ศศินทร์ เปิดตัว "GPHR" อัพเกรด HR สู่เวทีโลก


1,025 ผู้ชม


ศศินทร์ เปิดตัว "GPHR" อัพเกรด HR สู่เวทีโลก




กระแส "โลกาภิวัตน์" ทำให้สินค้า เงินทุนไม่ถูกจำกัดพื้นที่เหมือนเช่นเคย แต่มันสามารถหมุนเวียนไปยังทุกซอกทุกมุมโลก รวมถึงเรื่องของ "การจ้างงาน" ด้วย

โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อก่อนคนไทยในชนบทอาจหลั่งไหลเข้ามาทำงานไกลสุด หรูสุด ๆ ก็แค่กรุงเทพฯ เมืองหลวง แต่ปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อยเลือกจะเดินทางไปแสวงหาโอกาสให้ชีวิตทั่วโลก

หลักสูตร HRM ศศินทร์ ขานรับยุคไร้พรมแดนโดยจับมือ 2 องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้าน HR ระดับโลกนั่นคือ สถาบัน Society for Human Resource Management -SHRM สหรัฐอเมริกา และบริษัทให้คำปรึกษาการบริหารงานบุคคล

Kelly Services จัดเวิร์คชอปเพื่อนำเอาความรู้ไปสอบมาตรฐาน HR ที่ชื่อ GPHR -Global Professional in Human Resources

นอกจากนี้ยังได้นำความรู้ดังกล่าวบรรจุเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรนักศึกษา HRM ระดับปริญญาโท ในปีนี้ด้วย

ดูเหมือนจะเป็นการเริ่มต้นที่อาจล่าช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้วประมาณ 4-5 ปี แต่จุดสตาร์ทในเวลานี้อาจมีความเหมาะสมเทียบก็เหมือนเป็นการ "ตีเหล็กเมื่อร้อน" เพราะตลาดไทยเองเริ่มเล็งเห็นความสำคัญ จึงจะช่วยให้ความหวังทะยานสู่เป้าหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์ของศศินทร์นั้น หวังจะยกระดับความเป็นมืออาชีพ และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวิชาชีพ HR เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีความยอมรับว่างานบริหารจัดการเรื่อง "คน" มีความสำคัญ แต่ในเชิงปฏิบัติแล้วมีองค์กรน้อยรายที่จะแสดงให้เห็นว่ามันสำคัญจริงๆ

อีกผลพิสูจน์ที่ชี้ชัดได้ก็คือ ยังมีสถาบันการศึกษาของไทยเปิดสอนหลักสูตรด้าน HRM จำนวนไม่มาก ตลอดจนคนไทยเองยังไม่ค่อยยอมรับคนในสายงาน HR ว่าเป็นอาชีพที่เท่ และเก๋เท่าที่ควร

ความร่วมมือครั้งนี้มีผู้บริหารของทั้ง 3 สถาบัน นั่นคือ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ที่จับมือ รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข กรรมการบริหาร หัวหน้าหลักสูตรการบริหารงานบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย Nina Woodard ผู้อำนวยการบริหาร SHRM ประจำอินเดีย Lance Richards ผู้อำนวยการอาวุโส สายบริการต่างประเทศ Kelly Servicesและ Wanna Assavakarint ผู้จัดการทั่วไป Kelly Services ประเทศไทย มาช่วยกันชี้แจงถึงที่มา และรายละเอียดต่างๆ

กิตติรัตน์กล่าวว่า "โลกาภิวัตน์" ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก จะเห็นได้ว่ามีองค์กรธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศและว่าจ้างคนไทยทำงานเยอะมากขึ้น

ขณะที่องค์กรธุรกิจของไทยเองก็จำเป็นต้อง "จ้างคนหลากหลายเชื้อชาติ" เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันในตลาด ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าศาสตร์การบริหารทรัพยากรมนุษย์ทวีความสำคัญมากขึ้น

ดังนั้นงานด้าน HR จึงจำเป็นที่ต้องสามารถวัดค่ามาตรฐานได้เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ เขายกตัวอย่างสมัยทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์ก็มีหลักสูตร Chartered Financial Analyst - CFA ที่ทำให้ลำดับค่าของคนไฟแนนซ์เกิดมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

Nina Woodard ได้เล่าถึงความเป็นมาของ SHRM ว่าก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2491 และกำหนดภารกิจว่าต้องมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐาน HR ปัจจุบันองค์กรแห่งนี้มีสมาชิก 225,000 รายอยู่ใน 125 ประเทศทั่วโลก และมีองค์กรธุรกิจอเมริกาที่เป็นพันธมิตรถึง 575 แห่ง

และกล่าวต่อว่า HR มืออาชีพที่สุดต้องมีมาตรฐานวัดค่าได้เช่นเดียวกับอาชีพอันทรงเกียรติอื่นๆ เช่น แพทย์ นักกฎหมาย นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก ฯลฯ จึงได้จัดหลักสูตรสอบวัดมาตรฐาน GPHR ขึ้นในปี 2547 เพื่อเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงความรู้ความสามารถ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ที่สอบผ่านมาตรฐานนี้ 1,500 รายทั่วโลก

ส่วนเนื้อหาของหลักสูตรนั้นจะประกอบด้วยหมวดความรู้ 6 หมวด นั่นคือ 1.กลยุทธ์เอชอาร์ (Strategic HR Management) 2.การพัฒนาบุคลากร และ สร้างประสิทธิผลให้องค์กร (Global Organisational Effectiveness and Employee Development) 3.การจัดหาบุคลากรที่พร้อมด้วยคุณสมบัติ (Global Staffing) 4.การบริหารต้นทุนเกี่ยวกับการว่าจ้าง (Global Compensation and Benefits) 5.การบริหารค่าตอบแทน สวัสดิการที่สอดคล้องกฎหมายและความต้องการของตลาด (International Assignment Management) และ 6.การบริหารทรัพยากรมนุษย์ตามข้อกำหนดที่แตกต่างและหลากหลายในแต่ละประเทศทั่วโลก (International Employee Relations and Regulations)

Lance Richards ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้สอนได้ให้คำแนะนำว่าหมวดความรู้ดังกล่าวจะมีน้ำหนักความสำคัญไม่เท่ากันและจะมีผลต่อคะแนนรวม โดยหมวดวิชาว่าด้วยเรื่อง International Assignment Management จะมีความสำคัญมากที่สุดสูงถึง 28 เปอร์เซ็นต์ ลำดับที่สองก็คือเรื่องของ Strategic HR Management ที่สำคัญ 22 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตามผู้ที่จะผ่านไปจนถึงด่านสุดท้ายหรือได้รับประกาศนียบัตรมาตรฐาน GPHR นั้นต้องสอบได้ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์จากข้อสอบจำนวน 165 ข้อ ซึ่งผู้บริหารทั้งสามสถาบันต่างยอมรับว่า "ยาก" อยู่ไม่น้อย

ยกตัวอย่างในประเทศจีนจวบจนถึงปัจจุบัน มีคนสอบผ่านเพียง 4 คน ไต้หวันทำได้ 1 คน ส่วนอินเดียและสิงคโปร์นั้นยังไปไม่ถึงเลขหลักสิบเช่นเดียวกัน

สรุปสถานการณ์โดยรวมก็คือ GPHR ไม่ง่ายเลยที่จะสอบให้ผ่าน และยังไม่ง่ายเลยที่จะทำให้ HR เมืองไทยเกิดความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตัวเองให้ เป็น HR Global อีกด้วย

"เราเชื่อว่ามันจะค่อยเป็นค่อยไป คือในช่วงต้นจะเริ่มจากคนมาเรียนเพื่อรู้ และจากนั้นเมื่อรู้แล้วก็เพื่อสอบ เป็นไปตามขั้น และเมื่อมีจำนวนคนสอบผ่านได้มากขึ้นจะยิ่งเป็นแรงกระตุ้นในเชิงการแข่งขันรายบุคคล พวกเราก็มานั่งคุยกันว่าสงสัย 2 ปีแรกจะมีคนที่สอบผ่านแค่เลขหลักเดียว คงใช้เวลามากกว่านั้นถึงจะทะลุเลขหลักเดียวไปได้ และน่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี ถึงจะแตะตัวเลข 3 หลัก" กิตติรัตน์กล่าว

ศศินทร์จึงวางแผนให้ผู้บริหารชั้นนำของไทยให้เป็น "ต้นแบบ" สำหรับหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งกิตติรัตน์บอกว่าอย่างน้อยต้องคนกลุ่มนี้ประมาณครึ่งห้องเรียน ซึ่งเขาได้ยกหูโทรศัพท์ติดต่อผู้บริหารหลายท่านและบางท่านก็ตกปากรับคำแล้ว เช่น ชาญ ศรีวิกรม์

รศ.ดร.ศิริยุพา กล่าวว่า การที่ศศินทร์เปิดเวิร์คชอปสอนและจัดสอบ GPHR ซึ่งเป็นความพยายามยกระดับให้มาตรฐาน HR ไทยก้าวถึงระดับโลก ก็ต้องมีการสกรีนพันธมิตรและหลักสูตรอย่างระมัดระวังเนื่องจากได้สั่งสมชื่อเสียงด้าน HRM มานานถึง 16 ปีแล้ว

เธอบอกว่า การจัดสอนและสอบมาตรฐานครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศ ไทย - PMAT ก็เคยจัดสอบรับรองมาตรฐานเช่นกันแต่เป็นระดับประเทศ และไม่ได้สอบครบถ้วนทั้ง 6 หมวดความรู้ หากแต่สอบทีละหมวด

GPHR นั้นมอบสิทธิให้ถือครองนานแค่ 3 ปี จากนั้นจะต้องมีการสอบวัดมาตรฐานกันใหม่เนื่องจากกฎเกณฑ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้ต้องอัพเดทหลักสูตรเพื่อให้รู้ทันโลกตลอดเวลา

สุดท้ายผู้บริหารทั้งสามสถาบันได้แนะเคล็ดลับให้ผู้ที่สนใจเรียนและสอบ GPHR ให้ผ่านได้นั้นต้องอ่านทบทวนความรู้ตลอดเวลา ตลอดจนผู้สอนเองก็ต้องมีความรู้แบบครอบจักรวาล หรือเรียกได้ว่าไม่มีเรื่องไหนบนโลกที่ไม่รู้ และหากเกิดHR มืออาชีพจำนวนมาก สายงานดังกล่าวจะเกิดความสำคัญอย่างแท้จริง

ปัจจุบันนอกจาก GPHR ในต่างประเทศ มีองค์กรภาคเอกชน และองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรได้จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมและทดสอบเพื่อรับรอง ความเป็นมืออาชีพด้านบริหารทรัพยากรบุคคล เช่น International Public Management Association (IPMA) Chartered Institute of Personnel and Development (CIPD) Canadian Council of Human Resources Association (CCHRA) เป็นต้น

 

ที่มา : ชนิตา ภระมรทัต

อัพเดทล่าสุด