ถูกสั่งให้ปรับลดค่าจ้างพนักงาน
Q:
ดิฉันเพิ่งเข้าไปทำงานกับบริษัทด้านการเงินแห่งหนึ่งในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ได้ไม่นาน ปรากฎว่า มีเรื่องเก่าที่ยังค้างอยู่ต่อมาจากผู้จัดการคนก่อนก็คือเขาได้มีการจ้างงานพนักงานจบใหม่จำนวน 3 คน ซึ่งของเราคนจบใหม่เราจะให้ที่ 12,500 บาท แต่การจ้างครั้งนั้น ได้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาดหรืออะไรดิฉันก็ไม่ทราบชัดนัก ทำให้การจ้างของพนักงานกลุ่มนี้อยู่ที่คนละ 15,000 บาท นายของดิฉันที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล ได้ขอให้ฉันช่วยดำเนินการให้ถูกต้องด้วยการเรียกมาทำสัญญาจ้างใหม่หมด ดิฉันไม่แน่ใจว่าจะทำได้แค่ไหน อยากขอความเห็นคุณดิลกว่า ดิฉันจะขอทำสัญญาใหม่ได้หรือไม่ ถ้าได้ แต่พนักงานไม่ยินยอมจะทำอย่างไร ถ้าไม่ได้ มีแนวทางอื่นหรือไม่ที่จะทำเงินเดือนของเขาอยู่ในอัตราที่เราต้องการ - สุนีย์
A:
เรื่องการจ้างงานเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะว่า หากเกิดความผิดพลาด จะมีผลกระทบทั้งความรู้สึกและความเชื่อมั่นของพนักงานต่อHRได้ ดังนั้น จะต้องมีการกำหนดกระบวนการ ขั้นตอน และผู้เกี่ยวข้องให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ใครจะเป็นผู้กำหนดอัตราจ้าง โดยมีแนวปฏิบัติอย่างไร ใครเป็นผู้อนุมัติสุดท้ายก่อนแจ้งแก่ผู้ถูกว่าจ้าง เพื่อให้เกิดการตรวจสอบอย่างรัดกุม คุณสุนีย์ถามมาหลายประเด็น ผมขอไล่เป็นประเด็นไปตามที่ถามมาก็แล้วกันนะครับ
เรื่องการขอทำสัญญาใหม่ เรื่องนี้ถ้าลูกจ้างยินยอมก็ทำได้ โดยให้เขียนใบลาออกแล้วทำสัญญาใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แล้วทำให้ลูกจ้างเสียความรู้สึก เพราะเขาเหมือนกับต้องเริ่มทดลองงานใหม่ ต้องนับอายุงานใหม่ แล้วเขาก็มีสิทธิไม่ยอมได้ ถ้าเขาไม่ยอม เราก็ทำอะไรเขาไม่ได้ นอกจากจะเลิกจ้างว่ากันตามกฎหมาย ซึ่งก็ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์เพราะเราต้องการให้เขาอยู่ต่อด้วยการจ้างใหม่ ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าเรามีระบบการบริหารเงินเดือนที่ชัดเจน มีนโยบายการจ้างที่ชัดเจน ผมเสนอว่า ให้ใช้การคุยกันกับพนักงานในรูปของการอธิบายเพื่อโน้มน้าวชี้ให้เขาเห็นแนวนโยบายการจ้างงานของบริษัท ขอโทษเขาหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วให้ใช้การเขียนลงในสัญญาจ้างเดิมว่า พนักงานยอมรับค่าจ้างใหม่ด้วยความยินยอมพร้อมใจ แล้วให้พนักงานลงลายมือชื่อรับรอง โดยบริษัทก็จะต้องระบุให้ชัดเจนเช่นกันว่าบริษัทจะไม่มีการเรียกค่าจ้างและค่าล่วงเวลาที่จ่ายไปแล้วคืนเพื่อเป็นการซื้อใจพนักงาน
อย่างไรก็ตามหากพนักงานยังคงไม่ยินยอม และยืนกรานว่า ที่เขายอมรับการจ้างคร้งนี้ เพราะค่าจ้าง 15,000 บาท ผมไม่คิดว่าหากเราจะเลิกจ้างด้วยเหตุที่เขาไม่ยอมเราเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะความผิดเกิดจากนายจ้าง ไม่ใช่เป็นปัญหาพนักงาน ทางออกที่เป็นไปได้ก็คือ เราต้องใช้แนวทางการบริหารผลการปฏิบัติงานและการบริหารค่าจ้างเงินเดือนเข้ามาจับ โดยแจ้งให้พนักงานทราบว่า การจ้างเขาสูงกว่าคนอื่น แต่เมื่อเขาไม่ยอมเปลี่ยนก็ม่าเป็นไร เราก็บอกให้เขาทราบก่อนว่า การปรับค่าจ้างเงินเดือน จะเทียบจากฐานเงินเดือนในอัตราที่เขาควรได้รับ คือ 12,500 บาท หากเขาได้ปรับเงินเดือนบวกเข้าไปเกินกว่า 15,000 บาท เราก็ปรับให้เขาเฉพาะส่วนที่เกิน 15,000 บาท แต่ถ้าอัตราการปรับเงินเดือนเขาได้ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 15,000 บาท เขาก็ไม่ได้ปรับ อย่างนี้เป็นต้น
ผมมีข้อแนะนำทิ้งท้ายอย่างทีเคยให้ข้อแนะนำไว้หลายครั้งนะครับว่า การสื่อสารในเรื่องที่พนักงานต้องลดผลประโยชน์ จะต้องสื่อสารเน้นให้พนักงานเห็นว่า เขาจะได้ประโยชน์อะไรจากาการเปลี่ยนแปลงนี้ และเลี่ยงการพูดถึงสิ่งที่บริษัทจะได้ประโยชน์ให้น้อยที่สุด
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์