แนวคิด Blue Ocean Strategy


720 ผู้ชม


แนวคิด Blue Ocean Strategy




 ในปัจจุบันความตื่นตัวในเรื่องของแนวคิดของ Blue Ocean Strategy ในเมืองไทยนั้นเรียกได้ว่ากำลังบูมมาก สังเกตได้จากการอบรมสัมมนาในเรื่องนี้ที่มีอยู่อย่างมากมาย และเวลาไปตามองค์กรธุรกิจต่างๆ ก็จะมีการพูดถึงเรื่องของ Blue Ocean Strategy (BOS) กันอย่างมากมายและกว้างขวาง
       
       อย่างไรก็ดีเท่าที่สังเกตมานั้น ถึงแม้หลายๆ คนจะพูดเรื่องของ BOS กันเยอะ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นถึงความแตกต่างระหว่าง Blue Ocean กับ Red Ocean รวมทั้งความอยากที่จะสร้าง Blue Ocean ของตนขึ้นมาให้ได้ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ลงลึกลงไปในแก่นแท้ของแนวคิดเรื่อง BOS โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าทำอย่างไรถึงจะสร้างให้เกิด Blue Ocean ขึ้นมาได้จริงๆ
       
        นอกจากนี้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอีกประการหนึ่งก็คือหลายๆ ท่านมักจะมองว่า BOS เป็นเครื่องมือทางการจัดการ (Management Tools) เหมือนๆ กับเครื่องมือทางการจัดการอื่นๆ ที่เคยนำเสนอไปเช่น Balanced Scorecard, Six Sigma, EVA, Competencies ฯลฯ
       
       แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่า BOS ไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการจัดการ แต่เป็นแนวคิดหรือวิธีการในการคิดในเชิงกลยุทธ์ เพื่อทำให้องค์กรเกิดการเติบโตของกำไรอย่างแท้จริง เมื่อเราอ่านหรือฟังเรื่องของ BOS แล้ว เราจะไม่ได้คำตอบหรือ Solution ที่มีแบบฟอร์มหรือขั้นตอนในการปฏิบัติที่ชัดเจนเหมือนเครื่องมือทางการจัดการอื่นๆ แต่สิ่งที่เราจะได้รับคือวิธีการในการคิดในรูปแบบและมุมมองใหม่ๆ ที่แต่ละคนจะต้องนำกลับไปปรับใช้ให้เข้ากับองค์กรและบริบทของตนเอง
       
        คำถามยอดฮิตอย่างหนึ่งที่ผมมักจะได้รับเกี่ยวกับ BOS ก็คือมีองค์กรไหนในเมืองไทยที่นำ BOS ไปใช้บ้างแล้ว ซึ่งเป็นคำถามเหมือนกับที่เคยได้รับว่า มีองค์กรไหนในเมืองไทยที่นำ Balanced Scorecard ไปใช้บ้างแล้ว? ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผมก็ต้องเรียนตรงๆ ว่าตอบไม่ได้ เนื่องจากมองว่า BOS เป็นเรื่องของแนวคิดหรือวิธีการในการคิด ดังนั้นองค์กรหลายๆ แห่งอาจจะนำวิธีคิดของ BOS ไปปรับใช้ ซึ่งการนำไปปรับใช้นั้นอาจจะมากหรือน้อยแตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าองค์กรนั้นนำเรื่องของ BOS ไปใช้เหมือนเครื่องมือทางการจัดอื่นๆ หรือไม่
       
        อีกคำถามยอดนิยมก็คือ BOS เป็นเรื่องใหม่จริงหรือ? และ BOS จะอยู่อีกนานแค่ไหน? โดยในคำถามแรกนั้น ผมมองว่า BOS ไม่ใช่เรื่องใหม่ทีเดียว ในด้านวิชาการนั้นนักคิด นักเขียนหลายๆ ท่านก็นำเสนอแนวคิดที่คล้ายๆ BOS มาก่อนหน้านี้แล้ว
       
       โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการสร้างความต้องการ หรืออุปสงค์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น รวมทั้งเรื่องของการดึงผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้าให้เข้ามาเป็นลูกค้า เพียงแต่ในอดีตนั้นเรื่องที่นำเสนอนั้นเป็นสิ่งที่อยากจะให้เป็นหรืออยากจะให้เกิด โดยยังขาดวิธีการในการวิเคราะห์ การคิด และการปฏิบัติให้เกิด BOS สาเหตุที่ทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวในเรื่องของ BOS นั้นก็เนื่องจากนอกเหนือจากหลักการในการสร้างน่านน้ำหรือสมรภูมิในการแข่งขันใหม่ๆ แล้ว
       
       BOS ยังให้วิธีการในการคิดเพื่อสร้างน่านน้ำใหม่ด้วย และวิธีการในการคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ส่วนสาเหตุอีกประการนั้นก็คือตัวชื่อของ Blue Ocean Strategy ครับ ที่พอได้ยินแล้วหลายๆ คนก็มักจะอยากจะรู้หรือสงสัยต่อว่าคืออะไร แต่ถ้าเราเรียกว่าเป็น Innovative Strategy ก็เชื่อว่าคงจะไม่ได้รับความสนใจเช่นในปัจจุบัน
       
        อีกคำถามหนึ่งที่พบเจอบ่อยๆ ก็คือ BOS เป็นเรื่องเดียวกับ Segmentation หรือไม่? เนื่องจากบริษัทหลายๆ แห่งในปัจจุบันต่างหันมาใช้กลยุทธ์ Segmentation กันอย่างมากมาย ซึ่งคำตอบของผมนั้นก็คือทั้งใช่และไม่ใช่ สาเหตุที่ไม่ใช่นั้นเนื่องจาก BOS ไม่ได้เป็นการมองตลาดที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน แล้วพยายามหาความแตกต่างของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เพื่อซอยย่อยตลาดและลูกค้าในปัจจุบันให้เล็กลง เพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของ Segmentation ในปัจจุบัน
       
       แต่สำหรับ BOS นั้น จะไม่ได้มุ่งเน้นตลาดหรือกลุ่มลูกค้าในปัจจุบัน แต่จะสร้างตลาดใหม่ โดยการดึงลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามา ดังนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการสร้าง Segment ใหม่ที่ประกอบด้วยลูกค้ากลุ่มใหม่ แต่ไม่ได้เป็นการจับลูกค้ากลุ่มเดิม
       
        คำถามยอดฮิตข้อสุดท้ายก็คือถ้าเราสามารถสร้าง Blue Ocean ขึ้นมาได้แล้ว สุดท้ายมันจะกลายเป็น Red Ocean หรือไม่? ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้และเกิดขึ้นมาบ่อยมาก ที่องค์กรสามารถสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาได้ แต่สุดท้ายก็ถูกคู่แข่งที่เข้ามาทีหลังเข้ามาลอกเลียนแบบ และทำให้ทะเลสีครามกลายเป็นสีแดง ดังนั้นส่วนใหญ่ผมจะมีข้อเสนอแนะอยู่สองประการ คืออย่างแรกต้องหาทางป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามาได้ ซึ่งเป็นไปได้ลำบาก แต่อาจจะทำให้คู่แข่งไม่เข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยการชะลอการเข้ามาของคู่แข่งขัน อย่างที่สองก็คือองค์กรธุรกิจก็จะต้องปรับตัวตลอดเวลาเป็นหนูถีบจักรที่จะไม่สามารถหยุดนิ่งได้ และต้องคอยแสวงหา Blue Ocean ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
       
        ก่อนจากกันขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ นั้นคือเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ก่อตั้งครบ 70 ปีในปีนี้ ทางภาควิชาพาณิชยศาสตร์ จะจัดสัมมนาเรื่อง "ก้าวใหม่ในโลกธุรกิจ" ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ โดยมีหัวข้อหลายๆ เรื่องที่น่าสนใจ เช่น Blue Ocean Strategy, Strategic Corporate Responsibility, Virtual Century, Building LO and Managing Knowledge หรือ Creating Entrepreneur Mindset ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5764 นะครับ

 

แหล่งที่มา : โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์

อัพเดทล่าสุด