิ้มน้อย ๆ แสดงท่าทีพอใจ และสั่งเลขาส่งต่อไปยังคุณ T.V. พร้อมตัวท่านเองก็หมุนโทรศัพท์ไปให้คุณ T.Y. ขอให้รอสัมภาษณ์ผมด้วย เพราะเป็นเวลาเกินเที่ยงครึ่งแล้วผมรู้สึกทันทีว่าที่นี่ "งานเป็นงานจริง ๆ  ครับ"
      ผมสังเกตเห็นห้องทำงานของคุณทำนุ และคุณ T.Y. มีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือเป็นห้องไม่ใหญ่แต่กะทัดรัด พร้อมทั้งเป็นกระจกใส มองได้รอบ อยู่คนละมุมของโค้งห้องใหญ่ สามารถดูแลได้ทั่วทั้งชั้น และทุกโต๊ะทำงาน

      คุณ T.Y. เป็นสุดยอดผู้หนึ่งใน คณะปรมาจารย์ของระบบซิตี้แบงก์ ในระยะนั้นซิตี้แบงก์ยังมีกิจการบริษัทเงินทุนของตัวเอง และเป็นผู้ร่วมทุนกับอีกหลาย ๆ บริษัทโดยยึดตึกชัยภูมิตึกอาคเนย์ ปัจจุบันเป็นที่ทำการสำนักงานใหญ่บนถนนสีลม ภายใต้ชื่อเดิมเต็ม ๆ ว่ากลุ่ม FNCB หรือเฟิร์สเนชั่นแนลซิตี้แบงก์ ต่อมาได้ขายหุ้นร่วมทุนออกไป เมื่อคราวใกล้วิกฤตการณ์เงินในปี พ.ศ. 2527
      สำหรับธนาคารซิตี้แบงก์ในปัจจุบันก็คือใบอนุญาตเดิมของธนาคารเมอร์แคนไทส์ ที่เป็นเจ้าของเดียวกันกับกลุ่มธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ที่ขายให้ซิตี้แบงก์
      สำหรับคุณ T.Y. แทบจะเรียกว่าคุยกันอย่างสนิทชิดเชื้อ ท่านถามไถ่เรื่องสัพเพเหระและสุดท้ายถามว่า "พูดภาษาจีนได้ไหม" พร้อมบอกว่า "ยินดีด้วยที่จะมาร่วมงาน"
      ผมทราบทีหลังว่าในบรรดาผู้สมัครผมโชคดีเป็นเพียงคนเดียวที่มีโอกาสสัมภาษณ์รวดเดียวทั้ง 5 ท่าน และที่สำคัญผมอยู่ในจำนวน 2 คนที่ได้รับเงินเดือนสูงสุดจาก 4 คนที่รับในรุ่นนี้ครับ!!!

     "ผมคงได้เป็นนายแบงก์กับเขาละครับ...คราวนี้"

 

 ที่มา: นิตยสาร Recruit Update ฉบับที่ 408 วันที่  16-31  สิงหาคม 2547

อัพเดทล่าสุด