การจัดเก็บเอกสาร แฟ้มประวัติพนักงาน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แม้ว่าในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติพนักงานในระบบโปรแกรมซอฟแวร์ ทั้งชนิด ยี่ห้อหรือรุ่นต่างๆ มากมาย เพื่อใช้ในการจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลซึ่งเป็นการประหยัดพื้นที่และลดการใช้เอกสารการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน แต่ในยามที่จำเป็น เอกสารที่เกี่ยวกับประวัติของพนักงานก็ยังมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพยานหลักฐานสืบค้นตัวบุคคล หลักฐานทางคดี รวมทั้งยังเป็นความจำเป็นทางด้านกฎหมายแรงงานที่บังคับให้มีการจัดทำทะเบียนลูกจ้าง
ผู้เขียนได้พบเห็นการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) เกี่ยวกับการจัดเก็บเอกสารแฟ้มประวัติข้อมูล และเห็นว่ามีความแตกต่างกันมากในทางปฎิบัติและการนำมาใช้ประโยชน์ ด้วยคงจะเป็นการปฎิบัติที่สืบต่อๆกันมาไม่มีตำราหรือใครเคยเขียนแนะนำชี้แนะในสิ่งที่ควรจะเป็น หรือไม่ก็ได้รับการถ่ายทอดมาอย่างไรก็ทำอย่างนั้น หรืออาจจะคิดวางระบบวิธีการปฎิบัติกันเอาเอง จึงได้นำวิธีการปฎิบัติมาเปรียบเทียบกัน ดังนี้
บริษัท แรก เป็นบริษัทขนาดเล็ก มีการจัดเก็บข้อมูลพนักงาน ประกอบด้วยเอกสารที่สำคัญคือ เอกสารใบสมัคร หนังสือสัญญาจ้าง และเอกสารหลักฐานอื่นๆที่ทางราชการออกให้ ก็นำมาจัดเก็บไว้เป็นอย่างดี ในแต่ละปีก็ไม่มีเอกสารอื่นใดอีกมาเพิ่มเติมหรือปรับปรุงข้อมูลอะไร และในด้านการนำมาใช้ประโยชน์ก็ไม่ได้มีวิธีการที่ชัดเจน
บริษัทที่สอง เป็นบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ มีพนักงานจำนวนมาก มีระบบการจัดเก็บข้อมูล และเห็นว่ามีการจัดการใช้ประโยชน์ที่ดี ที่ควรจะนำมาศึกษาเป็นตัวอย่างที่ดี
เอกสารที่จัดเก็บประกอบด้วย
1. ใบสมัครงานและผลการทดสอบคัดเลือก
2. หนังสือสัญญาจ้างงาน
3. หลักฐานที่ทางราชการออกให้
4. เอกสารคำบรรยายลักษณะงาน
5. รายการข้อมูลการดำเนินการด้านบุคคลในด้านอัตราเงินเดือน ค่าจ้าง การปรับปรุงค่าตอบแทนประเภทต่างๆ การโอนย้ายพนักงาน การเปลี่ยนแปลงหน้าที่งาน การเลื่อนตำแหน่ง
6. เอกสารประเมินผลการปฎิบัติงานในทุกรอบระยะเวลา
7. เอกสารหนังสือเตือน บันทึกการสอบสวนและการลงโทษพนักงาน (ในกรณีที่มี)
8. หนังสือยกย่องชมเชยหรือประกาศเกียรติคุณพนักงาน(ในกรณีที่มี)
9. รายการหรือเอกสารเปลี่ยนแปลงข้อมูลพนักงาน ซึ่งอาจจะมีการปรับปรุงเป็นรายปี)
การนำไปใช้ประโยชน์
ในกรณีที่มีการจัดเก็บเอกสารที่สำคัญหลายประเภทดังนั้นเมื่อมีการใช้ประโยชน์ บุคคลสำคัญที่จะมีโอกาสได้ศึกษา ทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายการต่างๆ ในแฟ้มประวัติของพนักงานก็คือ หัวหน้างาน ของพนักงานบุคคลนั้นๆ เพราะเราต้องยอมรับในข้อเท็จจริงว่า อำนาจในการบริหารงานบุคคลในองค์การเป็นของหัวหน้างาน ตามขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ของระบบการบริหารงานบุคคล (แต่ควรมีการกำหนดว่าในหัวหน้างานในระดับใดบ้างที่มีสิทธิได้ยืมเอกสารแฟ้มประวัติของพนักงาน เช่นระดับหัวหน้าแผนก) หัวหน้างานที่มีโอกาสเข้ามาตรวจสอบดูประวัติข้อมูลพนักงาน การนำไปใช้ประโยชน์มีได้ในกรณีดังต่อไปนี้
- การสรรหาพนักงานจากภายในองค์การ เพื่อเลือกบุคคลเข้ามาทำงานในหน่วยงานของตนเองจากพนักงานภายใน หรือในกรณีที่ต้องดูประกอบการสัมภาษณ์ในการสอบคัดเลือกพนักงานภายใน
- การประเมินผลงาน ก่อนการประเมินผลงานหัวหน้างาน โดยเฉพาะหัวหน้างานที่มารับตำแหน่งในหน่วยงานใหม่ ควรที่จะศึกษาผลการบันทึกการทำงานในรอบระยะเวลาที่ผ่านมาของพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาที่เพิ่งรู้จักกันเป็นครั้งแรกประกอบด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและทำความรู้จักลูกน้องของตนเองให้มากขึ้น
- การเลื่อนระดับตำแหน่ง หัวหน้าควรศึกษาข้อมูลผลการทำงานย้อนหลัง ในด้านการประเมินผลงาน ค่าจ้างเงินเดือน หรือศักยภาพของพนักงานคนนั้นๆ ในรอบระยะเวลาก่อนๆ เปรียบเทียบกับอีกหลาย คน
- การดำเนินการทางวินัย ในกรณีที่จะต้องศึกษาดูประวัติพนักงานเกี่ยวกับการทำผิดในอดีต หรือการทำความดีอื่นๆ ที่อาจจะนำมาประโยชน์ในการพิจารณาโทษ
- การมอบหมายงานหรือการคัดเลือกพนักงานเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการทำงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง
ฯลฯ
หากมีการกำหนดแนวทางปฎิบัติไว้ ก็สามารถทำให้หัวหน้างานสามารถศึกษารายละเอียด
และเข้าใจบทบาทหน้าที่ทางด้านการบริหารงานทรัพยากรบุคคลมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน หลายบริษัท ไม่มีแนวทางปฎิบัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ก็จะมีการปกปิดข้อมูลแฟ้มประวัติพนักงานมิให้ใครได้ศึกษาดูอีก นอกจากเฉพาะผู้บริหารระดับสูงหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลที่มีหน้าที่เก็บรักษาไว้เท่านั้น ซึ่งในบางครั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลก็มิได้เข้าใจจุดมุ่งหมายเกี่ยวกับการเก็บและนำมาใช้ประโยชน์ ประเภท เขาสั่งให้เก็บก็มีหน้าที่เก็บรักษาไว้ท่านั้น
ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากแฟ้มประวัติพนักงานจึงเป็นการนำมาใช้งานร่วมกันระหว่าง
หัวหน้างานกับฝ่ายบุคคล แต่ก็จะต้องมีความเคร่งครัดในเรื่องความรับผิดชอบ เพราะประวัติของพนักงานแต่ละบุคคลเป็นเรื่องของความลับ การนำไปใช้ควรมีความเคร่งครัด เช่น กำหนดว่าหัวหน้างานในระดับใด มีอำนาจในการศึกษา เปิดดูได้ และการเปิดดูควรจะทำในสำนักงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรืออยู่ในความรับผิดชอบของหัวหน้าฝ่าย จะนำไปวางไว้ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือบุคคลที่มีฐานะตำแหน่งต่ำกว่าได้แอบเปิดดู ก็ไม่ควรอย่างยิ่ง แม้กระทั่ง บุคคลที่เป็นเจ้าของแฟ้มประวัติหากไม่มีเหตุจำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรให้เปิดดูโดยพลการ เพราะข้อมูลหรือการบันทึกเหตุผลบางอย่างในแฟ้มประวัติเป็นความเห็นที่อยู่ในอำนาจของนายจ้าง หัวหน้างานหรือฝ่ายบุคคลเท่านั้น
ข้อคิดและแนวทางปฎิบัติที่ดี เช่นนี้ สามารถทำให้เรานำไปปรับปรุงระบบการบริหารจัดการแฟ้มประวัติพนักงานได้มากขึ้น และทำให้หัวหน้างานได้เข้าใจในบทบาทหน้าที่ทางด้านการบริหารงานบุคคลและมีข้อมูลที่จะใช้ในการพิจารณาดำเนินการด้านบุคคลได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่การทำหน้าที่ในการบริการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล คือบทบาทการเป็นผู้สนับสนุนอำนวย ความสะดวก(Facilitator) นั่นเอง
อภิชัย ศรีเมือง
วิทยากรที่ปรึกษาการบริหารทรัพยากรบุคคล
[email protected]