ประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างไร ...ให้เป็นธรรม


741 ผู้ชม


ประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างไร ...ให้เป็นธรรม




        ในทุก ๆ ปี แน่นอนว่าเกือบจะทุกบริษัทย่อมต้องมีช่วงเวลาให้หัวหน้างานประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกน้อง บางบริษัทจะประเมินผลการปฏิบัติงาน 2 ช่วงเวลา คือ กลางปี และปลายปี แต่บางบริษัทจะประเมินผลการปฏิบัติงานผลเฉพาะช่วงปลายปีเท่านั้น และนอกจากนี้การประเมินผลการปฏิบัติงานสำหรับพนักงานทดลองงานก็เป็นอีกงานหนึ่งที่ถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญของหัวหน้างานเช่นเดียวกัน

  ดังนั้นการประเมินผลการปฏิบัติงานจึงถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่หัวหน้างานแต่ละคนจะต้องทำ และสิ่งที่อยากจะฝากให้หัวหน้างานแต่ละคนหลีกเลี่ยงนั่นก็คือ “ อคติ ” ที่เกิดขึ้นในช่วงของการประเมิน ซึ่งเป็นการประเมินผลที่ไม่ได้พิจารณาถึงผลการปฏิบัติงานจริงของลูกน้อง แต่กลับไปประเมินผลจากการพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ เป็นเกณฑ์ ได้แก่

            อิงกับการขึ้นเงินเดือน โบนัส และค่าตอบแทนต่าง ๆ -- หัวหน้างานกลัวว่าถ้าประเมินผลงานให้ลูกน้องได้คะแนนน้อย ๆ ซึ่งจะทำให้ลูกน้องได้รับเงินเดือน โบนัสและตอบแทนอื่นๆ น้อยตามไปด้วย และหากคุณคิดเช่นนี้ ขอให้ตระหนักไว้ว่าคุณกำลังคิดผิดอย่างมาก เพราะเท่ากับว่าคุณได้ทำร้ายตัวเองและลูกน้องของคุณ เหตุเพราะคุณจะได้ลูกน้องที่ทำงานไม่เอาไหน ไม่เก่ง และที่ยิ่งร้ายไปกว่านั้น พวกเค้าจะไม่มีการพัฒนาตนเองเลยเพราะคิดผิดว่าทำงานดี ซึ่งก็เท่ากับว่าคุณได้ทำร้ายตัวเองที่ต้องแบกรับภาระงานของลูกน้องของคุณ และในทางกลับกันคุณได้กำลังทำร้ายลูกน้องของคุณเองที่จะมีผลต่อในระยะยาว เพราะพวกเค้าจะไม่รู้ว่าตนเองทำงานไม่ดี ไม่มีพัฒนาการของการทำงาน และสุดท้ายมูลค่าเพิ่มที่อยู่ในตัวจะไม่เกิดขึ้นเลย

ประเมินในระดับปานกลางทุกปัจจัยที่มี -- หัวหน้างานไม่กล้าประเมินลูกน้องตามจริงเพราะเกรงว่าลูกน้องจะโกรธ หรือไม่ชอบหน้าโดยเฉพาะหากประเมินให้ลูกน้องได้คะแนนน้อย ๆ หัวหน้างานเหล่านี้มักจะกลัวเวลาที่จะต้องแจ้งผลการประเมินให้กับลูกน้องของตน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความอึดอัดใจเวลาคุยกับลูกน้อง จึงประเมินผลงานในระดับปานกลาง ไม่สูงหรือต่ำเกินไป คุณรู้ไหมว่าหากคุณประเมินแบบนี้จะทำให้ลูกน้องของคุณไม่รู้ว่าปัจจัยด้านใดที่เป็นจุดแข็งหรือปัจจัยด้านใดเป็นจุดอ่อนที่จะต้องพัฒนา

ประเมินโดยเอาตนเองไปเปรียบเทียบ -- หัวหน้างานบางคนเอาตนเองไปเปรียบเทียบหรือแข่งขันด้วย และยิ่งไปเจอหัวหน้างานที่ไฮเปอร์มาก ชอบทำงาน มาเช้ากลับดึก หัวหน้างานประเภทนี้บางคนจะวัดผลงานของลูกน้องโดยเปรียบเทียบกับความสามารถและผลงานของตนเอง หากลูกน้องไม่ใช่ประเภทที่มาทำงานเช้า กลับบ้านดึก เนื่องจากสะสางงานของตนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหัวหน้างานอาจไม่คิดเช่นนั้นแต่กลับมองว่าลูกน้องไม่ขยันหรืออุทิศทุ่มเทตนในการทำงาน และหากคุณประเมินด้วยการเอาตัวคุณเองไปแข่งขันหรือเปรียบเทียบด้วยนั้น คุณรู้ไหมว่าลูกน้องคุณจะเหนื่อยเพราะอาจทำงานไม่ทันคุณ และในที่สุดพวกเค้าอาจไม่ต้องการที่จะทำงานร่วมกับคุณ แบบว่าลาออกดีกว่า สบายใจกว่า

ประเมินจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบสด ๆ ร้อน ๆ - หัวหน้าบางคนไม่ประเมินผลงานจากการพิจารณาภาพรวมของผลงานตลอดทั้งปี แต่กลับพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นแบบสด ๆ ร้อน ๆ ทั้งนี้บางคนทำงานดีมาก ผลงานเป็นที่ถูกใจหัวหน้างานเฉพาะช่วงใกล้ ๆ ช่วงประเมินผลการปฏิบัติงาน หัวหน้างานก็จะประเมินให้คะแนนดีถึงดีมาก แต่ในทางตรงกันข้ามมีบางคนที่ทำงานผิดพลาดหรือส่งงานไม่ตรงตามเวลาในช่วงใกล้ ๆ ช่วงประเมินผลการปฏิบัติงาน เป็นเหตุให้หัวหน้างานให้คะแนนประเมินไม่ดีเท่าที่ควร พบว่าหากคุณมีทัศนะในการประเมินแบบนี้จะทำให้คุณได้ลูกน้องคุณระวังตัวอย่างมากในช่วงใกล้ ๆ ประเมินผลงาน เพราะคิดว่าทำงานดีหรือไม่ดีในช่วงก่อนประเมินนั้นก็ไม่ส่งผลอะไรต่อการประเมินผลงานเลย

เน้นความรู้สึก “ พอใจ ” หรือ “ไม่พอใจ ” ของผู้ประเมิน -- หัวหน้างานบางคนประเมินผลงานจากความรู้สึกชอบ/พอใจ หรือความรู้สึกที่ไม่ชอบ/ไม่พอใจเป็นเกณฑ์ พบว่าลูกน้องบางคนเป็นลูกรัก พวกเด็กโปรดของหัวหน้า เหตุเพราะพวกเค้าจะเอาใจเก่ง คอยประจบประแจงสารพัด แบบว่าพวกเข้าถูกทางหรือประพฤติตนเป็นที่โดนใจหัวหน้างาน ซึ่งจะทำให้ลูกน้องประเภทนี้ได้ผลประเมินสูงกว่าลูกน้องคนอื่นที่ไม่ชอบเอาใจหรือไม่ชอบประจบหัวหน้าไปวัน ๆ คุณรู้ไหมว่าหากคุณมีอคติแบบนี้เกิดขึ้นจะทำให้ลูกน้องที่ทำงานเก่ง มุ่งเน้นผลงานเป็นหลักขาดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวคุณ ในที่สุดพวกเค้าจะไม่มีขวัญกำลังใจในการทำงาน เนื่องจากทำงานดีไม่ดี ก็ได้เท่านั้น และผลที่คุณจะได้รับคือการสูญเสียลูกน้องที่มีความสามารถและเป็นกำลังสำคัญของคุณเอง

ประเมินจากความสามารถหรือผลงานบางเรื่องเป็นเกณฑ์ -- หัวหน้างานบางคนตัดสินลูกน้องจากความสามารถหรือผลงานเฉพาะเรื่อง เช่น ลูกน้องที่โน้มน้าวและเจรจาต่อรองเก่ง หัวหน้างานก็จะตัดสินว่าลูกน้องจะเก่งในเรื่องของการวางแผนงาน การติดตามงาน ซึ่งจะทำให้หัวหน้างานประเมินลูกน้องดีหรือดีมากในทุก ๆ ด้าน และในทางกลับกันหากลูกน้องมีความสามารถหรือผลงานไม่ดีเฉพาะบางด้าน หัวหน้างานกลับประเมินให้ลูกน้องได้คะแนนที่น้อยในทุก ๆ ด้าน เช่น ลูกน้องขายสินค้าไม่ได้ตามเป้ายอดขายที่กำหนด หัวหน้างานก็จะประเมินผลงานของลูกน้องคนนั้นไม่ดีในทุก ๆ ด้าน ทั้งนี้การพิจารณาประเมินผลงานในลักษณะนี้จะทำให้ลูกน้องไม่รู้ว่าปัจจัยด้านใดคือจุดแข็งและจุดที่ต้องพัฒนาปรับปรุง เนื่องจากหัวหน้างานได้ตีตราจากการตัดสินใจเพียงแค่ความสามารถหรือผลงานบางด้านไว้แล้ว

จากปัญหาหรือเหตุการณ์ที่ดิฉันนำเสนอนั้นจะเป็นปัญหาหลัก ๆ ที่พบเจอในช่วงประเมินผลการปฏิบัติงานที่อยากจะให้หัวหน้างานพึงหลีกเหลี่ยง และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการประเมินผลงานมากขึ้น ดิฉันขอนำเสนอเทคนิคที่หัวหน้างานควรปฏิบัติเพิ่มเติม โดยแบ่งเป็น 3 ระยะของช่วงการประเมินผลงาน ดังนี้

ช่วงก่อนประเมินผลงาน

ช่วงระหว่างประเมินผลงาน

ช่วงหลังประเมินผลงาน

•  ควรอยู่ในสถานที่ที่มีสมาธิ

ไม่มีเสียงดังรบกวน

•  ควรทำความเข้าใจวิธีการและ

ปัจจัยที่ใช้ประเมินผลงาน

แต่ละหัวข้อ

•  ควรพิจารณาให้คะแนนตาม

ปัจจัยแต่ละด้าน

•  ควรมีเหตุผลประกอบการ

ประเมินแต่ละหัวข้อ

•  ควรหลีกเลี่ยงอคติต่าง ๆ

ที่ได้กล่าวถึงแล้วในช่วงต้น

•  ควรชี้แจงผลการประเมินให้

ลูกน้องรับรู้

•  ควรทำข้อตกลงร่วมกันหรือ

แผนการทำงานร่วมกันระหว่าง

หัวหน้าและลูกน้อง

การประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นหน้าที่งานที่สำคัญมากที่หัวหน้างานจะต้องตัดสินว่าลูกน้องของตนมีระดับผลการปฏิบัติงานเป็นอย่างไร และเพื่อให้หัวหน้ามีข้อมูลที่ใช้ประเมินผลอย่างถูกต้องชัดเจน จึงขอแนะนำว่าให้หัวหน้าบันทึกความสามารถหรือผลงานของลูกน้องทั้งด้านดีและไม่ดี โดยอาจบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน หรือสัปดาห์ หรือประจำเดือนก็ได้ อย่างน้อย ๆ หัวหน้างานจะได้มีข้อมูลที่จะชี้แจงลูกน้องของตนเพื่อสร้างความเข้าใจและความเห็นชอบตรงกันในผลการประเมิน

 

 

 

แหล่งที่มา: อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์ ([email protected] )

อัพเดทล่าสุด