การศึกษาวิจัยและการแก้ปัญหาทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (ตอนที่3)
การลดความไม่เป็นธรรมอาจทำได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากการวิจัยดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงงานการบริหารทรัพยากรมนุษย์ได้ดังนี้
- แยกแยะงานที่มีค่าตอบแทนแตกต่างกัน
- ใช้เกณฑ์ที่ชัดเจนในการเลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือน
- ฝึกอบรมหัวหน้างานให้จ่ายงานอย่างเป็นธรรม
- ศึกษา วิจัย สำรวจ โครงสร้างเงินเดือนของตลาด
- เปิดโอกาสให้บุคลากรได้มีส่วนร่วมในการบริหารงาน เช่น การวางแผน การควบคุมงานของตนเอง เป็นต้น
- สอดส่องดูแลให้การบังคับใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ เป็นไปอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม
ในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาความรู้ทางด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ในเบื้องต้น ผู้ศึกษาวิจัยจะต้องสามารถกำหนดหัวข้อการวิจัยที่น่าสนใจเป็นเบื้องแรก อาจกล่าวได้ว่า ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology) หรือเทคนิคการวิจัยเป็นเรื่องของศาสตร์และเครื่องมือ ส่วนการตั้งหัวข้อการวิจัยเป็นเรื่องของความสามารถของผู้วิจัย (ศิลป์) ซึ่งต้องอาศัยความเป็นผู้ชอบสังเกตการณ์ มีความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์ อีกทั้งมีความสามารถที่จะกำหนดประเด็นที่สำคัญต่างๆ เพื่อพัฒนาเป็นหัวข้อวิจัยได้ ในการแนะนำหัวข้อการวิจัยทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แนวทางแก่นักวิจัยหรือผู้ศึกษาทางด้านนี้ที่ยังมีประสบการณ์ในการวิจัยไม่มากนัก เพื่ออาศัยเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับนำไปคิดปรับปรุงเป็นหัวข้อวิจัยของตนเอง ทั้งนี้ผู้วิจัยจะต้องมีความสนใจในหัวข้อวิจัยนั้นๆ อย่างแท้จริง หัวข้อการวิจัยทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่เสนอแนะมีดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงทางด้านลักษณะบุคคลที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรมนุษย์ในอีกสามสิบปีข้างหน้า (Demographic Changes Impacting HR in the Next 30 Years)
- ปัญหาไอคิว: ไอคิวกับผลการปฏิบัติงาน หรือ การใช้ไอคิวเป็นปัจจัยในการเลือกบุคคล (The IQ Controversy: IQ and Performance or IQ as a Valid Selection Variable)
- แนวทางใหม่สำหรับการจ้าง/การฝึกอบรมและพัฒนาผู้บริหาร (New Approaches to Employment/Management Training/Development )
- การพัฒนาองค์การที่มีความสร้างสรรค์ (Developing a Creative Organization)
- การเกิดและรูปแบบใหม่ของกิจกรรมสหภาพแรงงาน (ทั้งบุคลากรในสำนักงานและบุคลากรวิชาชีพต่างๆ ในอนาคต) (Reemergence and New Forms of Union Activity White Collar and Professional Unions in Our Future?)
- จุดจบของระบบการจำแนกตำแหน่ง (The End of PC?)
- ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีและคนในที่ทำงาน (Interaction of Technology and People in the Workplace )
- โครงสร้างและไหลเวียนของการติดต่อสื่อสารในสำนักงาน (Office Communication Structure and Flow )
- การพัฒนาวัฒนธรรมองค์การที่ก่อให้เกิดผลิตผล (Developing a Productive Organizational Culture)
- คุณภาพของชีวิตการทำงาน (Quality of Work Life)
- ความต้องการของบุคลากรทางด้านความช่วยเหลือในทศวรรษหน้า (Employee Assistance Needs for the Next Decade)
- ผลของการลดขนาดองค์การ (Implications of the Downsizing)
- การบริหารความเครียดในสถานที่ทำงานที่มีผลิตผลสูง (Stress Management in the High Performance Workplace )
- การจัดคนข้ามระหว่างองค์การ (Inter-organizational Staffing)
- การจ้างงานที่อาศัยหน่วยงานภายนอก (Outsourcing Employment)
- ทรัพยากรมนุษย์และตัวแบบขององค์การหลัก (HR and the Core Organizational Model)
- การบริหารทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ (International Management of Human Resources)
- การบริหารองค์การที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย (Managing the Multicultural Organization)
- การบริหารบุคลากรอาวุโส (Managing Older Professionals) ฯลฯ
สรุปและเสนอแนะ(Conclusions and Applications)
การวิจัยทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์มีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งองค์การสามารถประยุกต์เทคนิคและวิธีการต่างๆ ของระเบียบวิธีวิจัยไปในเรื่องของการบริหารที่เกี่ยวบุคคลขององค์การ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์การที่มีการวางระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ดี ก็จะได้ประโยชน์จากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์เพี่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันองค์การได้มีการนำเอาระบบสารสนเทศทางทรัพยากรมนุษย์ (HRIS: Human Resource Information System) มาใช้ ก็จะทำให้องค์การสามารถจัดเก็บ เรียกใช้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ครบถ้วน และถูกต้อง ถึงแม้ว่าปัญหาการบริหารทรัพยากรมนุษย์จะมีลักษณะคล้ายกันในหลายองค์การ แต่ก็มีประเด็นปัญหาการวิจัยที่เฉพาะของแต่ละองค์การที่อาจมีลักษณะพิเศษที่จำเป็นต้องการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง
แหล่งอ้างอิง
ดำรงค์ วัฒนา. การบริหารทรัพยากรมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์ คณะรัฐศาสตร์ ๕๐ ปี กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์-มหาวิทยาลัย 2541.
การบริหารทรัพยากรมนุษย์ขององค์การบริหารส่วนตำบล : ศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระยะจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล เอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการในวาระครบรอบ 50 ปี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์-มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 2541.
ศุภชัย ยาวะประภาษ. การวิจัยทางรัฐประศาสนศาสตร์. กรุงเทพฯ: 2536.
Annual Editions: Human Resources, 1999-2000. Fred H. Maidment, Editor, (Dushkin/McGraw-Hill), 1999.
Babbie, E. The Practice of Social Research. 7th ed. California: Wadsworth, 1995.
Cases and Experiential Exercises in Human Resource Management, 2nd. Ed. Raymond L. Hilgert and Cyril C. Ling, (Prentice Hall), 1996.
Fottler, M.D., Hernandez, R.S., & Joiner, C.L., Strategic Management of Human Resources (In Health Services Organizations), 2nd Edition, Delmar Publishing, 1994.
Human Resources Management: Perspectives, Context, Functions, and Outcomes, 3rd. Ed. Gerald R. Ferris and M. Ronald Buckley. (Prentice Hall), 1996.
Kirk, Roger E. Experimental Design: Procedures for the Behavioral Sciences (3rd Ed.). Brooks/Cole, 1995.
Managing Human Resources, 2nd Ed. Luis R. Gomez-Mejia, David B. Balkin and Robert L. Cardy. (Prentice Hall), 1998.
แหล่งที่มา : ดำรงค์ วัฒนา
website: https://www.polsci.chula.ac.th