เปิดผลสำรวจนักธุรกิจทั่วโลก สาเหตุความเครียดในที่ทำงาน เกิดจากแรงกดดันรอบด้าน


979 ผู้ชม


เปิดผลสำรวจนักธุรกิจทั่วโลก สาเหตุความเครียดในที่ทำงาน เกิดจากแรงกดดันรอบด้าน




ต้องยอมรับว่า วิกฤตเศรษฐกิจในรอบปีที่ผ่านได้สร้างความเครียดให้กับผู้คนทั่วโลกมากกว่าทุกครั้ง เพราะไม่เพียงแต่มนุษย์เงินเดือนเท่านั้นที่ตกงาน แต่เจ้าของกิจการมากมายต้องล้มละลาย แม้แต่ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างโตโยต้า หรือค่ายอื่น ๆ ยังต้องตัดลดพนักงานจำนวนมากลง
ด้วยเหตุนี้ แกรนท์ ธอร์นตัน บริษัท ที่ปรึกษาและให้บริการทางด้านธุรกิจอย่างมืออาชีพ จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเจ้าของธุรกิจ 7,400 รายในกลุ่มเศรษฐกิจ 36 กลุ่ม ในการสำรวจธุรกิจนานาชาติครั้งล่าสุด ปรากฏว่า ประเทศจีนมีจำนวนเจ้าของกิจการที่มีความเครียดสูงเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีถึง 76% ที่กล่าวว่า ระดับความเครียดได้เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา
โดยกลุ่มเศรษฐกิจอื่นที่มีจำนวนเจ้าของกิจการที่มีความเครียดอยู่ในอันดับต้น ๆ ได้แก่ เม็กซิโก (74%), ตุรกี (72%), เวียดนาม (72%) และกรีซ (68%) ในขณะที่สวีเดน (23%), เดนมาร์ก (25%), ฟินแลนด์ (33%) และออสเตรเลีย (35%) กลับมีระดับความเครียดต่ำที่สุดในโลก
ที่น่าสนใจคือ เจ้าของธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความตึงเครียดสูงที่สุดใน ปี 2010 โดย 65% ระบุว่า ระดับความตึงเครียดได้สูงขึ้นหรือสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา
แต่อย่างไรก็ตามเจ้าของธุรกิจในประเทศไทยมีความเครียดน้อยที่สุดเป็นอันดับที่สองในเอเชีย ซึ่งมีเพียงแค่ 40% ที่รู้สึกว่าระดับความเครียดสูงขึ้น
"เอียน แพสโค" กรรมการบริหาร แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย ให้ข้อมูลสนับสนุนว่า โดยทั่วไปแล้วธุรกิจในประเทศไทยมีระดับการเป็นหนี้ต่ำกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจอื่นอย่างมาก ซึ่งเมื่อผนวกกับ คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่กว่า 3% แล้ว น่าจะเป็นสาเหตุที่เจ้าของธุรกิจชาวไทยมีการเพิ่มขึ้นของระดับความตึงเครียดที่น้อยลง
ทั้งนี้ดูเหมือนว่าจะมีความเชื่อมโยงระหว่างระดับความเครียดและ GDP ปรากฏขึ้น เนื่องจากเจ้าของกิจการในจีน เวียดนาม เม็กซิโก อินเดีย และตุรกี ล้วนมีความเครียดสูงและดำเนินกิจการอยู่ใน สิ่งแวดล้อมที่มีความคาดหวังต่อการเติบโตของธุรกิจในระดับสูง
อย่างไรก็ตามไม่เพียงแค่ในประเทศที่มีความคาดหวังต่อการเติบโตในระดับสูงเท่านั้นที่มีระดับความเครียดสูง เพราะอีกด้านหนึ่งของอัตราการเติบโตนั้น ไอร์แลนด์ สเปน และกรีซ ก็มีความเครียดสูงไม่ต่างกัน
"อเล็กซ์ แมคบีธ" ผู้บริหารระดับสูงของแกรนท์ ธอร์นตัน อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้ว่า วันนี้ธุรกิจที่อยู่ทั้งสองด้านของการเติบโตของ GDP กำลังประสบกับความตึงเครียดด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยในจีนมีแรงกดดันให้สามารถก้าวตามการขยายตัวได้ทัน ในขณะที่ประเทศอย่างไอร์แลนด์ที่เศรษฐกิจกำลังหดตัว ทำให้เจ้าของธุรกิจกังวลว่าจะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างไร
ซึ่งเมื่อสอบถามเกี่ยวกับสาเหตุหลักของความเครียดในที่ทำงาน ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะว่าสาเหตุที่พบมากที่สุดสำหรับ ปี 2009 เกิดจากบรรยากาศของเศรษฐกิจ โดย 38% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจทั่วโลกได้เลือกข้อนี้ให้เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของความเครียด ตามด้วยความกดดันด้านกระแสเงินสด (26%), กิจกรรมของคู่แข่ง (21%) และงานหนัก (19%)
"อเล็กซ์ แมคบีธ" ให้ความคิดเห็น เพิ่มเติมในเรื่องเดียวกันว่า สาเหตุต่าง ๆ ของความตึงเครียดในที่ทำงานสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ เศรษฐกิจ ธุรกิจ และส่วนบุคคล โดยที่เจ้าของธุรกิจได้รับความกดดันจากทุกด้าน เพราะในขณะที่พนักงานอาจให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบที่มีผลต่อตัวเอง เช่น ความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานนั้น เจ้าของกิจการกลับมีแรงกดดันอื่น ๆ มากกว่าให้ต้องคิดถึง
นอกจากนี้การสำรวจดังกล่าวยังพบความเชื่อมโยงระหว่างระดับความตึงเครียดและจำนวนวันที่ลาหยุดในปีหนึ่ง ๆ โดยประเทศที่มีความตึงเครียดสูงคือประเทศที่โดยเฉลี่ยแล้วเจ้าของธุรกิจลาหยุดน้อยกว่าในแต่ละปี
ยกตัวอย่างเช่นเวียดนามซึ่งอยู่ในอันดับที่สามของประเทศที่มีความตึงเครียด คือ 72% ของเจ้าของกิจการรายงานถึงระดับความเครียดที่เพิ่มขึ้นในปี 2009 และอยู่ในอันดับท้ายสุดของประเทศที่มีจำนวนวันลาหยุดน้อยที่สุด โดยเจ้าของธุรกิจโดยเฉลี่ยแล้วลาหยุดเพียง 7 วัน ในหนึ่งปี และจีนและเม็กซิโกยังมีผลการสำรวจที่คล้ายคลึงกัน ในทางกลับกัน เจ้าของกิจการในยุโรปตอนเหนือ (เนเธอร์แลนด์, สวีเดน, เดนมาร์ก และฟินแลนด์) อยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีจำนวนวันลาหยุดมากที่สุดในปีหนึ่ง ๆ (ระหว่าง 22-24 วัน) และอยู่ในอันดับต่ำสุดของประเทศที่มีความตึงเครียด
นั่นหมายความว่า เจ้าของธุรกิจที่สามารถลาหยุดได้มากกว่าจะมีความตึงเครียดน้อยกว่าผู้ที่อยู่ในประเทศที่มีจำนวนวันลาหยุดน้อยกว่า ซึ่งประสบการณ์ของแกรนท์ ธอร์นตัน ในการทำงานร่วมกับเจ้าของธุรกิจเอกชน (PHBs) ทั่วโลก ข้อมูลตรงนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การใช้เวลาถอยห่างจากการทำงานเพื่อให้เวลาในการพิจารณาและเติมพลังจะช่วยให้เจ้าของกิจการนำมุมมองใหม่ ๆ มาใช้ในการตัดสินใจ ความเครียดจึงลดน้อยลง
หน้า 30


วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4195  ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด