ถ้าพนักงานรู้สึกเป็นเจ้าของ เขาจะดูแลองค์กร
ศุภชัย นิลวรรณ "ถ้าพนักงานรู้สึกเป็นเจ้าของ เขาจะดูแลองค์กร"
คอลัมน์ HR Young Blood
โดย เอื้อมพร สิงหกาญจน์ [email protected]
มาถึงชั่วโมงนี้คงต้องบอกว่าเฮียฮ้อ "สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์" แห่งค่ายอาร์เอส เลือกคนไม่ผิดจริงๆ เพราะความดังของโปงลางสะออน บ่าววี หลวงไก่ หรือจินตหรา พูนลาภ ได้พิสูจน์กึ๋นการบริหารอาร์สยามของเณร "ศุภชัย นิลวรรณ" เด็กหนุ่มที่ผันตัวเองจากที่เคยฝันเป็นผู้สร้างภาพยนตร์มาเป็น ผู้บริหารค่ายเพลง
ที่สำคัญวันนี้ "อาร์สยาม" ได้ชื่อว่าเป็นค่ายเพลงที่มาแรงที่สุด โดยเฉพาะตลาดภาคใต้ กวาดส่วนแบ่งการตลาดไปกว่า 70 เปอร์เซ็นต์
"ศุภชัย นิลวรรณ" จึงเป็นนักบริหารดาวรุ่งอีกคนในวงการที่หลายคนจับตามอง เพราะการวางยุทธศาสตร์องค์กรเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่มีพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และที่น่าสนใจกว่านั้นเขาไม่ได้บริหารแค่พนักงานในองค์กรแต่ยังต้องดูแลศิลปินที่มีความแตกต่างหลากหลายในค่ายอีกถึง 84 ชีวิต
"ศุภชัย" วางเป้าหมายชีวิตว่าจะเข้ามาโลดแล่นบนถนนบันเทิงตั้งแต่ยังเล็กเพราะมีเครือญาติหลายคนทำงานอยู่ในแวดวงนี้ พอเข้ารั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เลือกเรียนเอกภาพยนตร์ แล้วไปฝึกงานที่กองถ่ายกับ "นิรมล นิลวรรณ" ผู้จัดละครช่อง 3 ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ จากนั้นก็ไปช่วยท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ทำหนังอยู่ปีกว่า แล้วกระโดดไปทำรายการท้าพิสูจน์ให้กับค่ายกันตนา สุดท้ายก็มาปักหลักที่ อาร์เอสก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 1 ปี
"ช่วงที่เข้ามาอาร์เอสอยากทำมิวสิกวิดีโอ แต่ทีมงานเขาเต็ม ก็เลยมาทำรายการทีวีเป็นโปรดิวเซอร์ รับผิดชอบรายการลูกทุ่ง สารคดี รายการท่องเที่ยวมหัศจรรย์ไทยแลนด์ เพราะเป็นคนชอบอะไรที่มีสาระหน่อย จนกระทั่งอาร์เอสเข้าตลาดมีนโยบายแยกสายงานเพลงลูกทุ่งออกมาต่างหาก ผู้บริหารก็ให้โอกาสเข้ามาบริหารตรงนี้"
โอกาสที่หล่นลงมาทับแบบไม่ทันได้ตั้งเนื้อตั้งตัวเล่นเอา "ศุภชัย" อึ้งไปชั่วขณะ แต่ด้วยความที่เป็นคนลุยงาน จึงคิดว่าในเมื่อคนอื่นทำได้เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน
"ปกติเป็นคนที่ชอบปรับไลฟ์สไตล์ของตัวเองให้เข้ากับงาน เช่น ตอนทำรายการท่องเที่ยวก็จะแบกเป้ใส่หลังไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ช่วงที่รับผิดชอบรายการลูกทุ่งตลก ตกดึกก็ต้องไปนั่งที่คาเฟ่ หาข้อมูล นักร้อง ตลก เมื่อมาบริหารค่ายเพลงลูกทุ่งก็แสวงหาข้อมูลทุกทางที่เป็นประโยชน์"
"ศุภชัย" บอกว่า การทำงานจะเน้นสเต็ปบายสเต็ป ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องเดินไปถึงเป้าหมายในเวลาเท่าไหร่ แต่จะทำงานแบบสเต็ปต่อสเต็ปให้ดีที่สุด แล้วหาโอกาสต่อยอดไปเรื่อยๆ
"โดยปกติผมฟังเพลงทุกแนว ทั้งสตริง สากล คลาสสิก ลูกทุ่ง พอฟังเสร็จก็จะมาคิดต่อว่าจะหยิบอะไรมาใช้กับงานได้บ้าง แน่นอนว่าคนรุ่นเก่าค่อยๆ หายไปจากตลาด แนวทางดนตรีจะต้องหันไปนำเสนอให้กับคนรุ่นใหม่มากขึ้น อาร์สยามจึงพัฒนาเป็นลูกทุ่งภาพใหม่ๆ มิวสิกวิดีโอก็เปลี่ยนไป ไม่เชยเหมือนในอดีต กระแสตอบรับของประชาชนจึงดีขึ้นเรื่อยๆ"
แม้ "ศุภชัย" จะเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ แต่ด้วยความที่เขามีทุนในการทำงานที่สะสมไว้ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยครีเอทีฟ รับค่าตอบแทนเดือนละ 6,500 บาท แล้วไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้เขามีฐานของการทำงานและเข้าใจพนักงานในทุกระดับ ประกอบกับอาร์สยามยังเป็นองค์กรที่ไม่ใหญ่โตมาก ทุกคนที่เดินเข้ามาร่วมงานกับองค์กรมีทั้งพนักงานและศิลปินต้องผ่านสายตาเฉียบคมของเขา ในแง่ความเคารพนับถือและการยอมรับในตัว ผู้บริหารจึงมีสูง การบริหารจัดการองค์กรแรงต้านต่างๆ จึงแทบไม่มี
ที่สำคัญ "ศุภชัย" ยังมีนโยบายการบริหารที่ให้พนักงานทุกคนมีความรู้สึกว่าบริษัทแห่งนี้เป็นของเขา เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน มีข้อมูลอะไรก็แจ้งให้พนักงานทุกคนได้รับรู้ร่วมกันตลอด ไม่ว่าจะเป็นสถานะบริษัท ทิศทางการทำงาน ทุกคนจึงทำงานกันอย่างเต็มที่
"ถ้าพนักงานรู้สึกว่าเป็นเจ้าของบริษัท ผลประโยชน์ต่างๆ เขาจะดูแล เวลาทำงานก็จะทำงานเต็มที่ ไม่ใช่แค่พนักงานกินเงินเดือน เพราะองค์กรจะดีหรือไม่ดีกระทบกับชีวิตของเขา"
อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารอาร์สยามถือว่าเป็นหัวใจอีกเรื่องหนึ่งในการบริหารองค์กร นั่นคือเรื่องของความมั่นคงในชีวิต ดังนั้นเขาจึงหมั่นบอกกับทุกคนเสมอว่า เรื่องคนจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่องค์กรจะแตะ ถ้าสถานการณ์บริษัทไม่ดีจะดูเรื่องค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก่อน เพื่อให้ทุกคนสบายใจ
นั่นคือแนวทางในการดูแลพนักงานในองค์กร ส่วนศิลปินซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของธุรกิจ ผู้บริหารจะต้องให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ
"นักร้องทุกคนมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัวอยู่แล้ว เข้าถึงยาก ทุกคนจะมีอะไรที่พิเศษกว่าคนอื่นทั้งในเรื่องของความรู้สึกและเรื่องอื่น ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจเป็นคนคนไป แต่ทั้งนี้นักร้องทุกคนจะต้องอยู่บนเงื่อนไขของกติกาและเหตุผล"
"ผมจะคุยกับทุกคนตั้งแต่แรกเลยว่า การที่มาเป็นศิลปินนั้นต้องยอมรับก่อนว่าบริษัทไม่ได้ดูแลทั้งชีวิต เพียงแต่ว่าการทำงานของคุณมาเกี่ยวพันกับบริษัท เพราะ ฉะนั้นเรื่องชีวิตส่วนตัวเบื้องต้นทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง ทุกคนต้องทำงานตามกติกา"
"ศุภชัย" ให้ข้อมูลว่า นักร้องลูกทุ่งส่วนใหญ่บริษัทไม่ได้สร้างจากศูนย์ ทุกคนมีความสามารถติดตัวมาเหมือนกันหมด เพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้แต่ละคนผ่านอะไรมาเยอะ ผ่านเวทีการประกวดมาอย่างโชกโชน คนเหล่านี้จึงมีภูมิคุ้มกันในตัวเองอยู่ เพียงแต่บริษัทมาจัดเขาให้อยู่ในระบบธุรกิจ สร้างภาพลักษณ์ให้ชัดเจนขึ้น
การคัดเลือกศิลปินเข้ามาอยู่ในค่ายในปัจจุบันต้องดูภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่เสียงร้องเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูทั้งการแสดงบนเวที บุคลิกภาพ นิสัยใจคอ การออกสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้คือปัจจัยความสำเร็จของศิลปินทั้งสิ้น
และเนื่องจากศิลปินทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องมีแผนกอื่นคอยซัพพอร์ต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพศิลปิน การวางแผน การตลาด การจัดจำหน่าย เรื่องการสื่อสารภายในองค์กรจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่องค์กร แห่งนี้ต้องปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน
"การจะออกอัลบั้มสักชุดต้องดูบุคลิกของนักร้องเป็นหลัก พอวางคอนเซ็ปต์ได้ ทีมงานแต่ละส่วนจะแยกย้ายกันไปทำงานตามแนวทางที่วางไว้ ซึ่งต้องไปด้วยกันหมด ทั้งแนวเพลง เสื้อผ้า หน้า ผม รวมถึงการโปรโมต มิวสิกวิดีโอ"
และด้วยความที่เป็นนักบริหารรุ่นใหม่ ไฟแรง "ศุภชัย" จึงไม่ได้วางเป้าหมายอาร์สยามไว้แค่แท่นค่ายเพลงธรรมดา แต่วางอนาคตยกระดับเป็นสถาบันเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่ง จัดการฝึกพัฒนาทีมงาน ศิลปิน คนงานข้างนอกให้มีความรู้ความสามารถ ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นชื่อของอาร์สยามก็จะอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป
หน้า 34
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ