ห้ามใช้โทรศัพท์ในสายการผลิต


854 ผู้ชม


ห้ามใช้โทรศัพท์ในสายการผลิต




  Q
        โรงงานที่ผมอยู่ เป็นโรงงานประกอบชิ้นส่วนที่มีลักษณะเป็นสายการผลิตที่เต่อเนื่อง ซึ่งสมาธิของพนักงานจะต้องดี ไม่อย่างนั้นจะทำให้งานที่อยู่ถัดไป เกิดความสียหายได้ เรื่องเกิดขึ้นเมื่อเดือนที่ผ่านมา มีของสียหลุดไปถึงมือลูกค้าชุดใหญ่ สร้างความเสียหายอย่างมาก พอมีการสอบสวนก็ทราบว่า เป็นเพราะพนักงานคนหนึ่งที่อยู่ในสายการผลิตดังกล่าว ได้ใช้โทรศัพท์มือถือในระหว่างการทำงานคุยเรื่องส่วนตัว จนขาดสมาธิกับงานไป พอเรื่องปรากฎออกมาอย่างนี้ ทำให้ผู้จัดการฝ่ายผลิตจึงอยากจะเข้มงวดให้มากขึ้นเรื่องการใช้โทรศัพท์ในสยการผลิต โดยได้ปรึกษากับผมว่าอยากจะออกระเบียบให้มีการลงโทษพนักงานขั้นร้ายแรงขั้นไล่ออกทันที หากมีการใช้โทรศัพท์ในสายการผลิต ผมไม่เห็นด้วย แต่จะบอกเขาอย่างไรดีครับ - เกรียงไกร

       
       A
        โดยโรงงานทั่วไปเท่าที่ผมรับทราบจากพรรคพวกเพื่อนฝูงกัน จะมีระเบียบ กติกา เรื่องการใช้โทรศัพท์ในสายการผลิตค่อนข้างเข้มงวดอยู่แล้ว เพราะอย่างที่คุณเกรียงไกรว่ามาละใช่เลยครับ ที่การใช้โทรศัพท์ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต ไม่เท่านั้น ยังมีผลต่อเรื่องของความปลอดภัยของตัวพนักงานเองด้วย แต่ผมก็ยังไม่เคยได้ยินว่าที่ไหนได้กำหนดโทษพนักงานที่หยิบโทรศัพท์มาพูดในระหว่างทำการผลิต แล้วโดนไล่ออกทันทีเลย ซึ่งผมคิดว่า การที่เราไม่สามารถกำหนดโทษถึงอย่างนั้นได้ เพราะว่า ในสายตาของคนทั่วไป การโทรศัพท์ในสายการผลิตนจะมองไม่เห็นผลโดยตรงที่จะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง เมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่ในโรงงาน ที่มีความเสี่ยงที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน และถึงแม้ว่า เราจะเคยเกิดความเสียหายที่โยงได้ว่าเกิดจากการใช้โทรศัพท์อย่างไม่รู้กาละเทศะ ก็ยังเป็นเหตุผลสนับสนุนที่ไม่พอเพียงที่จะกำหนดมาตรการขั้นเด็ดขาดอย่างนั้น
       
        ผมอยากให้มองเรื่องการกำหนดบทลงโทษเรื่องนี้ก็คือ ให้มองเป็นเรื่องของพฤติกรรมการทำงานที่ไม่เหมาะสม กับ เรื่องของผลเสียหายที่เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เรื่องของพฤติกรรมการทำงานที่ไม่เหมาะสม เราอยากจะกำหนดให้อะไรเป็นความผิดร้ายแรงอย่างไรก็ได้ แต่ผลในทางปฏิบัติจริง หากมีการลงโทษพนักงานเพราะมองว่าเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นไล่ออก สุดท้ายศาลท่านจะเป็นคนชี้ครับว่า ความดังกล่าวร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งงหากดูตามรูปการณ์ที่ผ่านมา ศาลท่านมักจะตีความอย่างเคร่งครัด และใช้กรอบการเลิกจ้างที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยมาเป็นแนวทางถือเป็นหลักใหญ่ ดังนั้น หากเรากำหนดกติกาไปแล้วทำไม่ได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ผมคิดว่า ควรกำหนดเอาไว้ในระดับที่เป็นการลงโทษด้วยลายลักษณ์อักษรดูจะเหมาะสมกว่า ส่วนอีกเรื่องคือ ผลเสียหายที่เกิดจากพฤติกรรมที่เหมาะสมตรงนี้ผมเชื่อว่าในระเบียบของคุณเกรียงไกรน่าจะได้กำนหดเอาไว้อยู่แล้ว ซึ่งถ้าหากความเสียหายเกิดขึ้นจริง เมื่อพิสูจน์ทราบได้ก็ลงโทษได้อยู่แล้ว
       
        ผมอยากเสนอแนะเพิ่มเติมอีกสักนิดก็คือ เราน่าจะฉวยโอกาสที่เกิดความเสียหายครั้งนี้เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยตีปิ๊บให้ทั่วทั้งบริษัทเลยว่า การใช้โทรศัพท์ในสายการผลิตนั้นได้ก่อความเสียหายอย่างไรไปบ้าง เราจำเป็นจ้องเข้มงวดอย่างไร หรือมีมาตรการอย่างไร เช่น มีการรับฝากโทรศัพท์ก่อนเข้าทำงาน มีการใช่เพื่อนเตือนเพื่อน เพื่อเกิดการตื่นตัวและง่ายต่อการใช้มาตรการในระหว่างที่กำลังตกอกตกใจกัน กับอีกเรื่องที่คุณเกรรียงไกรไม่ได้ถามมาแต่ผมเป้นห่วงก็คือ ได้แยกแยะกลุ่มคนหรือระดับพนักงานชัดเจนแค่ไหนว่า ให้ใช้ได้หรือไม่ให้ใช้ เช่น กลุ่มวิศวกรที่เข้าช่วยดูปัญหาในสายการผลิตใช้ได้หรือไม่ หัวหน้างานมีสิทธิใช้หรือเปล่า ถ้าให้เขาใช้จะส่งผลกับความีรู้สึกอะไรกับพนักงานระดับอื่นหรือไม่ หรือถ้าไม่ให้ใช้ มีเครื่องมืออย่างอื่นรองรับหรือยัง เช่น เครื่อง PCT อย่างนี้เป็นต้น ถ้าคุณเกรียงไกรเตรียมไว้อยู่แล้ว ก็ดีครับ แต่ถ้ายังไม่ได้มองเผื่อไว้ อยากชวนให้ลองมองดูให้ครบถ้วน เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาอีกปัญหาหนึ่งจากการแก้ปัญหาหนึ่งนะครับ

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์

อัพเดทล่าสุด