นักพัฒนากลยุทธ์ด้าน HR
แสงสูรย์ แสงประสิทธิ์ นักพัฒนากลยุทธ์ด้าน HR
ต้องมองภาพรวมตั้งแต่ต้นจนจบ
คนบางคนเกิดมาเพื่อเป็นนักธุรกิจ คนบางคนเกิดมาเพื่อเป็นนักแสวงบุญ แต่สำหรับ "แสงสูรย์ แสงประสิทธิ์" เขาเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ในการทำงานด้าน HR (Human Resource) แม้ว่าช่วงหนึ่งของชีวิตจะเคยฝันว่าอยากเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงบันลือโลกบ้าง แต่หลังจากทำงานไประยะหนึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าทำงานอะไรก็แล้วแต่ล้วนต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนทั้งสิ้น
ปัจจุบัน แสงสูรย์ แสงประสิทธิ์ เป็น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานกลยุทธ์ทรัพยากรบุคคล ธนาคารธนชาต เป็นหนุ่มวัย 30 กว่าที่น่าสนใจ เพราะเขาเติบโตมากับระบบปฏิบัติการด้าน HRMS (Human Resource Management System) ทีเดียวเชียว
หลังจากเรียนจบด้านการจัดการทั่วไปจากรั้วเอแบค "แสงสูรย์" ต้องเจอกับวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้ต้องเข้าไปจับงานเป็นเซลส์ขายของอยู่ระยะหนึ่ง และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้มีโอกาสได้สัมผัสกับผู้คน ได้พูดคุยกับคนจำนวนมาก ได้ใช้ทักษะในการเจรจากับลูกค้า และเมื่อบริษัทได้มีการนำระบบ MIT มา อิมพลีเมนต์ จึงได้มีโอกาสได้เข้าไปดูระบบปฏิบัติการด้าน HRMS
ต่อมาเมื่อมีโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัท ที่ปรึกษาขนาดใหญ่ จึงได้ทำงานที่ท้าทาย ขึ้น ทั้งเรื่องรีเอ็นจิเนียริ่ง change management และเรียนรู้ซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เช่น people soft
ในยุคนั้นคนที่เชี่ยวชาญในระบบงาน HR จริงๆ มีน้อยมาก "แสงสูรย์" จึงได้รับการทาบทามให้เข้าไปดูแลแผนงานด้านกลยุทธ์ทรัพยากรมนุษย์ให้กับองค์กรใหญ่อย่างธนาคารธนชาต
"แสงสูรย์" บอกว่า ความยากในงาน HR ในเมืองที่เรื่อง HR ไม่ค่อยพ็อปปูลาร์อย่างประเทศไทย คือการที่จะไปอธิบายให้องค์กรเห็นความสำคัญของการปรับพื้นฐานต่างๆ ในการพัฒนางาน HR โดยเฉพาะความคิดของผู้บริหารระดับสูง
เพราะหลายๆ บริษัทอาจจะยังมองว่าการลงทุนพื้นฐานพวกนี้แพงเกินไป ไม่คุ้ม ในขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ในเมืองไทยจะให้ความสำคัญกับตรงนี้มากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะการแข่งขันที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่ขายโปรดักต์หรือเซอร์วิส คนล้วนมีบทบาทสำคัญทั้งสิ้น
การบริหารจัดการคนจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายในทุกองค์กร
"หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง แต่การบริหารคนเป็น synergy เป็นอะไรที่ flexible ในขณะที่คำว่า flexible ก็ไม่ได้หมายความว่าหยืดหยุ่นเสียจนขนาดไม่สามารถจับต้องอะไรได้ แต่ต้อง flexible ในระดับที่มีอยู่ในกรอบที่ควรจะเป็นและสามารถปฏิบัติได้ ไม่กระทบกับตัวพนักงานและไม่กระทบกับตัวองค์กร ไม่กระทบกับกฎหมายแรงงานและไม่กระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เรียกว่า HR จะต้องเข้าใจความต้องการของทุกฝ่ายทั้งพนักงาน องค์กร และผู้ที่เกี่ยวข้อง"
ปัญหาใหญ่ที่ "แสงสูรย์" ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่แก้ยากและท้าทายความสามารถมาก คือ การเปลี่ยนมุมมองของคน
"value ของคนไม่มีอะไรที่ตายตัว การจะเปลี่ยนมุมมองหรือทัศนคติของคนจึงเป็นเรื่องที่ยาก และอาจจะนำไปสู่สิ่งต่างๆ มากมาย ถ้าคนมีมุมมองที่ไม่ดีการแสดงออกก็จะไม่ดี แล้วผลต่างๆ ที่จะตามมาก็มีอีกมากมาย"
งานกลยุทธ์ทรัพยากรบุคคลแม้จะเป็นหน่วยเล็กในองค์กรแต่ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะต้องซัพพอร์ตทุกอย่างให้กับองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องกำลังคนเท่านั้น แต่รวมไปถึงทักษะ คุณภาพของพนักงานแต่ละแผนกด้วย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไฟแนนซ์ที่แข่งกันด้วยบริการ คุณภาพทุกอย่างต้องออกมาจากคน ยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นธุรกิจ การพัฒนาคนจะต้องตามให้ทันด้วยเช่นกัน
ในยุคที่ทุกอุตสาหกรรมงัดกลยุทธ์ทุกรูปแบบมาฟาดฟันกัน การบริหารจัดการคนไม่ใช่งานที่ง่ายเหมือนในอดีตแน่นอน
"การหาคนเข้ามาทำงานนั้นหาไม่ยาก แต่จะหาคนที่คุณภาพนั้นยาก เพราะคนเก่ง จะเป็นคนที่มีศักยภาพที่จะย้ายตัวเองไปทำงานอื่นได้"
ด้วยเหตุนี้ "แสงสูรย์" บอกว่าองค์กรจึงมียุทธศาสตร์ในการดูแลคนเก่ง คนดีเป็นพิเศษ ซึ่งคงไม่ใช่แค่ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว
"ส่วนสำคัญมากที่จะจูงใจคนเก่งๆ ให้อยู่กับองค์กรคือตัวเนื้องานจะต้องจูงใจ ต้อง challenge ให้เขามีเป้าหมายในชีวิต มีโปรแกรมในการพัฒนาเขาให้เติบโต"
"แสงสูรย์" บอกว่าการเป็นนักพัฒนากลยุทธ์ด้าน HR จะต้องมองภาพรวมทั้งหมดให้ออกตั้งแต่ต้นจนจบ เหมือนนั่ง เฮลิคอปเตอร์แล้วมองลงมาข้างล่างเห็นเมืองทั้งเมือง จากนั้นจึงค่อยลงรายละเอียดว่าแต่ละคนมีรายละเอียดอย่างไร แล้วนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเสริม
"คนรุ่นเก่าก็มีประโยชน์กับองค์กร เพราะมีประสบการณ์การทำงานสูง มีเครือข่ายมาก ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็มีความจำเป็นต้องเสริมเข้ามาเพราะองค์กรต้องการไอเดียใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญอยู่ที่การจัดวางตำแหน่งบุคลากรว่าจะให้ใครนั่งตรงไหนจึงจะเหมาะสมและเกิดประโยชน์กับองค์กรมากที่สุด"
"แสงสูรย์" บอกว่า วันนี้ถือว่าเป็นยุคที่สองของการพัฒนาบุคลากรที่เรียกว่า human resource มีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการคนมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะก้าวสู่ยุคที่เรียกว่า HCM (human capital management) เพราะขณะนี้ในยุโรปไปถึงตรงจุดนั้นแล้ว
ในยุโรป อเมริกาจะให้ความสำคัญกับคนเป็นอย่างมาก เรื่องคนเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถือว่าคนคือผู้ที่สร้างผลกำไรให้กับองค์กร
ตรงนี้คือความท้าทายขององค์กรไทยที่จะต้องขับเคลื่อนไปให้ถึงจุดนั้น ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่ของทุกคนในองค์กรที่จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน
บนถนนสาย HR ของ "แสงสูรย์ แสงประสิทธิ์" ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทุกอย่างก้าวมีปัญหาและอุปสรรคคอยอยู่มากมาย แต่ที่ผ่านมาเขาถือคติที่ว่าคนที่ล้มเหลวคือคนที่ล้มเลิก แต่เขาไม่เคยท้อ เหนื่อยเมื่อไหร่ก็พักแล้วกลับมาทำงานใหม่ แล้วต่อยอดสิ่งเหล่านี้ด้วยการมองทุกคนว่าเป็นเพื่อน
และนี่คือจุดที่ทำให้งาน HR ในมือของ "แสงสูรย์" เป็นสิ่งที่ท้าทายและสนุก
หน้า 34
คอลัมน์ Hr young Blood
โดย เอื้อมพร สิงหกาญจน์ [email protected]