เคล็ดลับความสำเร็จ "การกระทำ สำคัญกว่า คำพูด"
ความขัดแย้งระหว่างคำพูดและการกระทำ ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้บริหารที่กำลังต้องการสร้างความไว้วางใจให้กับพนักงาน เพราะผู้บริหารที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจต้องเป็นผู้ที่พนักงานเชื่อถือได้ว่าจะไม่ฉกฉวยโอกาสจากบุคคลหรือสถานการณ์เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่พนักงานจะไว้ใจผู้บริหารที่พูดอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่งสิ่งที่คุณพูดไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งที่คุณทำต่างหากที่สำคัญมากกว่า เพราะการกระทำส่งเสียงดังกว่าคำพูด เมื่อเผชิญกับความไม่สอดคล้องกันระหว่างการกระทำกับคำพูด คนส่วนใหญ่ มักใส่ใจกับการกระทำ เพราะพฤติกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า สิ่งสำคัญสำหรับบรรดาผู้บริหาร ก็คือ คุณคือต้นแบบของทุกคน พนักงานย่อมเลียนแบบพฤติกรรมและทัศนคติของคุณ พวกเขาจะเฝ้าดูสิ่งที่หัวหน้างานกระทำจากนั้นก็จะเลียนแบบตาม หรืออาจดัดแปลงไปบ้างก็เพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่ใส่ใจคำพูดของคุณเลยแม้แต่น้อย คำพูดยังคงมีอิทธิพลต่อผู้อื่นอยู่เช่นเดิม เพียงแต่เมื่อคำพูดและการกระทำขัดแย้งกัน คนส่วนใหญ่มักเชื่อในสิ่งที่เขาเห็นจากพฤติกรรมมากกว่า เพื่อช่วยให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ลองนึกเปรียบเทียบระหว่างทัศนคติที่คุณมีต่อพนักงานและพฤติกรรมของตัวคุณเอง ผู้บริหารหลายคนชอบสาธยายถึงความสำคัญของพนักงาน "บุคลากรคือสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากผู้อื่น" หรือ "บุคลากรคือทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของเรา" แต่การกระทำของพวกเขากลับขัดแย้งกับคำพูด ตัวอย่างเช่น พวกเขาไม่เคยฟังเสียงร้องเรียนของพนักงาน ไม่ใส่ใจกับปัญหาส่วนตัวของพนักงาน หรือปล่อยให้คนเก่งๆลาออกไปทำงานที่อื่น โดยไม่พยายามเหนี่ยวรั้งไว้ เมื่อพนักงานเห็นถึงความแตกต่างระหว่างการกระทำกับคำพูด พวกเขาก็มักจะเชื่อในการกระทำที่พวกเขาเห็นโดยไม่สนใจว่าผู้บริหารจะพูดอย่างไร เช่นเดียวกันกับผู้บริหารที่ต้องการเสริมสร้างบรรยากาศที่เปี่ยมไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริตภายในที่ทำงาน ก็ควรแน่ใจว่าการกระทำของตัวเองสอดคล้องกับถ้อยคำที่พูดออกไปหรือไม่ คำพูดที่พูดถึงมาตรฐานความซื่อสัตย์ ย่อมไม่มีความหมายใดๆ หากผู้พูดตกแต่งบัญชีค่าใช้จ่ายของตัวเอง นำของใช้ในสำนักงานกลับไปใช้ส่วนตัวที่บ้าน หรือเข้างานสายแต่กลับบ้านเร็ว ความขัดแย้งระหว่างคำพูดและการกระทำ ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้บริหารที่กำลังต้องการสร้างความไว้วางใจให้กับพนักงาน เพราะผู้บริหารที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจต้องเป็นผู้ที่พนักงานเชื่อถือได้ว่าจะไม่ฉกฉวยโอกาสจากบุคคล หรือสถานการณ์ เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่พนักงานจะไว้ใจผู้บริหารที่พูดอย่างหนึ่ง แต่ทำอีกอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงข้างต้น ก็มีข้อยกเว้นอยู่เช่นกัน เพราะทุกวันนี้ดูเหมือนว่าเรามีผู้นำที่เชี่ยวชาญในการใช้วาจา และ "ปั่น" สถานการณ์ให้คนหันมาสนใจคำพูดมากกว่าสนใจในการกระทำเพิ่มมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จดูเหมือนจะเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วซึ่งก็ยังหาคำอธิบายไม่ได้ว่าเหตุใดผู้คนจึงยอมเชื่อเรื่องราวที่ถูก "ปั่น" ให้เห็นแต่ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่เรื่องนี้ก็ได้ช่วยตอกย้ำให้เห็นถึงอิทธิพลของคำพูดที่มีต่อความคิดเห็นของผู้อื่นได้อย่างชัดเจน เราเชื่อว่าผู้นำของเราย่อมไม่โกหกงั้นหรือ? เราเชื่อคำพูดทุกคำของนักการเมือง โดยเฉพาะเมื่อเรายกย่องนักการเมืองผู้นั้นเป็นอย่างยิ่งงั้นหรือ? เราจะยกประโยชน์ให้จำเลย เมื่อผู้ที่มีสถานภาพสูงส่ง ซึ่งเราเคยลงคะแนนเสียงให้มีพฤติกรรมในด้านลบงั้นหรือ? ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่ตอนนี้เรายังไม่สามารถหาคำตอบได้อย่างแน่ชัด
แหล่งข้อมูล : ฐานเศรษฐกิจ