ระบบ ประเมินผลการปฏิบัติงาน


572 ผู้ชม


ระบบ ประเมินผลการปฏิบัติงาน




    "มายกเลิกระบบประเมินผลการปฏิบัติงานกันเถอะ"

 

คอลัมน์ HR Corner
นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ปิยวัฒน์  แก้วกัณฑรัตน์

 

                มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อภาษาอังกฤษน่าสนใจว่า “ Abolished Performance Appraisal ” หรือแปลเป็นไทยว่ามายกเลิกระบบประเมินผลการปฏิบัติงานกันเถอะ ซึ่งนักบริหารทรัพยากรมนุษย์หลายท่านเห็นแล้วก็ต้องนึกต่อไปว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องการประเมินผลปฏิบัติงานถือได้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในระบบการจัดการทรัพยากรมนุษย์ของทุกองค์กรที่ต้องมีอยู่ ไม่มีไม่ได้

 

                ทั้งนี้หากมีการถามต่อไปว่าระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ HR ทุกองค์กรบอกว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้นั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากระบบดังกล่าว  มีความพึงพอใจแค่ไหน  ก็พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

                1 )  เจ้าของกิจการและผู้บริหารระดับสูง ซึ่งทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทางและกลยุทธขององค์กร แต่พบว่ากลยุทธที่กำหนดขึ้นมานั้นไม่ถูกนำออกปฏิบัติ  พนักงานทำแต่งานประจำที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในผลสำเร็จ ของกลยุทธ  สิ่งที่ทำไม่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างเป้าหมายทางกลยุทธขององค์กร  เป้าหมายหน่วยงานและเป้าหมายระดับบุคคล และถึงแม้ว่าจะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานทุกปีแต่ก็เป็นเรื่องที่แยกขาดออกจากกันกับผลสำเร็จในเป้าหมายทางกลยุทธขององค์กร

 

                2 ) ผู้จัดการ   ซึ่งทำหน้าที่ในการบริหารงานในแต่ละหน่วยงาน มักพบกับปัญหาความไม่ชัดเจนของเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงาน  ไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ  รวมถึงความอึดอัดในการถูกบังคับให้จัดแบ่งกลุ่มผู้ถูกประเมินออกตามสัดส่วนที่คำนวณจากเทคนิคระฆังคว่ำหรือ Force Ranking  ที่ตนเองก็ไม่สามารถอธิบายถึงความสมเหตุสมผลให้กับลูกน้องได้ สุดท้ายเมื่อประเมินแล้วก็ไม่สามารถเข้าหน้าลูกน้องได้ เกิดความแตกแยกในทีมงานและส่งผลต่อการบั่นทอนสภาวะการเป็นผู้นำของผู้จัดการ

 

                3 ) ผู้ถูกประเมิน ซึ่งมักจะถูกพิจารณาจากผู้จัดการปีละหนึ่งหรือสองครั้งต่อปีว่าผลงานเป็นอย่างไร และข้อมูลดังกล่าวก็จะถูกนำไปใช้ในการปรับขึ้นเงินเดือนหรือปรับตำแหน่ง  แต่จากข้อมูลการศึกษาพบว่าผู้ถูกประเมินโดยทั่วไปมักจะไม่พอใจในผลการประเมินของตนเอง เพราะผู้ประเมินมักใช้อารมณ์ ความรู้สึก ความชอบพอส่วนตัวในการตัดสินใจ  ทำให้ขวัญและกำลังใจตกต่ำทุกครั้งที่มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน

 

                ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจคือข้อมูลปัญหาดังกล่าวเบื้องต้นปรากฏว่า HR โดยทั่วไปมักทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่จริงในองค์กร แต่ผู้บริหารและ HR เองก็ไม่ทราบว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร สภาพความล้มเหลวของระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเกิดคำถามว่า ถ้าระบบดังกล่าวล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แล้วทำไมองค์กรยังคงใช้ระบบนี้ต่อไป ทำไมไม่ยกเลิกทิ้งไปเสีย  

 

                แต่อย่างไรก็ตามการเสนอให้มีการยกเลิกระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานในหนังสือ “ Abolished Performance Appraisal ” ดังกล่าว เป็นการเสนอให้ยกเลิกระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ให้มีการทดแทนด้วย “ระบบการจัดการผลการปฏิบัติงาน” ซึ่งเป็นระบบที่มีความต่อเนื่อง ชัดเจน โดยเริ่มตั้งแต่การที่ผู้จัดการและผู้ปฏิบัติงานร่วมกันวางแผนกำหนดเป้าหมายผลการปฏิบัติงาน  การวางแผนและพัฒนาสมรรถนะเพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถบรรลุถึงผลการปฏิบัติงาน  การติดตามผลการปฏิบัติงานโดยผู้จัดการอย่างต่อเนื่อง  การประเมินผลสำเร็จในการปฏิบัติงานเทียบกับเป้าหมายที่ได้ตกลงกันไว้  และการให้รางวัลตามผลการปฏิบัติงานจริง  ซึ่งจากกระบวนการนี้จะเห็นได้ว่าการประเมินผลการปฏิบัติงาน  เป็นแค่เพียงขั้นตอนย่อยขั้นตอนหนึ่งในระบบนี้เท่านั้น  

 

                ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วครับที่ HR ของไทยจะต้องช่วยกันยกเลิกระบบการประเมินผลการปฏิบัติงาน ( แบบเก่า ) และแทนที่ด้วยระบบการจัดการผลการปฏิบัติงานหรือ Performance Management System  เพื่อให้ผลการปฏิบัติงานเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงสิ่งที่บุคคลากรในองค์กรของเราทำจริง ได้รับผลตอบแทนสอดคล้องกับสิ่งที่เขาทำสำเร็จจริงๆ และสิ่งที่ทำก็สอดรับและขับเคลื่อนเป้าหมายทางกลยุทธขององค์กรอย่างแท้จริง

อัพเดทล่าสุด