ผลตอบแทนพนักงานองค์กรไทย ปี 2010 ฟู่ฟ่ากว่ารอบปีที่ผ่านมา
ในขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่ทั่วโลกมีทัศนคติด้านบวกต่อภาวะเศรษฐกิจในปี 2010 มนุษย์เงินเดือน ส่วนใหญ่ก็มีความคิดว่าช่วงเวลาที่เลวร้าย ของเขานั้นผ่านพ้นไปแล้วนั้นอาจเป็นความคิดที่ผิด เพราะผลสำรวจล่าสุดของ แกรนท์ ธอร์นตัน อินเตอร์เนชั่นแนล (Grant Thornton International Business Report : IBR) เกี่ยวกับแนวโน้มอัตราลูกจ้างในบริษัท เปิดเผยว่า จาก 36 กลุ่มเศรษฐกิจทั่วโลกในประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการให้ค่าจ้างพนักงานในปีนี้ได้รับการชี้แจงว่ามีแนวโน้มน้อยที่จะขึ้นค่าจ้างในปี 2010 น้อยลงยิ่งกว่าปี 2009
โดย 36% วางแผนว่าจะไม่ขึ้นค่าจ้างหรือลดค่าจ้าง เปรียบเทียบกับ 24% เมื่อ ปี 2009 และ 51% ของผู้จ้างงานระบุว่ามีการวางแผนขึ้นค่าจ้างให้เทียบเท่าหรือมากกว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2010 เปรียบเทียบกับ 64% ในปีก่อนหน้า
อเล็กซ์ แมคบีธ ผู้บริหารระดับสูงของแกรนท์ ธอร์นตัน ให้ข้อมูลว่า โดยทั่วไป แล้ว ประเทศต่าง ๆ จะนำประเด็นเรื่องการจ้างงานมาพิจารณาตามหลังเรื่องอื่น ๆ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว
ในบางประเทศกลุ่มเศรษฐกิจมีคนตกงานอย่างมาก แต่การว่างงานก็ยังไม่สูงเท่าที่เกรงว่าจะเป็นตั้งแต่แรกเริ่มสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจเอกชนมีความสามารถในการปรับตัว และสามารถฝ่าฟันไปได้เพื่อรักษาพนักงานของตนไว้ในช่วงเวลาอันยากลำบาก
และในจำนวน 36 กลุ่มธุรกิจจากการสำรวจครั้งนี้ ให้ข้อมูลว่าจะมีการเพิ่มจำนวนพนักงานในปี 2010 ด้วยค่าดุลยภาพทั่วโลกที่ +20% (เปรียบเทียบกับ -4% เมื่อปี 2009) โดยธุรกิจที่มีทัศนคติด้านบวกสูงที่สุด ได้แก่ เวียดนาม (+60%), บราซิล (+59%), บอตสวานา (+50%), ออสเตรเลีย และอินเดีย (+47% ทั้ง 2 ประเทศ) ในทางตรงกันข้ามธุรกิจในยุโรปกลับมีทัศนคติด้านลบยิ่งกว่าพื้นที่อื่นในโลก โดยไอร์แลนด์, อิตาลี (-14% ทั้ง 2 ประเทศ), ฝรั่งเศส (-10%) และสเปน (-8%) ยังคงคาดว่าจะลดการจ้างงาน
สิ่งที่น่าดีใจ คือ รายงานฉบับนี้บอกใน ปี 2009 มีธุรกิจถึง 50% พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างพนักงานประจำ แต่เลือกใช้ทุกมาตรการเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนชั่วโมงในการทำงาน การจัดรวมหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงาน ซึ่งเป็นมาตรการที่นิยมใช้ทั่วโลก ทั้งนี้จากผลการสำรวจ 61% ของธุรกิจไทยคาดว่าจะเพิ่มค่าจ้างในปี 2010 ให้เทียบเท่าหรือมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่ 27% คาดว่าจะไม่เพิ่มค่าจ้าง
ทางกลับกันกับค่าเฉลี่ยโลก ผลตอบแทน ของพนักงานชาวไทยมีภาพรวมที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา และสามารถคาดหวังค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้ และผู้ที่กำลังมองหางานยังมีโอกาสที่ดีกว่าและมากยิ่งกว่าในปีนี้อีกเช่นกัน
ทอม โซเรนเซน สรุปว่า "นายจ้างจำเป็นต้องให้ความใส่ใจต่อพนักงานที่มีความสำคัญก่อนที่จะสายเกินไป เพราะในระยะเวลา 4-6 ไตรมาสที่ผ่านมา พนักงานจำนวนมากได้มองถึงเรื่องความมั่นคงของงานมากกว่าโอกาสใหม่ ๆ ซึ่งก็จะเปลี่ยนแปลงไปได้โดยที่พนักงานจะกลับไปมีความสนใจในโอกาสใหม่ ๆ ในหน้าที่การงานอีกครั้งเมื่อเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น"
หน้า 30
วันที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4189 ประชาชาติธุรกิจ