การบริหารสุขภาพพนักงาน # 1


772 ผู้ชม


การบริหารสุขภาพพนักงาน # 1




กฤษณเนตร พันธุมโพธิ 

การคลายเครียด ( Stress Management )

สภาพแวดล้อมในการทำงานในรอบสิบปีที่ผ่านมาเปลี่ยนไปเป็นอันมาก ผู้บริหารงานบุคคลต้องให้ความเอาใจใส่ต่อสุขภาพ ของคนทำงานมากขึ้น ที่จริงแล้วนับตั้งแต่เกิดสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในระยะห้าปีที่ผ่านมา มีคนทำงานจำนวนมากประสบ โรคภัยไข้เจ็บอันเนื่องจากความเครียด ในต่างประเทศมีผู้ทำการศึกษาค้นคว้า พบว่า หนึ่งในสี่ของคนทำงานต่างเจ็บป่วยและว้าวุ่นใจ อันเนื่องจากความเครียด ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง บริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งจึงมีแผนงานที่จะแก้ไขปัญหานี้
ความเครียดเป็นปฏิกริยาต่อความต้องการของคนที่ไม่อาจระบุให้ชัดเจนได้ เป็นผลที่แตกต่างกันแต่ละคน ผู้จัดการ ธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งมีอาการผื่นแดงตามใบหน้า ลำตัว แขนและขา อาจารย์คนหนึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาของวิทยาลัยอาชีวศึกษา เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ทั้งคู่ต้องหยุดงาน แพทย์ที่รักษาได้แต่ให้ยาลดอาการ เพราะไม่ใช่อาการที่เกิดจากโรค
ในต่างประเทศ ได้มีการนำคดีไปสู่ศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท รวมถึงโรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งเกิดจากความกดดัน ในการทำงาน ในประเทศไทยมีหน่วยงานของราชการเกิดขึ้นเพื่อดูแลสุขภาพจิต
ความจริงความเครียดเล็กน้อยช่วยส่งเสริมให้ผลิตภาพสูงขึ้น และช่วยทำให้คนคิดค้นสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น แต่คนรับความเครียดได้ไม่เท่ากัน และรับสภาวะความเครียดยืดเยื้อนานไม่เท่ากัน ถ้าความเครียดรุนแรงและเนิ่นนานก็จะเป็นอันตราย อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ ทำให้ผลิตภาพลดลง บางคนอาจเลือกระงับความเครียดด้วยการดื่มสุรา หรือใช้สารเสพติด หรือไม่เข้าทำงาน หรือเป็นเหตุให้สุขภาพเสื่อมลงซึ่งในที่สุดนำไปสู่ การเสียชีวิต ด้วยโรคความดันโลหิตสูง เส้นโลหิตแตก หัวใจล้มเหลว เป็นแผลในกระเพาะ มะเร็ง โลหิตจาง จนบางรายอาจถึงขั้นกระทำ อัตวินิวิบาทกรรม ปีหนึ่ง ๆ สูญเสียเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท สหรัฐอเมริกาประเทศเดียวสูญเสียเงินหลายพันล้านดอลล่าร์ เป็นค่าจ้าง ( แต่ไม่ได้ผลงาน ) และค่ารักษาพยาบาล

 

1. กรรมกร
2. เลขานุการ
3. ผู้ตรวจการ
4. เทคนิคการแพทย์
5. ผู้จัดการสำนักงาน
6. หัวหน้างาน

7. ผู้จัดการ และผู้บริหาร
8. พนักงานเสิร์ฟอาหาร
9. ผู้ควบคุมเครื่องจักร
10. เจ้าของฟาร์ม
11. คนงานเหมืองแร่
12. ช่างทาสี

สถาบันความปลอดภัยการทำงาน และสุขภาพในสหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับงานที่มีความเครียดไว้ ดังนี้ :
อันที่จริงแล้วลักษณะงานบางอย่างอาจทำให้เกิดความเครียดยิ่งกว่างานบริหาร ผู้จัดการควรเอาใจใส่ เนื่องจากพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป เชื่อมโยงไปถึงสุขภาพ จึงต้องได้รับการเยียวยารักษา ที่สังเกตเห็นได้บ่อย ๆ เช่น การตัดสินใจช้าลง เกิดความลังเล พฤติกรรมแข็งกระด้าง หยุดงานบ่อย ๆ ความเชื่อมั่นในตนเองลดลง เป็นปัญหาที่ผู้บริหารฝ่ายบุคคลต้องแก้ไข เพราะมีผลกระทบต่อ การพัฒนาอาชีพ
แม้ว่าความเครียดจะเป็นปัญหาสำคัญที่ฝ่ายบุคคลต้องประสบ แต่ก็อาจจะเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ หากมีความตื่นตัว และยอมรับว่าเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข

Burnout

กาญจนา เป็นหัวหน้าส่วนของธนาคารใหญ่แห่งหนึ่ง เธอต้องควบคุมดูแลงานที่สำคัญ มีลูกน้องอยู่สามสิบคน เธอรู้สึกสนุกอยู่กับงาน ผลงานดี และเงินเดือนขึ้นดีมาตลอด จนวันหนึ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายได้เรียกให้เข้าไปพบและแจ้งว่า เธอกำลังจะได้ย้าย ไปทำหน้าที่ผู้จัดการสาขาในไม่ช้า เพื่อให้เธอได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ต่างไปจากงานในขณะนั้น
ข่าวนี้แพร่ไป เพื่อน ๆ ต่างมาแสดงความยินดีด้วยความจริงใจ แต่คำตอบของเธอทำให้หลายคนประหลาดใจ “ มันคงจะเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะฉันคงทำงานนี้ไม่ได้ ฉันหาเงินฝากไม่เป็น “
กาญจนาไม่รู้ตัวว่า อะไรทำให้เธอเหนื่อยล้า เธอเฝ้าแต่ครุ่นคิดถึงอนาคตด้วยความวิตก นอนไม่หลับ จนต้องพึ่งยา สุขภาพของเธอทรุดลงทันที เธอรู้สึกว่าความสนุกเพลิดเพลินกับงานถึงเวลาที่สิ้นสุดแล้ว กาญจนาเป็นเหยื่อรายหนึ่งที่มีอาการ ที่เรียกว่า Burnout
Burnout เป็นสภาวะของความเหนื่อยล้า ความว้าวุ่นใจ ซึ่งเกิดจากวิถีชีวิตที่ไม่ได้คาดคิด Burnout มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางชีวิตการทำงาน หรือวัยกลางคน ซึ่งอาจจะเกิดหลายครั้งและแต่ละคนก็ต่างกัน ปัจจัยที่สำคัญ ก็คือ ความคาดหวังที่ไม่เป็นจริง เมื่อคนทุ่มเทเพื่อเป้าหมายของชีวิตให้สมหวังจนเกินไป ก็จะประสบความผิดหวังไม่ว่าจะทำอะไรสำเร็จแค่ไหน และเมื่อเกิดขึ้น ก็จะทำให้คนไม่มีกำลังใจจะทำงานต่อไป บางคนอาจจะพยายามซ่อนความรู้สึก แต่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เนื่องจากความไม่สมหวัง บางคนอาจแสดงอาการ โดยการทำอะไรช้าลง ผลัดวันประกันพรุ่ง หรือแม้แต่ตรงกันข้าม คือ ทำอะไรชุ่ย ๆ ให้จบ ๆ ไป คัดค้านทุกเรื่อง หรือ paranoia ย้ำคิดย้ำทำ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
บางอาชีพที่คนคาดหวังไว้มาก เช่น ครู หรือที่ปรึกษา อาจจะประสบกับอาการ Burnout ได้ง่าย เพราะลักษณะของงาน ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เก่ง รอบรู้ มีพฤติกรรมดี นิสัยดี ช่วยแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง หรือแม้แต่บุคลิกภาพก็ต้องมีบุคลิกภาพดี Burnout อาจจะเกิดกับคนที่ต้องทำงานร่วมกับคนที่มีอาชีพที่มีความเครียดสูง เช่น พนักงานขาย พนักงานขายประกัน ที่มีเป้าหมายการทำงานที่ต้องทำให้ได้ ในบริษัทที่ประสบภาวะวิกฤติ เมื่อไม่นานนี้ อาการ Burnout เกิดขึ้นมากเพราะนโยบายการลดคนทำงาน การเปลี่ยนตัวเจ้าของกิจการ ต้องลดสวัสดิการ หรือถูกตัดการทำงานล่วงเวลา ทำให้รายได้ลดลง
ลูกจ้างทั่วไปก็จะประสบอาการ Burnout ได้โดยไม่มีข้อยกเว้น ผู้ตกอยู่ในฐานะเช่นที่ว่านั้น อาจทำให้เกิดความกดดันขึ้น แก่งานที่ทำงานร่วมกันทั้งกลุ่มได้ อาการนี้รุกรามเร็วมาก และเมื่อเกิดแล้วยากที่จะหยุดยั้งได้
สัญญาณเตือนภัยของ Burnout คือ 1. แพ้อะไรได้ง่าย 2. ขี้ลืม 3. พะว้าพะวัง 4. เหนื่อยล้า 5. ผัดวันประกันพรุ่ง 6. ตึงเครียด หรือ 7. ดื่ม (สุรา) หรือใช้ยาเกินไป อาการนี้อาจรวมทั้งปัญหาทางสุขภาพ เช่น ปวดหลัง ปวดศีรษะ ไมเกรน ผู้ที่อยู่ในอาการ Burnout อาจจะคลุ้มคลั่ง ฉุนเฉียว หรือทำอะไรที่คาดไม่ถึงได้
Burnout จึงเป็นปัญหาที่ต้องป้องกันและแก้ไข ผู้บริหารงานบุคคล ต้องตระหนักถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดที่เกิดได้ ทั้งภายในองค์การนั้นเอง และสาเหตุจากภายนอกองค์การ

ความเครียดเกิดจากอะไร

ไม่ว่าความเครียดจะเกิดที่ไหน และเกิดจากอะไร ต้องรู้ว่าบางอย่างไม่อาจป้องกันหรือแก้ไขได้ แต่บางอย่างทำให้ เบาบางลงได้
เรื่องภายในครอบครัว ความสุขและความมั่นคง ชีวิตครอบครัว เป็นปัจจัยที่สำคัญ ผลก็คือ เกือบครึ่งหนึ่งของชีวิตการแต่งงานจะจบลงด้วยการหย่าร้าง ซึ่งนำไปสู่ความเครียด ยิ่งเมื่อหย่าแล้วยังมีลูกที่ต้องเลี้ยงดู ก็ยิ่งยากลำบากขึ้น
ลูกนั้นเป็นความรักความผูกพันของพ่อแม่ ที่สร้างความสุขให้แก่ครอบครัว เมื่อเกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ แก่ลูก พ่อแม่ก็ย่อมจะมีความทุกข์ใจ
ในครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ชีวิตการทำงานก็จะต้องเปลี่ยนไป ถ้าใครคนหนึ่งสนุกอยู่กับงาน และอีกคนหนึ่งได้เลื่อนตำแหน่งไปทำงานต่างจังหวัด จะดูแลลูกอย่างไร เป็นปัญหาที่ทั้งพ่อและแม่ต้องขบคิด ต้องชั่งใจระหว่างอนาคต อาชีพ การเงินกับอนาคตการเติบโตของลูก
ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเงินเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน หลายคนควบคุมค่าใช้จ่ายของตนเองไม่ได้ ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย บางคนอาจประสบเคราะห์กรรมโดยอุบัติเหตุ ต้องใช้จ่ายเงิน จำนวนมากเกินกว่าเงินที่ได้สะสมไว้แต่ละเดือนจะมีอยู่ หนี้สินนี้จะเร่งทำให้เกิดความเครียดได้มาก อาจนำไปสู่การหย่าร้าง และทำให้ผลงานตกต่ำ บางคนถึงขั้นฆ่าตัวตายก็เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ

สภาพความเป็นอยู่ คนเลือกเกิดไม่ได้ บางคนเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน อยู่ในสภาพที่แออัด มีมลพิษ ไม่มีเครื่องอำนวย ความสะดวกสาธารณูปโภคพื้นฐาน การเดินทางไปทำงานวันหนึ่งต้องทนอยู่ในรถที่มีผู้โดยสารแน่น และใช้เวลาเดินทางมาก จนถึงบ้านค่ำมืดดึกดื่น ต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากคนร้าย มิจฉาชีพ คนที่อยู่ในชนบทจะไม่ประสบปัญหานี้ แต่ก็ต้องแลกเอาด้วยรายได้ที่ต่ำกว่า ล้วนเป็นที่ทำให้เกิดความเครียดได้
วัฒนธรรมขององค์การ วัฒนธรรมขององค์การเป็นสิ่งที่ทำให้คนเครียดได้มาก ผู้บริหารสูงสุดในบริษัทเป็นผู้กำหนดบรรยากาศในบริษัท ผู้บริหารสูงสุดจะกดดันผู้ใต้บังคับบัญชาโดยไม่รู้ตัว เขาไม่เคยปล่อยให้ลูกน้องคิดอะไรได้เอง อำนาจทั้งหมด ขึ้นอยู่กับผู้บริหารสูงสุดคนเดียว ซึ่งเรียกร้องแต่ผลงาน คนทำงานจะถูกถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ได้เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความบีบคั้น ทั่วทั้งบริษัท
แม้ว่าองค์การที่มีวัฒนธรรมองค์การที่เอื้ออารีต่อคนทำงานก็ยังไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากสภาวะการแข่งขันในทางธุรกิจบีบบังคับ บุคลิกภาพของคนทำงานแต่ละคนต่างกันเมื่อผสมผสานกับค่านิยมและความเชื่อที่แตกต่างกัน จะทำให้เกิดปัญหา ในการสื่อความภายในองค์การ ซึ่งนำไปสู่ความเครียดได้
การให้คุณแก่พนักงานในการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง การให้เงินเดือนขึ้น ให้สวัสดิการต่าง ๆ อาจถูกตัดลง เพราะเหตุที่เกิดภาวะวิกฤต จนถึงทำให้ต้องลดคนทำงานล้วนแต่ทำให้พนักงานเครียดได้ทั้งนั้น
บทบาทของพนักงาน Role Ambiguity เกิดขึ้นเพราะพนักงานไม่เข้าใจขอบเขตของงานที่ต้องรับผิดชอบ คนทำงานจะเครียด เพราะไม่ได้ผลงานตามที่หัวหน้าคาดหวัง หรืออาจต้องทำงานที่เป็นหน้าที่ของคนอื่น แต่หัวหน้ายัดเยียดให้ทำ สถานการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะต้องทำงานมากกว่าที่ควรจะทำ คนทำงานจะรู้สึกไม่มั่นคง และไม่รู้ว่าตนเองควรต้องทำอะไร เนื่องจากไม่มี Job Description ไม่มีระบบการประเมินผลงานที่โปร่งใส และเข้าใจได้
บทบาทที่ขัดแย้งกัน ความขัดแย้งของบทบาท เกิดขึ้นเมื่อคนทำงานถูกบรรจุลงในตำแหน่งที่ต้องมีเป้าหมายที่ขัดแย้งกัน เช่น ผู้จัดการจะต้องเพิ่มผลผลิตแต่ขณะเดียวกันต้องลดจำนวนบุคลากรลง การที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายทั้งสองอย่างเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลย จึงเกิดความเครียดขึ้น
งานมากจนล้นมือ เมื่อคนทำงานถูกใช้ให้ทำงานเกินกว่าที่จะทำได้นั้น จึงกลายเป็นผู้รับกรรมจากงานล้นมือ ปัญหาก็คือ คนที่ทำงานดี ทำงานเก่งในบริษัทจะต้องประสบกับเหตุการณ์นี้ ถ้าพนักงานมีประวัติว่าเขาทำงานได้มากขึ้นและผลงานก็ดีด้วย นายก็มักจะใช้ให้ทำงานมากขึ้น เมื่อมีงานมากขึ้นจนถึงที่สุด การมีงานทำจนล้นมือ จึงนำไปสู่ภาวะ Burnout
สภาพการทำงาน สภาพของสถานที่ทำงานรวมถึงเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ เป็นต้นเหตุของความเครียดได้ การที่คนทำงานต้องทำงานในที่แออัด เสียงดังเกินสมควร แสงสว่างไม่พอ หรือเครื่องจักรเก่าไม่มีการดูแลซ่อมบำรุงตามระยะ เป็นผลให้ขวัญกำลังของพนักงานตกต่ำ การที่เครื่องไม้เครื่องมือมีไม่พอ หรือไม่มีเครื่องมือที่ใช้เฉพาะงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้คนทำงานเครียดได้ เช่น ต้องส่งรายงานให้ผู้จัดการภายในกำหนดเวลา แต่เครื่องถ่ายสำเนาเสียเพราะเก่าและใช้งานมาก เป็นต้น ยิ่งปรากฏว่า คนที่ทำงานกับเครื่องจักรเก่า ๆ ประสบอุบัติเหตุบ่อย ๆ ก็ยิ่งทำให้คนที่อยู่เครื่องจักรรู้สึกเครียดที่ต้องทำงาน เสี่ยงต่ออันตราย

งานที่เป็นปัญหาการจัดการ โดยธรรมชาติงานของผู้จัดการเป็นงานที่ทำให้เครียด จากประสบการณ์ของที่ปรึกษาธุรกิจ ครึ่งหนึ่งของผู้จัดการต้องอยู่สภาวะเครียดโดยไม่สมควร เขาต้องรับผิดชอบต่อคนทำงาน ต้องประเมินผลงาน ต้องประสานงานในการแจ้งให้ทราบการลดคนทำงาน ต้องให้คำปรึกษาในการหางานข้างนอกให้คนทำงานที่ถูกเลิกจ้าง ทำให้เครียด ผู้จัดการจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด เพื่อให้ได้ผลงาน ตามที่ถูกกำหนดโดยเป้าหมาย  

 

อ่านต่อตอนที่ 2

ที่มา : Business Management Co.,Ltd.

สิ่งที่สำคัญก็คือ ผู้จัดการต้องตระหนักถึงที่มาของความเครียด และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ก็คือ ต้องมีโปรแกรม ที่จะจัดการกับการทำให้เกิดความเครียดอย่างได้ผลจริงจัง

อัพเดทล่าสุด