แรงจูงใจในการทำงาน...สำคัญอย่างไร


698 ผู้ชม


แรงจูงใจในการทำงาน...สำคัญอย่างไร




บทนำ

ท่านเคยถามตัวเองดูบ้างไหมครับว่า การที่ท่านต้องทำงานอยู่ทุกวันนี้น่ะท่านมีอะไรมาเป็นแรงจูงใจให้ท่านยังคงต้องทำงานอยู่จนทุกวันนี้ ? บางท่านอาจจะตอบว่า “ก็เพราะค่าจ้าง (หรือเงินเดือน) ที่ได้รับอยู่ทุกเดือนน่ะสิ เพราะไม่ทำงานแล้วจะหาเงินมาเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ยังไงล่ะ “ ในขณะที่หลายท่านกลับตอบว่า “งานต้องมั่นคงต่างหาก เพราะถ้าได้เงินเดือนมาก ๆ แต่ทำไปสัก 3-4 เดือนแล้วบริษัทปิดต้องถูกลอยแพก็ไม่ไหวเหมือนกัน” แต่สำหรับท่านที่ทำงานอยู่กับองค์กรที่มีความมั่นคงดีอยู่แล้วได้รับเงินเดือนที่ตัวเองพอใจแล้วก็อาจจะตอบว่า “ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่างหาก”

เรียกได้ว่าคำตอบของแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับทัศนคติ,ค่านิยม,สถานภาพของคน ๆ นั้นซึ่งอยู่ในสถานะที่แตกต่างกันไปตามฐานานุรูปของแต่ละคนครับ

แต่สิ่งที่เหมือนกันของทุกคำตอบคือในการทำงานทุกงานจะต้องมี “แรงจูงใจ” เข้ามาเป็นตัวกระตุ้นเพื่อให้คนอยากทำงานครับ !


ทฤษฎีเกี่ยวกับแรงจูงใจ

ได้มีการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับแรงจูงใจของคนโดยเฟรเดอริค เฮิร์ซเบอร์ก (Frederick Herzberg) ซึ่งเขาได้ศึกษาโดยการสัมภาษณ์พนักงานในเรื่องของความพึงพอใจจากการทำงาน และทำให้เขาได้ผลสรุปว่าแรงจูงใจของมนุษย์จะประกอบด้วย 2 ปัจจัยครับนั่นคือ

1. ปัจจัยภายนอกหรือเรียกว่า Hygiene Factors และ
2. ปัจจัยภายใน หรือ Motivation Factors

ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้คงสงสัยแล้วนะครับว่า แล้วเจ้าปัจจัยภายนอก กับปัจจัยภายในมีอะไรบ้างล่ะ แล้วปัจจัยไหนจะสำคัญหรือมีอิทธิพลต่อคนทำงานมากกว่ากันล่ะ ?

ผมเลยขอเสนอปัจจัยภายนอกและภายในเปรียบเทียบเพื่อให้ท่านเข้าใจได้ง่าย ๆ ดังนี้ครับ


ปัจจัยภายนอก(Hygiene Factors)

* นโยบายขององค์กร
* การบังคับบัญชา
* ความสัมพันธ์กับหัวหน้างาน
* สภาพแวดล้อม/เงื่อนไขในการทำงาน
* ค่าจ้าง/เงินเดือน/สวัสดิการ
* ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

ปัจจัยภายใน(Motivation Factors)

* การทำงานบรรลุผลสำเร็จ
* การได้รับการยอมรับ
* ทำงานได้ด้วยตนเอง
* ความรับผิดชอบ
* ความก้าวหน้าในงาน
* การเจริญเติบโต

เฮิร์ซเบอร์กบอกว่าปัจจัยภายนอกนั้นจะเป็นแรงจูงใจที่สนองตอบต่อความต้องการภายนอกของคน ส่วนปัจจัยภายในจะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญต่อคนมากกว่าปัจจัยภายนอก

หรือพูดให้ง่าย ๆ ก็ต้องบอกว่าปัจจัยภายนอกจะทำให้คนพึงพอใจได้ในเบื้องต้นและจะมีผลต่อคนอยู่ไม่นานนัก ส่วนปัจจัยภายในจะก่อให้เกิดแรงจูงใจกับคนอยู่ได้นานกว่าปัจจัยภายนอกครับ

จึงบอกได้ว่าปัจจัยภายในที่ประกอบด้วย การที่คนทำงานจนบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้,การได้รับการยอมรับจากหัวหน้างานหรือคนรอบข้าง,การที่ได้ทำงานอย่างเป็นตัวของตัวเอง,การที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่องานที่ตนเองทำอยู่,การได้รับการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง หรือการเจริญเติบโตในวุฒิภาวะส่วนตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ นั้นจะทำให้คนเกิดแรงจูงใจที่จะทำงานให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ

เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะตอบสนองความต้องการใจจิตใจของคน และเป็นแรงจูงใจคนให้ทำงานได้ดีกว่าปัจจัยภายนอกครับ

นอกจากนี้เฮิร์ซเบอร์กยังบอกอีกว่า

1.องค์กรควรจะให้คนทำงานที่ท้าทายอย่างเต็มความสามารถ
2.พนักงานที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มความสามารถจะต้องได้รับการเพิ่มความรับผิดชอบให้สูงขึ้น
3.หากงานไม่มีความท้าทาย และไม่ทำให้คนทำงานได้อย่างเต็มความสามารถแล้วจะเกิดปัญหาในเรื่องของแรงจูงใจในการทำงาน

ผลจากการสำรวจเกี่ยวกับแรงจูงใจ

ล่าสุดได้มีการสำรวจโดยสัมภาษณ์พนักงาน 1,000 คน ที่ทำงานบริษัทในประเทศอังกฤษ และตีพิมพ์ในหนังสือ UK Times Newspaper ปี 2004 พบว่า

กว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานที่ทำการสำรวจ (คือกว่า 500 คน) เกิดความเบื่อหน่ายงาน และมองหางานใหม่ โดยสาเหตุหลักคือ งานไม่มีความท้าทาย และทำให้ไม่มีโอกาสก้าวหน้าในงาน 43 เปอร์เซ็นต์ลาออกเพราะได้มีโอกาสเลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงานในที่ทำงานใหม่

28 เปอร์เซ็นต์ได้งานใหม่ที่ท้าทายกว่างานที่ทำในปัจจุบัน
23 เปอร์เซ็นต์ได้งานใหม่ที่น่าตื่นเต้น และ
21 เปอร์เซ็นต์ได้งานใหม่ที่มีความหลากหลายกว่างานเดิม

จากการสำรวจที่ผมเล่ามานี้ยังเป็นสิ่งยืนยันทฤษฎีของเฮิร์ซเบอร์กตั้งแต่ปี 2502 (คศ.1959) หรือเมื่อประมาณ 45 ปีที่แล้วได้นะครับว่าปัจจัยภายในยังมีความสำคัญต่อคนมากกว่าปัจจัยภายนอก

จากทฤษฎีและผลการสำรวจเรื่องของแรงจูงใจที่ผมเล่ามาให้ท่านฟังนี้ จะเป็นคำตอบให้กับท่านเป็นอย่างดีนะครับว่า “เงิน” ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะธำรงรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรเหมือนอย่างที่หลาย ๆ คนด่วนสรุปเมื่อเกิดการลาออกของพนักงาน

จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารในองค์กรควรจะต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องแรงจูงใจในการทำงานของพนักงานแล้วนะครับ เพราะหากพนักงานในองค์กรขาดแรงจูงใจในการทำงานแล้วองค์กรของท่านย่อมมีโอกาสสูญเสียคนดี ๆ ไปให้กับคู่แข่งได้ในที่สุดครับ


Posted by ธำรงศักดิ์ ที่มา : https://www.excelexperttraining.com
Category : Tips and Tools


อัพเดทล่าสุด