หัวหน้างาน กับการครองใจคน


758 ผู้ชม


หัวหน้างาน กับการครองใจคน




คอลัมน์ hr corner
โดย อาจารย์ธนาสิทธิ์ เพิ่มเพียร หน.ภาควิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

หัวหน้างาน กับการครองใจคน

การครองใจคนหรือมัดใจคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่ต้องใช้ศิลปะและประสบการณ์อย่างสูงในการที่จะมัดใจคนทำงานให้เขาอยู่กับเรา หรือทำงานให้กับเราอย่างทุ่มเททั้งกาย และใจ
รวมถึงยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ อันดีระหว่างหัวหน้างานและลูกน้อง ส่งผลต่อความผูกพันของคนกับองค์กรในอนาคต
แน่นอนเป็นการยากที่จะให้ลูกน้องมีความรู้สึกเชื่อมั่นและมีความศรัทธาในตัวของหัวหน้างาน แต่มันก็สามารถทำได้โดยหัวหน้างานอาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางสิ่งบางอย่างในการซื้อใจ ลูกน้องตนเอง
1.ปล่อยให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเอง และคอยดูอยู่ห่าง ๆ
ให้ลูกน้องทำงานหรือตัดสินใจเอง ต้องมีความเชื่อมั่นและให้อำนาจในการตัดสินใจ เหมือนกับเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับเขาอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เขามี ความรู้สึกภูมิใจในงานที่เขาทำอยู่
2.รู้จักจัดคนให้เหมาะสมกับงาน
ต้องมีความรู้ในเรื่องความต้องการ หรือความสนใจในงานของลูกน้อง ตนเองว่าชอบงานลักษณะแบบไหน หรือมีบุคลิกภาพอย่างไร ควรจัดวางเขาเหล่านั้นว่าเขาเหมาะสำหรับงานไหน (fit in)
พนักงานส่วนใหญ่จะรู้สึกดีถ้าได้ทำงานตามที่เขาชอบหรือมีความถนัดมากกว่า และมีส่วนช่วยให้การทำงานในองค์กรประสบความสำเร็จได้ง่ายด้วย
3.คำ "ขอบคุณ"
บางครั้งคนเราอาจคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าอะไร หรือเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ค่อยจำเป็น และมักจะลืมเพราะว่าการทำงาน ในทุกวันนี้ค่อนข้างต้องแข่งกับเวลา หรือรีบร้อนในการทำงานให้เสร็จ...เลยลืม
แต่จริง ๆ แล้วคำคำนี้มีค่ามาก มันทำให้คนฟังรู้สึกปลื้มและภูมิใจ
นอกจากนี้ มันยังเป็นสิ่งเสริมแรงที่จะสามารถผลักดันให้คนเกิดพฤติกรรมที่สร้างสรรค์ออกมาได้
บางครั้งคำนี้แค่คำเดียวนั้นมีค่ามากกว่าเงินหรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ซะอีก
4.นึกถึงจุดแข็ง
หัวหน้าที่ดีต้องรู้จักสังเกตหรือพยายามค้นหาจุดแข็งของลูกน้องตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสามารถ ศักยภาพ หรือพรสวรรค์ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับองค์กรได้ในอนาคต
คือต้องพยายามปรับปรุง พัฒนาจุดแข็งของคนเหล่านี้ให้แข็งแกร่งมากขึ้น ให้เป็น The star ขององค์กรให้ได้ แล้วองค์กรจะได้ผลประโยชน์มากมายจากบุคคลเหล่านี้
5.ให้ข้อมูลย้อนกลับ
หัวหน้าคนต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลในเรื่องของผลของการทำงาน เพื่อเป็นการพัฒนาคนให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
ธรรมชาติของคนนั้นจะมีลักษณะ อยู่อย่างหนึ่งคือ อยากรู้ในสิ่งที่ ตนทำไปนั้นว่าดี หรือไม่ดี มีคนชอบหรือไม่ชอบ
ไม่เช่นนั้นแล้วเหมือนมันรู้สึกไม่เคลียร์ หรือไม่สบายใจว่าสิ่งที่ทำไปนั้นถูกต้องหรือไม่
อันนี้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าที่ต้องคอยเป็นโค้ชให้กับลูกน้องตนเอง
คือช่วยให้เขาเรียนรู้และพัฒนามากขึ้นในงานของเขา คอยชี้แนะไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลงานหรือพฤติกรรม
6.ความก้าวหน้า ความเติบโตของ ลูกน้อง
หัวหน้าที่ดีต้องพยายามผลักดัน หรือเปิดโอกาสให้กับลูกน้องตนเองได้พิสูจน์ฝีมือ เอาใจช่วย
และหาทางให้เขาเจริญเติบโตในหน้าที่การงานของเขา แต่ต้องเข้าใจในความต้องการของลูกน้องและความเป็นไปได้ด้วย
คือคนทุกคนมีทั้งผลักดันได้และผลักดันไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องดูที่ความสามารถและความเหมาะสมเป็นเกณฑ์ในการ พิจารณาด้วย
7.เข้าใจในสมดุลชีวิตของคนทำงาน
การทำงานเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตคน อีกส่วนหนึ่งเป็นชีวิตส่วนตัวของเขา การบริหารคนต้องรู้จักยืดหยุ่นให้เป็น ให้ลูกน้องมีชีวิตส่วนตัวบ้าง อย่าเอาชีวิตของเขามาใส่กับการทำงานหมด
ต้องรู้จักให้เวลาเขาอยู่กับครอบครัวของเขาด้วย
ครอบครัวใคร ๆ ก็รัก อย่าทำให้ชีวิตครอบครัวเขาต้องมีปัญหา ควรให้มีความสมดุลกันทั้งงานและชีวิตครอบครัว
8.สื่อสารด้วยความจริงใจ ไม่ปิดบังซ่อนเร้นบางสิ่งบางอย่างไว้
เพราะว่ามันแสดงถึงความไม่น่าเชื่อถือ หรือไม่ไว้ใจกัน และอาจเป็นอุปสรรคในการทำงานได้ ปัญหาบางอย่างอาจแก้ไขหรือผ่อนเบาลงได้โดยการเปิดใจคุยกัน
9.ทำงานแบบมีความสุข
คนเรามักจะทำงานได้ดีถ้าเขาไม่รู้สึกถูกกดดันหรือถูกควบคุม ฉะนั้นจึงควรสร้างบรรยากาศในการทำงานให้รู้สึกผ่อนคลายไม่เครียด
เปลี่ยนหรือสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีสีสัน มีชีวิตชีวามากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้บางทีอาจทำให้ performance และ productivity เพิ่มสูงขึ้นมาได้
หน้า 27

วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4202  ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด