องค์กร...คืออะไร...สำคัญอย่างไร ?


945 ผู้ชม


องค์กร...คืออะไร...สำคัญอย่างไร ?




บทนำ

หากจะถามว่า “วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร ?” หลาย ๆ คนอาจจะตอบว่า “ก็คงหมายถึงสิ่งที่คนเขาปฏิบัติที่สืบต่อกันมาในองค์กรน่ะสิ” แล้วความคิดในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรคงจะจบลงแค่นั้น ซึ่งหากท่านจะลองคิดให้ไกลไปอีกสักนิดก็จะพบว่าวัฒนธรรมองค์กรมีความหมายมากมายกว่านั้น เพราะการที่องค์กรของท่านอยู่ยงคงกระพันฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคมานานับประการจนดำรงคงอยู่ในปัจจุบันนั้น ก็เป็นเพราะวัฒนธรรมองค์กรของท่านเข้าไปมีส่วนร่วมมาตั้งแต่อดีต และจะมีส่วนอย่างสำคัญยิ่งต่อองค์กรในอนาคตอีกด้วย

เอาล่ะครับ ได้เวลาตามผมมาพบกับเรื่องราวของวัฒนธรรมองค์กรที่จะให้คำตอบกับท่านว่าเข้ามามีส่วนร่วมกับองค์กรได้อย่างไร....


วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร ?

จากความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายว่าหมายถึง “พฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิต สร้างขึ้นด้วยกัน เรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน”

ดังนั้นวัฒนธรรมองค์กรก็คือ พฤติกรรมที่สร้างขึ้นจากคนในองค์กรโดยมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และยึดถือปฏิบัติกันมาจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในองค์กรนั้น ๆ

วัฒนธรรมองค์กรเกิดจากใคร ?

ท่านลองดูตัวอย่างง่าย ๆ ของวัฒนธรรมองค์กรนี้นะครับ


        -   เถ้าแก่(เจ้าของกิจการ)ที่ชอบมาทำงานแต่เช้า หรือ ทำงานตรงเวลา --- จะพบว่าลูกจ้างในร้านก็จะต้องมาทำงานเช้า หรือทำงานตรงเวลาตามไปด้วย ถ้าลูกจ้างคนไหนเป็นคนไม่ตรงเวลา ก็จะมีปัญหากับวัฒนธรรมของร้านนั้น 


        -   กรรมการผู้จัดการมีลักษณะที่เป็นเผด็จการ ไม่ชอบการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น และใจร้อน ชอบตัดสินใจทันที โดยไม่ต้องการฟังคำโต้แย้ง --- จะพบว่าในองค์กรนั้นก็จะมีพนักงานที่มีลักษณะเป็น Yes man ที่คอยแต่จะปฏิบัติตามคำสั่ง พนักงานคนใดที่ชอบแสดงความคิดเห็น หรือมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ที่จะโต้แย้งเมื่อเห็นว่าการตัดสินใจของผู้บริหารไม่น่าจะถูกต้อง ก็จะเกิดความขัดแย้ง และไม่สามารถอยู่ในวัฒนธรรมแบบนี้ได้

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในหลาย ๆ ตัวอย่างของอิทธิพลในเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่สามารถจะส่งผลกระทบทั้งด้านบวก และลบให้กับผู้คนในองค์กรนั้นนะครับ

ท่านลองคิดดูสิครับว่านอกจากวัฒนธรรมในการมาทำงานหรือการตรงต่อเวลาแล้ว ในองค์กรของท่านยังมีวัฒนธรรมอะไรที่ดีและไม่ดีอีกบ้างไหมครับ ?

ปัญหาที่เกิดจากวัฒนธรรมในองค์กร

ผมได้เกริ่นนำให้ท่านเห็นปัญหาของวัฒนธรรมองค์กรเกี่ยวกับการมาทำงานให้ท่านดูเป็นตัวอย่างไปแล้ว คราวนี้ลองมาดูกันสิครับว่าในองค์กรที่มีปัญหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรน่ะผู้คนในองค์กรนั้นเขาจะมีลักษณะหรือมีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับองค์กรบ้าง


1. พนักงานมักจะคิดว่าองค์กรของเขาดีอยู่แล้วไม่เห็นจะมีปัญหาที่ตรงไหนเลย


2. พนักงานจะขาดสำนึกในส่วนที่เกี่ยวกับการสนองความต้องการของลูกค้าอย่างเร่งด่วน พูดง่าย ๆ คือพนักงานไม่สนใจลูกค้านั่นแหละครับ อยากได้สินค้าหรือบริการของเราลูกค้าก็ต้องรอหน่อยนะ


3. พนักงานขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่คิดที่จะพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ออกมาเพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า


4. จากข้อ 3 พนักงานจะรอให้ “เบื้องบน” สั่งมาเพียงอย่างเดียว คอยแต่จะปฏิบัติตามคำสั่ง (Reactive) ไม่เคยคิดที่จะพัฒนางานในแบบเชิงรุก (Proactive)


5. ผู้บริหารและพนักงานคิดแต่จะทำงานด้านปฏิบัติการหรือธุรการเป็นงานหลัก โดยไม่คำนึงถึงด้านธุรกิจขององค์กรว่าจะเป็นไปในทิศทางใดเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า


6. ผู้นำในองค์กรเชื่องช้า และเสียเวลามากกับการจ้ำจี้จ้ำไชพนักงานที่ขาดคุณภาพ หรือพนักงานที่ทำงานไม่ดี ทำให้ไม่มีเวลาไปใส่ใจกับพนักงานที่ทำงานดี เพราะคิดว่าเขาทำงานดีอยู่แล้ว


7. ผู้นำในองค์กรไม่เข้าใจ และไม่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นในองค์กรได้ โดยมักจะงุนงง สงสัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รอบตัว โดยไม่สามารถวางแผนเพื่อปรับตัวให้รับการการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้

จากที่ผมยกตัวอย่างข้างต้นนี้คงจะทำให้ท่านได้มองเห็นสภาพของวัฒนธรรมองค์กรที่เฉื่อยชา จนมีผลทำให้พนักงานขาดความสนใจในการปรับปรุงพัฒนางานให้ดีขึ้น หากท่านจะถามว่าใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ ผมคงต้องตอบตรงไปตรงมาว่าก็เบอร์หนึ่งขององค์กรนั่นแหละครับที่จะชี้เป็นชี้ตายองค์กร

เพราะอะไรหรือครับ

ท่านเคยได้ยินคำว่า “องค์กรสะท้อนผู้นำ”หรือไม่
ดูง่าย ๆ ว่าหากผู้นำในองค์กรมาทำงานเช้า พนักงานในองค์กรนั้นก็จะมาทำงานเช้า เพราะเขาดูตัวอย่างจาก “นาย” ของเขาไงครับ ถ้านายยังมาทำงานสายแล้วจะไปคอยจ้ำจี้จ้ำไชให้ลูกน้องมาทำงานเช้าน่ะคงเป็นไปไม่ได้หรอกครับ เพราะแม่ปูเดินเบี้ยวแล้วจะสอนให้ลูกปูเดินตรงได้อย่างไร

ดังนั้นถ้าผู้นำในองค์กรมีลักษณะแบบใด องค์กรนั้นก็จะมีลักษณะแบบนั้นแหละครับ

เช่นถ้าผู้นำเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ ลูกน้องก็จะพลอยสืบทอดลักษณะของการ “เอาตัวรอดเป็นยอดดี” โดยวิธีไม่ตัดสินใจไปด้วย (เพราะกลัวว่าจะไม่เป็นที่สบอารมณ์หัวหน้า)

ดังนั้นผมจึงฟันธงไปเลยว่าวัฒนธรรมในองค์กรของท่านจะดีหรือไม่นั้นล้วนขึ้นอยู่กับผู้นำโดยเฉพาะอย่างยิ่งหมายเลขหนึ่งในองค์กรที่จะต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่าง (Role Model) ให้พนักงานได้เห็น ซึมซับ รับทราบ และอยากปฏิบัติตามด้วยครับ

วัฒนธรรมองค์กรของท่านปัจจุบันเป็นอย่างไร ?

มาถึงตรงนี้ ผมอยากให้ท่านลองทบทวนดูสิครับว่าในองค์กรที่ท่านทำงานอยู่ทุกวันนี้น่ะมีวัฒนธรรมองค์กรที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาที่เป็นข้อดีหรือเป็นจุดแข็งขององค์กรท่านในเรื่องใดบ้างอาทิเช่น...

1. ความรับผิดชอบและสำนึกในความรับผิดชอบ (Responsibility & Accountability) กล่าวคือพนักงานในองค์กรของท่านปัจจุบันนี้มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายอยู่ และงานที่จะต้องมีสำนึกในความรับผิดชอบ (คืองานที่ถึงตนเองไม่ได้ทำแต่มอบหมายให้ลูกน้องไปทำก็จริงแต่ตนเองก็ยังต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับลูกน้องนั่นแหละครับ) อยู่ในระดับใด


2. สำนึกในการให้บริการลูกค้า โดยการคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก (Service Mind & Customer Centric) เพราะเดี๋ยวนี้เขาหมดสมัยที่จะผลิตสินค้าหรือบริการออกมาเป็นจำนวนมาก ๆ แบบ Mass Production โดยไม่คำนึงว่าลูกค้ามีความต้องการหรือไม่แล้วนะครับ แต่ต้องดูที่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลักว่าลูกค้าต้องการอะไรแล้วจึงสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการที่โดนใจลูกค้าต่างหาก


3. การทำงานเป็นทีม (Teamwork) เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยนะครับถ้าในองค์กรยังทำงานไม่ประสานกันแล้วจะไปพร้อมให้บริการลูกค้าได้อย่างไร


4. ยึดถือระบบคุณธรรม (Merit System) โดยพยายามขจัดระบบเส้นสายพวกพ้องออกไป และพิจารณาในเรื่องความรู้ความสามารถของพนักงานเป็นหลัก ซึ่งในเรื่องนี้ในหลาย ๆ องค์กรเขาจะใช้ตั้งแต่การสรรหาคัดเลือกผู้สมัครงานเข้ามาทำงานเลยนะครับ โดยจะพิจารณาถึงคุณลักษณะที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานหรือที่เรียกกันว่า Competency ไงล่ะครับ


5. ส่งเสริมในเรื่องความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creative Thinking หรือ Innovation) ในองค์กรของท่านควรมีบรรยากาศของการส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นะครับ เพราะหลายครั้งความคิดที่ดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้นั้นมักเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ แปลก ๆ มามากต่อมากแล้วนะครับ


6. ความรวดเร็วในการทำงาน (Responsiveness) ทั้งในการปฏิบัติงานภายใน และความรวดเร็วในการให้บริการลูกค้า


7. การเปิดใจรับคำวิพากษ์วิจารณ์เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น (Openness)


8. ความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริง (Assertiveness)


9. การสื่อสารที่ดีในองค์กร (Communication)


ฯลฯ

ที่ผมพูดมาข้างต้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างของวัฒนธรรมองค์กรนะครับ ซึ่งท่านอาจจะถามว่า “แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าในองค์กรของเรามีวัฒนธรรมใดบ้าง ?” อันนี้คงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารและพนักงานในองค์กรนั้น ๆ แล้วนะครับที่จะต้องช่วยกันค้นหาดูว่าในองค์กรของเรานี้มีวัฒนธรรมอะไรที่ดี ๆ อยู่บ้าง แล้วนำสิ่งที่ดี ๆ เหล่านี้ออกมาประกาศแจ้งให้กับสมาชิกในองค์กรทุกระดับทราบ และหาแนวทางในการกระตุ้น ส่งเสริม ในด้านต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานยึดถือและปฏิบัติให้เกิดการสืบทอดต่อ ๆ กันไป

สรุป

วัฒนธรรมในองค์กรนั้นไม่ได้มีแต่ด้านดีอย่างเดียว เราคงต้องยอมรับว่ายังมีวัฒนธรรมองค์กรในด้านไม่ดีที่ฝังรากปะปนอยู่ด้วย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้นำในทุกระดับขององค์กรที่จะต้องค้นหา ส่งเสริม รณรงค์ และกระตุ้นให้พนักงานทุกคนในองค์กรมีจิตสำนึกในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีให้เกิดขึ้นในองค์กรนั้น ๆ

การสร้างวัฒนธรรมในองค์กรจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย หากผู้นำขององค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำหมายเลขหนึ่งขององค์กรไม่ให้ความร่วมมือ และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่มีลักษณะขัดแย้งกับวัฒนธรรมองค์กรที่คาดหวัง
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ในองค์กรมีการรณรงค์ให้สร้างวัฒนธรรมในเรื่องของความรับผิดชอบและตรงต่อเวลา แต่ผู้นำกลับเข้าประชุมสายเสมอ ๆ และไม่ยอมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นแบบอย่างเช่นนี้แล้ว องค์กรนั้นก็จะไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้เลย


ซึ่งหากจะกล่าวกันอย่างถึงที่สุดแล้วจะพบว่าการดำเนินการในเรื่องวัฒนธรรมขององค์กรนั้นก็คือการบริหารจัดการในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ให้เกิดขึ้นในองค์กรในทิศทางที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดและเจริญก้าวหน้าไปในอนาคตนั่นเอง.

 

วันนี้ในองค์กรของท่านเริ่มค้นหาและสร้างวัฒนธรรมองค์กรดี ๆ ไว้สำหรับอนาคตแล้วหรือยังครับ ?

.......................................................................................


Posted by ธำรงศักดิ์  ที่มา : https://www.excelexperttraining.com
Category : HR Share Knowledge


อัพเดทล่าสุด