จดหมายสมัครงานเป็นไฉน..ใยเงียบหาย
เมื่อผู้สมัครส่งจดหมายสมัครงานไปแล้วผมว่าร้อยทั้งร้อยนั่นแหละครับที่จะต้องเริ่มมีความหวังไม่มากก็น้อยว่าจะได้รับการติดต่อกลับมา(ถ้าไม่หวังก็คงไม่ส่งจดหมายไปให้เปลืองค่าแสตมป์จริงไหมครับ)แต่ถึงแม้ว่าผู้สมัครจะพิถีพิถันพยายามเขียนจดหมายสมัครงานแล้วเป็นอย่างดี อีกทั้งประวัติการทำงานก็ดูแล้วน่าจะจูงใจให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเขาติดต่อกลับมาอย่างไรก็ตาม แต่เอ...ทำไมจนป่านฉะนี้ยังไม่เห็นมีวี่แววอะไรเลย เอ๊ะ!หรือจดหมายของเราจะส่งไปไม่ถึง หรือส่งถึงแต่ถึงก้นถึงขยะไปแล้ว?? สารพัดจะคิดไปได้ร้อยแปดครับ ผมจะชี้แจงแถลงเหตุผลให้ท่านทราบว่าทำไม๊..ทำไมจึงไม่มีข่าวคราวตอบกลับมา
1. จดหมายสมัครงานของท่านไม่ถึงมือผู้รับ อาจจะเนื่องจากท่านจ่าหน้าซองผิดใส่ที่อยู่ผิดหรือจดหมายสูญหายระหว่างทาง ดังนั้นในกรณีนี้ป้องกันได้โดยให้ท่านลงทะเบียนไว้เพื่อกันหายครับ
2. ได้คนที่เหมาะสมกับตำแหน่งนั้นแล้ว บริษัทหรือกิจการนั้น ๆ อาจจะคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งนั้นแล้วจึงไม่ได้ติดต่อเรียกท่านไปทดสอบก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ให้ท่านสังเกตได้ว่าหลังจากท่านส่งจดหมายสมัครงานไปแล้วประมาณ 1 เดือนแล้วยังเงียบหายไปก็คงไม่ต้องไปตั้งความหวังอะไรสำหรับบริษัทนั้นแล้วละครับ แต่สำหรับบริษัทที่ดีๆ บางแห่งอาจจะแจ้งโดยโทรศัพท์กลับมาว่ายังอยู่ในระหว่างเปรียบเทียบผู้สมัคร หรือ ฯลฯ ซึ่งก็จะทำให้ผู้สมัครงานได้รับทราบขั้นตอนได้
3. เจ้าหน้าที่ที่คัดเลือกจดหมายสมัครงานตาไม่ถึง อันนี้เป็นเรื่องจริงนะครับถือได้ว่าเป็นข้อบกพร่องของบริษัทหรือองค์กรที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับงานบุคคลเลยก็ว่าได้ โดยการให้พนักงานที่ขาดคุณสมบัติของฝ่ายบุคคลที่ดีมาทำการคัดเลือกคน(หรือคัดเลือกจากจดหมายหรือใบสมัครงานนั่นแหละครับ)ซึ่งพนักงานที่คัดเลือกคนที่ด้อยคุณภาพเหล่านี้ก็จะทำตัวคล้าย "ไก่ได้พลอย" หรือ "วานรได้แก้ว" นั่นเองคือไม่รู้ค่าเพราะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดมีค่าต่อองค์กรหรือไม่ ซึ่งหากบริษัทห้างร้านไหนไม่ระวังตรงจุดนี้จะทำให้บริษัทนั้นเสียโอกาสที่จะได้พนักงานดี ๆ มาร่วมงานกับบริษัทไปอย่างน่าเสียดาย
4. ผู้สมัครงานไม่ใส่ที่อยู่ที่สามารถติดต่อกลับไปได้ อันนี้มีบ่อยที่ผู้สมัครลืมให้ที่อยู่แม้แต่หมายเลขโทรศัพท์แล้วจะให้ติดต่อกลับไปยังไงล่ะครับ
5. ไม่แนบรูปถ่ายหรือเอกสารไปให้ครบถ้วนตามที่บริษัทระบุไว้ นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านตกรอบคัดเลือกไปเสียก่อนเพราะบริษัทจะพิจารณาว่าท่านสะเพร่าไม่มีความละเอียดถี่ถ้วนพอ ยิ่งไม่เห็นหน้าค่าตากันด้วยแล้วก็คงไม่ผ่านด่านแรกนี้ไปได้หรอกครับ
ที่ผมพูดมานี้ก็เพื่อแสดงสาเหตุให้ท่านเห็นว่าทำไมจดหมายสมัครงานของท่านถึงหายจ้อยไปอย่างไร้ร่องรอยทั้ง ๆ ที่ท่านไม่ได้ส่งไปที่แถวสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้าสักกะหน่อย เมื่อเห็นสาเหตุแล้วคงเป็นบทเรียนให้กับท่านเพื่อปิดข้อผิดพลาดทางด้านผู้สมัครงานได้พอสมควรนะครับ ส่วนข้อผิดพลาดจากทางด้านบริษัทเช่นในข้อ3 ก็ต้องถือว่ายกประโยชน์ให้จำเลยไปเถอะครับถือว่าเป็นความโชคร้ายขององค์กรนั้นไปก็แล้วกัน
เตรียมตัวอย่างไร เพื่อไปงานนัดพบแรงงาน
อย่างที่ผมเคยเล่าให้ท่านฟังแหละครับว่านอกเหนือจากการสมัครงานด้วยการอ่านประกาศตามหน้าหนังสือพิมพ์และเขียนจดหมายสมัครงานส่งไปยังบริษัทต่าง ๆ เหล่านั้นแล้ว ยังมีแหล่งที่ถือว่าเป็นตลาดแรงงานแหล่งใหญ่อีกนั่นก็คือ "งานนัดพบแรงงาน" หรือที่บางคนอาจจะเรียกงานนี้ว่า "JOB FAIR" ก็ขอให้เข้าใจว่าคือความหมายเดียวกันนะครับ คราวนี้อันว่างานนัดพบแรงงานนี้น่ะเขามักจะจัดกันตามสถาบันการศึกษาอาทิเช่น ตามมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัย หรือไม่อย่างงั้นก็จะจัดตามแหล่งสาธารณะเช่นศูนย์การค้า เป็นต้น ซึ่งก็จะมีรูปแบบของงานที่คล้าย ๆ กันคือจะมีมากมายหลายบริษัทมาร่วมกันตั้งโต๊ะ(บางคนอาจจะเรียกว่าตั้งบู๊ธ(Booth)ซึ่งบู๊ธก็ต้องมีโต๊ะตั้งไว้เหมือนกันแหละไม่งั้นคนรับสมัครเมื่อยขาแย่เลย) คราวนี้แต่ละบริษัทต่างก็จะมีเจ้าหน้าที่ของตนมาคอยตอบข้อซักถามจากบรรดาผู้สนใจทั้งหลาย พร้อมทั้งแจกใบสมัครงานให้ผู้สนใจนำไปกรอกและกำหนดให้นำใบสมัครพร้อมหลักฐานการสมัครงานต่าง ๆ มาส่งให้ภายในเวลากี่โมงก็ว่ากันไป ซึ่งทำให้ทั้งผู้ต้องการสมัครงานและเจ้าหน้าที่ที่รับสมัครงานของบริษัทมีโอกาสได้แลเห็นตัวซึ่งกันและกันพอสมควร ดีกว่าการรอรับจดหมายสมัครงานซึ่งเจ้าหน้าที่รับสมัครจะเห็นแต่เพียงรูปถ่ายเท่านั้นไม่มีโอกาสได้เห็นการเจรจาโต้ตอบหรือบุคลิกลักษณะได้ชัดเจนนัก ซึ่งตรงจุดนี้แหละครับทำให้ผู้สมัครบางรายที่ละเลยหรือไม่ได้ใส่ใจในเรื่องของตัวเองเท่าไหร่นักเสียโอกาสที่จะได้งานไปอย่างน่าเสียดาย เพราะเหตุดังนี้คือ....
1. เตรียมเอกสารมาไม่พร้อม ในเรื่องนี้มีหลายสาเหตุครับเช่นอาจจะเตรียมมาพร้อมในตอนแรกแต่ตอน ต่อ ๆ มาอาจจะสนุกสนานกับการสมัครงานจนเอกสารที่เตรียมมาหมด(เพราะไม่ได้ถ่ายเอกสารเผื่อเอาไว้) ทำให้เอกสารประกอบการสมัครงานไม่ครบซึ่งตรงนี้เป็นข้อเตือนใจสำหรับนักสมัครงานประเภทสมัครดะเรื่อยไปเหมือนคนซื้อล๊อตเตอรี่หลาย ๆ ใบแล้วหวังฟลุ๊คถูกเข้าสักใบนะครับ คือท่านควรจะสมัครงานด้วย "สติ" นะครับนั่นคืออย่าแห่สมัครงานไปตามเพื่อนทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบงานนั้นหรือไม่หรือมีความสามารถจะทำงานนั้นได้หรือเปล่า ควรเลือกงานที่เหมาะกับความรู้ความสามารถที่ท่านมีอยู่ หากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ได้ครับ ดีกว่าการสมัครแบบเหวี่ยงแหซึ่งสุดท้ายมักจะไม่ได้งานที่ตนเองถนัดหรือต้องการ ดังนั้นในเรื่องนี้ท่านควรถามตัวเองและตรวจเอกสารเกี่ยวกับการสมัครงานให้ครบถ้วนก่อนมางานนัดพบแรงงานนะครับ ส่วนว่าเอกสารมีอะไรบ้างนั้นผมได้บอกให้ทราบไปแล้วในตอนต้นนะครับ
2. การแต่งกาย มีคำกล่าวอยู่ว่า "แต่งกายดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง" นั้นมีส่วนจริงเหมือนกันนะครับเพราะในงานนัดพบแรงงานนี้ทางเจ้าหน้าที่รับสมัครงานนั้นอาจจะไม่ได้มีเฉพาะเจ้าหน้าที่ธรรมดาทั่วไป แต่อาจมีผู้บริหารที่อำนาจรับสมัครงานมาด้อม ๆ มอง ๆ อยู่ด้วย เผลอ ๆ ท่านอาจจะกำลังสอบถามหรือพูดคุยอยู่กับผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลอยู่โดยไม่รู้ตัวก็ได้ ดังนั้นหากท่านแต่งกายปอน ๆ หรือลากรองเท้าแตะไปมาก็คงพิจารณาได้ในแง่ของความเรียบร้อยรู้จักกาละเทศะนะครับ ยังไงก็พยายามแต่งกายแบบที่คนทำงานเขาแต่งกันจะดีกว่าคือสุภาพเรียบร้อย(ไม่ได้เน้นว่าจะต้องเป็นเครื่องแต่งกายที่มีราคาแพงนะครับ)ดูดี ก็จะทำให้ท่านได้เปรียบคู่แข่งอีกหลาย ๆ คนที่ไม่ได้เตรียมพร้อมในเรื่องการแต่งกายนะครับ
3. เตรียมการถูกสัมภาษณ์ ในเรื่องนี้คือในการที่ท่านไปสอบถามข้อสงสัยต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่มารับสมัครงาน ท่านอาจจะถูกสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการเข้าก็ได้ในกรณีที่ท่านมีคุณสมบัติตรงตามที่บริษัทนั้น ๆ กำลังหาอยู่ ซึ่งท่านจะต้องเตรียมคำตอบให้เป็นที่สนใจกับบริษัทนั้น ๆ ให้ดีอีกทั้งกิริยาท่าทางควรแสดงถึงความกระตือรือร้นและสนใจในงานนั้นอย่างจริงจัง จะทำให้ท่านได้เปรียบคู่แข่งที่ไม่ได้เตรียมตัวหรือคู่แข่งประเภทกลัวดอกพิกุลร่วง(ถามคำตอบคำ)อย่างแน่นอน ในเรื่องนี้การแสดงถึงความมั่นใจในตัวเองให้ผู้สัมภาษณ์เห็นเป็นสิ่งสำคัญครับ
4. การสมัครงานกับบริษัทใหญ่ ๆ ย่อมจะต้องมีคู่แข่งมากกว่าบริษัทที่เล็กลงมา อันนี้เป็นความจริงครับเพราะใคร ๆ ก็สนใจและอยากทำงานกับองค์กรใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียง ดังนั้นจะทำให้มีใบสมัครให้คัดเลือกเป็นจำนวนมาก หากท่านที่ทราบอยู่แล้วว่าคุณสมบัติไม่ตรงกับที่บริษัทแจ้งไว้ก็ไม่ควรสมัครให้เสียเวลาครับเพราะยังไงท่านก็ถูกคัดออกแน่นอน เช่น บริษัทต้องการผู้สมัครจบ MBA.เท่านั้น แต่ท่านจบ M.Econ หรือปริญญาโทสาขาอื่น ๆ ก็ไม่ควรไปสมัครหรอกครับเพราะเขาคัดออกแหง ๆ ในขณะเดียวกันบริษัทเล็ก ๆ ย่อมจะมีโอกาสได้รับใบสมัครน้อยกว่าบริษัทใหญ่ ๆ ดังนั้นจึงไม่สามารถเลือกได้มากนัก ท่านจึงควรใคร่ครวญให้ดีว่าจะทำงานกับบริษัทที่ไม่ต้องใหญ่นักแต่มีโอกาสเจริญเติบโตไปพร้อมกับบริษัทดี หรือจะไปอยู่ในบริษัทใหญ่ ๆ เลยแต่โอกาสก้าวหน้าอาจจะช้าหน่อยข้อดีคือจะได้เห็นระบบงานที่ใหญ่กว่า เรียกได้ว่าดี-เสียกันคนละอย่างล่ะครับ อันนี้อยู่ที่ท่านจะตัดสินใจกันเอง
ที่ผมเล่ามาให้ฟังนี้เป็นเรื่องที่เป็นข้อคิดสำหรับท่านที่จะไปสมัครงานตามงานนัดพบแรงงานซึ่งคงจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติตัวตามสมควรนะครับ ส่วนที่อยากจะเน้นคือในข้อ 2 สำหรับน้อง ๆ ที่เพิ่งจะจบการศึกษามาใหม่ ๆ เพราะยังไม่ค่อยคุ้นกับการแต่งกายในแบบของ"คนทำงาน" เท่าไหร่นัก อาจจะยังติดสไตล์การแต่งตัวแบบนักศึกษา ผมเผ้าก็ยังเป็นแบบทรงนิยมเช่น ผมยาว(สำหรับผู้ชาย) หรือบางคนก็ไปกัดสีผมให้เป็นสีประหลาด ๆ หรือ ฯลฯ ก็คงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปนะครับซึ่งในเรื่องนี้ผมจะขอไปสาธยายรายละเอียดต่อในเรื่องการเตรียมตัวเข้าสัมภาษณ์งานดีกว่านะครับ.
กรอกยังไง?...ใบสมัครงาน(เจ้าปัญหา)
ทุกบริษัทจะต้องมีใบสมัครงานครับแต่ใบสมัครงานของแต่ละบริษัทจะมีความแตกต่างกันไปซึ่งเป็นเรื่องของผู้สมัครงานที่จะต้องพินิจพิจารณากันเองแหละครับว่าควรจะกรอกใบสมัครงานอย่างไรที่จะทำให้ประวัติของท่านนั้นน่าสนใจที่จะได้รับการคัดเลือกให้มาทดสอบข้อเขียนหรือสอบสัมภาษณ์ในที่สุด ทั้งนี้ผมมีเรื่องที่ท่านควรคำนึงเกี่ยวกับการกรอกใบสมัครงานมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ครับ
1. อ่านใบสมัครให้ถี่ถ้วนก่อนจะเขียนอะไรลงไปในนั้น เน้นเลยนะครับว่าท่านจะต้อง "อ่าน" เสียก่อนเมื่อได้ใบสมัครงานมาให้ท่านอ่านใบสมัครงานนั้นให้ถี่ถ้วน ยังไม่ต้องเขียนอะไรลงไปเพราะมีหลายคนนะครับที่มีปฏิกิริยาอัตโนมัติต่อใบสมัครงานนั่นคือพอได้ใบสมัครงานมาปุ๊บก็กรอกรายละเอียดปั๊บโดยยังไม่ทันอ่านให้ดีเสียก่อน ผลก็คือเขียนผิดพลาดทำให้ต้องมีการขูดลบขีดฆ่า หรือบางคนหนักกว่านั้นเอาน้ำยาป้ายขาวป้ายลบเข้าไปเสียอีก ทำให้ใบสมัครงานสกปรกส่อให้เห็นถึงความสะเพร่าของคน ๆ นั้นเป็นอย่างดี ดังนั้นท่านควรจะต้องระมัดระวังเรื่องเหล่านี้ให้ดีนะครับ อ่านให้เข้าใจเสียก่อนแล้วจึงค่อย ๆ กรอกรายละเอียดลงไปในใบสมัครงานตามที่เป็นจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งใบสมัครงานที่เป็นภาษาอังกฤษ
2. ลายมือและความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อท่านกรอกรายละเอียดลงในใบสมัครงานแล้วพยายามอย่าให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นหากจะมีการลบบ้างก็ควรให้น้อยที่สุด ไม่ควรใช้น้ำยาป้ายขาวป้ายคำผิดจนน่าเกลียด(หากผิดนิด ๆ หน่อย ๆ ยังพออภัย)เพราะผมเคยเจอที่ไม่ดูให้ถี่ถ้วนเสียก่อนกรอกประวัติการทำงานผิดตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานจนถึงปัจจุบันแล้วยังใช้น้ำยาป้ายขาวป้ายจนเลอะเทอะไปหมด แถมยังกล้าส่งใบสมัครนั้นให้กับเจ้าหน้าที่รับสมัครอีกด้วยแน่ะ หากเป็นอย่างนี้ผมว่าสู้ไปขอใบสมัครงานจากเจ้าหน้าที่มาเขียนใหม่เสียยังดีกว่า อ้อ! ลายมือที่สวยและอ่านง่ายย่อมจะดีกว่าลายมือหวัดอ่านยากแถมบางทียังตัวเล็กขนาดต้องเอาแว่นขยายส่องบางคำก็ไม่ไหวเหมือนกันนะครับ
3. กรอกข้อความต่าง ๆ ให้ตรงกับความเป็นจริง เพราะในใบสมัครงานส่วนใหญ่มักจะมีข้อความระบุไว้ตอนท้ายว่าหากบริษัททราบว่าผู้สมัครเจตนาปกปิดหรือแจ้งสิ่งที่เป็นเท็จลงในใบสมัครงานแล้วบริษัทมาทราบทีหลังนั้น บริษัทมีสิทธิจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ทันทีเพราะใบสมัครงานนั้นถือเป็นสัญญาจ้างด้วยครับ
4. ควรระบุตำแหน่งที่ต้องการสมัครและอัตราเงินเดือนที่ต้องการให้ชัดเจน เพราะมีผู้สมัครหลายคนที่ไม่ได้ระบุตำแหน่งที่สมัครเอาไว้ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจะแยกประเภทเพื่อส่งให้หน่วยงานต่าง ๆ ทราบได้ว่าท่านมีความสนใจในตำแหน่งใด ส่วนในกรณีการระบุอัตราเงินเดือนนั้นบางท่านอาจจะเกรงว่าหากระบุต่ำไปบริษัทอาจจะ"มั่วนิ่ม"จ้างต่ำไปเลย หรือหากระบุเงินเดือนสูงไปก็อาจจะ"ชวด"ตำแหน่งงานนั้นไปเลยเพราะบริษัทสู้ค่าตัวไม่ไหว ในเรื่องนี้ก็เป็นไปได้ครับ ผมเคยสัมภาษณ์ผู้สมัครงานในตำแหน่ง "พนักงานสินเชื่อ" รายหนึ่งที่เพิ่งจะจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งระบุว่าต้องการเงินเดือน 18,000 บาท(ในปี พ.ศ.2538) ผมก็ถามว่าทำไมจึงต้องการเงินเดือนเท่านี้ทั้ง ๆ คุณยังไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อนเลย เขาตอบว่า "ผมลงไว้เผื่อต่อครับ และเห็นว่ารุ่นพี่เขาบอกว่าให้ใส่ไว้เยอะ ๆ เอาไว้ก่อน" นี่แสดงถึงอะไรครับ ผมคิดว่าแสดงถึงความที่ยังไม่พร้อมทั้งวุฒิภาวะที่จะทำงานแล้วอย่างนี้เมื่อไหร่จะได้งานกันล่ะครับ ดังนั้นผู้สมัครงานจึงควรจะต้องหาข้อมูลเอาไว้บ้างว่าในตลาดแรงงานนั้นตำแหน่งที่ท่านต้องการสมัคร "น่าจะ" อยู่ในช่วงเงินเดือนสักเท่าไหร่แล้วก็ระบุเงินเดือนไว้เป็นช่วงเช่น 5,000-6,000 บาท อย่างไรก็ตามในบริษัทที่มีมาตรฐานในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่ดีนั้นเขาจะไม่ "มั่วนิ่ม" เงินเดือนที่ท่านระบุเอาไว้หรอกครับ ถึงแม้ว่าท่านจะระบุเงินเดือนต่ำกว่าอัตราที่บริษัทกำหนดไว้ก็ตามเขาก็จะให้ในอัตราที่อยู่ในช่วงตำแหน่งงานนั้นเสมอ (แต่ถ้าใครไปเจอเอาบริษัทที่เอาเปรียบประเภท "มั่วนิ่ม" ก็ถือว่าเคยทำกรรมร่วมกันมาจึงมาถูกเอาเปรียบก็แล้วกันนะครับบริษัทพวกนี้เจอที่ไหนหนีให้ไกล ๆ เลย) แต่ถ้าท่านระบุเงินเดือนไว้สูงเกินไปแล้วท่านไม่มีคุณสมบัติที่เด่นพอก็คงจะยากหน่อยแหละครับ
5. เตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการสมัครงานไปให้เรียบร้อย ในเรื่องนี้คงไม่ต้องพูดซ้ำกันแล้วนะครับ
6. เซ็นชื่อผู้สมัครเมื่อเสร็จสิ้นการกรอกใบสมัครงาน มีหลายคนนะครับที่ลืมเซ็นชื่อผู้สมัครงานซึ่งแสดงให้เห็นความสะเพร่าของผู้สมัครได้ ดังนั้นอย่าลืมนะครับอย่าลืมเซ็นชื่อ
7. ตรวจทานอีกครั้งก่อนส่งใบสมัครงานให้เจ้าหน้าที่
นี่คงเป็นแนวทางให้สำหรับท่านที่จะต้องกรอกใบสมัครงานได้เตรียมตัวไว้ซึ่งจะช่วยให้ข้อผิดพลาดลดลงได้บ้างนะครับ
สอบข้อเขียน..เวียนหัวจริงหนอ
จากที่ผมได้พูดถึงเรื่องการสมัครงานมาพอสมควรแล้วคราวนี้ก็มาถึงขั้นตอนที่จดหมายสมัครงานหรือใบสมัครงานของท่านถูกนำขึ้นมาพิจารณาแล้วติ๊ต่างว่าท่านมีคุณสมบัติอยู่ในเกณฑ์ที่บริษัทเขาสนใจในตัวท่านขึ้นมาตะหงิด ๆ จนอยากจะเจอตัวซะแล้วล่ะสิ เขาก็จะคัดผู้สมัครขึ้นมากลุ่มหนึ่งที่มีคุณสมบัติเหมาะเหม็งกับที่บริษัทกำลังต้องการอยู่มาเข้าระบบ "แพ้คัดออก" ด้วยการเรียกมาทำการสอบข้อเขียนดูก่อน(บางบริษัทอาจจะไม่มีการสอบข้อเขียนแต่จะมีการสอบสัมภาษณ์เลยก็มีนะครับ) คราวนี้ผมก็เลยจะขอบอกให้ท่านทราบเอาไว้ล่วงหน้าซะก่อนว่าอันว่าการสอบข้อเขียนนั้นมีหลายลักษณะเช่น
- การสอบข้อเขียนทั่ว ๆ ไป เช่น ดูว่าท่านมีทักษะในการบวกเลขลบเลข หรือมีทักษะเกี่ยวกับความเข้าใจภาษาอังกฤษดีเพียงใดหรืออาจจะให้ผู้สมัครเขียนเรียงความในหัวข้อที่กำหนดเป็นภาษาไทย-อังกฤษ
- การสอบความถนัด อันนี้ภาษาฝรั่งเขาเรียก "แอ๊ปติจูดเทสต์" (Aptitude Test)ซึ่งแปลตรงตัวว่าการทดสอบความถนัดนั่นเอง เจ้าคำว่า Aptitude Test นี้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหลาย ๆ คนมักจะเรียกผิดว่าเป็น "แอ๊ดติจูดเทสต์"(Attitude Test)ซึ่งจะหมายถึงการทดสอบเกี่ยวกับทัศนคติซึ่งจะเป็นการทดสอบคนละเรื่องกันกับการทดสอบความถนัดเลยนะจะบอกให้ เพราะฉะนั้นหากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลคนใดเผลอเรียกผิดอยู่ก็ขอให้กลับตัวกลับใจเสียใหม่นะครับ
- การทดสอบทัศนคติ ซึ่งผมได้พูดไปเมื่อตะกี้นี้แล้ว ในการทดสอบนี้ก็จะเป็นการทดสอบผู้สมัครว่ามีทัศนคติในด้านต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไรเช่นทัศนคติในเรื่องสังคมการเมือง หัวรุนแรงแค่ไหน เป็นต้น
- การทดสอบทางจิตวิทยา บางบริษัทอาจจะมีแบบทดสอบประเภทนี้เพื่อวัดผลเกี่ยวกับจิตใจของผู้สมัครว่าเป็นคนมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร หรือเพื่อตรวจสอบการควบคุมอารมณ์ ความมีเหตุผล เป็นต้น อย่างเคยนะครับในการทำแบบทดสอบข้อเขียนนี้ ความสะอาดเป็นหัวใจสำคัญไม่ควรให้มีการขูดลบขีดฆ่าหรือป้ายขาวจนน่าเกลียด ซึ่งในเรื่องนี้ผู้สมัครควรอ่านคำแนะนำในข้อสอบให้ละเอียดก่อนจะเขียนหรือตอบอะไรลงไป หากตื่นเต้นมากก็ให้พยายามสูดลมหายใจลึก ๆ หลาย ๆ ครั้ง(อย่าสูดมากถึงกับเป็นลมไปเสียล่ะครับ) พยายามหาจุดผ่อนคลายสายตาเช่นมองบรรยากาศรอบตัวหรือรูปภาพในสถานที่นั้น และก็เช่นเดียวกันถ้าหากมีเวลาเหลือพอก็ควรตรวจทานความถูกต้องก่อนส่งคำตอบให้เจ้าหน้าที่นะครับ
เตรียมตัวอย่างไร..เมื่อจะไปสอบสัมภาษณ์(งาน)
ด่านนี้แหละครับเป็นด่านสำคัญและเป็นตัวชี้ขาดว่าท่านจะได้งานหรือไม่ ยังไงก็ตามท่านไม่ควรที่จะไปคาดหวังว่าการสัมภาษณ์นั้นจะมีเพียงครั้งเดียวแล้วทราบผลนะครับ การสัมภาษณ์อาจจะมีมากกว่าหนึ่งครั้งได้
แล้วแต่องค์กรว่าจะมีวิธีการสัมภาษณ์กันอย่างไร
เมื่อท่านผ่านการทดสอบข้อเขียนมาแล้วท่านจะได้รับการนัดหมายให้มาสอบสัมภาษณ์ซึ่งแน่นอนครับว่าท่านจะต้องมีคู่แข่งซึ่งฝ่ายบุคคลเขามักจะเรียกกันว่า "แคน-ดิ-เดด" (Candidate)หากใครมีคุณสมบัติที่ถูกใจกรรมการแล้วก็ย่อมจะได้รับการคัดเลือกไว้เป็นลำดับแรก ๆ ที่จะเข้าทำงานได้ซึ่งตรงจุดนี้แหละครับที่ผมมีสิ่งละอันพันละน้อยมาบอกเล่าให้ท่านทราบเพื่อที่จะได้เตรียมตัวก่อนที่จะเข้ารับการสัมภาษณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้อง ๆ ที่เพิ่งจบการศึกษามาใหม่ ๆ ยังไม่ชินกับการที่จะต้องมาถูกสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกเข้าทำงานจะได้ทราบไว้และเตรียมตัวได้ถูกไงครับ
1. ศึกษาข้อมูลของบริษัทนั้น ๆ มีสุภาษิตที่ฮิตติดปากกันทั่วไปว่า "รู้เขารู้เรา..รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง"
ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากความอีกนะครับ ขอให้ท่านพยายามหาข้อมูลของบริษัทนั้นจากแหล่งต่าง ๆ เช่นจากเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง ครูบาอาจารย์ ให้รู้ว่าบริษัทนั้นทำธุรกิจอะไร เป็นบริษัทขนาดไหน มีผลประกอบการหรือมีผลงานอะไรที่เป็นชื่อเสียงให้สังคมได้รับรู้บ้าง ผู้บริหารเป็นใคร ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นการอุ่นเครื่องเตรียมตัวก่อนไงครับ หากท่านไม่เตรียมข้อมูลเหล่านี้ไว้บ้างเผื่อกรรมการสัมภาษณ์ถามว่า "คุณทราบไหมว่าบริษัทของเราทำธุรกิจอะไร?" ท่านจะได้ไม่ตกม้าตั้งแต่ยังไม่ทันออกศึกไงล่ะครับ
2. การแต่งกาย ทั้งชายและหญิงต้องสุภาพดูดี ในเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นนะครับโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับน้อง ๆ ที่เพิ่งจะจบการศึกษามาใหม่ ๆ ที่ผมอยากจะเน้นเป็นพิเศษนั่นก็คือในกรณีที่เป็นน้อง ๆผู้หญิงไม่ควรแต่งชุดนิสิตนักศึกษาไปทำการสัมภาษณ์เพราะจะทำให้กรรมการมองได้ว่า น้องยังไม่มีความพร้อมในการทำงาน(เนื่องจากยังแต่งกายในฟอร์มของนักศึกษาอยู่) ขณะเดียวกันเครื่องแต่งกายต้องสุภาพดูดี(ไม่ได้เน้นว่ามีราคาแพงหรือเป็นของนอก)เรียกว่าให้ดูดีเข้าสมัยไม่ใช่ล้ำยุคล้ำสมัยจนกรรมการตามไม่ทัน เช่น นุ่งกระโปรงสั้น หรือยาวจนผิดปกติ ใส่สายเดี่ยวหรือเกาะอกโดยไม่มีเสื้อคลุมทับ (ทำให้กรรมการขาดสมาธิในการสัมภาษณ์) การทำผมทรงแปลก ๆ ที่คนทั่วไปเขาไม่ทำกันหรือกัดสีผมเสียจนเป็นประเภทหลาย ๆ สีชนิด "เลื่อมสลับลาย" จนกรรมการเวียนหัว อันนี้ผมพูดจากที่เคยเจอมาจริง ๆ นะครับ เพราะมีน้องผู้หญิงที่เพิ่งจบมาสัมภาษณ์นั้นบางคนเป็นแบบที่เล่าให้ฟังมานี้จริง ๆ คราวนี้บางคนอาจจะต่อว่าผมในใจก็ได้ว่า "แล้วเท่าไหนล่ะ(ยะ)..ถึงจะเรียกว่าพอดีที่จะถูกใจกรรมการ" แหมอันนี้ตอบยากครับ ซึ่งผมคิดว่าผู้เข้ารับการสัมภาษณ์นั้นน่าจะมีสามัญสำนึกพอที่จะทราบได้ว่าท่านควรจะต้องแต่งกายอย่างไรให้ถูกกับกาละเทศะเว้นแต่ท่านจะไม่ทำเท่านั้นแหละครับ
อ้อ! ในเรื่องการแต่งหน้าก็เช่นเดียวกันนะครับไม่ควรแต่งเข้มชนิดจะไปออกงานราตรีสโมสรหรือเตรียมไปเข้ากล้อง ขอให้แต่งพอควรและเหมาะสม สำหรับผู้สมัครชาย(บางคน)ไม่ควรแต่งหน้าไปสัมภาษณ์นะครับ เพราะกรรมการจะมองเห็นความเป็นตัวของท่านมากยิ่งขึ้น นี่ก็เรื่องจริงอีกนั่นแหละครับเพราะผมเคยเจอผู้เข้าสัมภาษณ์(ชาย)ที่แต่งหน้าและทาปากมาสอบสัมภาษณ์แล้วหลายราย อีกประการหนึ่ง น้ำหอม ครับ ผู้สมัครบางรายเหมือนไปตกถังน้ำหอมมา พอเข้ามาในห้องสัมภาษณ์แล้วคณะกรรมการรู้สึกเหมือนกำลังถูกรมแก๊สพิษสมัยนาซีครับ เพราะกลิ่นน้ำหอม(ที่ฉุนเฉียวของผู้สมัคร) ทำให้กรรมการจำเป็นต้องปิดการสัมภาษณ์ให้เร็วที่สุดเพื่อจะได้ออกไปสูดอากาศบริสุทธิภายนอกน่ะครับ อย่างนี้แล้วจะได้งานไหมเนี๊ยะ ?
สำหรับน้อง ๆ ผู้ชายที่เพิ่งจะจบการศึกษามาใหม่ ๆ ซิง ๆ ตลอดจนผู้สมัครชายที่มีประสบการณ์ทำงานมาแล้วก็ตามอาจจะยังละเลยเรื่องบางเรื่องดังนี้
- เสื้อผ้า ก็เช่นเดียวกันคือควรจะแต่งกายให้สุภาพดูดีควรจะผูกเน็คไท บางคน(โดยเฉพาะคนที่เพิ่งจบมาใหม่ ๆ ที่ยังไม่คุ้นเคยกับการผูกเน็คไทอาจจะถามว่า "ไม่ผูก(ไท)ไม่ได้หรือ?" ก็ตอบโดยอนุโลมว่าได้ครับแต่กรรมการจะคิดยังไงในเรื่องนี้ก็คงเป็นดุลยพินิจของกรรมการเช่นเดียวกันเพราะถ้าท่านจะเข้ากรุงโรมแล้วท่านไม่ทำตัวอย่างชาวโรมันน่ะมันก็คงจะดูขัด ๆ กันอยู่นะครับ บางคนอาจจะตะแบงต่อมาอีกว่า"ทำไมจะต้องมาดูกันในเรื่องการแต่งตัวด้วย..ทำไมไม่ดูกันในเรื่องความสามารถในงานกันล่ะ?" ในเรื่องนี้ผมขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งนะครับคือ ถ้าสมมุติว่าท่านได้รับอุบัติเหตุบาดเจ็บกระทันหันที่แถว ๆ ป้ายรถเมล์ แล้วบังเอิญมีคนสองคนเข้ามาเพื่อจะช่วยเหลือท่าน..คนแรกแต่งตัวใส่เสื้อเชิ๊ตแขนสั้นมอ ๆ ใส่กางเกงยีนส์ ส่วนอีกคนหนึ่งใส่เสื้อขาวผูกเนคไท ใส่กางเกงสแล๊ค เข้ามาหาท่านแล้วต่างก็บอกว่าตัวเองเป็นหมอและสามารถจะช่วยเหลือท่านได้..ท่านจะไว้ใจใครมากกว่ากัน?? แน่นอนครับ(หากไม่เอาสีข้างเข้าถู)ในการพบกันครั้งแรกนั้น การแต่งกายดีย่อมจะต้องมาก่อนส่วนเรื่องอื่นจึงเป็นสิ่งที่ตามมา
- สีของเสื้อผ้า ควรเป็นสีสุภาพไม่ฉูดฉาดจนเกินไปทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ในกรณีผู้ชายนั้นเน็คไทก็ไม่ควรจะใช้สีฉูดฉาดบาดตากรรมการให้มากนัก(สงสารกรรมการสัมภาษณ์ครับ..มองนาน ๆ ตาลายแย่) หากว่าผู้ชายใส่เสื้อสีขาวควรดูให้ดีว่าเป็นสีขาวจริง ๆ ไม่ใช่สีขาวแก่ หรือสีขาวแบบมอ ๆ ไม่งั้นจะดูเสียบุคลิกนะครับ โดยทั่วไปแล้วน่าจะใช้เสื้อเชิ๊ตแขนยาวสีอ่อน ๆ ผูกเน็คไทสีเข้ม กางเกงสแล็คสีเข้ม ถุงเท้าสีเข้ม รองเท้าหนัง (อ้อ! อย่าลืมคาดเข็มขัดมานะครับเพราะมีหลายคนลืมคาดเข็มขัดมาสัมภาษณ์) ขณะเดียวกันเสื้อผ้าทั้งหญิงและชายไม่ควรจะใช้ผ้าที่ยับง่ายเช่นพวกผ้าลินิน หากจะใส่ผ้าที่ยับง่ายควรจะต้องระมัดระวังกันหน่อย เพราะหากเสื้อผ้ายับมากก็ทำให้เสียบุคลิกไปได้นะครับ อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องการผูกเน็คไทสำหรับผู้ชายควรผูกให้ปลายเน็คไทอยู่ในระดับเข็มขัด(ที่คาดพุงอยู่นั่นแหละครับ)ไม่ควรผูกให้สั้นเต่อแค่ลิ้นปี่ หรือผูกจนยาวยานลงไปใกล้เป้ากางเกงนะครับ
- ความพร้อมทางร่างกาย ควรดูแลในเรื่องผมเผ้าให้ดูเรียบร้อย(อย่างที่ได้พูดไปแล้ว)นะครับ ดูแลในเรื่องความสะอาดของร่างกายเช่นกลิ่นตัว กลิ่นปาก ไม่ควรสูบบุหรี่ก่อนเข้าทำการสอบสัมภาษณ์นะครับ ยังไงก็ควรอดใจไว้ก่อน(เคี้ยวหมากฝรั่งหรือลูกอมไปพลาง ๆ)เพราะหากท่านไปเจอกรรมการที่แอนตี้ในเรื่องการสูบบุหรี่แล้วท่านอาจจะเสียคะแนนไปได้นะครับ ทางที่ดีก่อนที่ท่านจะเข้าสัมภาษณ์หากมีเวลาและเป็นไปได้ท่านควรเข้าห้องน้ำส่องกระจกสำรวจความพร้อมทั่ว ๆ ไปก่อนก็ได้ครับ
3. งดอุปกรณ์ไฮเทค เดี๋ยวนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสารไฮเทคนะครับเพราะฉะนั้นมีหลายคนที่ไปเข้ารับการสัมภาษณ์แล้วติดอุปกรณ์สารพัดลิ๊งค์ ตลอดจนมือถือเข้าไปด้วย เรียกว่าสัมภาษณ์ไปก็มีสารพัดเสียงตี๊ด ๆ ตี่ ๆ ต๊า ๆ กันระงมไปหมด ดังนั้นถ้าท่านไม่อยากเสียคะแนนแล้วควรปิดอุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้ทุกชนิดนะครับ
4. สำรวจสถานที่ตั้งของบริษัทที่จะไปสัมภาษณ์เสียก่อน ให้รู้ว่าบริษัทนั้น ๆ น่ะอยู่ที่ไหนชั้นอะไรโดยอาจจะสอบถามจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลให้แน่นอน เพราะมีผู้สมัครหลายรายหลงชั้นขึ้นลิฟท์ผิด ๆ ถูก ๆ เนื่องจากอาคารสำนักงานสมัยใหม่บางแห่งมีหลายชั้น บางบริษัทก็ระเห็ดขึ้นไปอยู่ชั้น 30 ซึ่งตึกเหล่านี้จะมีลิฟท์เฉพาะคือลิฟท์ที่ขึ้นไปชั้นสูง(High zone)กับลิฟท์ที่ขึ้นชั้นต่ำ ๆ เช่นชั้น 1-18 (Low zone)แล้วปกติเจ้าลิฟท์เหล่านี้มักจะมีผู้คนมายืนออรอขึ้นกันมาก ท่านอุตส่าห์เบียดผู้คนแทบแย่เพื่อจะขึ้นไปสัมภาษณ์บริษัทที่อยู่ชั้น 14 แต่ผ่าไปขึ้นลิฟท์ประเภท High zone ก็คงไม่แคล้วต้องย้อนกลับลงมาขึ้นลิฟท์ใหม่กันล่ะครับ กว่าจะฝ่าฟันมาถึงบริษัทที่จะสัมภาษณ์ได้ก็เรียกว่ามีการทดสอบเชาว์กันแล้วล่ะครับ
5. ไปถึงที่หมายก่อนเวลา เรื่องนี้ต่อมาจากข้อ 4 ครับ นั่นคือ ท่านควรจะต้องไปที่บริษัทนั้น ๆ ก่อนเวลาที่จะสัมภาษณ์จริงควรจะเผื่อการจราจรที่ติดขัดเอาไว้ด้วย ผมเคยเจอผู้สมัครที่มาสายกว่าเวลามากโดยอ้างง่าย ๆ ว่า "รถติด" ซึ่งหากท่านเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์อย่างผมแล้วท่านลองคิดดูสิครับว่าข้ออ้างนี้ฟังขึ้นหรือไม่ ในขณะที่ผู้สมัครรายอื่นมาตรงเวลา แสดงว่าผู้สมัครรายอื่นเหาะมาหรือยังไง? ถึงได้ไม่เจอปัญหา "รถติด" เหมือนกับที่รายนี้เจอ ในกรณีที่ท่านรับนัดสอบสัมภาษณ์ในครั้งแรกเอาไว้แล้วแต่มีเหตุกระทันหันที่ไม่สามารถจะไปสอบสัมภาษณ์ได้ ท่านควรจะต้องรีบโทรศัพท์แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้าทันที และควรจะแจ้งล่วงหน้าก่อนที่จะมีการสอบสัมภาษณ์นะครับโดยแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบถึงสาเหตุความจำเป็นที่ไม่สามารถมาทำการสอบสัมภาษณ์ได้ และอาจจะขอเลื่อนนัดได้(หากทางบริษัทนั้น ๆ ยอมที่จะให้มีการเลื่อนนัด) อันนี้เป็นเรื่องของมารยาทนะครับ ที่ผ่านมาผมเคยเจอผู้สมัครที่นัดสัมภาษณ์ไว้แต่ปรากฎว่าหายจ้อยไปเลยไม่มาตามเวลาที่นัดไว้จะโทรศัพท์มาบอกกันซะหน่อยก็ไม่มี(สงสัยบ้านอยู่กลางป่าลึกการคมนาคมยังเข้าไม่ถึง)
6. ไม่ควรพากองเชียร์ไปสอบสัมภาษณ์ด้วย จริง ๆ นะครับผมเห็นมาหลายรายแล้วที่เริ่มตั้งแต่การมาสมัครงานเลยด้วยซ้ำไปที่ผู้สมัครมักจะพาคุณพ่อคุณแม่คุณปู่คุณย่า ฯลฯ หรือแม้กระทั่งพาแฟนมานั่งอยู่ใกล้ ๆ (สงสัยจะเป็นพวกขาดกำลังใจเอามาก ๆ ..แฮ่ะ ๆ ..) ซึ่งทำให้ดูไม่ดีเลยนะครับที่ท่านยังทำตัวเป็นลูกแหง่ที่ยังไม่พร้อมสำหรับการทำงานอย่างนั้นที่พูดมาทั้งหมดนี้มาจากประสบการณ์ที่ผมพบเห็นบ่อย ๆ จากผู้สมัครที่เข้ามาสอบสัมภาษณ์แล้วอาจจะละเลยหรือไม่ทราบเรื่องเล็ก ๆ น้อยๆ เหล่านี้จึงทำให้มองข้ามไป แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในสายตาและดุลยพินิจของกรรมการสอบสัมภาษณ์เสมอนะครับ
อย่ามองข้าม..ความประทับใจครั้งแรก
หัวข้อนี้เหมือนประเภทรักแรกพบไม๊ครับ..ก็คงทำนองนั้นแหละเพราะฝรั่งเขามักจะใช้คำว่า "First impression" เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านต้องเตรียมไปให้มากที่สุดคือ "ความมั่นใจในตัวเอง" มีสติให้พร้อมมูลที่จะคอยโต้ตอบกับกรรมการสัมภาษณ์ได้อย่างมั่นใจ ซึ่งผมขอเริ่มลำดับให้ท่านได้เห็นภาพไปทีละขั้นดังนี้ครับ
1. พบหน้า..ปราศรัย เมื่อเจ้าหน้าที่เชิญท่านไปพบกับกรรมการสอบสัมภาษณ์นั้น ท่านอาจจะพบว่าบางครั้งอาจจะมีกรรมการเพียงคนเดียวที่สัมภาษณ์ท่านอยู่ หรือบางกรณีอาจจะมีกรรมการไม่น้อยกว่า 7 ท่านมาสัมภาษณ์ท่าน ดังนั้นสิ่งแรกที่พบกับกรรมการสอบสัมภาษณ์ก็คงจะต้องใช้ประเพณีไทย ๆ นั่นคือการไหว้กรรมการทุก ๆ ท่านให้ครบ มีผู้สมัครบางรายที่ใช้วิธี "ไหว้กราด" ไปยังกรรมการทุก ๆ ท่านก็คงจะต้องติงไว้ว่าไม่สมควรนะครับ ท่านควรจะไหว้แบบเจาะจงตัวไปที่กรรมการทุก ๆ จะดูดีกว่าแน่นอน ส่วนในกรณีที่บริษัทที่เป็นบริษัทต่างประเทศ ท่านอาจจะต้องพบกรรมการที่เป็นชาวต่างชาติที่โดยมากมักจะใช้วิธีจับมือ(Check hand)ก็ขอให้ใช้ธรรมเนียมนั้นได้ครับ แต่มีข้อพึงระวังว่าในการจับมือนั้นขอให้ท่านจับมือแบบ "มีน้ำหนัก" คือบีบมือฝ่ายตรงข้ามพอประมาณ ไม่ควรบีบในลักษณะข่มหรือลองกำลัง หรือปล่อยมือตามสบายจนดูเหลาะแหละไม่มั่นใจในตัวเองนะครับ ในกรณีที่มีกรรมการทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยรวมกันอยู่ก็อาจจะใช้ธรรมเนียมในการไหว้สำหรับกรรมการที่เป็นคนไทย แต่ทั้งนี้ท่านต้องดูว่ากรรมการคนไทยนั้นยื่นมือมาให้ท่านจับตามธรรมเนียมสากลหรือไม่ หากกรรมการยื่นมือมาให้จับก็คงใช้ธรรมเนียมสากลครับ
2. เก็บอาการไว้..อย่าให้หงอย(หรือสั่น) ในการตอบคำถามของกรรมการสอบสัมภาษณ์นั้นมีผู้สมัครหลายรายที่ออกอาการ "สั่น" บางคนสั่นทั้งตัว..บางคนสั่นเฉพาะเสียง..บางคนตะกุกตะกัก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สอนกันได้ยากนะครับอยู่ที่การควบคุมอารมณ์ในขณะนั้นของแต่ละคน ยังไงก็ตามขอให้ท่านที่มีอาการเหล่านี้พยายามสงบจิตสงบใจสูดลมหายใจลึก ๆ (อย่าเผลอถอนใจแรง ๆ ให้กรรมการจับได้ล่ะ) สักสองสามครั้งน่าจะทำให้จิตใจดีขึ้นได้บ้างครับ
3. โกรธคือโง่..โมโหคือบ้า แน่ะขออนุญาตใช้คำของท่านอาจารย์พระพยอมนะครับ กล่าวคือในเวลาที่มีการสอบสัมภาษณ์นั้น พึงระลึกว่าวิธีการหรือสไตล์(Style)หรือลีลาในการถามของกรรมการนั้นมีหลากหลายรูปแบบ เช่น บางท่านอาจจะถามอย่างนักวิชาการนุ่มนวลสุภาพ บางท่านอาจจะถามแบบยียวนกวนโทสะ บางท่านอาจจะถามแบบโผงผางทะลุกลางปล้อง บางท่านจะป้อนคำถามสวนกลับแบบคุณสุทธิชัย หยุ่นชนิดหากผู้สมัครพูดไม่ตรงกับที่เคยพูดไปแล้วละก็จะกลายเป็น "คนแซ่อึ้ง" (คืออึ้งเงียบงันไปเลย)ได้ง่าย ๆ ซึ่งการถามแบบหลากหลายลีลาเหล่านี้ผู้สมัครทุกท่านจะต้องระวังการโต้ตอบและอารมณ์ให้ดี มีหลายคนออกอาการไม่พอใจกรรมการหรือตอบแบบขอไปทีชนิดที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ก็มักจะพลาดโอกาสที่จะได้งานไปอย่างน่าเสียดายครับ
4. พูดจามั่นใจ..ไม่วกวน..ตรงประเด็น ในการตอบคำถามแต่ละข้อนั้นให้ท่านมีความมั่นใจ คิดไตร่ตรองก่อนที่จะตอบอะไรออกไป(แต่ไม่ควรคิดนานจนเกินไปนะครับ)และพยายามตอบให้ตรงประเด็นที่กรรมการถามมา ท่านไม่ควรจะตอบคำถามบางเรื่องอย่างรุนแรงจนเกินไปเช่นคำถามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง หรือในบางคำถามที่ท่านอาจจะตอบมาจากความเป็นจริงจนทำให้ท่านอาจจะเสียคะแนนไปได้เช่น กรรมการถามว่าทำไมจึงคิดที่จะเปลี่ยนงาน? ท่านตอบว่าเพราะคุณพ่อคุณแม่อยากจะให้เปลี่ยนงานไม่อยากให้ทำงานที่นี่(ที่ปัจจุบัน)เพราะเป็นบริษัทไม่มีชื่อเสียง เป็นต้น คือถึงแม้ว่าความจริงจะเป็นเช่นนั้นแต่กรรมการอาจจะมองได้ว่าท่านยังเป็นเด็กเพราะผู้ปกครองยังเข้ามาวุ่นวายในการงานของท่านอยู่ หากมาเข้าทำงานที่บริษัทนี้อาจจะถูกผู้ปกครองเข้ามาก้าวก่ายในงานได้ต่อไปเช่นกัน อนึ่ง การตอบคำถามนั้นท่านควรจะมีการยิ้มแย้มแจ่มใส (ผ่อนคลายน่ะครับ)สลับบ้างนะครับอย่าเอาแต่เคร่งเครียดที่จะคอยรอตอบคำถามเพียงอย่างเดียว ไม่อย่างงั้นกรรมการสอบสัมภาษณ์เขามักจะลุ้นกันน่ะครับว่าเมื่อไหร่ท่านจะยิ้มออกมาเสียบ้าง อย่าลืมคำว่า "ชีวิตชีวา" นะครับ
ในเรื่องวิธีการถามตอบในการสอบสัมภาษณ์นั้นที่จริงแล้วมีข้อปลีกย่อยในรายละเอียดอีกมากมายเรียกกันว่าเล่ากันได้เป็นวัน ๆ เลยเชียวแหละครับ ดังนั้นผมจึงไม่ต้องการให้ท่านท่องจำว่ากรรมการถามมาอย่างไรจะต้องตอบอย่างไรเป็นรูปแบบตายตัว เพราะถ้าทำอย่างงั้นก็จะทำให้ท่านมีสภาพเหมือนนกแก้วนกขุนทอง เดี๋ยวกรรมการถามเรื่องอะไรที่ท่านไม่ได้ท่องมาก็มีหวังนั่งอึ้งอีก ยังไงก็ตามท่านควรจะสนใจเรื่องรอบตัวเป็นคนช่างฟังข่าวสารบ้านเมือง หรืออ่านหนังสือพิมพ์เพื่อให้มีความรู้รอบตัวบ้างไม่ใช่รู้แต่เฉพาะเรื่องงานเพียงอย่างเดียว
คำถามยอดนิยม
คราวนี้ท่านอาจจะอยากทราบว่ากรรมการสอบสัมภาษณ์มักจะถามเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องหลัก ๆ จากผู้สมัครงานบ้าง ผมก็พอจะสรุปประเด็นหัวข้อหลัก ๆ ได้คือ
1. ถามในเรื่องประวัติส่วนตัว/ประวัติครอบครัว เช่นให้ผู้สมัครแนะนำตัวเอง เป็นลูกเต้าเหล่าใครคุณพ่อคุณแม่ทำงานอะไร ชีวิตในวัยเด็กเป็นยังไง มีความอบอุ่นในครอบครัวหรือเปล่า ฯลฯ
2. ถามในเรื่องประวัติการศึกษา ก็คือให้ผู้สมัครเล่าประวัติการศึกษาตั้งแต่เริ่มจำความได้ให้ฟัง ทำไมถึงเลือกเรียนวิชานี้วิชานั้น ผลการเรียนเป็นยังไงบ้าง เคยได้รับทุนการศึกษาบ้างไหม ฯลฯ
3. ถามในเรื่องประสบการณ์ทำงาน ว่าผ่านงานอะไรมาบ้าง มีงานไหนที่ผู้สมัครรู้สึกภาคภูมิใจว่าเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมกระเทียมดองฝากฝีไม้ลายมือให้โลกได้รู้จักเอาไว้บ้าง สนใจงานประเภทไหน มาที่บริษัทใหม่นี้มีแผนที่จะทำงานอะไรเป็นอันดับแรก ผู้บังคับบัญชาที่ผ่าน ๆ มาเป็นยังไงบ้าง มีลูกน้องกี่คน เคยมีปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานยังไงมาบ้างและแก้ปัญหานั้น ๆ ยังไง เป็นต้น
4. ถามในเรื่องทัศนคติและความรู้รอบตัว กรรมการสอบสัมภาษณ์มักจะถามผู้สมัครในเรื่องที่เป็นทัศนคติของผู้สมัครเองเช่นอาจจะให้วิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบันตลอดจนแนวทางที่ผู้สมัครคิดว่าหากทำแล้วสถานการณ์น่าจะดีขึ้น หรือให้วิจารณ์นักการเมืองหรือนักการเมืองที่ชอบและไม่ชอบให้กรรมการสัมภาษณ์ฟัง ซึ่งในเรื่องเหล่านี้ผู้สมัครควรตอบด้วยความมีวิจารณญาณที่รอบคอบไม่ใช้อารมณ์ในการตอบคำถามเหล่านี้
5. ถามในเรื่องทั่ว ๆ ไปหรืออาจจะมีคำถามที่ทำให้อารมณ์เสีย ซึ่งในคำถามในกลุ่มนี้จะมีหลากหลายรูปแบบเพื่ออาจจะทดสอบเชาว์ปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้สมัคร หรือทดสอบการควบคุมอารมณ์ของผู้สมัครงาน
ที่ผมเล่าโดยสรุปนี้ก็จะเป็นประเภทของคำถามที่กรรมการสอบสัมภาษณ์มักจะใช้ถามผู้สมัครงานบ่อย ๆ ซึ่งอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่านี้ซึ่งก็แล้วแต่เทคนิคของกรรมการแต่ละท่านที่จะมีลูกเล่นในการถามเพื่อให้ได้ข้อสรุปจากผู้สมัครงานให้มากที่สุดที่จะสามารถเปรียบเทียบกับบรรดาคู่แข่งขันด้วยกันได้ว่าสมควรจะเลือกใครเข้าทำงานนั่นเอง.
คำถามที่ผู้สมัครงานควรระมัดระวัง
ในการเข้าสอบสัมภาษณ์งานนั้นจากที่ผมประสบมาด้วยตัวเองมักจะพบอยู่บ่อย ๆ ที่ผู้สมัครงานถามคำถามในลักษณะที่มักจะคิดถึงแต่ผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับจากบริษัทก่อนที่จะคิดถึงสิ่งที่ตัวเองจะทำให้กับบริษัท เรียกว่าเป็นพวกที่คิดแต่จะรับแต่ไม่เคยคิดที่จะให้ใครยังไงล่ะครับ ท่านลองพิจารณาดูคำถามเหล่านี้สิครับ "แล้วบริษัทจะให้เงินเดือนผม/ดิฉันเท่าไหร่? " หรือ "บริษัทมีสวัสดิการอะไรให้กับพนักงานบ้าง?" หรือ "บริษัทมีการจ่ายโบนัส หรือค่าล่วงเวลาไหม?" หรือ "บริษัทมีงบรับรองลูกค้าไหม?" ฯลฯ คำถามเหล่านี้หากใช้ผิดกาละเทศะแล้วจะทำให้กรรมการสอบสัมภาษณ์มองว่าผู้สมัครยังไม่ทันจะรู้เรื่องงานหรือถามเรื่องเกี่ยวกับงานเลยแต่ถามถึงผลประโยชน์กันก่อนแล้ว จริงอยู่ครับท่านจำเป็นจะต้องทราบผลประโยชน์ต่างๆ อันพึงจะได้รับเมื่อเข้าเป็นพนักงาน แต่ท่านไม่ควรถามคำถามเหล่านี้ในช่วงแรก ๆ ของการสัมภาษณ์ เพราะช่วงแรกของการสัมภาษณ์ท่านควรจะสอบถามถึงลักษณะของงานที่จะทำ โครงสร้างและองค์กร หน่วยงานที่ท่านจะต้องไปอยู่ด้วย หรือแสดงความกระตือรือร้นที่ต้องการจะทำงานให้บริษัทเห็นมากกว่าการถามหาผลตอบแทนเสียก่อนโดยที่ไม่ได้สนใจเลยว่างานที่ตนเองมาสมัครนั้นเขามีอะไรกันบ้างและตนเองจะแสดงฝีมือให้บริษัทเห็นได้ยังไง ดังนั้นคำถามตามที่ยกตัวอย่างมานี้เมื่อผู้สมัครงานจะถามควรจะต้องระมัดระวังในการถามให้ดีตลอดจนดูกาละเทศะในการถามให้เหมาะสมด้วยครับ
Posted by ธำรงศักดิ์ ที่มา : https://www.excelexperttraining.com/
Category : Recruitment and Selection