สถานการณ์ตลาดแรงงานในอาเซียน


904 ผู้ชม


สถานการณ์ตลาดแรงงานในอาเซียน




    นักวิจัย(ผู้เชี่ยวชาญ) 9 สถาบันเอเชียศึกษา และอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       
        อาเซียนเป็นหนึ่งในการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Trading Arrangement : RTA) ขนาดใหญ่ของโลก โดยอาเซียนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยประมาณ 5.5% และ 5.8% ในปี 2005 และปี 2006 ตามลำดับ สูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่ตกประมาณ 4.9% และ 5.1% ในปี 2005 และปี 2006 ตามลำดับ ปัจจุบันอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจ (GDP) รวมกันถึง 883,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2010 ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียน ได้แก่ การขยายตัวของการส่งออก และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายในประเทศ โดยในปี 2006 นี้ อาเซียนอยู่ระหว่างการยกร่างแผนแม่บท (Blueprint for Advancing AEC) ซึ่งเป็นเสมือนพิมพ์เขียวที่จะใช้เร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2015 โดยจะนำเสนอให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนพิจารณาในช่วงการประชุม AEM Retreat ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ในเดือนพฤษภาคม 2008
       
        ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศนั้น ผลิตภาพแรงงานของสิงคโปร์อยู่ในระดับสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และพม่า ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผลิตภาพของแรงงานในประเทศสมาชิกอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรในประเทศ ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะประสบกับปัญหาอัตราการเติบโตของประชากรวัยทำงานต่ำกว่าอัตราการเติบโตของแรงงานในระดับที่รุนแรงสูงสุด คือ สิงคโปร์ รองลงมาคือ ประเทศไทย โดยที่ประเทศสิงคโปร์ได้ตระหนักถึงปัญหาและได้มีการเตรียมการรองรับผลกระทบนั้น ด้วยการผลักดันปรับตัวในเรื่องของผลิตภาพของแรงงานในประเทศ รายงานฉบับล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (พฤษภาคม 2007) สะท้อนให้เห็นว่า นับตั้งแต่อาเซียนก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 การจ้างงานในอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมาถึงร้อยละ 11 จากปี 2000 ถึงปี 2006 โดยเฉพาะมีผู้มีงานทำถึง 263 ล้านราย โดยที่อยู่ในงานประเภทใหม่ๆ นั้นมีถึง 27 ล้านราย
       
        การจ้างงานในแต่ละประเทศเมื่อแยกตามสาขาการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา สำหรับสาขาการผลิตที่ได้มีการเก็บข้อมูลก็คือ เกษตรกรรม (รวมประมงและป่าไม้) อุตสาหกรรม ก่อสร้าง ขายส่ง/ขายปลีก/ภัตตาคารและโรงแรม คมนาคม/การสื่อสาร การเงิน/ประกันภัย/อสังหาริมทรัพย์/ธุรกิจบริการอื่นๆ บริการสาธารณะ และอื่นๆ (เหมืองแร่/ไฟฟ้า/เชื้อเพลิง/ฯลฯ) ทั้งนี้ มีแนวโน้มที่สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย จะมีการเติบโตของสาขาการผลิตต่อไปนี้ คือ สาขาการขายส่ง/ขายปลีก/ภัตตาคารและโรงแรม สาขาการเงิน/ประกันภัย/อสังหาริมทรัพย์/ธุรกิจบริการอื่นๆ และสาขาบริการสาธารณะ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคบริการที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้สูงขึ้น
       
        อย่างไรก็ตาม ดัชนีดังกล่าวยังไม่อาจทำให้มั่นใจได้ถึงความต่อเนื่องและความยั่งยืนของการเจริญเติบโต และความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ งานวิจัยเรื่อง ผลิตภาพกำลังแรงงานอาเซียน ชี้ให้เห็นว่า อัตราการจ้างงานของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปในระดับและทิศทางที่ต่างกันในช่วง ปี 2005-2015 โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประสบปัญหาการว่างงานสูงสุดด้วยอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.1 ในปี 2000 เป็นร้อยละ 10.4 ในปี 2006 ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มที่มากกว่าประเทศอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ ในขณะที่ไทยเป็นประเทศเดียวที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับที่คงที่ และอยู่ในอัตราที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกัน ในอาเซียนยังมีประชากรในตลาดแรงงานจำนวนมากที่ยังคงมีฐานะยากจน นอกจากนี้ ผลิตภาพของกำลังแรงงานส่วนใหญ่ในตลาดแรงงานของอาเซียน ยังไม่อาจยืนยันถึงความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
       
        ตลาดแรงงานในภูมิภาคยังมีปัญหาของการที่ปริมาณและคุณภาพของกำลังแรงงานยังไม่สัมพันธ์กันอย่างเพียงพอ กล่าวคือ บางประเทศอยู่ในสภาวะการขาดแคลนแรงงาน บางประเทศแรงงานล้นตลาด ส่งผลต่อการย้ายถิ่นของกำลังแรงงานข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิก โดยการย้ายถิ่นอย่างผิดกฎหมายมีสัดส่วนสูงมาก การย้ายถิ่นที่เกิดขึ้นเป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งมี Dual Labor Market
       
        งานศึกษาที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ผลิตภาพแรงงานในประเทศไทย มีค่าสูงสุดในภาคการอุตสาหกรรม และมีค่าต่ำสุดในภาคการเกษตร โดยมีแนวโน้มว่าผลิตภาพของภาคการเกษตรและก่อสร้าง จะมีค่าต่ำสุดต่อไปอีก และจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ พบว่า ระหว่างปี 1960-2010 ประเทศไทยมีการเติบโตของจำนวนแรงงานประมาณร้อยละ 2 ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่กลับมีผลิตภาพของแรงงานต่ำกว่าประเทศอื่น
       
        ประเทศไทย ขาดแคลนแรงงานตั้งแต่ระดับไร้ทักษะขึ้นไป แรงงานอายุ 50 ปีขึ้นไปของไทยส่วนใหญ่จบระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ในขณะที่มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านกว่า 2 ล้านคน ทำงานอยู่ใน 9 อุตสาหกรรม โดยมีการเคลื่อนย้ายไปมาข้ามสาขาการผลิต แต่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ยังไม่อาจบอกได้ชัดเจนว่า สาขาการผลิตใด ขาดแคลนแรงงานระดับใด ประเภทใด เท่าใด ถึงแม้ว่า มีโครงการนำร่องในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน ในการศึกษาตลาดแรงงาน ในระดับรายอุตสาหกรรม บางส่วน แต่ยังไม่ลงลึกไปในแต่ละอาชีพ
       
        แรงงานนอกระบบ เป็นกรณีที่พบได้ทั้งในประเทศไทยและประเทศสมาชิกอื่นของอาเซียน โดยในประเทศไทยนั้น มีขนาดใหญ่กว่าแรงงานในระบบ เป็นแหล่งสร้างงาน แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรในชนบท การศึกษาต่ำกว่า ป. 4 แรงงานนอกระบบในชนบทส่วนใหญ่ของไทย กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยปราศจากการเตรียมพร้อมในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและผลิตภาพ ทั้งนี้ OTOP เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้แรงงานนอกระบบในชนบทมีบทบาทในการผลิต และมีรายได้มากขึ้น
       
        ดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่มีพัฒนาการดีขึ้นในภูมิภาคอาเซียนนั้น ส่วนหนึ่งพิจารณาได้จากอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ และสัดส่วนการลงทะเบียนเรียนในชั้นต่างๆ รวมกัน ซึ่งงานศึกษาที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ประเทศอาเซียนทุกประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาของประเทศในส่วนนี้ โดยหลายประเทศทั้งที่เป็นสมาชิกดั้งเดิมและสมาชิกใหม่ ยังคงให้ความสำคัญกับบทบาทของการศึกษาในการขจัดความยากจน และการก้าวพ้นจากความด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันได้มุ่งหวังให้การศึกษา เป็นเครื่องมือในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระดับสากล โดยมีบางประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน ปรารถนาให้ตนมีศักยภาพทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ภายในอาเซียนด้วยกันเอง
       
        ช่องว่างด้านการพัฒนาและอุปทานแรงงานที่มีอยู่ในภูมิภาคเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การย้ายถิ่นข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเองเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2005 ผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติในภูมิภาคที่เดินทางมาจากประเทศในอาเซียนด้วยกันเองมีจำนวนถึง 13.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 39 ของการย้ายถิ่นข้ามชาติทั้งหมดของคนอาเซียน การขาดแคลนแรงงานจะเพิ่มสูงขึ้นในสิงคโปร์และประเทศไทย ปัญหาที่พึงพิจารณาต่อไปสำหรับอาเซียนและประเทศสมาชิกในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไทย และสิงคโปร์ ก็คือ เราควรจะจัดการกับปัญหาด้านการย้ายถิ่นภายในภูมิภาคอย่างไร ถึงแม้ว่า ในปี 2015 จะมีผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานถึง 55 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ และฐานะยากจน
       
       หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Website: https://www.thaiworld.org

 

โดย ดร.พัชราวลัย วงศ์บุญสิน // หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

อัพเดทล่าสุด