ปัญหา-ทางออก วิกฤตการณ์แรงงาน 2552


881 ผู้ชม


ปัญหา-ทางออก วิกฤตการณ์แรงงาน 2552




ปัญหา-ทางออก วิกฤตการณ์แรงงาน 2552

"โตโยต้าขาดทุนดำเนินงานครั้งแรกในรอบ 67 ปี ผู้บริหารสั่งระงับการเปิดโรงงานใหม่ในมิสซิสซิปปี สหรัฐอเมริกา รวมทั้งลดการผลิตในอินเดีย นอกจากนี้ได้ตัดสินใจทบทวนโครงการเกือบทั้งหมด ทั้งการขยายกำลังการผลิตและการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่"
การประกาศผลการดำเนินขาดทุนเป็นครั้งแรกของโตโยต้าเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทรถยนต์ทั่วโลก
เพราะขนาด เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกา ยังประกาศปิดโรงงานในเมือง เดย์ตัน รัฐโอไฮโอ ไปเมื่อวันอังคารที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เคยผลิตรถปิกอัพและรถสปอร์ตอเนกประสงค์มา เป็นเวลา 27 ปี ทำให้คนงานกว่า 1,080 คน ไม่มีงานทำทันที
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีรายงานข่าวระบุ อีกว่า ปัจจุบันจีเอ็มได้ปลดพนักงานไปแล้ว รวม 1.1 หมื่นคน
สำหรับประเทศไทยเอง เมื่อเร็วๆ นี้ คิวฮอนด้าไทย เตรียมเลิกจ้างพนักงาน ซับคอนแทร็กต์ 744 คนในโรงงาน นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ท่ามกลางกระแสข่าวปลดคนงานที่ออกมาเป็นระลอกๆ ล่าสุดองค์การเพื่อความร่วมมือเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 30 ประเทศ ได้ออกมาประเมินอีกว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้อาจทำให้คนทั่วโลกตกงานถึง 25 ล้านราย ตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึง พ.ศ.2553
สถานการณ์แรงงานตลอดหนึ่งเดือน ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นแนวโน้มทิศทางตลาดแรงงานที่กำลังก้าวเข้าสู่วิกฤตที่ยากจะปฏิเสธ
ในงาน สัมมนาวิชาการ HR Outlook ของสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้หยิบประเด็นเรื่อง ปัญหาและทางออกวิกฤตการณ์แรงงาน ปี 2552 ขึ้นมาพูดคุยกัน เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้บริหารองค์กรและชาว HR (Human Resource) ได้ก้าวเดินไปด้วยความมั่นคงและมั่นใจ
"ดร.สมประสงค์ โกศลบุญ" รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนาและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คำว่า โตโยต้าเพียงคำเดียวทำให้เราคิดอะไรได้หลายอย่าง เพราะสิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่เพียงแค่โตโยต้าขาดทุนครั้งแรกในรอบ 67 ปีนับตั้งแต่แถลงนโยบายเปิดบริษัทมา แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น คือ อุตสาหกรรมที่ทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 คือ อุตสาหกรรมรถยนต์
ในสหรัฐอเมริกาอุตสาหกรรมรถยนต์ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีกระบวนการจ้างงานที่เกี่ยวข้องมากมาย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจกับเรื่องนี้
แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤตครั้งนี้ก็แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมามาก เนื่องจากปี 2540 ปัญหาเกิดจากโอเวอร์ซัพพลาย มีคนเก็งกำไรสินค้ากันมาก แต่ในปีนี้พบว่าปัญหา ไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจของคน แต่เกิดจากคนขยันทำมาหากินนี่แหละ แต่ว่าร้านขายของชำหน้าปากซอยธุรกิจมีปัญหา คนในซอยย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ฝ่าย HR จึงมีหน้าที่อธิบายให้พนักงานเข้าใจว่าภาวะเศรษฐกิจปีนี้จะเป็นอย่างไร แล้วในเชิงโครงสร้างปัญหาแตกต่างจาก ปี 2540 อย่างไร
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างในหลายอุตสาหกรรมที่พนักงานออกมาเรียกร้องโบนัส 2 เดือน 6 เดือน เรียกร้องให้จัดงานปีใหม่ เหมือนไม่ได้รับรู้ว่าภาวะเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร ตรงนี้ฝ่าย HR และนายจ้างจะต้องทำความเข้าใจกับ พนักงานว่าเรือกำลังจะจม จะประคอง องค์กรอย่างไรให้รอดพ้นวิกฤต
ส่วนของนักศึกษาจบใหม่ การที่ นักศึกษาปริญญาตรีจบมาเป็นแสนแล้วหางานไม่ได้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะรัฐไม่ได้วางแผนว่าจะให้เขาทำอะไร
ดังนั้นวันนี้ถ้าจะมาถามคำถามว่าเรียนอะไรถึงจะไม่ตกงาน คงเป็นเรื่องที่ช้าไปแล้วเพราะคนเหล่านี้อยู่ในกระบวนการแรงงานแล้ว
ดร.สมประสงค์ ได้ยกกรณีศึกษาของเครือซิเมนต์ไทยที่มีการเตรียมพร้อมเรื่องคนมาชี้ให้เห็นว่า วันนี้ยังไม่สายถ้าผู้บริหารองค์กรจะลงทุนในการพัฒนาคน โดยกล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมาเครือซิเมนต์ไทยได้สอนเรื่องการทำธุรกิจพื้นฐานให้กับลูกจ้างในไลน์ทุกคน ด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อวันหนึ่งที่ธุรกิจมีปัญหาจะได้พูดกันรู้เรื่องไม่ต้องมาพูดกันมากมาย
เพราะยิ่งพนักงานอ่านงบฯรู้เรื่อง รู้ว่า ปีนี้บริษัทขาดทุน เขาจะได้ไม่เรียกร้องอะไร ดังนั้นหากองค์กรธุรกิจใดพอมีเงินทุนเหลืออยู่การสอนตรงนี้ไม่ได้ใช้เงินทุนอะไรมากมาย แต่จะช่วยองค์กรในระยะยาวได้ดี เพราะการสอนให้พนักงานเป็นเถ้าแก่ นอกจากเขาจะช่วยดูแลบริษัทแล้ว วันใด วันหนึ่งที่เขาออกไปจากบริษัทก็จะสามารถดูแลตัวเองได้ไม่เป็นภาระกับสังคม
ในช่วงวิกฤตถ้าจะปิดบ้านดูแลสุขภาพ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ดีที่สุดที่จะเช็กสุขภาพเพราะเป็นภาวะที่ลำบากน้อยที่สุด
ด้าน "วรพงษ์ รวิรัฐ" ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท โอสถสภา จำกัด ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สถานการณ์แบบนี้บัณฑิตจบใหม่จะต้องตกงานเพิ่มขึ้นแน่นอน ดังนั้นสิ่งที่อยากพูดคือ จะเตรียมตัวอย่างไรในสถานการณ์อย่างนี้ เพื่อให้ทุกคนเกิดความตระหนัก คิดทุกอย่างให้ละเอียดรอบคอบ วางยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจใหม่ สร้างความเข้าใจกับพนักงานมากขึ้น
และต้องยอมรับว่าโครงสร้างแรงงานไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นแรงงานที่จบระดับประถมศึกษา เพียงแต่เปลี่ยนจากโรงงานทอผ้ามาทำโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็ก
ทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า แรงงานที่มีทักษะฝีมือในระดับ ปวช. ปวส.แทบไม่มีเลย ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐจะต้องเข้ามาวางแผนการศึกษาของประเทศใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม
วันนี้ถือเป็นโอกาสของ HR ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นบิสซิเนสพาร์ตเนอร์ ดังนั้นจะต้องเอาสถานการณ์ในปี 2540 มาเป็น ตัวตั้งแล้วนำเสนอผู้บริหารว่าในปีหน้าองค์กรจะเดินหน้าอย่างไร จะต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างไร จะวางแผนกลยุทธ์อย่างไร จะจัดการกับคนอย่างไร
การลดคนควรเป็นทางออกสุดท้ายที่จะทำ เพราะวันนี้คนตกงานเยอะอยู่แล้ว ยิ่งจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มเยอะเท่าไหร่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยเฉพาะคอนซูเมอร์โปรดักต์ เพราะเงินหายไปจากระบบ สมมติมีคนตกงาน 1.5 ล้านคน ในอดีตคนเหล่านี้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว มีเงินใช้จ่ายซื้อของ เงินส่วนนี้จะไม่มีหมุนเวียนเข้าไปในตลาด อุตสาหกรรมทั้งระบบจะกระทบหมด คอนซูเมอร์โปรดักต์วันนี้อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่หากมีคนตกงานเยอะๆ ต่อไปผลประกอบการที่ลดลงก็ทำให้สถานการณ์ข้างหน้าอยู่บนความไม่แน่นอน
ดังนั้นวันนี้ฝ่าย HR จะต้องเข้าไปจุดประกายความคิดดูว่าสวัสดิการอะไรที่ไม่จำเป็นจะต้องตัดออกไปก่อน ต้องคิดว่า วันนี้ถ้าเรือจมน้ำจะจัดการอย่างไร
สิ่งที่ควรปฏิบัติในสถานการณ์อย่างนี้ คือ จะต้องตระหนักแต่อย่าตระหนกจนเกินเหตุ ต้องสร้างความเข้าใจกับพนักงาน ต้องขยันอธิบาย ประสานงาน ปลุกเร้าและบำรุงขวัญพนักงานตลอดเวลา
"วรพงษ์" ได้ยกตัวอย่างการประหยัดและลดค่าใช้จ่ายของธุรกิจที่น่าสนใจในหลายองค์กรมาฉายภาพให้นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคปัจจุบันได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในหลายประเด็น เช่น การลดค่าใช่จ่ายด้านบุคลากรทั้งระดับ ผู้บริหารและพนักงาน กรณีการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดูงานหรือหาลูกค้าในแต่ละครั้งให้พิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ทั้งผลที่จะได้รับจากการเดินทางและจำนวนบุคลากรที่จะเดินทาง
พิจารณาปรับลดค่าน้ำมันรถประจำตำแหน่งผู้บริหาร ลดเบี้ยเลี้ยงเดินทางไปปฏิบัติงาน
รณรงค์ให้พนักงานมีจิตสำนึกร่วมกันในการใช้น้ำประปาอย่างประหยัด และช่วยกันดูแลเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย
ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝ่าย HR ควรที่จะหยิบขึ้นมาพิจารณาเพื่อให้องค์กรเดินต่อไปได้ โดยไม่ต้องลดจำนวนพนักงาน เพราะเมื่อวันหนึ่งที่เศรษฐกิจดีขึ้นองค์กรอาจจะไปหาคนเหล่านี้มาร่วมงานไม่ได้
หน้า 27

ที่มา : matichon.co.th

อัพเดทล่าสุด