เราจะรับมือกับความเครียดได้อย่างไร ?


967 ผู้ชม


เราจะรับมือกับความเครียดได้อย่างไร ?




บทนำ

เมื่อพูดถึงคำว่า “ความเครียด” ทุก ๆ ท่านคงทราบกันดีนะครับว่ามีพิษสงขนาดไหน ถามว่ามีใครอยากจะให้ความเครียดมาอยู่กับตัวบ้าง ก็ตอบว่าถ้าเลือกได้ก็คงไม่เลือกเอาเจ้าตัวเครียดมาอยู่กับเราแน่ ๆ แต่ทำยังไงได้ครับหลายครั้งที่ความเครียดเข้ามาหาเราอย่างเงียบ ๆ โดยที่เราไม่ทันรู้ตัวเองด้วยซ้ำว่ากำลังเริ่มเครียดอยู่ลึก ๆ ในจิตใจ ในขณะที่บ่อยครั้งที่เรารู้ตัวเองดีเลยว่านี่ฉันกำลังเริ่มเครียดแล้วนะ

สรุปได้ว่าเจ้าความเครียดนี่จะเข้ามาหาเราทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัวเลยครับ!!


อิทธิพลของความเครียด

ความเครียดนี่มีอิทธิพลกับมนุษย์อย่างมากมายนะครับ แต่คนเรามักจะไปมองแต่อิทธิพลในด้านลบเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งโดยหลักสมดุลของโลกแล้วของทุกสิ่งย่อมมีสองด้านใหญ่ ๆ คือด้านดี (หรือด้านบวก) กับด้านไม่ดี (หรือด้านลบ) เรามาลองดูกันนะครับว่าด้านบวกและลบของความเครียดมีอะไรกันบ้าง

1.อิทธิพลของความเครียดในด้านบวกก็คือ เจ้าความเครียดนี้จะเป็นตัวช่วยควบคุมการปฏิบัติหรือการกระทำของมนุษย์ให้มีความกระตือรือร้น มีความตื่นเต้น กับงานหรือสิ่งที่ต้องการจะทำให้สำเร็จลง และเมื่อสามารถทำงานหรือภารกิจนั้นให้สำเร็จลงได้ตามแรงกระตุ้นของความเครียดนั้นแล้ว ก็จะรู้สึกสบายใจ โล่งใจ มีความสุข

ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่เพิ่งผ่านไปก็คือนักกีฬาทีมชาติทั้งประเภทยกน้ำหนัก เทควนโด้ มวยสากล ของเราที่ไปแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก กรุงเอเธนส์ ที่ผ่านมาไงครับ ก่อนแข่งขันทุก ๆ คนจะมีความเครียดสูงเพราะมุ่งหวังต่อผลสำเร็จคือชัยชนะ ทุกคนมีความตื่นเต้น กระตือรือร้นที่จะแข่งขันให้ได้เหรียญเพื่อนำกลับสู่ประเทศไทยให้ได้ บางคนถึงกับกินอะไรไม่ค่อยลงเมื่อก่อนแข่งขันเชียวนะครับ แต่พอหลังจากการแข่งขันประสบความสำเร็จแล้ว ทุกคนจะมีความสุขที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้โดยเฉพาะคนที่สามารถคว้าเหรียญติดมือกลับมาได้จะรู้สึกว่าคุ้มค่ากับที่ต้องอดทนกับความเครียดจนกระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด

นี่แหละครับอิทธิพลของความเครียดในด้านบวก

2. อิทธิพลของความเครียดในด้านลบ ในเรื่องนี้จะกลับกันกับข้อ 1 ครับ นั่นก็คือผลของความเครียดที่เกิดกับมนุษย์นั้น หากมีความหนักหนามาก หรือคนที่ได้รับความเครียดมีภูมิต้านทานความเครียดไม่เพียงพอ ก็อาจจะเกิดอาการต่าง ๆ แสดงออกมาให้เห็นได้เช่น ปวดท้อง , เป็นโรคกระเพาะอาหารหรือลำไส้อักเสบ , เป็นลม , นอนไม่หลับ , เป็นแผลพุพอง (ร้อนใน) ในปาก ฯลฯ พูดง่าย ๆ ว่าอิทธิพลของความเครียดในทางลบนี้จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของคนโดยตรงครับ ซึ่งหากคน ๆ นั้นไม่รู้จักวิธีที่จะลดความเครียดลง แล้วปล่อยให้เกิดความเครียดสะสมเป็นเวลานาน ๆ แล้วสุขภาพก็จะพลอยแย่ลงไปตามลำดับครับ

เพราะไม่ว่าจะเรื่องใด ๆ เช่น การสูญเสียคนที่เป็นที่รักไป , การเปลี่ยนแปลงในเรื่องงาน , การได้ลูกคนใหม่ , การได้พบเพื่อนใหม่ , การได้พบคู่แข่งรายใหม่ ฯลฯ ก็ล้วนแต่ทำให้เกิดความเครียดได้ ดังนั้น การบริหารจัดการกับความเครียดจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน

ต้นเหตุของความเครียด

เรามาลองดูกันสิครับว่าต้นเหตุหลัก ๆ ของความเครียดมีอะไรกันบ้าง ดังนี้ครับ
1. ความต้องการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (Survival Stress) เมื่อมีเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นภัยต่อคนแล้ว โดยทั่วไปคนก็จะมีการโต้ตอบกับภัยในสถานการณ์นั้น แบบง่าย ๆ คือ “สู้หรือหนี” เช่น เราเดินถนนอยู่ดี ๆ ก็มีคนหน้าตาดุดันมาเอามีดจี้แล้วขอเงิน ซึ่งหากเป็นกรณีกะทันหันก็จะมีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่าอะดรีนาลีน หลั่งออกมาโดยอัตโนมัติ เจ้าฮอร์โมนที่ว่านี่แหละครับที่ทำให้คนตกใจมีกำลังมากกว่าปกติ เช่น วิ่งเร็วกว่าปกติ หรือ มีแรงยกของหนักกว่าปกติที่เวลาทั่วไปทำไม่ได้ ซึ่งอะดรีนาลีนนี้หากคงอยู่ในร่างกายบ่อย ๆ หรือนาน ๆ ก็จะมีผลเสียต่อร่างกายด้วยครับ


2. ความเครียดที่เกิดจากภายในตนเอง (Internally Generated Stress – Anxiety
Stress) สาเหตุของความเครียดแบบนี้จะเกิดจากภายในของคนแต่ละคนเป็นผู้สร้างขึ้นมาครับ เพราะแต่ละคนจะมีภูมิต้านทานความเครียดไม่เท่ากัน บางคนเป็นคนเครียดง่ายคิดมาก อ่อนไหวง่าย แถมไม่สามารถควบคุมความคิดของตัวเองได้เสียอีก เป็นต้นว่าใครพูดอะไรที่ตัวเองไม่ชอบก็จะเก็บเอามาคิดมาเครียดอยู่เป็นวัน ๆ คิดวนไปวนมาเหมือนพายเรือในอ่าง ซึ่งมักจะเกิดกับคนที่เป็นประเภทใครติไม่ได้หรือศัพท์เทคนิคเรียกว่าพวก Perfectionism ไงครับ


3. ความเครียดที่เกิดจากสภาพแวดล้อม (Environmental Stress) ความเครียดประเภทนี้มักเกิดจากการที่คนรู้สึกถูกรุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตของตนเอง เช่น สภาพแวดล้อมของบ้านที่อยู่เปลี่ยนแปลงไปด้วยมลภาวะที่มากยิ่งขึ้นเช่นมีฝุ่นละออง , รถติด , เสียงดัง ฯลฯ หรือ ในสถานที่ทำงานถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ทำให้ไม่สะดวกสบายเหมือนแต่ก่อน หรือมีการปรับปรุงซ่อมแซมสถานทำงานทำให้เกิดมลภาวะมีฝุ่น หรือมีการทาสี ทำให้เกิดความเครียดจากสภาพแวดล้อมดังกล่าว เป็นต้น


4. ความเครียดที่เกิดจากอาหารการกิน หรือสารเคมี (Nutritional & Chemical Stress) ไม่น่าเชื่อนะครับว่าบางครั้งความเครียดก็อาจจะมาจากอาหาร หรือเครื่องดื่มที่เรารับประทาน เช่น ที่ทำงานเคยมีกาแฟเสิร์ฟตอนประชุม แต่พอวันดีคืนดีกาแฟหมดเลยมีแต่น้ำเปล่า ก็อาจจะทำให้บางคนเกิดอาการเครียดเพราะขาดคาเฟอีนเข้าไปกระตุ้นร่างกาย หรือในบางที่ทำงานที่อนุญาตให้สูบบุหรี่ในเวลามีการประชุมระดมความคิดกัน แต่บังเอิญวันนั้นเกิดมีสุภาพสตรีที่แพ้ควันบุหรี่เข้าร่วมประชุมทำให้คนที่เคยสูบบุหรี่เวลาประชุมไม่สามารถสูบบุหรี่ได้เหมือนเคย เป็นต้น ซึ่งความเครียดที่ผมว่ามานี้เกิดจากสารอาหารหรือสารเคมีทำให้มีผลต่อร่างกายครับ

ชีวิตประจำวัน และงานที่มีความสัมพันธ์กับความเครียด

ทีนี้เรามาพูดกันถึงชีวิตประจำวัน และงานของเรา ๆ ท่าน ๆ ว่ามีความสัมพันธ์กับความเครียดได้อย่างไรกันบ้างนะครับ
        1. การทำงานที่มากจนเกินไป หรือน้อยจนเกินไป
        2. ถูกกดดันด้วยเงื่อนเวลา และมีเส้นตายกำหนด
        3. ต้องรับผิดชอบต่อผู้คน , งบประมาณ หรือ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้
        4. เกิดขัดแย้ง หรือคับข้องใจในสถานภาพของตัวเอง
        5. ความต้องการหรือความคาดหวังจากลูกค้า
        6. มีปัญหาทางด้านการเงิน หรือด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
        7. สภาพครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การหย่าร้าง , การแต่งงาน ฯลฯ

การจัดการกับความเครียด

อย่างที่ผมได้เล่าให้ท่านทราบในตอนต้นแล้วว่าอิทธิพลของความเครียดในด้านบวกจะมีผลดีคือทำให้คนเรามีความตื่นเต้นกับชีวิตกันบ้าง ชีวิตจะได้มีรสชาดกับเขาบ้างไม่จืดชืด ในขณะที่ความเครียดในด้านลบก็จะทำให้คนรู้สึกหดหู่ เศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่าย ดังนั้นคนจึงต้องมีการจัดการกับความเครียดอย่างสมดุล ต้องยอมรับความจริงนะครับว่าความเครียดจะมีผลกระทบต่อชีวิตของเราซึ่งวิธีการต่อไปนี้จะเป็นแนวทางที่ช่วยให้ท่านจัดการกับความเครียดได้ดังนี้ครับ

1. พักผ่อนให้เพียงพอและนอนหลับให้สนิท ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะต้องการ การพักผ่อนที่แตกต่างกันไป เช่น บางคนนอน 6 ชั่วโมงก็พอในขณะที่อีกคนหนึ่งอาจต้องการถึง 8 ชั่วโมง แต่อย่างไรก็ตามคนเราส่วนใหญ่ต้องการการพักผ่อนประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ท่านลองจัดตารางการพักผ่อนนอนหลับให้เป็นเวลานะครับ เพราะบางคนพอผิดเวลาแล้วเลยพาลนอนไม่หลับ เช้าขึ้นก็จะอ่อนเพลียเพราะพักผ่อนไม่พอ ซึ่งจะทำให้มีภูมิต้านทานความเครียดลดลงได้ครับในขณะเดียวกันท่านควรจะหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์,คาเฟอีน,นิโคติน หรือการดูหนังประเภทตื่นเต้นก่อนนอนด้วยนะครับ อ้อ! การเปิดเพลงเบา ๆ ก่อนนอนจะช่วยให้ท่านหลับสนิทดียิ่งขึ้นครับ


2. ฝึกการหายใจ ในเรื่องนี้สำหรับท่านที่เคยฝึกทำสมาธิมาแล้วจะเห็นถึงประโยชน์ของการกำหนดลมหายใจได้ดีกว่าคนที่ยังไม่เคยฝึกมานะครับ โดยอย่างง่ายที่สุดก็คือเมื่อท่านรู้ตัวว่ากำลังเกิดความเครียดขึ้นแล้วให้ท่านหลับตาลง แล้วสูดลมหายใจเข้า-ออกลึก ๆ ช้า ๆ ติดต่อกันสัก 5 นาที พร้อมตั้งสติให้เป็นกลางไม่จมไปกับความเครียดนั้นชั่วคราว จะทำให้ร่างกายของท่านสบายขึ้น


3. พยายามจัดชีวิตให้สมดุลระหว่างงานกับสันทนาการหรือกิจกรรมที่ท่านชอบ โดยท่านควรจะต้องมีการหยุดพักจากงานที่ทำอยู่เสียบ้าง ไม่ใช่ว่าแม้แต่วันหยุดท่านก็ต้องนำงานกลับไปทำที่บ้านเป็น Workaholic หรือเป็นคนบ้างานแล้วจะไม่ให้เครียดยังไงไหวล่ะครับในช่วงที่ท่านหยุดพัก (ไม่ว่าจะเป็นพักร้อนหรือสุดสัปดาห์ก็ตาม) ท่านก็ควรจะทำกิจกรรมที่ท่านชอบเช่น ร้องเพลง,ไปเที่ยวชายทะเลหรือต่างจังหวัด,ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ท่านมีพลังเพื่อกลับมาต่อสู้กับความเครียดในที่ทำงานได้ใหม่ครับ


4. เตรียมสุขภาพของท่านให้พร้อมรับกับความเครียด ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัก 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยออกกำลังกายติดต่อกันครั้งละอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งเหยาะ (Jogging) , ว่ายน้ำ , แอโรบิค , เดินเร็ว ฯลฯ รวมถึงการรับประทานอาหารให้ครบหมู่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งจะทำให้ท่านมีสภาพร่างกายพร้อมที่จะต่อสู้กับความเครียดได้ดีกว่าคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย หรือรับประทานอาหารไม่ถูกหลัก แถมบางคนทำลายสุขภาพตัวเองด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ เที่ยวดึก นอนดึก ฯลฯ อย่างนี้แล้วจะรับกับความเครียดได้ยังไงล่ะครับ


5. หาคนช่วยเมื่อยามเครียด เพราะท่านไม่ได้ทำงานอยู่คนเดียวในโลกนี่ครับ ท่านยังมีเพื่อนพ้องน้องพี่ทั้งในที่ทำงาน หรือคนที่จะสามารถช่วยเหลือแม้แต่รับฟังปัญหาของท่านเมื่อยามที่ท่านเผชิญความเครียดนะครับ เพียงท่านไปพบหรือโทรศัพท์ไปปรึกษาหารือคนเหล่านั้น ก็จะทำให้ท่านได้ระบายความเครียดออกไปได้แล้วครับ เผลอ ๆ ท่านอาจจะได้รับคำชี้แนะดี ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาที่เป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขาได้อีกด้วย


6. เคลื่อนไหวร่างกายเสียบ้างเมื่อท่านเครียด เพราะบางครั้งการที่ท่านนั่งจมอยู่กับเก้าอี้อยู่เฉย ๆ เมื่อพบกับความเครียดอาจเป็นสาเหตุทำให้ท่านเครียดเพิ่มมากขึ้น บ่อยครั้งที่กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอกับไหล่ของท่านเกิดอาการเกร็งเพราะความเครียดจนรู้สึกได้ ดังนั้นการเปลี่ยนอิริยาบถ หรือออกเดินให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวเสียบ้าง เช่น ท่านอาจจะเดินไปหาเพื่อนที่หน่วยงานใกล้เคียง , หรือเดินไปชงชากาแฟเอง ก็จะมีส่วนทำให้ท่านผ่อนคลายขึ้นได้แล้วนะครับ


7. ยอมรับว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ต้องยอมรับก่อนนะครับว่าทุก ๆ สิ่งในโลก(แม้แต่ตัวของเราเอง) ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ เพราะบางคนไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเลยนะครับ มองความเปลี่ยนแปลงเป็นลบ หรือเป็นสิ่งไม่ดีเสียหมด โธ่ ! ก็ท่านลองคิดดูสิครับว่าทั้งท่านและผมเองก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุก ๆ วันโดยที่ท่านไม่รู้ตัว ก็อายุหรือวัยไงครับ คนเรามีอายุมากขึ้นทุก ๆ วินาทีที่ผ่านไป ไม่มีใครอยู่ยั้งยืนยงเป็นอมตะโดยไม่แก่ไปได้หรอกครับ เรื่องอื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกันครับ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นฝังแน่นมากนะครับ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นท่านก็จะจมอยู่กับความเครียดโดยไม่อาจจะแยกจากกันได้ครับ

บทสรุป

แน่นอนครับว่าความเครียดเป็นแขกที่ไม่ได้รับเชิญซึ่งโดยธรรมชาติของคนทุกคนแล้วไม่มีใครอยากได้ หรืออยากจะให้เกิดขึ้นกับตัวหรอกครับ แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธความเครียดได้หรอกครับ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เพราะต่อให้ไม่ต้องทำงานอะไรเลยอยู่กับบ้านเฉย ๆ ก็ยังเกิดความเครียดขึ้นได้เลย ก็เรายังเป็นมนุษย์ปุถุชนมีกิเลส มีความรู้สึกนึกคิด มีค่านิยม ความเชื่อเป็นของแต่ละคนที่แตกต่างกันอยู่ ก็ย่อมจะเป็นสาเหตุให้เกิดความเครียดได้อยู่เสมอแหละครับ อยู่ที่ใครจะเท่าทันหรือมีการจัดการกับเจ้าความเครียดนี้ให้น้อยลงไป หรือให้หายไปได้อย่างไรเพื่อให้เกิดความสมดุลในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานให้มากที่สุดครับ


* ลงพิมพ์ในวารสาร For Quality, December 2004 Vol 11 No.86


Posted by ธำรงศักดิ์ ที่มา : https://www.excelexperttraining.com/
Category : Tips and Tools


อัพเดทล่าสุด