คำถามที่ผู้สมัครควรเตรียมตัวตอบ


644 ผู้ชม


คำถามที่ผู้สมัครควรเตรียมตัวตอบ




 ผู้สัมภาษณ์ต่างก็ได้รับการฝึกฝนมาจากหลายสำนักหรือยึดหลักและวิธีการสัมภาษณ์ หรือวิธียิงคำถามที่แตกต่างกันบางรายใช้วิธีสมมุติหรือยกตัวอย่างเช่น ถ้าเหตุการณ์เป็นอย่างนี้คุณจะทำอย่างไรและให้ผู้สมัครตอบ เป็นต้น สำหรับผู้เขียนชอบที่จะใช้วิธีให้ผู้สมัครเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า เพราะการยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงทำให้ผู้สมัครบิดเบือนข้อมูลได้ยาก หรือพูดกันง่าย ๆ ก็คือ "จัดฉาก" ได้ยากกว่า

ในขณะที่การใช้วิธีให้ยกตัวอย่างแบบสมมุติผู้สมัครที่พูดเก่ง ๆ หรือเพิ่งอ่านตำรามาสด ๆ ร้อน ๆ อาจเป่าผู้สัมภาษณ์ให้หลับหรือหลงทางได้ง่าย ๆ ดังนั้นหลักการที่ให้ผู้สมัครเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจะไม่ให้ความสำคัญกับคำพูดลอย ๆ เรื่องราวที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือการตอบในเชิงให้ความคิดเห็นอย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติอาจจะต้องใช้หลายๆ วิธีผสมผสานกันบ้างประเด็นอยู่ที่ว่าจะถามเรื่องอะไร ไม่มีกฎหรือสูตรตามตัว เป้าหมายก็คือให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงให้มากที่สุด

การให้ผู้สมัครเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเหมาะที่จะใช้ตรวจสอบความสามารถในเชิงพฤติกรรม เช่นช่วยเล่าถึงกรณีที่แสดงให้เห็นว่าคุณมีความอดกลั้นอดทนสูงมากเป็นพิเศษ ช่วยยกตัวอย่างชิ้นงานที่คุณทำได้อย่างยอดเยี่ยมหรือเหนือความคาดหวัง และช่วยอธิบายว่าคุณจัดการหรือดำเนินการอย่างไร และผลออกมาอย่างใด  เป็นต้น
  นอกเหนือจากการยิงคำถามที่มุ่งค้นหาความสามารถในเชิงพฤติกรรม (Behavioral Based Interview Questions) แล้วผู้สัมภาษณ์มืออาชีพอาจถามคำถามพื้นฐานดังที่จะยกตัวอย่างต่อไปนี้อีกด้วย

 -  เหตุใดบ้างที่ทำให้คุณจะออกจากงานและมาสมัครงานกับเรา เพราะดูๆ แล้วคุณมีงานที่ดีอยู่แล้ว ตำแหน่งก็ดี บริษัทก็ดัง และเงินเดือนก็สูง
 
-  ส่วนไหนของงานที่คุณทำซึ่งคุณไม่ชอบมากที่สุด ทำแล้วน่าเบื่อหรือทำแล้วไม่สนุก หรือท้าทาย
 -  ส่วนไหนของงานที่คุณชอบมากที่สุด
 -  ถ้าผมโทร. ไปหาเจ้านายของคุณตอนนี้ คุณคิดว่าเจ้านายของคุณจะให้ความเห็นเกี่ยวกับตัวคุณในแง่ของนิสัย ผลงานและความสามารถอย่างไร ช่วยอธิบายสั้น ๆ 
 -  คุณชอบทำงานกับเจ้านายแบบใดมากที่สุดและเพราะอะไร
 -  จุดอ่อนของคุณที่เห็นได้ชัดมีอะไรบ้าง
 -  คุณมีอะไรที่แตกต่างจากผู้สมัครอื่น และอะไรคือจุดแข็งของคุณ
 
-  ในตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบัน วันหนึ่ง ๆ คุณทำอะไรบ้าง
 -  คนประเภทใดที่ทำให้คุณเบื่อหน่ายมากที่สุด
 -  อะไรบ้างที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณทำงานในตำแหน่งที่คุณกำลังสมัครได้ไม่ดีเท่าที่ควร
 
 -  คุณรู้เรื่องราวอะไรเกี่ยวกับบริษัทของเราบ้าง ทำไมคุณจึงเลือกที่จะมาทำงานกับเรา
 -  คุณมีความรู้สึกอย่างไรที่ต้องทำงานนอกเวลาหรือต้องเดินทางในบางครั้ง
 -  ทำไมเราจึงควรเลือกคุณแทนที่จะเลือกผู้สมัครอื่น ช่วยอธิบายสิ่งที่คุณคิดว่าคุณเด่นกว่าผู้สมัครอื่น
 
  
ข้างต้นเป็นคำถามพื้นฐานที่ผู้สมัครมักจะถามนอกเหนือไปจากคำถามที่เกี่ยวกับการศึกษา (ทำไมจึงเลือกเรียนวิชานี้ ชอบหรือไม่ชอบวิชาอะไร ทำกิจกรรมอะไรบ้าง ตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร อยากเป็นอะไรและเมื่อใด นับถึงวันนี้ได้เป้าหรือพลาดเป้า เพราะอะไร ฯลฯ)ประสบการณ์ในการทำงาน (หน้าที่หลักมีอะไรบ้าง อะไรคือหน้าที่รอง ใช้เทคโนโลยีอะไร รายงานกับใคร มีผู้ใต้บังคับบัญชาหรือไม่ อะไรที่ชอบและไม่ชอบเกี่ยวกับงาน อะไรที่ชอบและไม่ชอบเกี่ยวกับองค์การ ฯลฯ) ความสามารถในเรื่องภาษา (อ่าน พูด และเขียน) และทักษะและความสามารถในเชิงพฤติกรรม (การวิเคราะห์ การ
สื่อสาร การเจรจาต่อรอง ภาวะผู้นำ มนุษยสัมพันธ์ การให้ความสำคัญกับลูกค้า ฯลฯ) และคำถามอื่นๆ

   นอกจากคำถามที่มืออาชีพชอบใช้ข้างต้น ผู้สมัครจะต้องเตรียมตอบคำถามเกี่ยวกับงานที่สมัคร ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่มีความสำคัญมาก เช่น ถ้าไปสมัครงานเจ้าหน้าที่บุคคลระดับต้น ๆ ควรพร้อมที่จะตอบคำถามพื้นฐานดังต่อไปนี้
 
 -  ตามความคิดของคุณ บทบาทของ H.R. มีอะไรบ้าง
 -  ทำไมคุณเลือกที่จะทำอาชีพนี้ คุณทราบหรือไม่ว่าอาชีพนี้ต้องอาศัยความสามารถส่วนตัวอะไรบ้าง
 -  ผู้ที่ทำงาน H.R. จะต้องมีจรรยาบรรณอะไรบ้าง และเพราะอะไร
 -  คุณมีหลักการอย่างไรที่จะทำให้นายจ้างไว้ใจ ผู้ใต้บังคับบัญชาต่างๆ ยอมรับคุณ ลูกจ้างไม่รังเกียจ และสหภาพแรงงานเชื่อใจคุณในเวลาเดียวกัน
 -  สมัยนี้ผู้สมัครหายาก คุณมีวิธีเข้าถึงแหล่งผู้สมัครงานอย่างไร
 -  คุณมีหลักเกณฑ์ในการสัมภาษณ์อย่างไร
 -  การที่จะให้บุคคลอื่นทำตามความคิดของคุณ คุณจะต้องทำอะไรบ้าง
 -  คนมักจะคิดว่า H.R. ทำงานแต่จ้างกับเลิกจ้าง
 -  คุณคิดว่างานหลักของ H.R. ในฐานะ Business Partner มีหน้าที่อะไรบ้าง-คุณมี Social Skills หรือทักษะในเรื่องสังคมอะไรบ้าง คุณใช้เวลานอกงานและวันหยุดทำอะไร
 
    ตามปรกติผู้สัมภาษณ์จะใช้วิธีถามแบบเปิด (OpenEnded Questions) และตามด้วยคำถามแบบเจาะประเด็นหรือคำถามแบบล้วงลึก (Probe Questions) เพื่อหาข้อมูลในเชิงลึก โดยอาจจะให้ยกตัวอย่างหรือให้อธิบายว่าผู้สมัครได้ทำอะไร และอย่างไร พึงหลีกเลี่ยงคำถามที่ต้องตอบว่า "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" เพราะจะไม่ได้ประโยชน์อะไร
 
 การไปรับการสัมภาษณ์ดู ๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ แต่ถ้าผู้สมัครมีการเตรียมตัวล่วงหน้า และรู้เป็นนัยๆ ว่าผู้สัมภาษณ์จะถามอะไรบ้าง หรือถามในแนวไหน ความวิตกกังวลก็จะน้อยลงและความมั่นใจก็จะเข้ามาแทนที่ 
 ขอให้คุณจงโชคดีสำหรับการสัมภาษณ์ครั้งต่อไป

 

ที่มา: HR. Management โดย: ชำนาญ  พิมลรัตน์
นิตยสาร Recruit Update ฉบับที่ 413 วันที่  1-15  พฤศจิกายน  2547


อัพเดทล่าสุด