ความสามารถที่นายจ้างต้องการ


688 ผู้ชม


ความสามารถที่นายจ้างต้องการ




ผู้เขียนให้ความสำคัญในเรื่องความสามารถในเชิงพฤติกรรมค่อนข้างมาก เพราะเห็นว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการศึกษา  ประสบการณ์ในงานสายอาชีพและคุณสมบัติอื่น ๆ
 
 ความสามารถไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด  ดังนั้น  จึงมักไม่ค่อยมีระบุไว้ในใบพรรณนาหน้าที่งานในส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ และเน้นการค้นหาความสามารถระหว่างการสัมภาษณ์มากนัก ซึ่งเป็นที่มาและสาเหตุสำคัญของความผิดพลาดในการคัดเลือก
 
 ผู้เขียนได้มีโอกาสตรวจดูประกาศรับสมัครงานอย่างคร่าว ๆ  290  แผ่น และพบว่าเพียงแค่  45  แผ่น หรือประมาณร้อยละ 16 % เท่านั้นที่มีการระบุความสามารถในการประกาศรับสมัครงาน

 

สำหรับความสามารถที่พบว่ามีการใช้กันมากที่สุดมีดังนี้
 
 - มนุษยสัมพันธ์
 - ความอดทน
 - ความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
 - การทำงานภายใต้ความกดดัน
 - ความกระตือรือร้น
 - ภาวะผู้นำ
 - ความคิดสร้างสรรค์

ส่วนความสามารถอื่น ๆ ที่ระบุในประกาศรับสมัครงานมีดังนี้
 
 - รักงานบริการ
 - การทำงานเป็นทีม
 - การเจรจาต่อรอง
 - ความซื่อสัตย์ ความซื่อตรง
 - การวิเคราะห์
 - การคิดเชิงกลยุทธ์
 - การนำเสนอ
 - การแก้ปัญหา
 - การจูงใจตัวเอง
 - การประสานงาน
 - ความร่วมมือ
 - ความรอบคอบ
 
 
 
การที่ไม่ได้ระบุความสามารถที่ต้องการในใบสมัคร ก็มิได้หมายความว่าสถานประกอบการเหล่านั้นไม่ได้ให้ความสำคัญ  แต่อาจจะเป็นเพราะเนื้อที่จำกัดและมีราคาแพง ประเด็นสำคัญอยู่ที่การค้นหาความสามารถระหว่างการสัมภาษณ์และการคัดเลือก แต่ถ้าไม่ได้ระบุและไม่ได้ค้นหาด้วยแล้ว  โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในการคัดเลือกมีสูงมาก
 
 ผู้เขียนคิดว่าถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงในเรื่องเนื้อหาในประกาศรับสมัครงาน ควรระบุความสามารถที่ต้องการ ไว้บ้างเพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญและเป็นการช่วยกลั่นกรองผู้สมัครได้ในระดับหนึ่ง
 
ความสามารถที่นอกเหนือจากที่พบในประกาศรับสมัครงานยังมีอีกมาก  ดังเช่นที่จะกล่าวต่อไปนี้
 
 - ความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จ
(Commitment)
 - การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 
(Continuous Learning)
 - การให้ความสนใจกับลูกค้า 
(Customer  Focus)
 - การผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ (Drive for Results)
 - การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี 
(Collaboration/Team work)
 - การปรับตัว  (Adaptability)
 - การรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น (Sensitivity)
 - การกล้าตัดสินใจ (Decisiveness)
 - การพัฒนาผู้อื่น  (Developing  Others)
 - การใช้ดุลพินิจ  
(Judgment)
 - ความสามารถในการโน้มน้าวชักจูง (Influence) และอื่น ๆ  อีกมาก
 
ความสามารถเป็นเครื่องช่วยให้ผู้ดำรงตำแหน่งทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่า  ปัญหาที่พบอยู่เสมอ ๆ มีอยู่หลายลักษณะ  เช่น  ทำงานเก่งแต่ขาดภาวะผู้นำ  ทำงานสำเร็จแต่ต้องทะเลาะกับผู้อื่นอยู่เสมอ ๆ คิดเก่งทำเก่งแต่นำเสนอไม่เป็น เข้ากับเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนร่วมทีมไม่ได้  ท้อถอยหรือยอมแพ้และเปลี่ยนจุดยืนง่าย ๆ พอใจในสภาพที่เป็นอยู่และไม่มีความมุ่งมั่นที่จะแสวงหาหรือปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

 ไม่รู้จักจูงใจตัวเองแต่ต้องคอยให้ผู้อื่นช่วยกระตุ้น หรือมีเครื่องช่วยกระตุ้นหรือมีรางวัลจูงใจ (ไม่มีไม่ทำ) ไม่กล้าได้กล้าเสียและกล้าตัดสินใจ  เป็นต้น
 
 คนที่นายจ้างอยากจะได้ก็คือบุคคลที่เก่งในเรื่องงานและมีความสามารถอื่น ๆ  อย่างเพียบพร้อม  ความสามารถนี่แหละที่จะช่วยนำความเก่งในเรื่องงานและความรู้ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 ผู้สัมภาษณ์จะต้องเน้นเรื่องความสามารถให้มากขึ้นกว่าเดิม  ส่วนผู้สมัครก็จะต้องสำรวจตรวจ-สอบความสามารถและปรับปรุงความสามารถของตัวเอง  นอกจากนั้น  ยังจะต้องพิสูจน์ให้ผู้สัมภาษณ์เห็นระหว่างการสัมภาษณ์และระหว่างการทดลองงาน

 

ที่มา: H.R.Management นิตยสาร Recruit Update ฉบับที่ 418 วันที่ 16-31  มกราคม  2548


อัพเดทล่าสุด