การงานไม่คั่งค้างมงคลชีวิตของคนทำงาน
การงานไม่คั่งค้าง
มงคลชีวิตของคนทำงาน
----------------------
ผู้ทนทาน ความหนาว และผ่าวร้อน
ให้ไม่หย่อน กว่าหญ้า พฤกษาเขียว
มุ่งทำกิจ คิดสู้ อยู่อย่างเดียว
เขานั่นเทียว เสวยสุข อยู่ทุกยาม
----------------------
หากใครเคยเรียนวิชาพุทธศาสนา มีหลักธรรมคำสอนหลายประการที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงาน อย่างมงคลชีวิต 38 ประการที่ชาวพุทธควรปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน มงคลที่ 14 การงานไม่คั่งค้าง ถือเป็นมงคลที่ควรรู้และปฏิบัติอย่างยิ่ง
คำว่า งาน ในทางพุทธศาสนาหมายถึง สิ่งหรือเรื่องที่ทำ, อุบายเครื่องเลี้ยงชีวิต
คำว่า คั่งค้าง มาจากคำว่า อากูล หมายถึง งานที่ผู้ทำควรทำให้แล้วเสร็จในวันเดียวแต่ไม่แล้วเสร็จตามที่ตั้ง งานที่ผู้ทำนั้นเกียจคร้านทอดทิ้งไว้ และปล่อยให้งานค้างมาประดังกับงานใหม่จนทำไม่ไหว ต้องตกค้างไปในวันอื่นอีก
กิจที่ควรทำหรือที่ต้องทำทุกอย่างนั้นรวมเรียกว่า การงานทั้งสิ้น การงานแต่ละอย่างซึ่งคนแต่ละคนทำให้คั่งค้าง จนเกิดเป็นงานวุ่นวาย งานสับสน และเป็นงานยุ่งเหยิง เป็นงานอัปมงคล แม้คนทำก็เป็นอัปมงคล
ส่วนการงานซึ่งคนแต่ละคนทำให้ไม่คั่งค้าง มีความสงบเรียบร้อยในการงาน เป็นระเบียบ ราบรื่น นี่คืองานเป็นมงคล แม้คนทำก็เป็นมงคล เหตุนั้นงานที่เป็นมงคลหรืออัปมงคล ก็อยู่ที่คนทำเหมือนกัน
หลักการทำงานไม่ให้คั่งค้าง มี 4 ประการเรียกว่า อิทธิบาท 4 ได้แก่
ฉันทะ....ความพอใจในการงาน
วิริยะ......ความพากเพียรทำงาน
จิตตะ.....มีใจฝักใฝ่ในการทำงาน
วิมังสา...พิจารณาเหตุผลในการทำงาน
การงานที่จะพ้นจากความไม่คั่งค้าง ก็เพราะบุคคลผู้ประกอบเป็นผู้รู้จักกาล ทำเหมาะเจาะแก่กำลังทรัพย์ ไม่เกียจคร้าน ขยันขันแข็ง และไม่ประกอบในทางอันเป็นโทษ ซึ่งเรียกว่า มิจฉาอาชีวะ
บุคคลผู้รู้จักกาล เมื่อถึงคราวที่ประกอบก็ประกอบไม่เร็วไป หรือช้าไป และจะทำให้เหมาะแก่กำลังทรัพย์ ทั้งมีความขยัน และไม่ประกอบในทางผิดอันเป็นทุจริต ผลที่ได้ก็บริบูรณ์ ไม่บกพร่อง ทั้งไม่เดือดร้อนใจ
การงานที่เสื่อมเสียท่านมักติไว้ในทางเกียจคร้านเป็นเบื้องหน้า เพราะเมื่อเกียจคร้านแล้ว ก็ไม่มีทางจะนำมาซึ่งโภคทรัพย์ด้วยประการใด ๆ เหตุนั้น พระพุทธภาษิตจึงตรัสไว้ว่า "ประโยชน์ที่ประสงค์ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปล่วงหมู่มาณพ ผู้เสียสละการงานเสียแล้ว ด้วยอ้างว่าหนาวนัก ร้อนนัก เวลาเย็นนักแล้ว ดังนี้เป็นต้น"
ด้วยเหตุที่การงานที่ไม่คั่งค้างเป็นมูลที่ตั้งสำคัญแห่งความเจริญด้วยทรัพย์สมบัติ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าเป็นมงคลอันอุดม
ที่มา : https://www.jobbyyou.com