สมัครงานสะเปะสะปะเสียโอกาสหลายๆ อย่าง


739 ผู้ชม


สมัครงานสะเปะสะปะเสียโอกาสหลายๆ อย่าง




  "เตรียมพร้อมก่อนทำงาน" ประจำฉบับนี้ คุณสมชาย อาจองค์ หัวหน้างานบุคคล แห่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้เกียรติมาเสนอความคิดเห็นต่างๆ แก่คนรุ่นใหม่ทั้งที่กำลังหางานทำอยู่ และผู้ที่ยังยึดติดกับบางสิ่งบางอย่างอยู่ จนกลายเป็นข้อบกพร่องทำให้พลาดโอกาสในการได้มาซึ่งงานทำ   
   "ผมคิดว่าการที่จะสมัครงานแล้วให้ได้มาซึ่งงานทำนั้น ก่อนอื่นเลยตัวผู้สมัครเองสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องหาข้อมูลของหน่วยงานที่เขารับสมัครว่าเขาต้องการบุคลากรตำแหน่งใด และมีคุณสมบัติใดบ้าง อย่างประสบการณ์ที่ผมเคยเจอในฐานะหัวหน้างานบุคคลก็คือ ผู้ที่ส่งใบสมัครมานั้นไม่ตรงกับความต้องการที่เราประกาศไปเลย ซึ่งนั่นหมายความว่า ผู้สมัครปัจจุบันยังมีจำนวนไม่น้อยที่สมัครงานอย่างสะเปะสะปะ ทำให้เสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา และเสียโอกาสอีกมากมาย"
"ที่แน่ๆ และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องรู้ว่าประกาศรับสมัครนั้นเขาต้องการอะไร ซี่งโดยทั่วไปในใบประกาศจะบ่งบอกถึงคุณสมบัติ และลักษณะของผู้สมัครที่ต้องการอยู่แล้ว อย่างที่สองก็คือ ใบสมัครหรือเอกสารการสมัครงาน ซึ่งต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ต้องมีความละเอียด รอบคอบ ชัดเจน ไม่ใช่เขียนรายละเอียดมาอย่างกว้างๆ อาทิ ข้าพเจ้ามีความรู้ความสามารถที่จะทำงานที่นี่ หรือข้าพเจ้ามีความสนใจที่จะมาทำงานตรงนี้และยืนยันว่าจะสามารถทำงานนี้ได้อย่างดี การเขียนมาเช่นนี้ไม่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องตัดสินว่าคุณเหมาะสมกับตำแหน่งที่เปิดรับอยู่ สิ่งที่สมควรทำคือ เขียนประวัติให้ชัดเจนทั้งด้านการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน ความสามารถพิเศษ ความรู้พิเศษซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในการคัดเลือก"
"สำหรับผู้สมัครงานปัจจุบันทางฝ่ายบุคคลมักจะต้องการผู้ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ ต้องมีความรู้ทางคอมพิวเตอร์ ภาษา อย่างงานของที่ สวทช. นี่เรื่องของภาษาสำคัญมาก เพราะเราเป็นองค์กรที่ต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ"

เมื่อผู้สมัครงานผ่านด่านได้รับการเรียกตัวเข้าสอบสัมภาษณ์ คุณสมชายยังได้แนะนำว่าขอให้ผู้ถูกเรียกตัวเข้ารับการสัมภาษณ์เตรียมพร้อมในทุกๆด้าน ตั้งแต่บุคลิกภาพของตนเอง เนื่องจากการที่บริษัทแต่ละแห่งจะรับบุคคลเข้าทำงานบริษัทหรือองค์กรนั้นๆ ต้องมีความมั่นใจว่าผู้ถูกเลือกเป็นคนดี โดยจะเริ่มดูตั้งแต่รูปร่างภายนอกไปจนถึงจิตใจ ทั้งนี้ต้องสร้างความประทับใจในครั้งแรกของการสัมภาษณ์ด้วย ผู้สมัครบางคนมีสิ่งนำเสนอที่ดีแต่ทางผู้รับอาจไม่แน่ใจว่าผู้สมัครคนนั้นๆ จะสามารถทำงานได้ดีด้วยหรือไม่ ก็จะเสียโอกาสการได้งานทำไป
"การตอบคำถามเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น การทำงานที่ใดที่หนึ่งอยากแรกคือรู้ก่อนว่าองค์กรหรือบริษัทนั้นๆ ดำเนินธุรกิจหรือประกอบการเกี่ยวกับอะไรหากผู้สมัครบอกว่ามีความสนใจจะทำงานที่หน่วยนี้อย่างมาก แต่เมื่อสอบถามว่ารู้จักหน่วยงานนี้หรือไม่ผู้สมัครควรตอบว่าไม่รู้ ตรงนี้ผู้เรียกสัมภาษณ์หรือคณะกรรมการจะมองทันทีว่าผู้สมัครว่าไม่พร้อม"
   

"ส่วนคำถามที่เกี่ยวกับทัศนคติส่วนตัวนั้นองค์กรส่วนใหญ่ต้องการผู้ที่มีความคล่องตัว ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมเต็มที่ หากตอบแบบอึกอักก็จะมีผลต่อการให้คะแนน ส่วนการตอบคำถามแบบแบ่งรับแบ่งสู้จะดูดีกว่าไม่ตอบหรือตอบว่าไม่รู้ไม่ทราบ"

เคล็ดลับอย่างหนึ่งที่คุณสมชายบอกกับทีมงานในเรื่องการสมัครในขั้นตอนการสัมภาษณ์ก็คือ :

"
เรื่องของการสัมภาษณ์นั้นในส่วนตัวของผมคิดว่าหากเป็นไปได้อย่าเข้าสัมภาษณ์เป็นคนท้ายๆ จะเป็นการที่ดีที่สุด ควรเข้าเป็นคนแรกๆ เพราะขณะที่คนแรกถูกเรียกเข้าสัมภาษณ์คณะกรรมการจะยังไม่ค่อยมีข้อมูลอะไรมากมาย ถามเพียงประวัติ และเรื่องราวทั่วไป แต่เมื่อตั้งคำถามบางคำถามที่คนถูกสัมภาษณ์คนแรกตอบไม่ได้ คำถามนั้นจะกลายเป็นข้อมูลให้แก่คณะกรรมการสัมภาษณ์ทันทีว่า คนแรกตอบไม่ได้แล้วคนที่สองและคนต่อไปจะตอบได้หรือไม่ หรือถามประเด็นที่คนถูกเรียกสัมภาษณ์ตอบไม่ได้มากๆ โดยคนสุดท้ายจะถูกถามแทบทุกคำถามที่ผ่านมา และที่สำคัญเวลาตอบคำถามอย่าใช้วิธีตอบแบบถามคำตอบคำ ควรพูดคุยในลักษณะปรกติธรรมดา เหมือนพูดคุยธรรมดาอย่าเปิดช่องให้กรรมการถามมาก หรือถามเราเพียงฝ่ายเดียว"

ส่วนผู้ที่กำลังหางานหรือตกงานอยู่นั้นคุณสมชายได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า เมื่อจบมาแล้วต้องหาเลี้ยงตนเองให้ได้อย่าไปคาดหวังว่าเราจะได้งานตามที่ต้องการ ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำเบื้องต้นต้องคิดว่าที่เรียนมาเป็นเพียงเพื่อพัฒนาสมอง พัฒนาความรู้ เพราะพัฒนาสมองและความรู้ของคนในประเทศได้มากเท่าใด ประเทศก็จะเจริญมากขึ้นเท่านั้นอย่ามัวแต่รอคอยตำแหน่งงานที่ตนร่ำเรียนมา อย่าเลือกงานแล้วโอกาสจะมาถึงคุณแน่นอน
 
 
จากหนังสือ รวมแหล่งงาน ฉบับที่ 248 วันที่ 1-3 ตุลาคม 2544

อัพเดทล่าสุด