ผลวิจัยธรรมศาสตร์ชี้ "กลไกบรรษัทภิบาล" ดูแลคุณภาพทรัพยากรมนุษย์


720 ผู้ชม


ผลวิจัยธรรมศาสตร์ชี้ "กลไกบรรษัทภิบาล" ดูแลคุณภาพทรัพยากรมนุษย์




รายงาน
โดย สุฉัตรา เจียมเจิม
คำว่า "บรรษัทภิบาล" ในการดำเนินธุรกิจถือเป็นคำที่มีความสำคัญและอยู่ในความสนใจของทุกองค์กร ยิ่งในยุคที่ธุรกิจมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ความจำเป็นในการจ้างนักบริหารมืออาชีพเข้ามาจัดการองค์กรก็มีมากขึ้น กลุ่มคนที่มีผลได้ผลเสียต่อองค์กรธุรกิจจึงมีมากขึ้น "บรรษัทภิบาล" จึงเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลกิจการของทั้งรัฐและเอกชนให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีมูลค่าเพิ่ม ก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
แต่ทว่าช่วงที่ผ่านมายังไม่มีใครยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมว่า "บรรษัทภิบาล" ช่วยพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.เสกศักดิ์ จำเริญวงศ์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงไปทำวิจัยเรื่อง "บทบาทและบรรษัทภิบาลในการกำกับดูแลคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรธุรกิจของไทย" พบว่า กลไกบรรษัทภิบาลที่ศึกษานี้เป็นกลไกภายในองค์กรที่ช่วยกำกับดูแลคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ได้จริง และกลไกเหล่านี้ นี่แหละที่จะเป็นตัวเข้ามาแทนในการกำกับดูแล ในการเพิ่มผลิตภาพ และผลการดำเนินงานในองค์กรธุรกิจต่อไปในอนาคต
ส่วนทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ จากงานวิจัยพบว่าควรได้รับการเอาใจใส่และการกำกับดูแลโดยกลไกของบรรษัทภิบาล ดังนั้นจึงเชื่อว่ากลไกของบรรษัทภิบาลเหล่านี้จะได้รับความสนใจและนำไปใช้ในวงกว้างมากขึ้นนอกเหนือจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะหลังจากที่เราทดลองนำเรื่องบรรษัทภิบาลไปใช้กับองค์กรธุรกิจต่างๆ พบว่ามีบทบาทมาก เพราะฉะนั้นบริษัททั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯก็น่าจะให้ความสำคัญกับบรรษัทภิบาล กลไกภายในในการกำกับดูแลองค์กรด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม "บรรษัทภิบาล" ยังถือเป็นคำตอบของความมั่งคั่ง มั่นคงที่ ยั่งยืนอย่างแท้จริง
"การผลักดันให้คนของเรา องค์กรธุรกิจของเรา จนถึงชาติของเราเข้าถึงและบรรลุเป้าหมายของความเป็นบรรษัทภิบาล อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างไรก็ตาม หากเรามีความศรัทธาในหลักการ ความแน่วแน่ชัดเจนในการบริหาร พร้อมๆ กับความจริงจังในขั้นของปฏิบัติ บรรษัทภิบาลจะเป็นคำตอบที่ดีของทั้งความสำเร็จและความสุขได้อย่างแน่นอน"
รศ.ดร.เสกศักดิ์กล่าวและบอกต่อไปอีกว่า ในยุคสมัยที่การดำเนินธุรกิจต้องติดต่อกับนานาประเทศ การปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาลถือเป็นโอกาสอันดี ที่องค์กรธุรกิจจะได้ยกระดับตนเองสู่มาตรฐานโลก และสามารถที่จะแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกได้อย่าง สง่างาม
หน้า 38

โดย : .matichon.co.th

อัพเดทล่าสุด