โดยเฉพาะจีน ซึ่งดูเหมือนจะได้เปรียบอินเดียอยู่มากตรงที่สถานการณ์การเมืองภายในวุ่นวายน้อยกว่าอินเดีย เพราะถึงจีนจะเปิดประเทศแล้วก็จริง แต่รัฐบาลก็ยังมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครอง ซึ่งแม้จะดูเป็นเผด็จการที่อาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อระบบการค้าแบบเสรีอย่างเต็มที่ แต่ข้อดีก็มีตรงที่มีความมั่นคงทางการเมือง อันส่งผลให้นักลงทุนมีความมั่นใจ พูดแล้วก็สะท้อนใจเมื่อหันมามองบ้านเราที่การเมืองยังผีเข้าผีออกอยู่... แต่ว่าเราหันมาคุยกันเรื่องสถานการณ์ HR ในเมืองจีนดีกว่านะคะ เดี๋ยวคอลัมน์นี้จะกลายเป็นคอลัมน์การเมืองไปเสีย ทั้งนี้ ผู้เขียนได้อ่านบทความที่น่าสนใจเรื่องความพร้อมของแรงงานในจีนที่เขียนโดย Adrienne Fox จึงนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อประดับความรู้ คงยังพอจำกันได้ว่าจีนได้ทำการปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และหลังจากนั้นมาจีนก็เติบโตแบบโตวันโตคืน รัฐบาลเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและการศึกษาอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นประเทศขนาดใหญ่และมีประชากรมาก การพัฒนาจึงยังกระจายไปไม่ทั่วถึงทั้งประเทศ แต่โดยภาพรวมแล้วก็ต้องนับถือว่ารัฐบาลจีนประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการพัฒนาประเทศ เพราะตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ในราว 10% และคาดว่าจะยังคงรักษาอัตราการเติบโตขนาดเลข 2 ตัวนี้ต่อไปได้ในอนาคตอีกระยะหนึ่งด้วย ว้าว ! มองแต่ในแง่บวกก็คงจะเห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่เป็นไปอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดนี้ ได้นำมาซึ่งเม็ดเงินลงทุนอันมหาศาลเข้าสู่ประเทศ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ มากมาย เป็นการสร้างงานให้แก่คนจีนในประเทศ และเป็นแรงผลักดันทางอ้อมให้มีการพัฒนาการศึกษา เพื่อสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน นับแต่ปลายทศวรรษของปี ค.ศ.1970 ที่รัฐบาลจีนเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น โดยผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ลง ได้มีนักลงทุนจมูกไวรุ่นแรกๆ ที่ได้กลิ่นของโอกาสใหม่ๆ ในดินแดนนี้ และยิ่งเมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกของ WTO ก็ยิ่งทำให้บริษัทต่างชาติสามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจในจีนอย่างมีอิสระมากขึ้น และสร้างผลกำไรมากขึ้น ตัวเลขสถิติจากสภาธุรกิจสหรัฐจีน เปิดเผยว่า หลังจากที่จีนได้เข้า WTO แล้ว อัตราการเติบโตทางด้านการลงทุนของสหรัฐในจีนได้เพิ่มจากปี 2001 ถึง 44% ในปี 2005 ตัวเลขการลงทุนสูงปรี๊ดๆ ขนาดนี้ ทำให้เศรษฐกิจของจีนต้องพุ่งไม่หยุดตามไปด้วย จากประเทศที่มีอุตสาหกรรมแบบใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน โดยเริ่มจากการทำชิ้นส่วนประกอบต่างๆ (Parts) ก็เริ่มมาเป็นเจ้าของเทคโนโลยีบางอย่างเสียเอง คือกลายเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางงานวิจัยคิดค้นต่างๆ (Research and Development หรือ R & D) มากขึ้น จากที่เคยก๊อบปี้ชิ้นงานหรือเทคโนโลยีของทางตะวันตกหรือญี่ปุ่น จีนก็เริ่มมีนวัตกรรมบางอย่างของตนเอง เช่น การผลิตคอมพิวเตอร์ PC และโน้ตบุ๊กที่มีระบบการใช้งานง่ายขึ้นสำหรับผู้ใช้ชาวจีน เป็นต้น แล้วคนจีนพัฒนาตนเองทันกับเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็วหรือไม่? หากพิจารณาโดยผิวเผิน บางท่านอาจคิดว่าจีนมีประชากรตั้ง 1.3 พันล้านคนในขณะนี้ แหม ! แรงงานเหลือเฟือ ใช่ค่ะ ! แรงงานน่ะมีล้นตลาด แต่แรงงานคุณภาพขาดตลาดค่ะ การที่มีบริษัทต่างชาติหรือหลายสัญชาติ (MNC) เข้าไปเปิดกิจการในจีน ซึ่งธุรกิจนั้นมีหลากหลาย ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ที่ปรึกษา การพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงิน โรงงานผลิตรถยนต์ ธุรกิจไฮเทคด้านคอมพิวเตอร์และ IT ฯลฯ ธุรกิจเหล่านี้แม้จะไปเปิดสำนักงานในจีน จะด้วยเหตุผลเพราะค่าจ้างแรงงานถูก หรือเพราะอยู่ใกล้แหล่งทรัพยากร หรือต้องการบุกเบิกสร้างตลาดใหม่ หรือด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม แต่ย่อมไม่ใช่เหตุผลที่ว่าต้องการลดคุณภาพของสินค้าและบริการ หรือลดขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจแน่ๆ ใครๆ มักพูดว่า ไม่มีของดีที่ราคาถูก เช่นเดียวกันกับ ของดีย่อมมีไม่มาก ขณะนี้ประเทศจีนกำลังขาดทรัพยากรบุคคลที่มีคุณสมบัติพอเพียงที่จะทำงานกับบรรดาบริษัท MNC ทั้งหลาย สถาบัน McKinsey Global Institute ได้ทำการประเมินว่าจากตัวเลขของบัณฑิตชาวจีนจำนวน 4.9 ล้านคน ที่สำเร็จการศึกษาในปี 2006 นั้น มีเพียง 10% เท่านั้นที่มีทักษะที่จะทำงานใน MNC ได้ ซึ่งทักษะที่จำเป็นในการทำงานกับ MNC คือ ภาษา (อังกฤษ) ทักษะในการปฏิสัมพันธ์ (Interpersonal Skills) ทักษะและทัศนคติที่จะทำงานแบบเป็นทีม และการทำงานในชั่วโมงทำงานแบบยืดหยุ่น (Flexible Working Hours) ทำไมชาวจีนจึงไม่พร้อมที่จะทำงานกับ MNC? แม้ว่าในประเทศจีนจะมีมหาวิทยาลัยเปิดสอนวิทยาการสมัยใหม่อยู่มากแห่งกระจายตามมณฑลต่างๆ แต่ Nick Chang ที่ปรึกษาซึ่งทำงานกับ Accenture ในกรุงปักกิ่ง ได้ให้ความเห็นว่า การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะที่จะทำงานกับ MNC ในจีน เป็นเพราะระบบการศึกษาของจีนยังไม่ได้วิวัฒน์พอที่จะสอนทักษะที่ MNC มองหา และเหตุผลสำคัญอีกประการที่ Chang มองเห็นก็คือ ยังมีปัญหาเรื่องความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมอยู่ สำหรับเรื่องทักษะในด้านภาษาอังกฤษนั้น ในขณะนี้มีชาวจีนกำลังเร่งฝึกฝนภาษาอังกฤษอยู่ถึง 350 ล้านคน คาดว่าไม่นานนักคนจีนคงจะใช้ภาษาอังกฤษได้ไม่แพ้ชาวอินเดียที่ได้เปรียบในเรื่องภาษาอังกฤษ อีกมุมหนึ่งนั้นมาจาก Tom Peterson ผู้อำนวยการหลักสูตร Executive MBA ของ University of Southern California ในนครเซี่ยงไฮ้ ที่กล่าวว่า การขาดบุคลากรในจีนนั้น เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผนวกกับการขาดแคลนบุคลากรที่มีการศึกษาในช่วงอายุหนึ่ง คำพูดของ Peterson มีความหมายว่าอย่างไร? Adrienne Fox อธิบายว่า จีนกำลังขาดบุคลากรในระดับผู้จัดการระดับกลางและระดับสูง ที่โดยปกติจะมีอายุอยู่ในช่วง 4050 ปี ซึ่งชาวจีนที่มีอายุ 4050 ปี ขณะนี้จะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนในช่วงปี ค.ศ.19661976 ซึ่งตอนนั้นระบบการศึกษายังเป็นระบบปิดที่อยู่ใต้แนวทางการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่แนวคิดแบบโลกเสรี นอกจากจะขาดแคลนผู้บริหารระดับกลางและระดับสูงแล้ว ใช่ว่าผู้บริหารระดับต้นหรือแรงงานโดยทั่วไปจะไม่ขาดแคลน ดังนั้น จึงมีความต้องการแรงงานในทุกระดับที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ และมีความรู้ด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่เป็นอย่างมาก ชาวจีนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจึงสามารถเล่นตัวและโก่งราคาเงินเดือนได้สบายใจเฉิบ นอกจากบริษัท MNC ที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะมาทำงานแล้ว บริษัทท้องถิ่นของชาวจีนที่ต้องการขยายกิจการออกนอกประเทศก็มีความต้องการแรงงานที่มีความสามารถทำงานในระดับอินเตอร์เช่นกัน ดังนั้น ทั้งบริษัท MNC และบริษัทท้องถิ่นจึงมีการแย่งตัวพนักงานเก่งๆ พวก Talent กันอย่างดุเดือด อัตราการเข้าออก (Turnover Rate) ของพนักงานในจีน เมื่อพนักงานระดับ Talent สามารถเล่นตัวได้ สิ่งนี้ย่อมมีผลทำให้อัตราการเปลี่ยนงานของพนักงานสูงอย่างไม่ต้องสงสัย จากการสำรวจเรื่องอัตราการเข้าออก หรือการเปลี่ยนงานของพนักงานระดับ Talent ในจีนในปี 2007 ที่จัดทำโดย The Society for Human Resource Management ร่วมกับ DDI พบว่า 73% ของพนักงานที่ถูกสำรวจ กล่าวว่า เพิ่งลาออกจากงานเดิม และอีก 22% บอกว่า กำลังคิดจะเปลี่ยนงาน และส่วนพนักงานระดับหัวหน้างานจะมีอายุงานมากกว่าพนักงานทั่วไปที่เป็นลูกน้อง แต่โดยเฉลี่ยแล้วอายุงานของหัวหน้าชาวจีนเหล่านี้ก็ยังมีไม่เกิน 2 ปี ! แสดงว่าหัวหน้างานก็เปลี่ยนงานบ่อย ประมาณทุก 2 ปีเช่นกัน... คาดว่าคนที่ต้องทำงานด้าน HR ให้กับบริษัทในจีนขณะนี้คงจะปวดศีรษะไม่เบา เพราะการต่อสู้เพื่อแย่ง Talent นั้น เหมือนเป็นการทำสงครามรายวันเลยทีเดียว และนอกจากจะต้องวิตกเรื่องขาดคนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมองเห็นก็คือ จีนอาจจะขาดแรงงานที่มีฝีมือและมีความรู้ความสามารถที่ลึกซึ้งจริงๆ เพราะการที่พนักงานเปลี่ยนงานบ่อยเกินไป จะทำให้พนักงานไม่ได้พัฒนาทักษะอย่างเพียงพอในการทำงานกับองค์กรแต่ละแห่ง ทำให้ความรู้ไม่แน่นจริง แต่อาศัยที่ตลาดขาดแคลน จึงสามารถใช้ความรู้และทักษะที่พอมีอยู่บ้างในการต่อรองเงินเดือนและเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ปัญหาเรื่องการพัฒนาคนจึงน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของจีนต่อไปอีกหลายปี |