10 เหตุผลที่คน 'อยู่' หรือ 'ไป' จากองค์กร


962 ผู้ชม


10 เหตุผลที่คน 'อยู่' หรือ 'ไป' จากองค์กร




- พลิกผลสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน ''''10 เหตุผลอะไร? ที่คนอยาก "อยู่" หรือ "ไป" จากองค์กร''''
        - อันดับ 1 ของคนที่ "อยู่" คือ ความมั่นคงของงานและของตนเอง 13% ขณะที่อันดับ 1 ของคนที่คิดจะ "ไป" คือ ค่าตอบแทนทางด้านเงินเดือนที่ดีขึ้น 19%
        - 3 ปัจจัย : ตำแหน่งงาน-อายุงาน-อายุตัว มีผลต่อการตัดสินใจจะ "ภักดี" หรือ "อำลา"
        - "วัทสัน ไวแอท" ชี้ ก่อนปันใจ ควรอยู่ทดสอบฝีมือตัวเองไม่น้อยกว่า 3-5 ปี แล้วค่อยคิดเปิดหมวก
       
        ล้วงลึกผลสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน 6,700 คน จาก 32 บริษัทชั้นนำซึ่งครอบคลุมทั้งบริษัทต่างชาติและบริษัทในประเทศ จากการศึกษาของ บริษัท วัทสัน ไวแอท (ประเทศไทย) จำกัด
       
        โดยผลวิจัยดังกล่าวเป็นหนึ่งในยี่สิบหัวข้อของการสำรวจ "work Thailand" ซึ่งทำการศึกษาพร้อมกันทั่วเอเชียรวม 13 ประเทศ เป็นการสำรวจความเห็นพนักงานที่ทำงานในองค์กรต่างๆ ทั่วเอเชีย ในประเด็นของการรักษาคน มีเหตุผลอะไรบ้าง? ที่คนตัดสินใจ "อยู่" หรือ "ลาออก" จากงาน
       
       10 เหตุผลคนอยู่ต่อ
        ทายาท ศรีปลั่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท วัทสัน ไวแอท (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาทางด้านการจัดการและพัฒนาองค์กร เล่าให้ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฟังว่า ในกลุ่มคนทำงาน 6,700 คน มีจำนวน 62% ยังมีความพึงพอใจที่จะทำงานปัจจุบันอยู่ต่อไป และอีก 38% ยังมีความลังเลใจอยู่ว่าอยากจะออกไปหางานใหม่ทำ หรือจะทนอยู่ทำงานต่อไปดี?
       
        "10 เหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกจะอยู่ที่ทำงานเดิมต่อไป" เรียงลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อย คือ 1. ความมั่นคงของงานและของตนเอง 13% 2. ผลประโยชน์และสวัสดิการ 12% 3. เงินเดือนและค่าตอบแทน 9% 4. ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน 7%
       
        5. โอกาสและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน 7% 6. มีโครงการฝึกอบรมพนักงานที่ดี 6% 7. บริษัทมีแนวโน้มทางธุรกิจที่สดใส 6% 8. ได้รับโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ 5% 9. มีโอกาสได้ใช้ทักษะที่มีอยู่ 5% และ 10. บริษัทมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก 4%
       
        ทายาทกล่าวว่า เหตุผลทั้งหมดถือว่าเป็นเสียงสะท้อนของคนกลุ่มใหญ่ในสังคม ที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยยุคนี้ถ้ามนุษย์เงินเดือนจะเลือกหางาน หรือเลือกที่จะอยู่กับองค์กรหนึ่งองค์กรใด? จะดูว่าบริษัทมีความมั่นคงหรือไม่? ถ้ามั่นคงก็อยู่นาน
       
        ขณะที่ตัวบริษัทเองก็ได้เปรียบในแง่ของการดึงคนมีความสามารถ มาอยู่กับองค์กรตัวเองได้ โดยคำจำกัดความของความมั่นคงจะมี 2 อย่างคือ ความมั่นคงกับตัวพนักงานเอง และความมั่นคงของบริษัท เช่น เป็นตำแหน่งงานสำคัญ หรือบริษัทเป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม
       
        ถ้าเปรียบเทียบเหตุผล "ความมั่นคงของงาน" ในอันดับที่ 1 กับเหตุผล "บริษัทมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก" ในอันดับที่ 10 การเป็นองค์กรที่มั่นคงถือเป็นปัจจัยสำคัญกว่า ส่วนที่มาของการมีชื่อเสียง อาจจะมาจากหลากหลายเหตุผล อย่างเช่น ผ่านกลไกประชาสัมพันธ์ ผ่านการสร้างภาพลักษณ์องค์กร
       
        "องค์กรได้ดิบได้ดี แต่ตัวพนักงานนั้นจะมั่นคงด้วยหรือเปล่า? เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เหตุผลทั้งสองข้อนี้จึงไม่เหมือนกันในความรู้สึกของพนักงาน แต่แน่นอนชื่อเสียงองค์กรเป็นสิ่งที่ดี คนรู้จักบริษัทที่เราทำงานอยู่ ก็ถือเป็นหน้าเป็นตาเหมือนกัน แต่ก็เป็นเรื่องของภาวะทางจิตใจมากกว่า แต่ความมั่นคงของงาน ถือเป็นความมั่นคงของชีวิต ของอาชีพ จึงเป็นเรื่องสำคัญกว่าความมีหน้ามีตาของบริษัท"
       
       10 เหตุผลคนคิดอยากไป
        ขณะที่ "10 เหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกจะไปจากบริษัท" เรียงลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อย ข้อสรุปที่ได้คือ 1. ค่าตอบแทนทางด้านเงินเดือนที่ดีขึ้น 19% 2. โอกาสความก้าวหน้าดีกว่าเดิม 16% 3. สวัสดิการดีขึ้น 15% 4. ความมั่นคงของงาน 6% 5. มีโอกาสที่จะได้ทำเรื่องส่วนตัวที่สนใจ 4%
       
        6. มีโปรแกรมฝึกอบรมและพัฒนาที่ดีกว่า 4% 7. เหตุผลส่วนตัวไม่เกี่ยวกับบริษัท 4% 8. มีโอกาสที่จะพัฒนาฝีมือทักษะได้มากกว่า 4% 9. มีระบบการบริหารผลปฏิบัติงานเป็นธรรมมากกว่า 3% และ 10. ตำแหน่งงานดีขึ้น 3%
       
        ทายาทอธิบายว่า คนที่ตัดสินใจแล้วว่าจะไป จะเป็นกลุ่มคนที่กำลังมองหาค่าตอบแทนทางด้านเงินเดือน หรือในรูปแบบอื่นๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นการแสวงหาโอกาสทางด้านการเงินที่ดีขึ้นจึงกลายเป็นเหตุผลหลักอันดับ 1 แตกต่างจากเหตุผลแรกของคนที่เลือกจะอยู่องค์กรเดิมต่อไป โดยมองที่ความมั่นคงของงานและของตนเองเป็นเป้าหมายหลัก "คนที่ตัดสินใจจะอยู่จะมองเรื่องสวัสดิการมากกว่าผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน"
       
        สิ่งที่น่ามองต่อไปคือ เหตุผลของการจากไป อันดับ 4 ''''ความมั่นคงของงาน'''' เป็นประเด็นที่ไม่เคยปรากฏเลยในช่วงเศรษฐกิจวิกฤต แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา คาดว่าคนส่วนใหญ่คงได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี การตัดสินใจเลือก "อยู่" หรือ "ไป" จากงานจึงระมัดระวังมากขึ้นไม่ผลีผลาม และเพิ่มความมั่นคงของตนเองในงานมากขึ้นเป็นกรณีพิเศษ
       
        ส่วนเหตุผลการจากไปอันดับ 10 ''''ตำแหน่งงานดีขึ้น'''' เขาวิเคราะห์ว่า สมัยหนึ่งคนไทยแคร์ตำแหน่งมาก ซึ่งปัจจุบันค่านิยมดังกล่าวก็ยังมีอยู่ แต่ถ้าเรียงลำดับตามความสำคัญแล้วจะไปรั้งท้ายอยู่อันดับ 10 แสดงว่าความสุขทางใจที่เป็นนามธรรมถูกผลักออกไป และคนทำงานยุคใหม่จะดูเรื่องอะไรที่กินได้อยู่ได้มากกว่า แสดงออกถึงความก้าวหน้าในอาชีพ และสวัสดิการที่ดีกว่า
       
       ตำแหน่ง-อายุงาน-อายุตัว
        เมื่อมองลึกลงไปถึงระดับของตำแหน่งงานที่มีผลต่อการ "อยู่" สิ่งที่พบคือ 79% ของระดับผู้บริหาร ยังต้องการทำงานอยู่ที่เดิมต่อไป ส่วน 60% ของระดับพนักงานปฏิบัติการ ก็ยังคงยืนยันจะทำงานอยู่ที่เดิมต่อไป
       
        ขณะที่ระดับของตำแหน่งงานที่มีผลต่อการ "ไป" สิ่งที่พบคือ 21% ของผู้บริหารยังลังเลที่จะอยู่หรือไปดี และอีก 40% ของระดับพนักงานปฏิบัติการก็ยังลังเลเช่นกัน
       
        "โดยภาพรวมผู้บริหารยังอยากอยู่ที่เดิม เป็นเพราะว่าการเป็นผู้บริหารมั่นคงกว่า ในแง่ของการเงินที่ดีขึ้น ส่วนพนักงานยังอยากหาโอกาสงานที่ดีขึ้นในองค์กรใหม่ๆ ความภักดีต่อองค์กรน้อยลง ขณะที่ผู้บริหารใช้เวลาอยู่นานกว่า มีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมองค์กรสูงกว่า จึงตัดสินใจที่จะลงหลักปักฐานมากกว่า" ทายาทกล่าว
       
        สำหรับอายุงานที่มีผลต่อการ "อยู่" หรือ "ไป" จากองค์กรเช่นกัน ผลวิจัยระบุชัดว่า กลุ่มคนที่ต้องการอยู่ อายุงานน้อยกว่า 1 ปีอยากอยู่ 67%, 1-5 ปี 57%, 5-10 ปี 58% และมากกว่า 10 ปี 69% ขณะที่กลุ่มคนที่ต้องการไป อายุงานน้อยกว่า 1 ปี 33%, 1-5 ปี 43%, 5-10 ปี 42% และมากกว่า 10 ปี 31%
       
        ทายาทอธิบายว่า พนักงานที่อยู่เกินกว่า 10 ปี จะมีความผูกพันกับองค์กรมากที่สุด ขณะที่อายุงาน 2-9 ปี จะพยายามปรับตัวให้เข้ากับองค์กร แต่ถ้ามีโอกาสก็ยังเปิดใจหางานใหม่ อย่างไรก็ดีอายุงานไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญชี้ว่า คนที่อยู่นานมากจะไม่คิดย้ายงานเลย เพราะสภาพแวดล้อมสังคมเปลี่ยนไป คนยุคนี้ต้องการหาความมั่นคงเป็นหลัก บางคนก็มองว่าอยู่นานๆ แล้วเป็นคนไม่มีค่าไปเลยก็มี
       
        "สมัยก่อนให้ความสำคัญกับระบบอาวุโส ยิ่งอยู่นานจะยิ่งได้รับความมั่นคงมาก แต่ปัจจุบันมีระบบการวัดผลงานมากขึ้น ระดับความสามารถของคนต้องปรับมาตรฐานตลอดเวลา ทำให้อายุงานมากไม่ได้มองว่าเป็นผลดีเสมอไป สังคมทำงานเปลี่ยนแปลงไปมากจากภาพตรงนี้"
       
        ขณะที่อายุตัวที่มีผลต่อการ "อยู่" หรือ "ไป" จากองค์กรพบว่า ในกลุ่มคนที่อยู่ อายุน้อยกว่า 30 ปีอยากอยู่ 60%, 30-40 ปี 61%, 40-50 ปี 71% และมากกว่า 50 ปี 79% ส่วนกลุ่มคนที่คิดจะไป อายุน้อยกว่า 30 ปีคิดอยากจะไป 40%, 30-40 ปี 39%, 40-50 ปี 29% และมากกว่า 50 ปี 21% แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนยิ่งอายุเยอะจะอยู่กับองค์กรนาน เพราะความคล่องตัวในการหางานใหม่ลดลง ส่วนคนที่อายุน้อยก็มีสัดส่วนที่อยากจะอยู่มากกว่าไป โดยมองถึงหลายเหตุผลมาประกอบ
       
       3-5 ปีค่อยคิดเปลี่ยนใจ
        ทายาทสรุปว่า ก่อนที่เราจะเลือกงาน หรือเข้าทำงาน ต้องดูงานให้ดี เพราะเมื่อเราตัดสินใจทำงานไปแล้ว ก็ควรจะอยู่กับองค์กรนั้นๆ ระยะหนึ่ง ให้เกิน 3-5 ปีก่อนที่จะย้ายงาน เพราะเป็นช่วงเวลาที่จะพิสูจน์ว่า เราเป็นคนสู้งาน และพัฒนาการทางด้านความรู้และวุฒิภาวะจะเกิดขึ้น
       
        คนที่อยู่ระยะสั้นแล้วหางานไปเรื่อยๆ จะกลายเป็นคนที่ขาดวุฒิภาวะในการทำงาน วุฒิภาวะทางด้านอารมณ์ และความมั่นคงทางด้านจิตใจก็น้อยลงด้วย เพราะไม่เคยทนอะไรได้นานๆ ไม่เคยฟันฝ่าอุปสรรคบริหารให้ลุล่วงด้วยดี
       
        "3 ปัจจัยสำคัญ วุฒิภาวะทางด้านอารมณ์ วุฒิภาวะทางด้านประสบการณ์ และตัวเนื้อประสบการณ์จริงๆ จะน้อย คนทำงานต้องผ่านช่วงนี้ให้ได้"
       
        ขณะที่ประเด็นของการลาออกจากงาน ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายด้าน การเงินไม่ใช่ปัจจัยที่ดีที่สุดเสมอไป ในบางช่วงอายุถ้าเราคำนึงถึงเรื่องเงินถือเป็นเรื่องระยะสั้นมาก เราน่าจะคำนึงถึงโอกาสที่จะทำผลงาน โอกาสที่จะเป็นคนที่มีความสามารถเพิ่มเติมขึ้นไปกว่าเดิมมากกว่า
       
        รวมถึงการพัฒนาตัวเองให้เป็นคนเก่งมีความสามารถ จะต้องไม่ละทิ้งปัจจัยพื้นฐานของความเป็นมนุษย์คือ ความพยายาม ความเก่ง ที่ไปเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วเราเก่งกว่า

 

แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


อัพเดทล่าสุด