เพื่อลดความวิตกกังวล สิ่งที่ผู้สมัครควรเตรียมมี ดังนี้


629 ผู้ชม


เพื่อลดความวิตกกังวล สิ่งที่ผู้สมัครควรเตรียมมี ดังนี้




ผู้สมัครเป็นจำนวนไม่น้อยมักจะเกิดความวิตกกังวลหรือมีข้อสงสัยต่าง ๆ นานา เมื่อต้องก้าวเข้าสู่กระบวนการสรรหาและคัดเลือก มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับประ-สบการณ์ของแต่ละบุคคลและถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา  ผู้สมัครที่เคยผ่านสนามมาแล้ว จะมีความวิตกกังวลน้อยกว่า
 
เมื่อต้องเขียนจดหมายสมัครงานหรือประวัติย่อของตนเอง ก็เกิดความกังวลหรือมีข้อสงสัย เช่น จะสรุปให้กระชับหรือกะทัดรัดและดึงดูดความสนใจของผู้รับสมัครได้ด้วยการใช้คำพูดอย่างไร  เป็นต้น
 
ครั้นเมื่อถูกเชิญไปสัมภาษณ์ก็เกิดอาการทำนองเดียวกัน เช่น กลัวว่าจะไม่ได้รับคัดเลือก หรือสู้ผู้สมัครอื่นไม่ได้   จะตอบคำถามในการสัมภาษณ์ให้เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้สัมภาษณ์ได้อย่างไร ผู้สัมภาษณ์จะถามอะไรบ้าง จะแต่งกายอย่างไร  ควรจะผูกเนกไทใส่สูทหรือไม่ ควรจะถือโน้ตบุ๊คติดตัวไปด้วยหรือไม่เพื่อใช้ในการนำเสนอประวัติตัวเอง ควรจะไปถึงสถานที่นัดหมายเวลาเท่าใดและจะเดินทางไปด้วยวิธีใด ใครจะเป็นผู้สัมภาษณ์ จะวางตัวระหว่างการสัมภาษณ์อย่างไรจึงจะดี  เป็นต้น
 
เมื่อถึงเวลานัดหมายก็เกิดความวิตกกังวลหรือมีข้อสงสัยอีก เช่น ควรจะขอเงินเดือนสักเท่าไหร่จึงจะดี ถ้าถูกถามถึงเหตุผลที่ลาออกจากงานควรจะตอบอย่างไรจึงจะเหมาะสม จะอุดช่องว่างช่องโว่หรือข้อด้อยต่าง ๆ  ของตัวเอง เช่น การศึกษาประสบการณ์ ฯลฯ ด้วยวิธีใด ควรจะพูดความจริงหรือควรปั้นเรื่องให้ประวัติตัวเองดูดี  เป็นต้น

ครั้นเมื่อสัมภาษณ์เสร็จก็เกิดความวิตกกังวลอีกเช่นกัน  การที่ผู้สัมภาษณ์ถามอย่างนั้นอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร จะมีโอกาสผ่านเข้ารอบต่อไปอีกหรือไม่ การที่ผู้สัมภาษณ์ถามว่าจะมารายงานตัวเข้าทำงานได้เมื่อใด หมายความว่าจะเข้าข่ายหรือมีโอกาสได้รับการคัดเลือกใช่หรือไม่  เป็นต้น                                                                   
 
 สรุปแล้วไม่ถูกเรียกไปสัมภาษณ์ก็เป็นทุกข์ เมื่อได้รับจดหมายเชิญไปสัมภาษณ์ก็เป็นทุกข์ ระหว่างการสัมภาษณ์ก็เป็นทุกข์และเมื่อเสร็จการสัมภาษณ์ก็เป็นทุกข์หรือมีข้อวิตกกังวลหรือข้อสงสัยไม่มีคำตอบแบบเบ็ดเสร็จหรือสำเร็จรูปและหลาย ๆ กรณีพบว่าผู้สมัครคิดมากไปเองหรือคิดเลยเถิดเกินไป  ผู้สมัครจะต้องพยายามคลายความวิตกกังวลโดยเตรียมตัวเตรียมใจและหาข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ รวมทั้งคาดคะเนคำถามและสถานการณ์ซึ่งน่าจะเกิดขึ้น
 
 ความจริงเป็นสิ่งไม่ตายเป็นคำกล่าวที่เป็นอมตะ การบิดเบือนข้อเท็จจริงมีโอกาสถูกจับได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องไปรับการสัมภาษณ์กับนักสัมภาษณ์มืออาชีพ  ซึ่งจะมีเทคนิคลดการบิดเบือนข้อมูลของผู้สมัคร ดังนั้น จึงต้องระวังไว้เหมือนกัน เพราะเมื่อถูกซักเข้า ๆ อาจถึงภาวะจนมุมเข้าได้ง่าย ๆ ตามความเห็นของผู้เขียนการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาน่าจะดีกว่า แต่ควรอธิบายหรือหาเหตุผลสนับสนุน ผู้เขียนเคยเห็นผู้สมัครคนหนึ่งพยายามลบจุดอ่อนของเขาทางด้านการศึกษาได้ค่อนข้างดี

 เมื่อต้องแข่งกับนักเรียนนอกหรือผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยการบอกว่าก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเขาไม่ค่อยได้สนใจเรื่องการเรียนมากนักหรือชอบเที่ยวเตร่ จึงทำให้เขาไม่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าได้ แต่การคบหาสมาคมกับเพื่อน ๆ ในตอนนั้นช่วยสร้างจุดแข็งให้แก่เขาเมื่อทำงาน เพราะเขาได้ทักษะทางด้านสังคม ซึ่งนำไปใช้ในงานขายเป็นอย่างดียิ่ง และผู้สมัครท่านนี้ก็ได้พยายามใช้ความดังของบริษัทที่เขาทำงานอยู่และผลงานอันโดดเด่น รวมทั้งความก้าวหน้าในสายอาชีพและการแสดงความเชื่อมั่นในตัวเองของเขาเป็นตัวช่วย  ซึ่งทำให้เขาสามารถลบจุดด้อยได้ 

 

เพื่อลดความวิตกกังวล สิ่งที่ผู้สมัครควรเตรียมมีดังนี้

เตรียมตัวเตรียมใจ
อย่าคิดมากหรือวิตกจนเกินเหตุ  การที่จะได้งานแต่ละครั้งอาจต้องไปสัมภาษณ์หลาย ๆ ที่ พลาดงานนี้ก็สมัครงานอื่นต่อ  ผู้สมัครงานบางคนส่งใบสมัคร 10 ครั้ง อาจถูกเรียกไปสัมภาษณ์แค่เพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น  และอาจไม่ถูกรับเลือกก็เลยได้ ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติอย่างใดแต่ต้องพยายามต่อไป

เตรียมข้อมูล

พยายามหาข้อมูลของสถานประกอบการให้มากที่สุด เช่น ใครเป็นเจ้าของ ผลิตอะไร ขาย ที่ไหน ผลิตภัณฑ์ติดตลาดหรือไม่อย่างไร กำไรดีไหม สินค้าหรือบริการมีปัญหาตรงไหน อะไรคือจุดอ่อนหรือจุดแข็งขององค์การและผลิตภัณฑ์
 

ศึกษาขั้นตอนการสัมภาษณ์
 ผู้สัมภาษณ์มืออาชีพจะสัมภาษณ์อย่างมีขั้นมีตอน เริ่มจากการหาข้อมูลส่วนตัวเรื่อยไปจนกระทั่งถึงประสบการณ์ และความสามารถต่าง ๆ และจะเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้ซักถามเกี่ยวกับลักษณะของงานและข้อมูลขององค์การ (ผู้สมัครควรเตรียมคำถามที่จะถามผู้สัมภาษณ์ไว้ล่วงหน้า)
 
คาดคะเนคำถามและเตรียมคำตอบ

 ควรคาดคะเนคำถามในแต่ละจุดดังที่ได้กล่าวในข้างต้นและพยายามศึกษาคำถามที่ผู้สัมภาษณ์มืออาชีพมักจะถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับความสามารถในเชิงพฤติกรรม  เช่น  การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ ภาวะผู้นำ ความคิดริเริ่ม  ฯลฯ
 
นอนแต่หัวค่ำ

 
พยายามนอนให้เต็มที่เพื่อจะได้ดูสดชื่นในวันรุ่งขึ้น แต่งกายให้เหมาะสมกับงานหรือสถานที่ที่จะไปสัมภาษณ์  ไม่มีสูตรตายตัวในการสัมภาษณ์ ผู้เขียนเคยเห็นผู้สมัครระดับผู้จัดการเงินเดือนแสนต้น ๆ ใส่สูทและเอาโน้ตบุ๊คติดตัวไปด้วยและนำเสนอประวัติตัวเอง โดยปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า  "ทำไมบริษัทจึงควรจะเลือกผม"  โดยระบุเหตุผลและจุดแข็งของเขาเป็นข้อ ๆ



 

 



ที่มา :
คอลัมน์ HR.Manament โดย ชำนาญ พิมลรัตน์
นิตยสาร : Recruit ฉบับที่ 417 ประจำวันที่  1-15 มกราคม 2548

ดังได้กล่าวมาแล้ว   ความวิตกกังวลหรือข้อสงสัยมักจะเกิดขึ้นแก่ทุกคนซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาแต่ถ้าหากผู้สมัครได้เตรียมตัวตามข้อเสนอแนะข้างต้น เชื่อว่าความวิตกกังวลหรือข้อสงสัยน่าจะลดลงไปได้ในระดับหนึ่ง
 
 ความทุกข์ทางใจของผู้สมัครยังไม่จบแต่เพียงแค่นี้ ผู้สมัครยังมีความทุกข์ทางใจ  เกิดความวิตกกังวลหรือมีข้อสงสัยต่าง ๆ  อีกในระหว่างระยะเวลา 120 วันแรกซึ่งเป็นระยะทดลองงาน กล่าวคือ หวั่นเกรงว่าจะไม่ผ่านการทดลองงานหรือสงสัยว่าผู้บังคับบัญชามีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับผลการปฏิบัติงาน  การเรียนรู้  การปรับตัว  นิสัยหรือพฤติกรรมอื่นๆ ฯลฯ ข้อเสนอแนะง่าย ๆ ก็คือ ระหว่างระยะทดลองงานซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือเครื่องช่วยในการคัดบุคลากรอย่างหนึ่ง ผู้สมัครที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องพยายามให้ดีที่สุด โดยเน้นปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเพราะทำงานเก่งอย่างเดียวไม่พอ แต่จะต้องแสดงความสามารถต่าง ๆ ให้เห็นด้วย

อัพเดทล่าสุด