การสำรวจทัศนคติของพนักงาน


991 ผู้ชม


การสำรวจทัศนคติของพนักงาน




ชัยทวี เสนะวงศ

นการบริหารองค์การยุคใหม่ ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์การก็ คือ การที่องค์การจะต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการบริหาร “คน” ในองค์การ เพราะปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า “คน” เป็นทรัพยากรที่มีค่า หายาก ราคาแพง และถ้า “คน” ได้รับการพัฒนา จูงใจ ทีเหมาะสมจะปฏิบัติงานอย่างมีศักยภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การได้อย่างไม่มีขีดจำกัด มีกูรูทางด้านการบริหารองค์การท่านหนึ่ง กล่าวไว้ว่า องค์การใดที่มีทรัพยากร “คน” ที่เป็นทั้ง “คนเก่ง” และ “คนดี” ในองค์การจำนวนมาก ๆ ก็แทบจะถือได้ว่ามีชัยในการแข่งขันไปมากกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นองค์การสมัยใหม่จึงมุ่งให้ความสนใจไปกับการบริหารทรัพยากร “คน” เป็นพิเศษ ทั้งนี้เพื่อที่จะดึงดูด รักษา และจูงใจ ให้ทั้ง ”คนเก่ง” และ ”คนดี” อยากเข้ามาและอยู่ปฏิบัติงานกับองค์การนาน ๆ ซึ่งก็จะต้องใช้ทั้งศาสตร์ และศิลป์ขั้นสุดยอดของการบริหารทรัพยากร “คน” ดังนั้นองค์การต่าง ๆ จึงพยายามสร้างนวัตกรรม และกลยุทธ์ใหม่ ๆ ในการบริหารทรัพยากร “คน” ของตนขึ้นมา ก็เพื่อจูงใจ และกระตุ้นให้ “คน” ทุ่มเทกับการปฏิบัติงานสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานที่ตนเองรับผิดชอบยิ่ง ๆ ขึ้นไป

นวัตกรรม และกลยุทธ์ใหม่ ๆ ทางการบริหาร “คน” จะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อ นวัตกรรมและกลยุทธ์นั้นตรงกับความต้องการ หรือแก้ปัญหาในเรื่อง “คน” ขององค์การได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ และประสิทธิ์ผล โดยทั่วไปองค์การส่วนใหญ่ยังขาดทักษะของการที่จะให้ได้มาซึ่งความต้องการ ความรู้สึก ความคิดเห็น ที่รวม ๆ แล้ว เรียกว่า ทัศนคติของพนักงานที่มีต่อองค์การอย่างเป็นระบบ ส่วนมากองค์การมักจะทราบ และได้มาเพียงทัศนคติของพนักงานเฉพาะแต่เรื่องงานเท่านั้น ส่วนทัศนคติของพนักงานในเรื่องอื่น ๆ เช่น ทัศนคติต่อนโยบายการบริหาร ทัศนคติต่อผู้บังคับบัญชา บรรยากาศในสถานที่ทำงาน และทัศนคติต่อการบริหาร “คน” โดยภาพรวม ฯลฯ เป็นส่วนที่องค์การละเลย โดยที่ในมุมมองของพนักงานถือว่าทัศนคติเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อพลังงานในการทุ่มเทให้กับการปฏิบัติงานของพวกเขา การที่จะให้ได้มาถึงทัศนคติของพนักงานต่อการบริหารงานขององค์การโดยภาพรวมอย่างเป็นระบบนั้นเรียกว่า “การสำรวจทัศนคติของพนักงาน” ซึ่งการสำรวจทัศนคติของพนักงานเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีกระบวนการการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องมากมาย ถ้าองค์การใดมีแนวคิดที่จะทำการสำรวจทัศนคติของพนักงาน ควรที่จะทำความเข้าใจในกระบวนการของการสำรวจทัศนคติของพนักงานเสียก่อน ดังมีรายละเอียดต่าง ๆ ต่อไปนี้

การสำรวจทัศนคติของพนักงานจะแบ่งกระบวนการในการปฏิบัติงานออกเป็น 4 กระบวนการใหญ่ คือ
1. การวางแผนก่อนที่จะทำการสำรวจ
2. การลงมือทำการสำรวจ
3. การประมวลผล และวิเคราะห์ผลการสำรวจ
4. การนำเสนอรายงานผลการสำรวจ

ในแต่ละกระบวนการจะมีขั้นตอนในการปฏิบัติงานย่อย ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งจะขออธิบายในรายละเอียดดังนี้
1. การวางแผนก่อนที่จะทำการสำรวจ เป็นกระบวนการแรกที่ฝ่ายบริหารจะต้อง เตรียมการก่อนที่จะลงมือสำรวจทัศนคติของพนักงานทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจได้ว่า การสำรวจทัศนคติของพนักงานจะเป็นกระบวนการที่กระทำอย่างเป็นระบบ และผลของการสำรวจทัศนคติของพนักงานจะสะท้อนทัศนคติของพนักงานในเรื่องต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งกระบวนการในการวางแผนมีขั้นตอน ดังนี้

1.1 การเตรียมการโดยทั่ว ๆ ไป ก่อนที่องค์การจะตัดสินใจว่าจะทำการสำรวจทัศนคติของพนักงาน หรือไม่ ควรตอบคำถาม 2 ข้อ ทั้งนี้เสียก่อน

1.1.1 การสำรวจทัศนคติของพนักงานมีความเหมาะสมและจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ?
ซึ่งการตอบคำถามข้อนี้พิจารณาจากปัจจัย 2 ประการ


การสำรวจทัศนคติของพนักงาน


หมายถึง: การสำรวจหรือค้นหาความรู้สึกนึกคิดของพนักงาน ที่มีต่อองค์การ ซึ่งอาจจกระทำการสำรวจได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การสัมภาษณ์พนักงานโดยตรงการสอบถามจากผู้บังคับบัญชา การทำการสำรวจโดยให้พนักงานกรอบแบบสำรวจหรือแบบสอบถาม เป็นต้น.

ความเหมาะสม พิจารณาจาก
+ จำนวนพนักงานมีมากจนไม่สามารถที่จะใช้การสัมภาษณ์เป็นรายบุคคลได้
+ องค์การต้องการทราบทัศนคติของพนักงานในรูปแบบที่เป็นทางการไม่ใช่เสียงบ่นในหมู่พนักงาน
+ องค์การควรมีมุมมองเสียก่อนว่าผลของการสำรวจที่ออกมา เป็นเพียงความคิดเห็นของพนักงาน ซึ่งอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไปก็ได้
ความจำเป็น พิจารณาจาก
+ มีสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันในทัศนคติของการปฏิบัติงานระหว่างฝ่ายบริหาร และพนักงาน เช่น อัตราการลาออกของพนักงานสูง มีข้อโต้แย้งในนโยบายขององค์การจากพนักงานเสมอ ๆ เป็นต้น
+ ในทัศนคติที่แตกต่างกันนั้นฝ่ายบริหารเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องค้นหาข้อเท็จจริงเสียก่อนที่จะลงมือแก้ไขปัญหา

ในการพิจารณาถึงความเหมาะสม และความจำเป็นก่อนที่จะตัดสินใจสำรวจทัศนคติของพนักงานนั้น องค์การจะต้องให้น้ำหนักความสำคัญของปัจจัยของความเหมาะสม และความจำเป็นให้ไปด้วยกัน ถึงจะตัดสินใจลงมือทำการสำรวจ เพราะว่าการให้ได้มาซึ่งทัศนคติของพนักงานนั้นยังมีวิธีการอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่ใช่การสำรวจทัศนคติของพนักงาน ด้วยวิธีการกรอกแบบสอบถาม เช่น การสัมภาษณ์พนักงานเป็นรายบุคคล การตรวจสอบทัศนคติของพนักงานโดยผ่านผู้บังคับบัญชา การสังเกตพฤติกรรมของพนักงาน เป็นต้น
1.1.2 การสำรวจทัศนคติของพนักงานมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร?

วัตถุประสงค์ของการสำรวจทัศนคติของพนักงาน


เป็นกระบวนการกำหนดกรอบในการสำรวจที่จะให้ได้มาซึ่งความคิดเห็นของพนักงาน ต่อองค์การในหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์หาทางแก้ปัญหาของพนักงานในระยะยาวต่อไป

เมื่อองค์การตัดสินใจที่จะทำการสำรวจทัศนคติของพนักงาน ขั้นตอนต่อมาก็คือ องค์การจะต้องมากำหนดถึงวัตถุประสงค์ของการสำรวจเสียก่อนว่าจะทำการสำรวจไปเพื่ออะไร ต้องการทราบความคิดเห็นของพนักงานเรื่องอะไรบ้าง พนักงานกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มใด และจะทำการสำรวจด้วยวิธีการใด เป็นต้น การกำหนดวัตถุประสงค์ในการสำรวจทัศนคติของพนักงานที่ดี ควรกำหนดให้ชัดเจนมากที่สุดเพื่อความเที่ยงตรงของข้อมูลที่จะได้ และประหยัดเวลาในการสำรวจเพราะถ้ากำหนดวัตถุประสงค์เอาไว้กว้าง ๆ จะก่อให้เกิดปัญหาในการสร้างคำถามในแบบสำรวจที่จะต้องสร้างคำถามให้กว้าง ๆ ครอบคลุมไปทุกเรื่องที่ต้องการทราบ จำนวนคำถามก็จะมาก ทำให้ผู้ตอบคำถามอาจจะเบื่อ และให้ข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริงก็เป็นไปได้

1.2 การกำหนดรูปแบบวิธีการของการสำรวจ รูปแบบวิธีการ ของกระบวนการสำรวจทัศนคติ ของพนักงานจะแบ่งออกเป็น 2 กระบวนการใหญ่ ๆ คือ

1.2.1 การสร้างแบบสอบถาม
ไม่ว่าการสำรวจทัศนคติของพนักงานจะทำโดยการสัมภาษณ์ หรือ การให้พนักงานกรอกแบบสอบถาม การสร้างแบบสอบถามที่ดีมีความชัดเจนในตัวคำถามจะช่วยให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่สะท้อนความคิดเห็นของพนักงานอย่างตรงไปตรงมา โดยทั่ว ๆ ไปแบบสำรวจทัศนคติของพนักงานควรครอบคลุมถึงข้อมูลด้านต่าง ๆ ดังนี้
+ ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับพนักงาน เช่น อายุ เพศ อายุงาน การศึกษา ตำแหน่งงาน หน่วยงาน เป็นต้น
+ ความคิดเห็นต่อนโยบาย วัฒนธรรม ค่านิยม ขององค์การ
+ การติดสื่อสารภายในองค์การ
+ สภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงาน เช่น อาคารสถานที่ สถานที่ตั้ง การตกแต่งสถานที่ทำงาน ความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน ฯลฯ
+ ทัศนคติต่อผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา และเพื่อน
+ ความคิดเห็นต่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติงาน
+ ความคิดเห็นต่อรูปแบบวิธีการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์การ เช่น การจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน การประเมินผลการปฏิบัติงาน การสัมมนาและฝึกอบรม การพนักงานสัมพันธ์ การสนทนาการ ฯลฯ
+ ความประทับใจต่อการเป็นพนักงานขององค์การ


ควรมีการทดสอบแบบสอบถามก่อนหรือไม่ ? คำตอบ “ควร”


+ ควรทำการทดสอบแบบสอบถามทั้งนี้เพื่อเป็นการตรวจสอบว่า ข้อมูลที่ได้มาจากการทดสอบครอบคลุมวัตถุประสงค์ของการสำรวจหรือไม่ และตัวคำถามมีความชัดเจนเที่ยงตรง ต่อการตอบมากน้อยเพียงไร
+ การทดสอบควรจะกระทำกับพนักงานทุกระดับที่จะทำการสำรวจประมาณ ร้อยละ 10-20 ของจำนวนพนักงานที่จะทำการสำรวจ
+ เมื่อทดสอบแล้วจะต้องมีการปรับปรุงแบบสอบถาม ซึ่งอาจจะมีการทดสอบแบบสอบถามมากกว่า 1 ครั้ง ก็เป็นได้

ในคำถามแต่ละกลุ่ม ควรจะมีข้อคำถามย่อย ๆ กระจ่ายอยู่โดยทั่วไปในแบบสอบถาม เพื่อเป็นการตรวจสอบคำตอบว่าเป็นความคิดเห็นที่ผู้ตอบต้องการแสดงออกมาจริง ๆ มิใช่เป็นการแสแสร้งตอบ และในคำตอบของแต่ละคำถามจะต้องสร้างตัวเลือกทั้งในแง่ “บวก” และในแง่ “ลบ” ไว้ให้ชัดเจน ควรพยายามขจัดตัวเลือกตอบที่เป็นกลาง ๆ ออกไป เช่น ไม่แน่ใจ เฉย ๆ ยังไม่มีความเห็น เป็นต้น ออกไปให้มากที่สุด

1.2.2 การกำหนดแนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อสร้างแบบสอบถามเสร็จสมบูรณ์แล้วก่อนที่จะลงมือทำการสำรวจ ผู้สำรวจควรเตรียมการในเรื่องของการประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจเสียก่อนว่าจะใช้วิธีการใดสถิติที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจประเภทใดที่จะนำมาใช้ ควรมีการหาค่าความสัมพันธ์ของข้อมูลอย่างไร เป็นต้น

1.3 กรรมวิธีในการแจกแบบสอบถาม ในการสำรวจทัศนคติของพนักงานแบบที่จะให้พนักงานตอบแบบสอบถาม การให้ความอิสระ และการรักษาความลับของผู้ตอบแบบสอบถาม จะเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมาและเป็นจริงมากที่สุด จากพนักงาน ซึ่งก่อนแจกแบบสอบถามให้กับพนักงานควรจะพิจารณาถึงปัจจัยเหล่านี้ประกอบด้วย

1.3.1 พนักงานจะได้รับแบบสอบถามโดยวิธีการใด มีวิธีการหลากหลายวิธีการในการสั่งแบบสอบถามให้กับพนักงาน เช่น ส่งทางไปรษณีย์ไปที่บ้านของพนักงาน แนบแบบสอบถามไปกับใบจ่ายเงินเดือน วางแบบสอบถามไว้ในสถานที่ที่เป็นส่วนกลาง (ห้องอาหาร ห้องผักผ่อน ศูนย์กีฬา) วางแบบสอบถามไว้ตามตู้เก็บของส่วนตัวของพนักงาน แจกแบบสอบถามกับพนักงานโดยตรง เป็นต้น

1.3.2 พนักงานจะส่งแบบสอบถามกลับมาโดยวิธีการใด การที่จะให้พนักงานส่งแบบสอบถามกลับคืนมา ก็มีหลากหลายวิธีเช่นกัน องค์การควรจะเลือกวิธีการที่จะสร้างความรู้สึกให้กับพนักงานว่าการส่งแบบสอบถามกลับมานั้นจะเป็นความลับ เช่น การส่งทางไปรษณีย์โดยองค์การเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้พนักงานหย่อนแบบสอบถามลงในตู้รับข้อเสนอแนะ หรือตู้ที่จัดทำขึ้นมาเป็นพิเศษ (สถานที่ตั้งตู้เหล่านี้ควรอยู่ในที่มีความเป็นส่วนตัวสูง) ส่งแบบสอบถามตามระบบการส่งเอกสารภายในบริษัทถึงฝ่ายทรัพยากรบุคคล เป็นต้น

อนึ่งในการส่งแบบสอบถามไปให้พนักงานนั้น ควรมีหนังสือ หรือจดหมายชี้แจงกับพนักงานติดไปกับแบบสอบถามด้วย หนังสือชี้แจงนี้ควรระบุถึงวัตถุประสงค์ของการสำรวจ องค์การจะชี้แจงสรุปภาพรวมของการสำรวจให้พนักงานทราบด้วยวิธีการอย่างไร เมื่อไร และที่สำคัญที่สุดองค์การควรจะเน้นให้พนักงานวางใจได้ว่าองค์การจะให้ความอิสระอย่างเต็มที่แก่พนักงานในการตอบแบบสอบถาม โดยจะไม่พยายามตรวจสอบว่าใครเป็นผู้ตอบ โดยผู้บริหารระดับสูงขององค์การเป็นผู้ลงนาม
มีข้อพิจารณาเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการสั่งแบบสอบถามให้กับพนักงาน และการให้พนักงานส่งแบบสอบถามกลับคืนมา เช่น องค์การที่พนักงานมีขวัญ และกำลังใจต่ำมากเท่าใด การส่งแบบสอบถามไป และกลับ ควรจะต้องใช้วิธีการที่ปกปิดมากขึ้นเท่านั้น แบบสอบถามประเภทที่ต้องการให้ผู้ตอบเขียนบรรยาย (ปลายเปิด) ผู้ตอบก็ต้องการปกปิดตัวเองมากขึ้นเท่านั้น เช่นกัน การส่งแบบสอบถามไปยังบ้านพักของพนักงาน พนักงานบางคนอาจจะไม่พอใจ เพราะจะไปรบกวนชีวิตส่วนตัวของเขาก็เป็นได้

ไม่ว่าองค์การจะใช้วิธีการส่งแบบสอบถามไปให้พนักงานด้วยวิธีการใด องค์การควรที่จะมีการตั้งเป้าหมายเอาไว้ด้วยว่าจะต้องได้แบบสอบถามที่พนักงานตอบเสร็จเรียบร้อยแล้วกลับมาสักจำนวนเท่าใด ดีที่สุดควรได้แบบสอบถามกลับมาเท่ากับจำนวนที่ส่งไป เลวร้ายที่สุดควรไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 (เพราะองค์การต้องการข้อมูลที่เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่จริง ๆ )

1.4 การวางแผนขั้นสุดท้ายก่อนลงมือทำการสำรวจ เมื่อเตรียมการทุกอย่างพร้อมแล้ว ก่อนลงมือทำการสำรวจจริง ๆ ควรที่จะต้องมาพิจารณาถึงข้อปลีกย่อยอื่น ๆ ของกระบวนการสำรวจทัศนคติของพนักงานอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้การสำรวจประสบความสำเร็จมากที่สุด ดังนี้

1.4.1 องค์การจะทำอย่างไรต่อผลของการสำรวจ คงไม่เป็นปัญหาสำหรับสิ่งที่องค์การจะปรับปรุงให้ตามความต้องการของพนักงาน แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหาก็คือสิ่งที่องค์การไม่สามารถจะปฏิบัติตามความต้องการของพนักงานได้ องค์การจะกล้าพอที่จะบอกพนักงานไหมว่าองค์การไม่สามารถจะปรับปรุงในสิ่งเหล่านั้นให้กับพนักงานได้ด้วยเหตุผลอะไร

1.4.2 การประชาสัมพันธ์ให้พนักงานทราบถึงการสำรวจทัศนคติของพนักงาน ควรครอบคลุมในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้
+ วัตถุประสงค์ของการสำรวจ
+ ผลของการสำรวจจะชี้แจงกับพนักงานด้วยวิธีการใด
+ หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสำรวจ
+ กรรมวิธีในการสำรวจ
+ ถ้าองค์การเลือกวิธีการที่ให้พนักงานลงชื่อในแบบสอบถาม มีเหตุผลอย่างไร

มีข้อสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างแบบสอบถามที่ให้พนักงานลงชื่อและไม่ต้องให้พนักงานลงชื่อ แบบสอบถามที่ไม่ต้องให้พนักงานลงชื่อจะได้รับแบบสอบถามกลับมาค่อนข้างมาก ได้ข้อมูลความคิดเห็นของพนักงานอย่างตรงไปตรงมา (บ้างครั้งเป็นข้อมูลที่น่าประหลาดใจสำหรับผู้บริหาร) แต่ข้อมูลที่ได้มาองค์การจะวิเคราะห์ยากว่าปัญหาเกิดขึ้นตรงไหน การแก้ปัญหาอาจจะไม่ตรงสาเหตุของปัญหา และกลุ่มเป้าหมาย ตรงกันข้ามแบบสอบถามที่ให้พนักงานลงชื่อจะได้ข้อมูลที่ระมัดระวัง (เป็นกลาง ๆ ) แบบสอบถามตอบกลับมาน้อย ข้อมูลที่ได้จะเป็นข้อเท็จจริง การวิเคราะห์ข้อมูลจะสะดวกต่อการทราบถึงมูลเหตุ อาการ และกลุ่มเป้าหมาย ของปัญหา ทำให้การแก้ปัญหาทำได้ตรงจุด และกลุ่มเป้าหมาย มากขึ้น
2. การลงมือทำการสำรวจ เมื่อทุกอย่างเตรียมการพร้อมแล้วก็ลงมือทำการสำรวจตามขั้นตอน หรือวิธีการที่วางแผนไว้ หน่วยงานที่รับผิดชอบต่อการสำรวจทัศนคติของพนักงานจะต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวของบรรยากาศในช่วงการสำรวจอย่างสม่ำเสมอ สิ่งไหนที่เน้นให้เป็นเรื่องปกปิดก็ควรจะสร้างบรรยากาศให้เป็นเช่นนั้นจริง ๆ การตอบแบบสอบถามไม่ควรที่จะมีการชี้นำจากผู้หนึ่งผู้ใดไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชา หรือเพื่อน ถ้าใกล้จะหมดระยะเวลาของการสำรวจแบบสอบถามตอบกลับมาจำนวนมากน้อยเพียงไร ถ้ามีแบบสอบถามตอบกลับมาน้อย ๆ จะรณรงค์อย่างไรต่อไป เพื่อให้ได้แบบสอบถามกลับมามากขึ้น แบบสอบถามที่ให้พนักงานไปหย่อนไว้ตามตู้ต่าง ๆ ควรจะกำหนดระยะเวลาในการเก็บด้วย (ไม่ควรปล่อยให้แบบสอบถามค้างอยู่ในตู้นานเกินไป) พนักงานจะได้เห็นความตั้งใจจากองค์การว่าจริงจังต่อการสำรวจในครั้งนี้เพียงใด เมื่อจบระยะเวลาการส่งแบบสอบถามกลับมาแล้ว การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลควรจะกระทำในลักษณะที่ปกปิด และทำเฉพาะในส่วนของผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น และท้ายที่สุดเมื่อจบโครงการการสำรวจทัศนคติของพนักงานแล้ว แบบสอบถามจะเก็บไว้นานเท่าไร และถ้าจะทำลายควรจะทำลายด้วยวิธีการใด

3. การประมวลผลและวิเคราะห์ผลการสำรวจ เมื่อได้แบบสอบถามกลับมาแล้วอันดับแรกควรที่จะตรวจสอบว่าแบบสอบถามที่ตอบกลับมาเป็นร้อยละเท่าไร ของจำนวนแบบสอบถามที่ส่งออกไปทั้งหมด โดยทั่วไปการสำรวจทัศนคติของพนักงานมักไม่ค่อยนิยมใช้เทคนิควิธีการทางสถิติขั้นสูงมาทำการประมวลผลข้อมูล เพราะฉะนั้นการประมวลผลข้อมูลของการสำรวจทัศนคติของพนักงานจะเป็นเพียงการสรุปคะแนนของคำตอบ
ต่าง ๆ ในแต่ละคำถาม แล้วแสดงผลออกมาในรูปของร้อยละ และถ้าต้องการวิเคราะห์ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นก็ใช้วิธีการหาค่าความสัมพันธ์ของตัวแปรสองตัวแปร เช่น เพศกับการส่งแบบถามกลับ อายุกับการตัดสินใจลาออก อายุงานกับความพึงพอใจในนโยบายของบริษัท ตำแหน่งงานกับโอกาสในการได้รับการสัมมนาและฝึกอบรม เป็นต้น

ในขั้นการวิเคราะห์ผลที่จะเป็นการนำข้อมูลดิบของแต่ละคำถามมาทำการวิเคราะห์สาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร ซึ่งคำตอบส่วนหนึ่งก็มาจากตัวคำถามในแบบสอบถามนั้นเอง เมื่อสามารถวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาได้แล้วควรที่จะมีการเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาที่ได้จากการสำรวจเอาไว้ด้วย

4. การนำเสนอรายงานผลการสำรวจ ในการนำเสนอรายงานผลการสำรวจทัศนคติของพนักงานควรจะทำรายงานผลการสำรวจที่เป็นเอกสารออกมารูปแบบเดียว ไม่ว่าจะเสนอรายงานต่อฝ่ายบริหาร หรือพนักงานแต่สำหรับรูปแบบการนำเสนอที่เป็นการชี้แจงด้วยวาจาต่อคนหมู่มากควรจะมีการสรุปข้อมูล เพื่อการนำเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องออกมาเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

4.1 การนำเสนอผลการสำรวจทัศนคติของพนักงานต่อฝ่ายบริหาร ข้อมูลที่จะนำเสนอต่อฝ่ายบริหารควรประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้
4.1.1 วัตถุประสงค์ของการสำรวจ
4.1.2 กระบวนการคร่าว ๆ ของการสำรวจ
4.1.3 ข้อมูลที่ได้ และการวิเคราะห์ผลการสำรวจ
4.1.4 สรุปผล และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาจากคณะผู้รับผิดชอบการสำรวจ
4.2 การนำเสนอผลการสำรวจทัศนคติของพนักงานต่อพนักงาน ในการนำเสนอผลการสำรวจต่อพนักงานจะต้องขจัดสิ่งที่จะทำให้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเสียไป หรือการกล่าวหาที่พาดพิงถึงตัวบุคคล ออกไปให้หมดก่อน ข้อมูลที่จะนำเสนอต่อนพนักงานควรประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้
4.1.2 วัตถุประสงค์ของการสำรวจ
4.2.2 ข้อมูลที่ได้และการวิเคราะห์ผลการสำรวจ
4.2.3 สรุปผลการสำรวจ
4.2.4 การชี้แจงของฝ่ายบริหารถึงการแนวทางการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน และอนาคต สิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขให้เป็นไปตามความต้องการของพนักงานได้

อนึ่งในการนำเสนอผลการสำรวจต่อพนักงานนั้นฝ่ายบริหารควรมีการเตรียมตัวที่ดีพอสมควร เพราะการชี้แจงกับพนักงานว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรคงไม่ยุ่งยากมากนักแต่การที่จะชี้แจงกับพนักงานให้ทราบถึงว่าความต้องการของพนักงาน หรือทัศนคติของพนักงานบางเรื่อง องค์การไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาให้กับพนักงานได้ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเตรียมเหตุผลมาอธิบายที่ชัดเจนและเป็นระบบมากที่สุด เพื่อโน้มน้าวให้พนักงานเข้าใจในเหตุผลจะได้ลดความไม่พึงพอใจของพนักงานลงได้บ้าง

รุป ยังไม่มีข้อบ่งบอกที่ชัดเจนว่าการสำรวจทัศนคติของพนักงานควรจะทำการสำรวจเมื่อใด แต่มีแนวทางกว้าง ๆ ว่าองค์การที่มีปัญหา เช่น อัตราการลาออกของพนักงานสูง อัตราของเสียสูง พนักงานขาดความกระตือรืนล้น ความพยายามแก้ปัญหาต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารแต่ปัญหาก็มิได้บรรเทาเบาบางลง เป็นต้น อาการขององค์การเหล่านี้ เหมาะที่จะคิดทำการสำรวจทัศนคติของพนักงานมากที่สุดแต่ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือทำการสำรวจทัศนคติของพนักงานฝ่ายบริหารจะต้องเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะการสำรวจจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าองค์การต้องการทราบความคิดเห็น ความต้องการในเรื่องต่าง ๆ จากพนักงานโดยตรง พนักงานก็คาดหวังว่าเมื่อเขาบอกให้ทราบถึงความต้องการของเขาให้ทราบแล้ว เมื่อไรพวกเขาจะได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือปัญหาจะได้รับแก้ไข และสิ่งที่องค์การไม่สามารถตอบสนองให้พนักงานได้ก็ควรที่จะมีคำอธิบายด้วยเหตุผลที่ชัดเจนที่สุด การสำรวจทัศนคติของพนักงานควรที่จะต้องทำเป็นระบบอย่างมืออาชีพ เพราะเป็นกระบวนการที่จะให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องตรงไปตรงมาจากพนักงาน เพื่อที่ฝ่ายบริหารจะใช้เป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาขององค์การได้ถูกจุดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อจะทำให้พนักงานและฝ่ายบริหารมีทัศนคติที่ดีต่อกัน อันจะนำมาซึ่งการร่วมแรง ร่วมใจกันปฏิบัติงาน ผลักดันให้องค์การเจริญก้าวยิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคต

 

ที่มา : Business Management Co.,Ltd.

อัพเดทล่าสุด