ข้อที่ต้องระวังในการกรอกใบสมัคร
บันไดขั้นแรก ๆ ที่จะนำไปสู่การมีงานทำก็คือใบสมัครนี่แหละ ถ้ารู้จักวิธีที่ถูกต้องในการกรอกใบสมัคร
รวมทั้งให้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์มากที่สุด จะทำให้มีโอกาสมากในการผ่านการคัดเลือกในรอบแรก
ได้เข้าไปสู่รอบต่อไป จนกระทั่งได้งานทำ
มีใบสมัครจำนวนไม่น้อยที่ถูกคัดออก เพราะไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ถ้าการไม่ผ่านเกณฑ์นี้เป็นเพราะ
ขาดคุณสมบัติเหมาะสม แต่ถ้าถูกคัดออกทั้ง ๆ ที่มีคุณสมบัติเหมะสม แต่การกรอกใบสมัครไม่ได้ให้
รายละเอียดอย่างชัดเจนครบถ้วน หรือเป็นเพราะลายมืออ่านยากจนกระทั่งผู้ที่พิจารณาใบสมัครไม่เข้าใจ
หรือแปลความผิด อย่างนี้น่าเสียดายมาก
เพื่อไม่ให้พลาดการพิจารณาการกรอกใบสมัครจึงต้องให้ความสำคัญ และระมัดระวังในเรื่องต่อไปนี้
ลายมือ ถ้าเป็นการสมัครงานทางจดหมายคงหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้เพราะใช้พิมพ์ดีดหรือคอมพิวเตอร์แทนลายมือได้
แต่สำหรับการกรอกใบสมัคร ไม่มีโอกาสเลี่ยงได้ ยกเว้นในบริษัทบางแห่งที่ให้กรอกใบสมัครโดยการป้อน
ข้อมูลในคอมพิวเตอร์
ข้อที่ต้องระวังในเรื่องลายมือ คือ
- ต้องเขียนให้อ่านง่าย บางคนลายมือสวยแต่อ่านยาก เช่น เขียนตัวหนังสือเล่นหาง ดูผิวเผินรู้สึกว่าสวย
แต่เมื่อตั้งใจอ่าน บางคำจะอ่านไม่ออก บางคนลายมือไม่สวยแต่อ่านได้ง่าย อย่างนี้ดีกว่าในการกรอกใบสมัคร
- ตั้งใจเขียน คนที่ตั้งใจเขียนใบสมัครแสดงถึงความจริงจังในการมาสมัครงาน และแสดงว่าเป็นคนปราณีต
มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการทำงาน
- เวลากรอกใบสมัคร ไม่ต้องรีบจนเกินไป เนื่องจากการรีบเร่งทำให้เขียนผิด ต้องมีการขูดฆ่าขีดลบจึงทำให้
ใบสมัครไม่เรียบร้อย ดูเป็นการไม่ตั้งใจในการสมัครงาน
ความละเอียดรอบคอบ
การให้ข้อมูลที่ผิดพลาดในใบสมัครทำให้เสียโอกาสที่จะได้ทำงาน จึงต้องระมัดระวังทำความเข้าใจคำสั่งก่อน
โดยทั่วไปเมื่อได้แบบฟอร์มมามักจะกรอกข้อมูลไปทันที ตั้งแต่ช่องแรกของหน้าแรก โดยไม่ได้ดูแบบฟอร์มนั้น
ให้หมดเสียก่อน ใบสมัครบางแห่ง มีข้อความระบุไว้ในตอนต้นใบสมัครว่า หากใช้ภาษาอังกฤษได้ขอให้เขียน
ด้วยภาษาอังกฤษแทน ก็มักพบเสมอว่ามีเขียนด้วยภาษาไทยไปก่อน เมื่ออ่านเจอคำสั่งจึงขีดฆ่าภาษาไทยและ
เขียนภาษาอังกฤษแทน ในช่องประวัติการศึกษา หรือประวัติการทำงาน ก็เป็นอีกตอนหนึ่งซึ่งผู้สมัครที่ขาด
ความละเอียดในการทำความเข้าใจคำส่งจะทำผิดเสมอ บางบริษัทกำหนดว่าให้เริ่มจากหลังสุดก่อน ถ้าเป็น
การศึกษาก็คือเริ่มจากสถานศึกษาล่าสุดก่อน แล้วย้อนขึ้นไปตามลำดับจนกระทั่งถึงแห่งแรก บางบริษัทกำหนด
ให้เริ่มจากแห่งแรกมาจนถึงปัจจุบันหรือล่าสุดเมื่อกรอกข้อมูลเสร็จแล้วขอให้ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง
แม้ว่าจะมีความผิดพลาดในการกรอกใบสมัคร แต่ถ้าตรวจดี ๆ ก็จะพบและแก้ไขได้ก่อนที่จะส่งใบสมัคร
พยายามให้ข้อมูลให้มากที่สุด
การสัมภาษณ์ เป็นโอกาสดีที่จะแสดงความสามารถหรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาความเหมาะ
สมของผู้สมัครแต่ก่อนที่จะมีการสัมภาษณ์ ใบสมัครจะเป็นด่านแรก หากให้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอหรือไม่เสนอ
ข้อมูลที่น่าสนใจ ด่านแรกก็คงจะผ่านไปไม่ได้ บางคนไม่ค่อยชอบเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จบในด้าน
วิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ดังนั้นใสมัครจึงค่อนข้างว่าง ส่วนของช่องการศึกษาที่ให้กรอกข้อมูลว่าจบการศึกษา
วุฒิอะไร และจบจากสถาบันไหน มีคนหนึ่งเขียนเพียงว่า ตรี สั้น ๆ เพียงคำเดียวเท่านี้และไม่บอกชื่อสถาบัน
ที่จบมาด้วย
ผู้สมัครบางคน แม้ว่ามีคุณสมบัติบางข้อไม่ตรงตามกำหนดไว้ แต่ด้วยการจัดทำเอกสารประกอบสมัคร
อย่างดี มีข้อมูลที่น่าสนใจ และมีความตั้งใจทำอย่างพิถีพิถัน ก็ทำให้ได้รับการพิจารณาเรียกมาสัมภาษณ์
ส่วนบางคนค่อนข้างแน่ใจว่ามีข้อดีจุดเด่นมากกว่าเพื่อน ๆ ร่วมรุ่น แต่กลับไม่ได้รับโอกาสเรียกไปสัมภาษณ์
ทดสอบ สาเหตุอาจจะมาจากข้อผิดพลาดในการกรอกใบสมัครก็เป็นได้
ข้อระวังต่อไปนี้ นอกจากพยายามหลีกเลี่ยงแล้ว ถ้าใช้เป็นจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับตัวเองอีกด้วย
บุคลิกภาพในวันสมัคร
ความสำคัญของใบสมัครมิใช่อยู่ที่ข้อมูล เอกสารในใบสมัครเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงสิ่งที่ผู้สมัครทำในวัน
ที่มากรอกใบสมัครด้วยดังนี้ การเอาใจใส่ในความสะอาดเรียบร้อยของตนเอง เป็นข้อที่ได้เปรียบในการสร้าง
ความรู้สึกที่ดีของผู้พบเห็น
- การแต่งกาย
การจะเป็นแค่การสมัคร แต่การแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับกาลเทศะ ก็เป็นสิ่งสำคัญด้วย เนื่องจาก
การแต่งกายที่เสริมบุคลิกให้ดูดี และสอดคล้องกับงานที่จะทำ จะเป็นจุดเด่นที่เพิ่มโอกาสในการได้งานทำ
- อากัปกิริยา
การแสดงออกของผู้สมัครตั้งแต่ปรากฏตัวจนยื่นใบสมัคร จะอยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่บุคคลโดยตลอดการแสดง
ความไม่สุภาพต่อเจ้าหน้าที่บุคคล ทั้งด้วยคำพูดและกิริยาท่าทาง แม้ว่าผู้ที่รับสมัครจะไม่ได้เป็นผู้พิจารณาคัดเลือก
ก็ตาม แต่ถ้าใบสมัครหายโดยเจตนา ก็หมดโอกาสเช่นกัน
- การพูดจา
เรื่องการพูดนี้พิจารณาได้ทั้งประเด็น ความถูกต้องชัดเจนในการพูด และการพูดจาที่สุภาพไพเราะ
ความพร้อม
คือพร้อมในสิ่งที่จำเป็นต้องใช้และสิ่งที่ต้องรู้ ผู้สมัครบางคนเอกสารหลักฐานไม่ครบ บางคนอุปกรณ์เครื่องเขียน
ที่จำเป็นก็ไม่ได้เตรียมมาจึงต้องรบกวนขอยืมจากผู้รับสมัคร บางคนขอยืมแล้วลืมหรือตั้งใจนำไปเป็นของที่ระลึก
ก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ ๆ ทำความเดือดร้อนให้กับผู้รับสมัครนอกจากต้องมีอย่างครบถ้วนแล้ว ก็ต้องอยู่ในสภาพที่ชัดเจน
ด้วย ในกรณีทีถ่ายสำเนามา
รูปถ่าย
รูปถ่ายที่ชัดเจนและดูดีจึงเพิ่มโอกาสให้กับผู้สมัคร การเลือกรูปถ่ายที่จะเกิดผลดีในการสมัครงาน โดยพิจารณาดังนี้
- พิถีพิถันในการเลือกร้านถ่ายรูป
- ไม่ใช้รูปถ่ายขนาดเล็กเกินไป โดยทั่วไปคือรูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว
- ไม่ใช้รูปที่ถ่ายไว้นานมาก
- จัดทรงผม เครื่องแต่งกาย ให้รูปดูดี
การใช้ภาษา
ภาษาที่ดีในใบสมัคร คือ ภาษาที่สุภาพ และเป็นทางการถูกต้องตามแบบแผน มีผู้สมัครบางคนใช้ถ้อยคำภาษาใน
ลักษณะเขียนเล่นซึ่งไม่เหมาะสม นอกจากความสุภาพแล้ว การใช้ตัวย่อ ก็ต้องระมัดระวังไม่ใช้ตัวย่อที่เป็นการเฉพาะ
ซึ่งคนทั่วไปไม่รู้จัก มีคนเล่าให้ฟังว่า มีผู้สมัครเขียนอย่างย่อในช่องสถาบันการศึกษาว่า ม.อ. เขาบอกว่าพยายามนึก
ชื่อมหาวิทยาลัยทุกแห่ง นึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่าเป็นที่ไหน สอบถามหลายคนจึงได้รู้ว่าเป็นตัวย่อของมหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ การใช้ภาษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นการแสดงถึงความรู้และความสามารถในทางภาษาด้วย
ขายตัวเองให้เป็น
การขายตัวเองให้เป็นคือ รู้จักแสดงความสามารถหรือจุดเด่นให้เป็นที่สนใจของผู้อื่น มีการกรอกข้อความในช่อง
กิจกรรม ถ้ากรอกข้อความแต่เพียงว่าเข้าร่วมกิจกรรมในชมรมใดชมรมหนึ่ง กับการระบุตำแหน่งในชมรม เช่น
เป็นประธานหรือเลขา เป็นต้น การระบุตำแหน่งจะมีความน่าสนใจมากกว่า ใบสมัครหลายแห่งจะมีที่ว่างในตอน
ท้ายก่อนถึงช่องให้เซ็นชื่อ ไว้สำหรับให้ผู้สมัครเขียนสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ปรากฏว่าผู้สมัคร
จำนวนมากเว้นที่ว่างนี้ไว้ โดยอาจจะตั้งใจให้ผู้พิจารณาได้พักสายตาก็เป็นได้ ซึ่งนับว่าน่าเสียดาย เพราะหากจะหา
โอกาสขายตัวเองให้ได้ ในช่วงท้ายนี้จะมีประโยชน์ไม่น้อย
ความตั้งใจในการกรอกใบสมัคร และรู้จักทำให้ใบสมัครมีความน่าสนใจ เป็นการสร้างโอกาสที่เหนือกว่าคนอื่น
จึงไม่ควรมองข้ามความสำคัญของใบสมัคร กรอกใบสมัครอย่างดีเพื่อที่จะไม่ต้องกรอกใบสมัครหลายครั้ง
บทความบางส่วนจากหนังสือ คู่มือสมัครงาน อ.ถาวร โชติชื่น สำนักพิมพ์ wisdom
ที่มา : www.jobaa.com