ผู้หญิงกับความเป็นผู้นำ ต้องพลิกฟื้นตัว-เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส


803 ผู้ชม


ผู้หญิงกับความเป็นผู้นำ ต้องพลิกฟื้นตัว-เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส




ผู้หญิงกับความเป็นผู้นำ ต้องพลิกฟื้นตัว-เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส

การก้าวขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของ "ผู้หญิง" ได้รับการยอมรับมากแค่ไหนในยุคปัจจุบัน
จากผลสำรวจล่าสุดของเอคเซนเชอร์ ในหัวข้อ "เปิดมุมมองผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำทั่วโลกที่มีต่อ "ผู้นำหญิงและความสามารถในการพลิกฟื้นตัว" (Women Leaders and Resilience : Perspectives from the C-Suite) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงของส่วนงานต่าง ๆ กว่า 500 คน ได้แก่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEOs) ประธานด้านปฏิบัติการ (COOs) ประธานด้านการเงิน (CFOs) และประธานด้านทรัพยากรมนุษย์ (CHROs) ของบริษัทธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ใน 20 ประเทศในภูมิภาคยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ และละตินอเมริกา ซึ่งปีนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 แล้ว พบข้อมูลที่น่าสนใจ โดยผู้บริหารส่วนใหญ่ให้ความเชื่อมั่นว่า ศักยภาพในการพลิกฟื้นตัวและพร้อมปรับเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส (resilience) คือ กุญแจสำคัญในการ เสริมสร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของบรรดาผู้หญิง
เพราะในข้อซักถามที่ว่า ผู้หญิงหรือผู้ชายที่มีศักยภาพในการพลิกฟื้นตัวและรับมือจัดการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสมากกว่ากัน ผู้บริหารถึงร้อยละ 53 เชื่อว่า ผู้หญิงมีศักยภาพดังกล่าวมากกว่าผู้ชาย ขณะที่ผู้บริหารร้อยละ 51 คิดว่าผู้ชายมีศักยภาพดังกล่าวมากกว่าผู้หญิง
ด้วยเหตุผลนี้แม้ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงตกต่ำแต่โครงการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานผู้หญิงของบริษัทเหล่านั้นจึงไม่ได้ลดลง โดยมีผู้ให้ความเห็นน้อยกว่าครึ่งหรือร้อยละ 48 ที่ชี้ว่า ในปีที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงทำงานในองค์กรแต่อย่างใด
"นางสาวทิพรัตน์ วงศ์วัฒนะ" กรรมการอาวุโสกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ (products) บริษัทเอคเซนเชอร์ ประเทศไทย บอกว่า "เอเดรียน ลัจธา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอคเซนเชอร์ ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ความสามารถในการฟื้นตัวเองให้คืนสู่สภาพปกติ ซึ่งเป็นการผสานระหว่างการปรับตัว ความยืดหยุ่น และความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ให้สำเร็จ อาจจะเป็นเกณฑ์ความก้าวหน้าในอาชีพ ขณะที่ปัจจุบันยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรงและสภาพเศรษฐกิจไม่แน่นอน องค์กรที่มีความสามารถในการปรับตัวให้ก้าวสู่ความเป็นผู้นำได้จะมีความได้เปรียบอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่ามี ผู้บริหารเพียงจำนวนน้อยที่ล้มเลิกหลักสูตรเพื่อส่งเสริมความเป็นผู้นำ กิจกรรมการให้คำปรึกษา หรือโครงการสนับสนุนความเป็นผู้นำเพียงเล็กน้อย (ประมาณร้อยละ 3) ขณะที่ผู้บริหารร้อยละ 18 ให้ข้อมูลว่า พวกเขาได้เพิ่มเติมเนื้อหาของโครงการที่ว่าด้วยความเป็นผู้นำให้มีความเข้มข้นขึ้น ส่วนร้อยละ 22 ชี้ว่าบริษัทได้เพิ่มเติมในส่วนของการให้คำปรึกษา และร้อยละ 17 ได้ เพิ่มเติมเนื้อที่ในโครงการสนับสนุนความเป็นผู้นำเพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจครั้งนี้ได้มีการสอบถามเพื่อขอให้ผู้บริหารชี้แจงว่า บริษัทที่ตนทำงานอยู่นั้นมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าในอาชีพการงานของผู้หญิง ซึ่ง 5 ใน 10 รายระบุว่า บริษัทได้จัดให้มีการให้คำปรึกษา ตลอดจนจัดให้มีโปรแกรมเพื่อการบริหารชีวิตการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัวให้เกิดสมดุลที่เหมาะสม คิดเป็นผู้บริหาร ร้อยละ 48 และ 46 ตามลำดับ
ขณะที่ร้อยละ 24 ของบริษัทที่สำรวจ มีการกำหนดแนวทางการสนับสนุนให้แก่ ผู้หญิงที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน และร้อยละ 37 ของบริษัทเหล่านั้นสนับสนุนให้พนักงานหญิงได้รับการฝึกอบรมจากหน่วยงานภายนอกองค์กร
ที่มากกว่านั้น ผู้บริหารยังระบุอีกว่า ผู้ที่มีความอาวุโสจะมีความสามารถในการปรับตัวและดึงตัวเองให้กลับมาสู่สภาพปกติหลังจากประสบปัญหาที่สูงกว่า โดยร้อยละ 77 พบว่าผู้บริหารในตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสมักจะมีความสามารถในการพลิกฟื้นตัวให้กลับมาสู่สภาพปกติได้สูง ส่วนร้อยละ 55 ชี้ว่าเจ้าหน้าที่ที่มีตำแหน่งต่ำกว่าระดับผู้จัดการจะพลิกฟื้นตัวได้ในระดับปานกลาง และร้อยละ 36 ในตำแหน่งระดับต่ำกว่า ผู้จัดการจะมีการพลิกฟื้นตัวได้น้อย
เช่นเดียวกันกับทักษะของการจัดการในสถานการณ์คับขัน ความสามารถในการพลิกฟื้นตัวให้กลับมาสู่สภาพปกติเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้
ในเรื่องนี้ "เนลลี่ โบเรโร" ผู้บริหารด้านทรัพยากรมนุษย์และความหลากหลายของเอคเซนเชอร์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า องค์กรชั้นนำจะสนับสนุนผู้หญิงที่มีความสามารถให้ได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย รวมถึงการฝึกอบรม การให้คำปรึกษา และการเพิ่มบทบาทหน้าที่เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพลิกฟื้นตัวและเพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อเตรียมพร้อมในการที่จะก้าวสู่ความสำเร็จในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในอนาคต
นั่นคือภาพรวมที่ได้จากการสำรวจ เมื่อหันมาดูข้อมูลในระดับภูมิภาคจะเห็นความแตกต่างของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยนางสาวทิพรัตน์บอกว่า ในการสำรวจระดับภูมิภาคมีการจัดอันดับพนักงานผู้หญิง ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ที่เกิดในระหว่าง ปี 1946-1964 หรือรุ่นเบบี้บูม (baby boomers) ผู้ที่เกิดระหว่างปี 1965-1978 หรือรุ่นเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (generation X) และผู้ที่เกิดหลังปี 1979 หรือเจเนอเรชั่น วาย (generation Y)
ในเรื่องระดับความเชื่อมั่น จากผู้ร่วมตอบคำถาม 4 ใน 10 คน หรือร้อยละ 41 ในอเมริกาเหนือระบุว่า ในกลุ่มของเบบี้บูมจัดว่าเป็นผู้ที่มีความมั่นใจในตนเองสูง ในขณะที่ในละตินอเมริการ้อยละ 45 ยุโรปร้อยละ 41 และเอเชีย-แปซิฟิกร้อยละ 36 ต่างก็มีความเห็นเช่นเดียวกันว่า คนในรุ่น เจเนอเรชั่นเอ็กซ์มีความเชื่อมั่นสูง
สำหรับระดับความสามารถในการผลิต ผู้ร่วมตอบคำถาม 4 ใน 10 คนเช่นเดียวกัน หรือร้อยละ 41 ในอเมริกาเหนือจัดให้คนที่เกิดในยุคเบบี้บูมเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการผลิตในอันดับต้น ๆ ขณะที่ผู้บริหารร้อยละ 36 ในละตินอเมริกา ร้อยละ 41 ในยุโรป และร้อยละ 32 ในเอเชีย-แปซิฟิก จัดให้คนในเจเนอเรชั่นเอ็กซ์เป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการผลิตในอันดับต้น ๆ
ความสามารถในการปรับตัว ผู้ร่วมตอบคำถามในทุกภูมิภาค สัดส่วนร้อยละ 33 ในอเมริกาเหนือ ร้อยละ 54 ในละตินอเมริกา ร้อยละ 41 ในยุโรป และร้อยละ 35 ในเอเชีย-แปซิฟิก พบว่ากลุ่มคนที่เกิดในยุค เจเนอเรชั่นวายจะเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการปรับตัวสูง
นอกจากนั้น ผู้บริหารระดับสูงในแต่ละภูมิภาคยังมีมุมมองที่แตกต่างกัน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงที่มีความ เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด
โดยเรื่องของประสิทธิภาพ ผู้บริหารใน อเมริกาเหนือจะให้คะแนนในด้านความเชี่ยวชาญแก่ผู้หญิงร้อยละ 11 และร้อยละ 8 แก่ผู้ชาย ขณะที่ผู้บริหารในสัดส่วนที่มาก กว่าในภูมิภาคอื่น ๆ มีความเห็นว่า ผู้ชายมักจะมีความโดดเด่นในด้านนี้มากกว่าผู้หญิง โดยผู้บริหารในละตินอเมริกาให้ผู้หญิง ร้อยละ 7 ให้ผู้ชาย ร้อยละ 38 ในยุโรปให้ ผู้หญิง ร้อยละ 11 ให้ผู้ชาย ร้อยละ 19 และผู้บริหารในเอเชีย-แปซิฟิก ให้ผู้หญิงร้อยละ 11 ขณะที่ให้ผู้ชาย ร้อยละ 27
ด้านความเชื่อมั่น ผู้บริหารในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย-แปซิฟิก มักจะเชื่อมโยงความเชื่อมั่นในการวางตัวของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยในอเมริกาเหนือเป็นผู้หญิง ร้อยละ 9 ผู้ชาย ร้อยละ 26 ยุโรปผู้หญิง ร้อยละ 9 ผู้ชาย ร้อยละ 39 เอเชีย-แปซิฟิกผู้หญิง ร้อยละ 16 ผู้ชาย ร้อยละ 28 ตามลำดับ ในทางตรงกันข้ามผู้บริหารในละตินอเมริกาจะให้ความเชื่อมั่นในผู้หญิงมากกว่า โดยร้อยละ 38 เป็นผู้หญิง และร้อยละ 14 เป็นผู้ชาย
ในเรื่องการทำงานเป็นทีมซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการทำงานยุคปัจจุบัน ผู้บริหารในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย-แปซิฟิก มักจะมอบหมายงานที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนในหลายระดับให้แก่ผู้หญิงมากกกว่าผู้ชาย โดยผู้บริหารในอเมริกาเหนือในสัดส่วนผู้หญิงต่อผู้ชายคิดเป็น ร้อยละ 22 ต่อ 7 ยุโรป ร้อยละ 27 ต่อ 13 และเอเชีย-แปซิฟิก ร้อยละ 27 ต่อ 15 ตามลำดับ ขณะที่ในละตินอเมริกา ร้อยละ 18 จะเป็นผู้หญิง และร้อยละ 34 เป็นผู้ชาย
จากผลสำรวจครั้งนี้จะเห็นว่า วันนี้ ผู้หญิงมีความสามารถในการทำงานเกือบทุกเรื่องเท่าเทียมกับผู้ชาย เรียกว่าสามารถทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายได้ทีเดียว
หน้า 30

วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4191  ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด