สถานการณ์แรงงานไทย ปี 52 จะตกงาน 2 ล้านคน


758 ผู้ชม


สถานการณ์แรงงานไทย ปี 52 จะตกงาน 2 ล้านคน




แม้บรรยากาศทางการเมืองจะเริ่มคลี่คลายและมองเห็นทางออกของประเทศบ้างแล้วก็ตาม แต่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาวะการว่างงาน โดยล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) เผยตัวเลขคนตกงานสะสมตั้งแต่ต้นปี-เมษายน นี้ ประมาณ 1- 2 ล้านคน

ขณะที่ข้อมูลจากรัฐบาล ระบุตัวเลขคนตกงานในเดือน มกราคม 2551 ถึง 24 เมษายน 2552 ว่า มีแค่ 200,000 คน และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติแรงงาน 274,605 คน
+++คาดปี 52 ตกงาน 2 ล้านคน
เมื่อ วันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา ส.อ.ท.เปิดเผยตัวเลขที่ น่าตกใจจากการคาดการณ์ผู้ว่างงานในปี 2552 ว่าจะเข้าสู่วิกฤติแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย นายธนิต โสรัตน์ รองประธานส.อ.ท.ยืนยันว่า ยอดผู้ว่างงานที่ทยอยเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2552 ) มีผู้ว่างงาน 680,000 คน แบ่งเป็นยอดสะสมผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม 230,000 คน ผู้จบการศึกษาใหม่ ส่วนใหญ่จบปริญญาตรี 200,000 คน และคนว่างงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อีกประมาณ 250,000 คน รวมตัวเลขผู้ว่างงานคาดว่าจะอยู่ที่ 1-2 ล้านคน
ใกล้เคียงกับข้อมูลจาก ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ที่คาดการณ์ว่า ในปี 2552 จะมีผู้ว่างงานมากถึง 2 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานที่ว่างงานสะสมตั้งแต่ต้นปี 2552 ประมาณ 1 ล้านคน ที่เหลือเป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ พ่อค้า แม่ค้า แผงลอย ร้านโชวห่วย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ( SME)
ขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า ผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมือง จะทำให้เศรษฐกิจไทยอาจติดลบ 5-6% ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านแรงงาน ที่กำลังเผชิญกับปัญหาออร์เดอร์ลดลงเกือบ 100% และส่อเค้าต้องเลิกจ้างงานอีก 700,000 คนใน 8 เดือนข้างหน้า เมื่อรวมกับคนที่ว่างงานในปัจจุบัน 800,000 คน เมื่อถึงปลายปี อาจจะมีคนว่างงานสูงถึง 1.5 ล้านคน
+++ก.แรงงาน ยันตกงาน 2 แสน
ส่วนข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์เลิกจ้าง ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานพบว่าในช่วง 16 เดือนที่ผ่านมา (1 มกราคม 2551 - 24 เมษายน 2552 ) มีผู้ถูกเลิกจ้างและมีแนวโน้มอาจจะถูกเลิกจ้าง รวม274,605 คน
ทั้งนี้มีสถานประกอบการที่เลิกจ้างลูกจ้าง 994 แห่ง มีลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างแล้ว 84,401 คน และสถานประกอบการที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้างในระยะต่อไป 737 แห่ง จากลูกจ้างทั้งหมด 378,432 คน ซึ่งมีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้างในอีกราว 103,827 คน นอกจากนี้ ยังพบว่า มีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบอีก 274, 605 คน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างในจังหวัดสมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และฉะเชิงเทรา
ส่วนประเภทกิจการที่เลิกจ้าง 5 อันดับแรก ยังเป็น 1.ผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 2. ผลิตสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ฟอกหนังสัตว์และรองเท้า 3. ผลิตยานยนต์ และอุปกรณ์ขนส่ง 3.ผลิตเครื่องจักร และ 5.ผลิตเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ
+++จี้รัฐบาลเพิ่มสวัสดิการ
ด้าน วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานเครือข่ายคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (ครสท.) ได้ยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่ถูกเลิกจ้าง ส่วนใหญ่ เป็นเกษตรกร คนขับแท็กซี่ ให้ได้รับการคุ้มครองตามระบบประกันสังคม ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จะเสนอรัฐบาลแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับสวัสดิการเท่าเทียมกันกับแรงงานในระบบ โดยการแจกเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท เป็นทุนประเดิม
ผลต่อเนื่องที่เกิดจากการเลิกจ้างงาน ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงของผู้ใช้แรงงานบ่อยครั้ง ทั้งนี้ นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2551-20 เมษายน 2552 มีการชุมนุมเรียกร้อง 80 ครั้ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม 16,513 คน
สาเหตุมาจากการเลิกจ้างเพราะวิกฤติเศรษฐกิจ การเรียกร้องโบนัส และการจ่ายค่าจ้างประจำปี ส่วนที่มีการชุมนุมมากที่สุด คือ ประเภทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และอุปกรณ์ตกแต่ง โดยพื้นที่ที่มีการชุมนุมมากที่สุด คือจังหวัดชลบุรี
+++ทางออกจากวิกฤติ
อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้เสนอปัญหาการว่างงานเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน อาทิ โครงการต้นกล้าอาชีพ และนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพสำหรับผู้มีรายได้ ไม่ถึง 15,000 บาท ด้วยการจ่ายเช็คช่วยชาติ มูลค่า 2,000 บาท เป็นต้น
ปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ในฐานะหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบการจ่ายเงินทดแทนการว่างงาน กรณีลูกจ้างลาออก และถูกเลิกจ้างว่า ขณะนี้ ไม่กระทบกับเงินกองทุนการว่างงาน ที่มีอยู่ 3.2 หมื่นล้านบาท หากต้องจ่ายเงินเฉลี่ยเดือนละ 200 ล้านบาท แต่หากต้องจ่ายเดือนละ 1,000 ล้านบาท กองทุนจะถึงจุดโคม่า
สำหรับ โบนัสพิเศษในวันแรงงาน ที่สปส.จะมอบให้ผู้ประกันตน ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ นั้นจะเป็นการลดเงินสมทบให้นายจ้างและลูกจ้าง โดย นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน จะเสนอลดเงินสมทบ ฝ่ายละ 2% จากเดิมจ่ายที่ 5% ส่วนรัฐบาลยังสมทบ2.75% ซึ่งเงินส่วนนี้มาจากเงินกำไรของกองทุนประกันสังคม เพื่อช่วยชะลอคนตกงานเพิ่มขึ้นอีก 4-5 แสนคน
ทั้งนี้ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบก่อน ประกาศใช้ภายในเดือนมิถุนายน ถึงธันวาคม 2552
ขณะที่ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เห็นว่า วิกฤติแรงงานไทย ต้องใช้เวลาเยียวยาอีก 2-3 ปี จึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะปัญหาของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว ทางออกของรัฐบาลในเบื้องต้น ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานราชการ ใช้งบประมาณที่มีอยู่จ้างงานไปก่อน ส่วนนักศึกษาจบใหม่ ไม่ควรเลือกงาน
และการว่างงานจะนำไปสู่วิกฤติยิ่งขึ้น หากยังปล่อยปัญหาสะสมไปถึงปี 2553
ที่มา : thannews.th.com

อัพเดทล่าสุด