นายจ้างต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อมอบงานให้ลูกจ้างรับไปทำที่บ้าน


794 ผู้ชม


นายจ้างต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อมอบงานให้ลูกจ้างรับไปทำที่บ้าน




กฤษณเนตร พันธุมโพธิ

สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้คนทำงานต้องใช้เวลาเดินทางไปทำงานนอกบ้านหลายชั่วโมง นายจ้างต้องจัดรถรับส่งลูกจ้างมาทำงานและส่งกลับ เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการผลิต การมอบงานให้ลูกจ้างรับไปทำที่บ้านก็เป็นทางออกที่ดีอย่างหนึ่ง
แต่การมอบงานให้ลูกจ้างรับไปทำที่บ้านก็มีสิ่งที่ต้องใคร่ครวญหลายประการ ลูกจ้างอาจต้องตรากตรำทำงานจนดึกจนดื่น หรือเกณฑ์คนในครอบครัวมาร่วมทำงาน ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย นอกจากนั้น ลักษณะงานบางอย่างก็เป็นอันตรายแก่คนทำงาน รัฐบาลจึงได้ประกาศเป็นกฎกระทรวงโดยอาศัยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 22 ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2547

อะไรเป็นงานที่รับไปทำที่บ้านที่กฎหมายคุ้มครอง

งานที่นายจ้างมอบให้ลูกจ้างรับไปทำที่บ้านมีลักษณะแตกต่างกันมาก แต่กฎหมายให้ความคุ้มครองเฉพาะ “งานที่ลูกจ้างรับจากนายจ้างไป ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม หรือ แปรรูปสิ่งของ ในบ้านของลูกจ้าง หรือสถานที่อื่นที่มิใช่สถานประกอบกิจการของนายจ้าง” และ
“โดยปกติการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใด หรือทั้งหมดในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของนายจ้าง งานอื่นที่ไม่อยู่ในข้อยกเว้น ไม่อยู่ในความคุ้มครอง แม้ว่าจะยอมให้ลูกจ้างรับไปทำที่บ้าน ก็ยังคงทำได้ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกัน

สถานที่ทำงานของลูกจ้างกำหนดอย่างไร

งานที่นายจ้างมอบให้ลูกจ้างรับไปทำนั้น นอกจากลูกจ้างจะทำในบ้านของลูกจ้างแล้วยังอาจใช้สถานที่อื่นที่มิใช่สถานประกอบกิจการของนายจ้างก็ได้ ตามแต่นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกัน ก็ให้เป็นไปตามที่ตกลงกัน ไม่ถือเอาถิ่นที่อยู่หรือที่พักอาศัยของลูกจ้างเป็นสาระสำคัญ

อุปกรณ์และวัตถุดิบที่ใช้ในการทำงาน ตลอดจนอุปกรณ์ความปลอดภัย ผู้ใดรับผิดชอบ

ลูกจ้างจะทำงานโดยใช้วัตถุดิบหรืออุปกรณ์ในการผลิตของนายจ้างทั้งหมด หรือบางส่วนก็ได้ ตามแต่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน
อนึ่ง นายจ้างต้องจัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน และต้องกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่รัฐมนตรีกำหนดโดยนายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และลูกจ้างต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ความปลอดภัยในการทำงานนั้น ตลอดจนต้องปฏิบัติตามระเบียบตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานที่นายจ้างให้มีขึ้น (แต่ก็เป็นการยากที่นายจ้างจะควบคุมดูแลให้ทั่วถึง)

งานที่ห้ามมิให้นายจ้างยอมให้ลูกจ้างรับไปทำที่บ้าน ได้แก่งานอะไรบ้าง

งานที่เป็นอันตราย ห้ามมิให้นายจ้างมอบงานให้ลูกจ้างรับไปทำได้แก่
(1) งานผลิต ประกอบ บรรจุ แปรรูปวัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟ เช่น พลุ ดอกไม้ไฟ
(2) งานผลิต หรือบรรจุสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือวัตถุมิพิษ เช่น สารไซยาไนด์ สารก่อมะเร็ง
(3) งานที่มีสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือวัตถุมีพิษเป็นอันตราย ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของงาน
(4) งานอื่นที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด

สัญญาจ้างแรงงานที่ให้ลูกจ้างรับไปทำที่บ้าน ต่างกับการจ้างแรงงานอื่นอย่างไร

การจ้างแรงงานโดยทั่วไปนั้น ไม่มีกฎหมายฉบับใดกำหนดไว้ชัดเจนว่า ต้องทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 มีความว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า “ลูกจ้าง” ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “นายจ้าง” และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้”
ฉะนั้นการที่นายจ้างมอบงานให้ลูกจ้างทำและจ่ายค่าจ้างให้ สัญญาจ้างก็เกิดขึ้นแล้ว คำพิพากษาฎีกา 2781/2526 และ 2652-2653/2529
ส่วนการจ้างแรงงาน โดยให้ลูกจ้างรับไปทำที่บ้านนั้น นายจ้างและลูกจ้างต้องทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือ มีความอย่างเดียวกันสองฉบับ ต่างฝ่ายต่างถือไว้คนละฉบับ พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้ มีข้อความอย่างน้อยคือ
(1) วันและสถานที่ที่ทำสัญญาจ้าง
(2) ชื่อตัว ชื่อสกุล อายุ และที่อยู่ของนายจ้างและลูกจ้าง นายจ้างอาจเป็นนิติบุคคลก็ได้
(3) ที่ตั้งสถานประกอบกิจการของนายจ้าง และสถานที่ทำงานของลูกจ้าง
(4) ประเภท ลักษณะ และสภาพของงานที่ส่งมอบให้แก่ลูกจ้าง
(5) วันและสถานที่ที่นายจ้างส่งมอบงานให้แก่ลูกจ้าง
(6) อัตราค่าจ้าง และการหักค่าจ้าง
(7) วันและสถานที่ที่นายจ้างจ่ายค่าจ้าง
(8) วันและสถานที่ที่นายจ้างรับมอบงานของลูกจ้าง

การจ้างแรงงานที่นายจ้างมอบให้ลูกจ้างรับไปทำที่บ้านต่างกับการจ้างทำของอย่างไร

สัญญาจ้างแรงงานที่นายจ้างมอบงานให้ลูกจ้างรับไปทำที่บ้าน มีลักษณะคล้ายกับสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ความว่า “อันว่าจ้างทำของนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพี่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น”
สาระสำคัญของการจ้างทำของ ได้แก่
(1) ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ตามความสำเร็จของงานที่ตกลงกันจะแบ่งเป็นงวด ๆ ก็ได้ มาตรา 602
(2) ผู้รับจ้างไม่ต้องทำตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง แต่ผู้ว่าจ้างอาจตรวจตราการงานนั้นได้ มาตรา 592
(3) ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องใช้ในการทำงาน และอาจรวมถึงวัตถุดิบด้วย มาตรา 588
(4) ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานหรือค่าชดเชย มาตรา 118 ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
(5) ผู้รับจ้างต้องส่งมอบงานที่รับไปให้ ทำให้เสร็จภายในเวลาที่ตกลงกัน มิฉะนั้นอาจบอกเลิกสัญญาก็ได้ มาตรา 593
(6) ผู้ว่าจ้างไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายแรงงาน เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม กฎหมายเงินทดแทน เป็นต้น

เมื่อจะมอบงานให้ลูกจ้างรับไปทำที่บ้าน ต้องทำอย่างไร

เมื่อนายจ้างประสงค์จะส่งมอบงานให้ลูกจ้าง นายจ้างต้องแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้า ก่อน วันส่งมอบงาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด)

การจ่ายค่าจ้าง และการหักค่าจ้างกำหนดอย่างไร

(1) นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างตามที่ตกลงกันภายในเวลาไม่เกินสิบห้าวัน นับแต่วันที่ลูกจ้างส่งมอบงาน
(2) ห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง เว้นแต่
2.1 การชำระเงินตามที่กฎหมายกำหนด
2.2 การชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือหนี้สวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับการยินยอมเป็นหนังสือล่วงหน้าจากลูกจ้าง แต่ไม่เกินร้อยละสิบ
2.3 ค่าเสียหายที่เกิดแก่เครื่องจักร อุปกรณ์ และวัตถุดิบ อันเกิดจากความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของลูกจ้าง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นหนังสือ แต่ไม่เกินร้อยละสิบ
เมื่อรวมทั้งสองประเภทตามข้อ 2.2 และ 2.3 ต้องไม่เกินร้อยละยี่สิบ เว้นแต่จะตกลงกันเป็นหนังสือให้เกินร้อยละยี่สิบก็ได้

ความรับผิดชอบของนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

นอกจากเงื่อนไขในการที่นายจ้างจะมอบงานให้ลูกจ้างรับไปทำที่บ้านตามที่กล่าวข้างต้น นายจ้างยังต้องรับผิดตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อีกหลายมาตรา ดังเช่น
1) การเปลี่ยนนายจ้าง นายจ้างต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้น มาตรา 13
2) ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกัน มาตรา 15
3) ห้ามนายจ้าง ผู้ควบคุมงาน ผู้ตรวจงานกระทำล่วงละเมิดทางเพศต่อลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงหรือเด็ก มาตรา 16
4) เมื่อบอกเลิกจ้าง นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าก่อนหรือเมื่อถึงกำหนดวันจ่ายค่าจ้าง มาตรา 17
5) ห้ามนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง มาตรา 44
6) การยื่นคำร้องและการพิจารณาคำร้องตามมาตรา 123 ถึงมาตรา 125 กรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับเงินจากนายจ้าง ให้ลูกจ้างร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้

อนึ่ง สัญญาจ้างที่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 และมาตรา 151 ไม่มีผลใช้บังคับ
เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับนี้ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 และให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันในประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลใช้บังคับจริงประมาณวันที่ 8 กันยายน 2547 นายจ้างผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา 152 หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 153
เมื่อได้ประกาศใช้กฎกระทรวงนี้แล้ว รัฐบาลยังต้องกำหนดระเบียบเพิ่มเติมอีกหลายเรื่องภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป
 

ที่มา : Business Management Co.,Ltd.

อัพเดทล่าสุด