วิจัยแนวโน้มตลาดแรงงานไทย สูงวัยพุ่ง-หาคนรุ่นใหม่ยาก


726 ผู้ชม


วิจัยแนวโน้มตลาดแรงงานไทย สูงวัยพุ่ง-หาคนรุ่นใหม่ยาก




ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จัดสัมมนาเรื่อง "แนวโน้มความต้องการแรงงานใน 5 ปีข้างหน้า" โดยนายบุญเลิศ ธีระตระกูล ผู้อำนวยการกองวิจัยตลาดแรงงาน ได้เสนอผลการวิจัยแนวโน้มความต้องการแรงงานใน 5 ปีข้างหน้า (2553-2557) ว่า ถ้าอัตราการขยายตัวของจีดีพีกรณีอัตราการขยายตัวของจีดีพีเป็นไปตามการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ คือร้อยละ 1, 4, 5, 6 และ 6 ต่อปี ตามลำดับ และสต๊อคทุนขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.1 ต่อปี คาดว่าความต้องการแรงงานจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 37.6 ล้านคน 38.2 ล้านคน 38.7 ล้านคน 39.3 ล้านคน และ 39.9 ล้านคน ตามลำดับ


นายบุญเลิศ กล่าวว่า สาขาอาชีพที่คาดว่ามีความต้องการแรงงานมากใน 5 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1.ผู้ปฏิบัติงานด้านการเพาะปลูกพืชไร่และพืชผัก 2.พนักงานขายสินค้าในร้านค้า 3.พนักงานสาธิตสินค้า 4.ผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกไม้ยืนต้นและผลไม้ ในภาคอุตสาหกรรมนั้น คาดว่าต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นทุกปี โดยกิจการก่อสร้างต้องการมากที่สุด รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และเครื่องแต่งกาย ส่วนภาคบริการนั้น มีความต้องการมากขึ้นในกิจการขายปลีก โรงแรมภัตตาคาร และกิจการบริหารราชการ


นายสราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังร่วมกันหาทางออกจากปัญหาแรงงานที่เริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุคือ 40-49 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมซึ่งมีอายุ 40 ปีขึ้นไป และภาคอุตสาหกรรมมีอายุ 29 ปีขึ้นไป ปัญหาคือต่อไปภาคอุตสาหกรรมจะหาแรงงานวัย 29 ปีมาจากไหน ที่สำคัญรัฐต้องเร่งจัดสวัสดิการรองรับแรงงานในวันเกษียณด้วย

ที่มา : มติชนออนไลน์


อัพเดทล่าสุด