10 หนทางกับการทำให้นายหันมาให้ "เครดิต" เรา


845 ผู้ชม


10 หนทางกับการทำให้นายหันมาให้ "เครดิต" เรา




10 หนทางกับการทำให้นายหันมาให้ "เครดิต" เรา

              มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ทำงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เป็นลูกน้อง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือพวกที่มีหัวหน้านั่นแหละ คงเคยมีประสบการณ์ ความรู้สึกทั้งที่เป็นบวกและเป็นลบ กับคนที่เป็นนาย โดยมีแนวโน้มจะเอนเอียงไปทางด้านลบจะมีระดับที่สูงกว่า เรื่องนี้มีการศึกษาจาก Gallup มายืนยันว่า พนักงานที่ลาออกจากบริษัทหรือองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเอกชนหรือรัฐบาล ต่างก็ให้สัมภาษณ์กับฝ่าย H.R. (Exit interview) ตอนยื่นใบลาออกว่าเหตุที่ต้องจากไปก็เพราะว่า อยากจะไปให้พ้น ๆ หน้าเจ้านายหรือผู้จัดการของเขา มีอัตราสูงถึง 65% ของพนักงานที่ลาออก เหตุผลหลักมีอยู่ 5 ประการหลัก ๆ  คือ

               เหตุผลแรก :
พนักงานมีความรู้สึกว่าเวลาทำงาน เขามักจะไม่ได้รับการปฏิบัติจากผู้เป็นนายด้วยความเคารพหรือให้เกียรติเขา ตัวอย่างที่มักเจอบ่อย ๆ ก็เช่น เวลาลูกน้องเข้าไปคุยด้วยเรื่องงาน เจ้านายบางท่าน บางครั้งก็ไม่เงยหน้าขึ้นมามองหน้าลูกน้องที่เข้ามาปรึกษาด้วยซ้ำ ก้มหน้าก้มตาอ่านเอกสารบนโต๊ะ หรือไม่ก็ง่วนอยู่กับอีเมลหน้าจอคอมพิวเตอร์ ปากก็พูดกับพนักงานที่เข้าไปหาว่า มีอะไร ว่ามาผมกำลังฟังอยู่ โดยไม่หันมามองหน้าหรือสบตา หรือนายบางท่านบางครั้งก็ถามชอบไต่ถาม ซักไซ้ไล่เรียงซะ จนพนักงานจนมุมตอบคำถามไม่ได้ เจ้านายก็จะทำท่าหงุดหงิด แล้วทำหน้าตาเรียบเฉย ทำเสียงดุและไล่ให้ลูกน้องเอากลับไปทำมาใหม่ โดยไม่ให้คำแนะนำ หรือแนะแนวทางให้ ถ้าเราเป็นลูกน้องของนายอย่างนี้และเจอสถานการณ์แบบนี้บ่อย ๆ จะรู้สึกอย่างไรบ้าง?

               เหตุผลที่สอง :
พนักงานมีความรู้สึกว่า ถูกกีดกันหรือไม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือในการทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งบางครั้งพนักงานมีศักยภาพสูง แต่ไม่มีโอกาสทำงานที่ส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร มีพนักงานหลายคนมาบ่นให้ฟังว่า วัน ๆ หนึ่งสามารถทำงานที่รับผิดชอบอยู่แค่ 2 ชั่วโมงก็เสร็จแล้ว และเงินเดือนก็สูง เพราะนายไม่ให้งานใหม่ ๆ ทำ ปล่อยปละละเลย ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอาจมีคำถามในใจว่า อ้าวก็เข้าไปของานจากนายเพิ่มซิ บางครั้งนายอาจจะไม่รู้นี่นาว่าเรากำลังว่างอยู่  คำตอบคือ  ใช่เลย เป็นสิ่งที่ต้องทำเช่นนั้น แต่ว่าบางครั้งนายบางคนก็ไม่ใส่ใจ หรือเราอาจได้คำตอบว่าผมให้ทำแค่ไหนก็แค่นั้น ผมไม่สั่งไม่ต้องทำ หรือบางกรณีรับพนักงานจบวุฒิสูง ๆ มาทำงาน เช่น จบปริญญาโทมาแต่ใช้ให้ทำงานธุรการทั่วไปที่ไม่ได้ใช้วิชาความรู้ที่เรียนมา ถ้าผู้อ่านเป็นพนักงานเหล่านี้  ท่านจะเกิดอาการ  และรู้สึกอย่างไรบ้าง?

               เหตุผลที่สาม :
พนักงานเกิดความรู้สึกว่า เวลาแสดงความคิดเห็น พูดเสนอแนะในเรื่องงาน หรือเรื่องทั่วไปให้นายฟัง หรือมีข้อร้องทุกข์ มักจะไม่ได้รับการตอบสนองที่ดี หรือนายมักจะทำทีเป็นเหมือนว่าฟังแต่ก็ไม่สนใจที่จะตอบสนองในสิ่งที่พนักงานพูด สุดท้ายก็เฉย ๆ ไป ซึ่งพฤติกรรมการตอบสนองแบบนี้จะทำให้พนักงานหมดกำลังใจ ท้อแท้ และต่อไปก็จะไม่กล้าพูดหรือแสดงความคิดเห็นอีก  เพราะไม่ได้รับการฟังจากนาย หรือบางกรณีพนักงานอ้าปากพูดไม่ถึงสามประโยคเลย นายก็พูดตัดบท หรือไม่ก็โบกไม้โบกมือให้หยุดการพูดหรือออกความเห็น ถ้าผู้อ่านเป็นพนักงานเหล่านี้ท่านจะเกิดอาการ  และรู้สึกอย่างไรบ้าง ?
 เหตุผลที่สี่ :  พนักงานมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับรางวัลและกำลังใจ จากงานที่ได้รับมอบหมายเพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากงานที่ทำในหน้าที่ รางวัลในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องเงินอย่างเดียว บางครั้งพนักงานก็ต้องการคำชมจากนายเมื่อทำงานสำเร็จ  ซึ่งส่งผลให้เกิดกำลังใจ เกิดความรู้สึกดี ฮึกเหิมในการทำงาน แต่นายบางคนบอกว่า คนอย่างผมชมใครไม่เป็น ถ้าทำงานเสร็จก็ถือว่านั่นเป็นสิ่งที่อยู่ในหน้าที่การงาน ในความรับผิดชอบ แต่ถ้าทำไม่สำเร็จผมจำเป็นต้องตำหนิคุณ เพราะว่าคุณไม่ได้ทำงานในหน้าที่ที่คุณรับผิดชอบให้ดีที่สุด ถ้าผู้อ่านเป็นพนักงานเหล่านี้ท่านจะเกิดอาการ และรู้สึกอย่างไรบ้าง?

                เหตุผลสุดท้าย : ซึ่งหลาย ๆ ท่านอาจคิดว่าน่าจะอยู่ในเหตุผลอันดับแรกด้วยซ้ำ คือ เรื่องของค่าตอบแทน ที่ต่ำหรือเงินเดือนน้อย  ข้อนี้ชัดเจนว่าพนักงานลาออก เพราะอยากได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น  แต่บางครั้งมีพนัก-งานหลาย ๆ คนเคยคุยให้ฟังว่า เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด แต่สาเหตุที่ทำให้ต้องตัดสินใจก้าวออกจากองค์กร แล้วไปสมัครงานที่อื่นน่ะ เพราะรู้สึกไม่ไหวแล้ว อึดอัดเหลือเกินกับบรรยากาศการทำงานที่องค์กรเดิม บังเอิญที่ทำงานใหม่เสนอให้เงินเดือนมากกว่า คนที่องค์กรเก่าเลยมองว่า อ๋อ ที่ไปน่ะไปเพราะเงินนั่นเอง หรือบางกรณี ได้รับเงินเดือนสูง ๆ แต่ไม่มีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกับนายเลย ตื่นเช้าขึ้นมาก็นึกถึงภาพที่ ต้องทนทำงานกับนายทั้งวัน ก็หมดสนุกแล้ว สู้ไปหาที่ทำงานที่ชอบ ทำงานแล้วรู้สึกสนุกและมีความสุข ถึงได้เงินเดือนน้อยกว่าเดิมก็ยอม 
               สำหรับผู้ที่เรียนจบใหม่ อ่านแล้วอย่างพึ่งถอนหายใจ ว่ามีแบบนี้ด้วยเหรอ ในโลกของการทำงาน ยืนยันว่ามีจริงๆ แต่ไม่ต้องเป็นห่วง มีคำแนะนำ  ข้อเสนอแนะให้ ว่าจะจัดการนายอย่างไรให้อยู่หมัด สำหรับคนที่กำลังเป็นมนุษย์เงินเดือนและผู้ที่กำลังจะเป็น ทำตามข้อแนะนำต่อไปนี้ รับรองสบายกายสบายใจ ทำงานร่วมกันกับนายอย่างมีความสุขแน่ ๆ มาดูข้อแนะนำกัน
               ข้อที่ 1 :
ในฐานะเป็นลูกน้อง ให้เราทำงานสนับสนุนนาย ไม่ใช่ทำตัวเป็นคู่แข่งเขา เป้าหมายในการทำงานของตัวเราคือต้องแสดงออกหรือโชว์ว่า เราเป็นผู้เล่นหรือสมาชิกของทีม  ซึ่งพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อทำให้นายทำงานสำเร็จตามเป้าหมายที่นายวางไว้ ดังนั้น เราควรปล่อยวางบ้าง หงุดหงิดกับพฤติกรรมนายบ้างในบางครั้ง
                ข้อที่ 2 :
รักษาสัญญาหรือรักษาคำพูด ให้พึงระวังไว้ว่าถ้าตกปากรับคำหรือให้คำมั่นสัญญาอะไรไว้กับนายแล้ว ให้ปฏิบัติตาม อย่าดีแต่รับปากหรือสัญญาส่งเดช ถึงเวลาทำไม่ได้ คนที่เสียก็คือตัวเราเอง นายก็จะลดเครดิตในตัวเราลง แต่ถ้าทำได้ตามสัญญานายก็จะชื่นชม ถ้าไม่ชื่นชม ตัวเราก็ภูมิใจและเกิดความเชื่อถือตัวเองสูงขึ้น ในกรณีที่ประเมินตัวเองแล้วคิดว่าทำไม่ได้แน่ ๆ ก็อย่าสัญญาหรือรับปากว่าทำได้ ควรอธิบาย เหตุผลให้นายฟัง

                ข้อที่ 3 :
ถ้ามีงานที่ต้องเขียน หรือทำเป็นเอกสารส่ง ควรทำและส่งให้ตรงเวลา เพราะการส่งงานที่เป็นชิ้นๆ แบบนี้ มันสามารถจับต้อง และวัดผลได้ (มีหลักฐาน) ไม่เหมือนกับงานที่ต้องรายงานทางวาจา เวลาผ่านไป ก็ทำให้นายหลงลืมไปได้
                ข้อที่ 4ปกป้องหรือป้องกันนายจากเรื่องประหลาดใจ หรือแปลกใจจากงานของเรา เวลาทำงานให้เราแน่ใจ มั่นใจว่า นายมีข้อมูล รู้เรื่องงานของเราดี เวลางานเรามีปัญหาขึ้นมา นายจะได้ไม่แปลกใจ 
                ข้อที่ 5 :
เมื่อเราเกิดความผิดพลาดในการทำงาน ให้รีบบอกหรือแจ้งนาย เราเองคงไม่อยากให้นายไปรู้เรื่องนี้จากคนอื่น หรือแหล่งอื่น เมื่อยังทำงานกับนาย ก็ต้องให้ความเคารพนาย ควรแจ้งให้นายได้รับรู้ รับทราบก่อนใครเพื่อน ถ้าเราทำอย่างนี้ ก็จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างนายกับเราได้
                ข้อที่ 6 :
แสดงความเคารพต่อเวลาของนาย สามารถเข้าไปพบ เข้าไปหานายได้บ่อย ๆ ตามที่เราต้องการ แต่ให้ใช้เวลาในการเข้าไปหาสั้น ๆ จะทำให้นายรู้สึกไม่รำคาญเรา
                ข้อที่ 7 :
ให้อดทนต่อนายตอนที่อารมณ์เสีย เพราะอย่าลืมว่าเราต้องคิดเสมอ ๆ ว่า เราอยากที่จะเข้ากับ
นาย และทำงานร่วมกับนายให้ได้
                ข้อที่ 8 : ทำตัวและทำงานอย่างมืออาชีพ คือนอกจากจะต้องแต่งตัวให้เหมาะสม โดยเวลาที่แต่งตัวมาทำงาน จะต้องเกิดความรู้สึกเคารพตัวเอง เคารพองค์กรแล้ว เราต้องปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ  ยึดผลสำเร็จของงานและองค์กรเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ขณะเดียวกันต้องมีความซื่อสัตย์ โปร่งใส มีจริยธรรมและคุณธรรมในการทำงาน สิ่งที่มืออาชีพจะขาดไม่ได้คือต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และผลการปฏิบัติของตน  ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ รับรองเลยว่าเราจะทำงานร่วมกับนายคนไหนก็คงไม่มีปัญหา
                ข้อที่ 9 : เวลาทำงานกับนาย ให้มีข้อเสนอแนะในการที่จะพัฒนางานในความรับผิดชอบ หรือสำหรับองค์กร อย่างต่อเนื่อง แต่อย่าโกรธ อย่ากระแทกแดกดัน อย่าพูดจาลับหลังนาย เวลานายเอาความคิดดีๆ ของเราไปเสนอผู้ใหญ่ต่อและเอาเครดิต เอาหน้าไปหมดเลย ก็จริง ๆ แล้วงานของเราในฐานะมืออาชีพ คือเราต้องทำให้นายดูดี 
               ข้อที่ 10 :
อย่าลืมว่าภาษากาย ภาษาท่าทางที่เราแสดงออกต่อนาย หรือต่อใครก็ตาม เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง บางครั้งเราไม่ได้ตั้งใจ เช่น กอดอก หน้านิ่ว คิ้วขมวด หรือไม่พูดไม่จา ภาษาท่าทางอย่างนี้กำลังส่งหรือสื่อไปให้นายเสียงดังทีเดียว อย่าลืมว่าภาษาท่าทางเหล่านี้ นายเท่านั้นที่สามารถทำกับเราได้ แต่เราไม่สามารถทำกับนายได้

               ข้อที่ 11 : อะไรก็ไม่เท่าการคงไว้ซึ่งอารมณ์ขัน แล้วเราก็จะทำงานกับนายดีขึ้น    

               ข้อแนะนำเหล่านี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อเราได้นำไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่รอให้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ  ยิ่งฝึกเราจะยิ่งได้  ถ้ามีสิ่งเหล่านี้อยู่ในตัว  ต่อให้นายกี่คนก็ไม่กลัว      

 

 

ที่มา: นิตยสาร Recruit Update ฉบับที่ 402  วันที่  16-31  พฤษภาคม  2547

อัพเดทล่าสุด