กรณีศึกษา-การบริหารการลาป่วย


852 ผู้ชม


กรณีศึกษา-การบริหารการลาป่วย




รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ [email protected] คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมเริ่มต้นเรื่องของผลกระทบของการลาป่วยของพนักงานไว้นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลาป่วยในลักษณะที่กะทันหัน ไม่ได้แจ้งให้บริษัททราบล่วงหน้า ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อองค์กรทั้งทางด้านการบริหารและด้านค่าใช้จ่ายพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เริ่มพบเจอมากขึ้น คือบุคลากรหลายท่านใช้วันลาป่วยเพื่อทำธุระอย่างอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการเจ็บป่วย และประเด็นสำคัญคือไม่ได้แจ้งล่วงหน้า (มักจะแจ้งตอนเช้าของวันลา ทั้งๆ ที่วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว) ซึ่งก็ส่งผลเสียต่อองค์กร

ทีนี้ในต่างประเทศก็ได้เริ่มมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เช่น การทำ Paid Time-Off ที่เป็นการรวมวันลาทั้งหลายเข้าด้วยกันครับ ไม่แยกเป็นลาหยุดหรือลาป่วย ซึ่งก็ได้มีท่านผู้อ่านบางท่านกรุณาให้ความเห็นว่าในเมืองไทยอาจจะลำบาก เนื่องจากกฎหมายแรงงานได้กำหนดวันลาหยุดและลาป่วยแยกจากกัน อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์นี้เรามาดูกรณีศึกษาของบริษัทต่างๆ ที่เขาทำกัน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวนะครับ เผื่อจะเป็นแนวทางสำหรับท่านผู้อ่าน

จริงๆ แล้ว เราต้องเริ่มจากการดูสาเหตุก่อนนะครับว่า ทำไมบุคลากรบางท่านถึงพยายามบิดเบือนวันลาป่วยและทำให้บริษัทเสียหาย หลายครั้งอาจจะเกิดขึ้นจากระบบมีช่องโหว่ให้บิดเบือนจริงๆ แต่บางครั้งก็อาจจะเกิดจากการบริหารนะครับ ถ้าที่หน่วยงานท่านพนักงานลาป่วยมากผิดปกติ ท่านผู้อ่านอาจจะต้องวิเคราะห์อย่างละเอียดก่อนนะครับว่า อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของการที่พนักงาน เป็นเพราะระบบมีช่องว่างให้บิดเบือน หรือเกิดขึ้นจากแนวทางการบริหารของท่าน

มีที่ปรึกษาของโรงแรมแห่งหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ที่สาขาหนึ่งพนักงานมีอัตราการลาป่วยมากผิดปกติ ก็เลยย้ายผู้จัดการที่สาขานั้นกลับมายังสำนักงานใหญ่ ผลปรากฏว่าอัตราการลาป่วยลดน้อยลงครับ แสดงให้เห็นว่าสาเหตุที่พนักงานลาป่วยเยอะ ไม่ได้เกิดขึ้นอยู่กับระบบหรือเจตนาที่ไม่ดีของพนักงาน แต่เกิดขึ้นจากตัวผู้บริหารเอง

ลองดูตัวอย่างที่บริษัทชื่อ Electric Boat นะครับ เขามีวิธีจูงใจให้คนลาป่วยกันน้อยครับ โดยผูกกับแรงจูงใจ โดยพนักงานคนใดก็ตามที่ใช้วันลาป่วยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัท จะมีสิทธิเข้าชิงรางวัลประจำปีครับ โดยพนักงานที่เข้าชิงรางวัลมีสิทธิได้รับเงินตั้งแต่ $500 ถึง $2,500 ดอลลาร์ครับ

ในขณะที่บางบริษัทนั้นเขาจะมีการจ่ายเงินรางวัลหรือมอบของให้กับพนักงานที่มีอัตราการลาป่วยต่ำ (หรือไม่ลาเลย) แต่ที่ Electric Boat เขาจะไม่ทำแบบนั้นครับ เนื่องจากถ้าให้ทุกคน เงินรางวัลที่แต่ละคนจะได้รับก็จะไม่มากเท่าไร และที่สำคัญคือไม่สนุกด้วยครับ เลยจัดเป็นการชิงโชคขึ้นมาแทนครับ อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญคือคนที่จะมีสิทธิเข้าชิงโชคได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีอัตราการลาป่วยต่ำกว่าชาวบ้านเขาครับ

มีอยู่ปีหนึ่งที่มีพนักงานเก้าร้อยกว่าคนที่ไม่ได้ใช้วันลาป่วยเลย 20 คน ได้รางวัลใหญ่ $2,500 อีก 75 คนได้ $1,000 และ 50 คน ได้ $100 นอกจากนี้ ยังมีอีก 25 คนที่ไม่ได้เงินรางวัล แต่ได้ที่จอดรถที่มีทำเลที่ดี และสุดท้ายพนักงานทุกคนที่มีสิทธิเข้าชิงโชคจะได้คนละ $25

อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าที่ Electric Boat นั้น เขาห้ามคนป่วยนะครับ แต่เขานำระบบข้างต้นมาใช้ได้สำเร็จ เนื่องจากใช้ระบบ Flextime ควบคู่ไปด้วย โดยระบบ Flextime นั้นหลายๆ ท่านก็คุ้นครับ นั่นคือถ้าเข้าทำงานเช้าก็กลับได้เร็ว ถ้าเข้าสายก็กลับค่ำหน่อย (เป็นระบบเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นที่หลายๆ องค์กรใช้กันอยู่ในปัจจุบัน) ดังนั้น ถ้าพนักงานเกิดป่วยและมาไม่ได้ในวันหนึ่ง เขาอาจจะทำงานยาวนานขึ้นในวันอื่นๆ เพื่อชดเชยวันที่หยุดไป หรือถ้าจะต้องเข้าสายเพราะติดธุระที่โรงเรียนลูก ก็สามารถทำงานและกลับค่ำหน่อยในวันนั้น

อีกบริษัทหนึ่งชื่อ Lahey Clinic เขาใช้ระบบ PTO ที่ได้นำเสนอไปในสัปดาห์ที่แล้วครับ โดยพนักงานแต่ละคนจะได้รับวันลาตามอายุงาน และตำแหน่งหน้าที่ และวันลาดังกล่าวจะใช้กับการลาหยุดพักร้อนหรือลาป่วยก็ได้ ส่วนถ้าลาเนื่องจากเหตุฉุกเฉินอื่นๆ เช่น สมาชิกครอบครัวเสียชีวิต แต่ละแผนกก็จะพิจารณากันเอง ประเด็นที่น่าสนใจก็คือที่บริษัทนี้ถ้าวันลาเหลือ ก็สามารถที่จะขายคืนกลับมาที่บริษัทและรับเป็นเงินแทนได้ครับ ซึ่งสำหรับพนักงานบางคนที่เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญกว่าวันลา ก็สามารถใช้สิทธิในการขายวันลาที่เหลือกลับคืนให้บริษัทได้

ผู้บริหารของ Lahey Clinic กล่าวว่า การจะนำระบบ PTO มาใช้ให้บังเกิดผลนั้น ประเด็นสำคัญ คือพนักงานทุกคนจะต้องเข้าใจในระบบ และพยายามวางการลาไว้ล่วงหน้านานๆ เพื่อที่บริษัทจะได้รับทราบและเตรียมการไว้ ซึ่งที่ Lahey Clinic นั้น เขาอ้างว่านำระบบ PTO มาใช้อย่างได้ผลครับ เนื่องจากอัตราการลาป่วย (แบบกะทันหัน) ลดน้อยลง และประหยัดเงินให้กับบริษัทได้มากขึ้น

อีกบริษัทที่ชื่อ Clean Air Agency นั้น เดิมเขามีวันลาป่วย 10 วัน และลาพักอีก 10 วัน แต่เมื่อเขานำระบบ PTO มาใช้ ก็จะให้สิทธิพนักงานลาได้ 18 วัน สำหรับการลาใดๆ ก็ได้ (อาจจะดูน้อยลง แต่ในทางปฏิบัติเรามักไม่ค่อยใช้วันลาป่วยครบอยู่แล้วนะครับ) ดังนั้น ถ้าพนักงานสุขภาพแข็งแรงดีก็เรียกได้ว่ามีวันลาหยุดพักได้มากขึ้น โดยที่บริษัทนี้เขามองว่าการนำระบบนี้มาใช้กลับเป็นเครื่องมือในการจูงใจพนักงานมากกว่าการพยายามลดต้นทุนให้กับบริษัทด้วยซ้ำ

ท่านผู้อ่านก็ลองนำตัวอย่างข้างต้นไปปรับใช้ดูนะครับ อาจจะไม่สามารถใช้กับเมืองไทยได้หมด แต่ก็น่าสนใจ เนื่องจากการลาป่วย (แบบกะทันหันและไม่ได้ป่วยจริง) ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งทางด้านกำลังใจและต้นทุนกับองค์กรต่างๆ พอสมควรครับ

สุดท้ายขอฝากประชาสัมพันธ์โครงการเสริมสร้างผู้จัดการยุคใหม่ (MMP) ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ซึ่งจะเปิดเป็นรุ่นที่ 53 แล้วนะครับ เป็นโครงการในลักษณะ Mini-MBA ที่เรียนในทุกศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับผู้บริหาร สนใจก็สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2218-5701-2 นะครับ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด