Job Enrichment คืออะไรกันแน่
Job Enrichment การเพิ่มคุณค่าในงาน เป็นเครื่องมือที่ออกแบบขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรในองค์การที่ไม่ใช่เรื่องการฝึกอบรม (Non-Training Intervention) แต่จะเกี่ยวข้องกับการออกแบบงาน (Job Design) ที่หลากหลาย พื้นฐานสำคัญของ Job Enrichment มาจากแนวคิดของ Frederick Herzberb ในปี 1950 และ 1960 ผู้ศึกษาเกี่ยวกับความพึงพอใจในงาน (Job Satisfaction) ต่อมา Hackman และ Oldham ได้นำมาศึกษาต่อ มุ่งเน้นไปที่คุณลักษณะของงาน (Job Characteristics Model) ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญของ Job Enrichment ดังนั้นแนวคิดของเครื่องมือการพัฒนาบุคลากร Job Enrichment จึงเป็นกิจกรรมด้านการบริหารจัดการที่เน้นการออกแบบลักษณะงาน เป็นงานที่แตกต่างจากเดิมที่เคยปฏิบัติ เน้นให้เกิดความชำนาญในงานที่หลากหลายขึ้น (Skill Variety) เกิดความรับผิดชอบในงานของตน (Task Identity) เป็นลักษณะงานที่มีความสำคัญ (Task Significance) มีอิสระสามารถบริหารจัดการงานนั้นด้วยตนเอง (Autonomy) และได้รับข้อมูลป้อนกลับจากผู้บังคับบัญชา (Feedback)
ตัวอย่างการออแบบแบบงานที่เน้นการเพิ่มคุณค่าในงาน -- เจ้าหน้าที่ฝึกอบรม ที่แต่เดิมจะทำหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับผู้เข้าอบรม ติดต่อวิทยากร จองห้องประชุม และจัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมก่อนการอบรม ต่อมาหัวหน้างานได้นำแนวคิดของ Job Enrichment มาใช้โดยมอบหมายงานที่เพิ่มคุณค่าในงานฝึกอบรมมากขึ้น เป็นงานที่จะต้องช่วยผู้บังคับบัญชาในการสัมภาษณ์ผู้บริหารของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรม โดยเจ้าหน้าที่จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมได้เพื่อหาความจำเป็นในการฝึกอบรมในเบื้องต้น
จากตัวอย่างข้างต้นนั้นเป็นลักษณะของการออกแบบงานที่ต้องการเพิ่มความรับผิดชอบในงาน เน้นงานที่ยากและท้าทายมากขึ้น ทั้งนี้การออกแบบงานในลักษณะของ Job Enrichment จะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ
- Renewal การทำให้เกิดความแปลกใหม่ ไม่ให้พนักงานเกิดความเบื่อหน่าย โดยการเปลี่ยนแปลง ลักษณะงาน บุคคลที่จะต้องติดต่อประสานงานด้วย เปลี่ยนมุมมองหรือความคิดจากงานเดิม
- Exploration การพัฒนาและการแสวงหาทักษะความชำนาญที่มากขึ้น พัฒนาสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นจากการทำงานใหม่ ๆ
- Specialization การชำนาญในงานเป็นพิเศษ ก่อให้เกิดความสามารถในการบริหารจัดการงานนั้นที่ลึกขึ้น ยากและท้าทายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการออกแบบงานในลักษณะของ Job Enrichment จะมีประโยชน์กับพนักงาน แต่มีพนักงานบางกลุ่มที่ต่อต้าน ปฏิเสธไม่ยอมรับงานที่ต้องเพิ่มมากขึ้น พวกเขาจะมองว่าเป็นการสูญเสียเวลาที่จะต้องบริหารจัดการงานที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหากผู้บังคับบัญชาต้องการที่จะมอบหมายงานให้พนักงานยากและท้าทายขึ้น ผู้บังคับบัญชาจะต้องชี้แจงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน (Clarity) เชื่อมโยงกับความก้าวหน้าและเป้าหมายในอาชีพ โดยให้คำแนะนำ/กรอบแนวทางปฏิบัติ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงแก่พนักงานในการบริหารจัดการกับงานที่เพิ่มมากขึ้น (Introduction) เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจในตัวพนักงานว่าพวกเขาสามารถบริหารงานที่ก่อให้เกิดมูลค่าในงาน (Job Value Added) ในตัวพนักงานที่มากขึ้น พบว่าเครื่องมือการออกแบบงานที่เน้นการเพิ่มคุณค่าในงานหรือ Job Enrichment จึงเหมาะกับการเตรียมความพร้อมในสายอาชีพ (Career Path) ให้กับพนักงาน เพื่อช่วยเตรียมพนักงานให้สามารถรับผิดชอบงานที่เพิ่มขึ้นในตำแหน่งงานที่สูงขึ้น
ผู้เขียน/ ผู้เรียบเรียง โดย อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์