ทำอย่างไรเมื่อต้องไป ศาลแรงงาน


965 ผู้ชม


ทำอย่างไรเมื่อต้องไป ศาลแรงงาน




โดย : สุรพล รุ่งโต / จิรายุ  ศรีวรรณา / สิริรัตน์ พิริยะสถิต

                      วารสารศาลแรงงานกลาง ฉบับพิเศษ(ธันวาคม 2549)

 

          การติดต่อราชการที่ศาลแรงงานกลางก็มีลักษณะเช่นเดียวกับการติดต่อศาลชั้นต้นทั่วไป  แต่อาจจะไม่เคร่งครัดมากนัก  แต่เพื่อความสะดวก รวดเร็ว จึงควรเตรียมรายละเอียดและเอกสารดังนี้

  1. ชื่อ - นามสกุล และที่อยู่ของผู้ที่จะฟ้อง  กรณีที่เป็นนิติบุคคล ควรมีหนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์
  2. วัน เดือน ปีที่ลูกจ้างเข้าทำงาน ตำแหน่งหน้าที่ ค่าจ้าง"อัตราสุดท้าย"  วันเดือนปีที่ถูกเลิกจ้าง หรือลาออก  วันเดือนปีที่มีการทำละเมิด และความประสงค์ของท่านที่ต้องการให้ศาลบังคับให้
  3. เอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่นสัญญาจ้าง  หนังสือเลิกจ้าง ระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน  คำสั่งของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน  พนักงานตรวจแรงงาน หรือคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
  4. กรณีเป็นจำเลย  ควรทราบข้อเท็จจริงในเรื่องที่ถูกฟ้อง  และจะต่อสู่คดีว่าอย่างไร
  5. หากผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เยาว์  ควรมีหนังสือให้ความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม  แต่ถ้าไม่มี  สามารถทำคำร้องขออนุญาตฟ้องคดีด้วยตนเองได้
  6. การขอรับเงินจากศาลต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงด้วยทุกครั้ง
  7. หากไม่สามารถไปติดต่อศาลด้วยตนเองได้  ให้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ใดผู้หนึ่งมาศาลแทน

 

คำแนะนำสำหรับการไปศาลของคู่ความและพยานบุคคล

  1. เมื่อศาลแรงงานรับคำฟ้อง หรือคำร้องแล้ว  ศาลก็จะสั่งนัดพิจารณาให้คู่ความมาศาลในวันนัดพิจารณา  คู่ความอาจมาศาลด้วยตนเอง หรืออาจมอบอำนาจให้ผู้หนึ่งผู้ใด หรือแต่งตั้งทนายความให้มาศาลแทนให้ก็ได้ (ในคดีแรงงานตัวความควรมาศาลด้วยตนเองเพื่อประโยชน์ในการเจรจาไกล่เกลี่ย)

Ø      ถ้าโจทก์ หรือผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา  ศาลแรงงานจะสั่งจำหน่ายคดี

Ø      ถ้าจำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา  ศาลแรงงานจะสั่งว่าจำเลยขาดนัด และให้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว

  1. ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า หากคู่ความมาศาลด้วยตนเอง จะทำให้เกิดความตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันได้  หรือมีลู่ทางที่จะตกลงกันได้  ศาลแรงงานจะสั่งให้คู่ความมาศาลด้วยตนเอง   โดยออกคำสั่งเรียกตัวความให้มาศาล

Ø      คู่ความที่ขัดขืนไม่มาศาลตามคำสั่งเรียก  เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(5)  ศาลอาจออกหมายเรียกคู่ความฝ่ายนั้นให้มาศาลเพื่อสอบข้อเท็จจริงว่า คู่ความฝ่ายนั้นจงใจขัดขืนโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่  หากเป็นกรณีที่จงใจ ศาลอาจพิจารณาลงโทษคู่ความฝ่ายนั้นฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ได้   หากออกหมายเรียกแล้วคู่ความฝ่ายนั้นยังไม่มาศาล  ศาลอาจพิจารณาออกหมายจับให้ได้ตัวมาสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลได้

  1. ต้องไปศาลตามวันเวลานัด  เมื่อไปถึงศาลแล้ว  ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ของศาล  หากไปศาลไม่ได้  ต้องแจ้งเป็นหนังสือ หรือพบประชาสัมพันธ์ศาล หรืออาจมอบฮันทะให้ผู้อื่นไปแจ้งให้ศาลทราบถึงเหตุผลความจำเป็นได้
  2. ผู้ที่มาศาลในฐานะพยาน  จะต้องปฏิญาณหรือสาบานตยตามลัทธิศาสนาของตน เว้นแต่

Ø      เป็นบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า14 ปี หรือผู้ที่หย่อนความรู้สึกผิดและชอบ

Ø      ภิกษุสามเณรในพุทธศาสนา

Ø      บุคคลที่คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงว่าไม่ต้องให้สาบาน

  1. ในเรื่องการสืบพยานของศาลแรงงาน  ไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้าง หรือที่ศาลแรงงานเรียกมาสืบ  ศาลแรงงานจะเป็นผู้ซักถามพยานเอง  ตัวความ หรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วเท่านั้น
  2. เมื่อเบิกความเสร็จ  ผุ้ที่เป็นพยานจะต้องลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ในคำพยานที่ศาลบันทึก
  3. กรณีที่พยานเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล  ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี  จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

อัพเดทล่าสุด