อันตราย....องค์กรเป็นพิษ (ตอนที่ 2)


684 ผู้ชม


อันตราย....องค์กรเป็นพิษ (ตอนที่ 2)




บทนำ

ผมเคยเขียนเรื่อง “สัญญาณอันตราย...องค์กรเป็นพิษ” มาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งพูดถึงลักษณะแนวโน้มที่องค์กรกำลังจะเริ่มเป็นพิษ, เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความเป็นพิษในองค์กร และใครบ้างที่มีส่วนทำให้องค์กรเกิดสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษไปแล้ว ท่านที่เคยอ่านผ่านตาไปแล้วคงยังพอจำกันได้นะครับ


ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าถ้าเกิดความเป็นพิษขึ้นในองค์กรใด คนที่ได้รับผลจากความเป็นพิษนั้น ก็คงไม่แคล้วพนักงานที่ทำงานในองค์กรนั้นนั่นเอง

คงไม่มีใครอยากอยู่ทำงานในองค์กรเป็นพิษเป็นแน่ !

สัญญาณเตือนการเกิดมลพิษโดยทั่วไป

ผมขอย้อนเวลากลับหลังไปไม่ต้องไกลมากนัก เอาสักแค่ 30 ปีย้อนหลังที่แล้วมา ท่านที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพเมืองฟ้าอมรของเราคงยังจำกันได้นะครับว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวกรุงเทพยังไม่มีความเป็นมลพิษเท่าในปัจจุบันนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานวันเข้า ก็เริ่มมีสัญญาณบอกเหตุมาเป็นระยะ ๆ

เช่นอะไรบ้างล่ะ ?

ท่านเริ่มเห็นยวดยานรถราที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับสิ่งที่ตามมาคู่กันคือควันพิษจากท่อไอเสีย ทำให้อากาศเริ่มเกิดมลพิษทางอากาศ
เสียงของยวดยานที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดมลพิษทางเสียง
การสร้างตึกรามบ้านช่อง อาคารสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดมลพิษในเรื่องฝุ่นละออง
นี่เป็นสัญญาณบอกเหตุเบื้องต้นนะครับ ที่เป็นตัวชี้ว่าในอนาคตกรุงเทพจะต้องมีมลพิษในเรื่องต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ย้อนกลับมาดูในองค์กรของเรา

ในองค์กรหรือบริษัทที่เราทำงานกันอยู่ทุก ๆ วันนี่ก็เช่นเดียวกันครับ ก่อนที่จะเกิดความเป็นพิษขึ้นในองค์กร ก็จะต้องมีสัญญาณอะไรบางอย่างที่ทำให้ผู้คนในองค์กรนั้น เริ่มรู้สึกได้ถึงความผิดปกติ
เพื่อให้ท่านเห็นภาพชัดเจนขึ้น ผมจึงขอเปรียบเทียบระหว่างองค์กรที่เป็นพิษ กับองค์กรที่แข็งแรงดี มาสัก 20 ตัวอย่าง เพื่อให้ท่านย้อนกลับมาดูซิว่าปัจจุบันในองค์กรของท่านยังแข็งแรงดีอยู่หรือเริ่มมีอาการป่วยไข้บ้างแล้วดังนี้ครับ

20 สัญญาณอันตรายองค์กรเป็นพิษ

1.  ผู้บริหารระดับสูงไม่สนใจหรือมีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง และเป้าหมายขององค์กร


2. เมื่อมองเห็นข้อผิดพลาด ไม่มีใครคิดเข้าไปแก้ไขเพราะคิดว่า “ธุระไม่ไช่” ทำให้ปัญหาต่าง ๆ เหมือน ขยะที่ซุกไว้ใต้ พรม


3. ไม่มีการแก้ปัญหากันเป็นทีม และมักแก้ปัญหาให้ถูกใจผู้บริหารมากกว่าให้ถูกใจลูกค้า(ตัวจริง)


4. ผู้บริหารระดับสูงควบคุมอำนาจตัดสินใจแก้ปัญหาไว้ให้มากที่สุดจนเกิด “คอขวด” ทำให้ล่าช้าเพราะ รอการตัดสินใจจากเบื้องบน


5. มีการวางแผนงานเป็นทีมเพื่อให้ปฏิบัติการสั่งงาน หรือการมอบหมายนโยบายให้ปฏิบัติ จะไม่ได้รับความสนใจจากลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงาน


6. พนักงานที่รับผิดชอบหน้างานไม่ได้รับมอบหมายให้ตัดสินใจอะไรได้


7. พนักงานแก่งแย่งชิงดี อิจฉาริษยา ไม่ร่วมมือซึ่งกันและกันขาดการยอมรับ และไม่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน


8. เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ใด ๆ ผู้เกี่ยวข้องจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ และพร้อมโยนความผิดให้คนอื่น


9. มีการเล่นการเมืองในองค์กร และพยายามเก็บความขัดแย้งต่างๆ ไว้ในใจ ไม่มีการแก้ไขความขัดแย้งอย่างจริงจัง


10.พนักงานในองค์กรไม่สนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตนเอง พนักงานจะเรียนรู้เฉพาะงานที่ตนเองทำผิดพลาดเท่านั้น


11. หลีกเลี่ยงการรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น


12. องค์กรเต็มไปด้วยข่าวลือ การใส่ร้ายป้ายสี ใส่หน้ากากเข้าหากัน ซุบซิบนินทา


13. ผู้บริหารไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรง่าย ๆ


14. ผู้บริหารควบคุมทุกเรื่องอย่างใกล้ชิด แม้แต่เรื่องจุกจิกปลีกย่อย

15. มีแนวความคิดว่า “ยิ่งเสี่ยงน้อย ยิ่งปลอดภัย”


16. “ใครทำให้งานนี้ผิดพลาด ?”


17. ไม่จัดการกับคนที่มีปัญหาในองค์กรอย่างจริงจัง


18.คิ ดอยู่ในกรอบ


19. ไม่ส่งเสริมให้มีบรรยากาศความคิดสร้างสรรค์ หรือหาแนวทางในการทำงานใหม่ ๆ


20. พนักงานทนกับความคับข้องใจต่าง ๆ และมักคิดว่า“ฉันคงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ หากเรือลำนี้จะล่มลง
ก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบของฉันหรอก...โน่น..คนโน้นต่างหากที่ต้องรับผิดชอบ...”

องค์กรเข้มแข็ง

1. พนักงานทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง วัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร


2. พนักงานจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขตั้งแต่แรกที่มองเห็นปัญหา และคิดว่าทุกปัญหา มีทางแก้ไขเสมอ


3. มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เข้าถึงสาเหตุของปัญหา และแก้ไขปัญหาเป็นทีมยึดความถูกต้องมากกว่าถูกใจ


4. มีการหาปัจจัย และทางเลือกในการแก้ปัญหาที่จะเป็นไปได้อย่างละเอียดรอบคอบและมีข้อมูลพร้อมตัดสินใจโดยไม่ขึ้นกับว่าคนๆ นั้นจะอยู่ในตำแหน่งใด


5. มีการวางแผนงานเป็นทีมเพื่อให้ปฏิบัติอย่างได้ผล มีความรับผิดชอบต่อผลสำเร็จ


6. พนักงานที่หน้างานได้รับมอบหมายให้ตัดสินใจแก้ปัญหาได้ในระดับที่เหมาะสม


7. พนักงานประสานความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พนักงานเต็มใจเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ ในผลสำเร็จร่วมกัน


8. เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ใด ๆพนักงานจะประสานความร่วมมือกันอย่างรวดเร็วเพื่อแก้ไขวิกฤตินั้น ๆ


9. เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นจะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไขก่อนที่จะลุกลามต่อไป


10.พนักงานใฝ่หาการเรียนรู้ตลอดเวลา เต็มใจและพร้อมจะถ่ายทอดความรู้ และให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาศักยภาพของเพื่อนพนักงานด้วยกัน


11.เปิดใจรับฟังความคิดเห็น จากผู้เกี่ยวข้องเพื่อการปรับปรุงพัฒนา


12.มีสัมพันธภาพกันแบบจริงใจ, พนักงาน รู้สึกว่ามีพี่มีเพื่อน ไม่โดดเดี่ยว สามารถ ปรึกษาหารือและไว้วางใจกันได้ มีข่าวลือน้อยในองค์กร


13.ผู้บริหารยืดหยุ่นและพร้อมเปลี่ยนแปลง


14.ผู้บริหารไว้ใจและให้อิสระพอสมควรโดยมีทัศนคติว่าพนักงานมีความรับผิดชอบ และวิจารณญาณดีว่าอะไรควรหรือไม่ควร


15.มีแนวความคิดว่า “มีความเสี่ยงที่ยอมรับได้จะทำให้องค์กรเติบโตและเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น


16.“เราได้บทเรียนอะไร จากความผิดพลาดนี้?”


17.หาแนวทางที่ชัดเจนในการรับรู้ และแก้ไขคนที่มีปัญหาในองค์กร


18.หาวิธีการคิดริเริ่มใหม่ๆ และมักตั้งคำถามว่า “วิธีการนี้ยังเหมาะสมดีอยู่หรือไม่ ?”


19.เปิดโอกาสให้พนักงานเสนอความคิดแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรหรือวิธีการทำงานให้ดีขึ้น


20.พนักงานจะคิดเสมอว่า “มันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของฉันที่จะต้องรักษาเรือลำนี้เอาไว้ให้ได้.....”

บทสรุป

จาก 20  สัญญาณอันตรายข้างต้น ท่านลองนำมาเปรียบเทียบดูกับองค์กรที่ท่านทำงานอยู่ดูนะครับว่าปัจจุบันองค์กรของท่านจะมีน้ำหนักเอียงไปทางซ้าย(องค์กรเป็นพิษ) หรือเอียงขวา(องค์กรเข้มแข็ง)มากกว่ากัน ถ้าหากว่าองค์กรของท่านเริ่มจะมีแนวโน้มที่จะเกิดมลพิษขึ้นแล้วคงต้องเป็นหน้าที่ของพนักงานทุก ๆ คนไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร(ที่จะต้องเปิดใจยอมรับและหาทางแก้ไข) หรือพนักงานที่จะต้องร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีบรรยากาศที่ดี คนที่ทำงานอยู่ก็รู้สึกผูกพันไม่อยากจะเสี่ยงไปหาที่ทำงานใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะมีสภาพแวดล้อมดีเหมือนที่ปัจจุบันหรือเปล่า ในขณะที่คนนอก(ผู้สมัครงาน)ก็อยากจะเข้ามาร่วมงานเพราะได้ยินกิติศัพท์ว่าองค์กรนี้มีสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในการทำงานที่อบอุ่นไม่ต้องถึงกับให้องค์กรของท่านเข้มแข็งเลิศเลอเพอร์เฟ็คเหมือนในอุดมคติหรอกครับ เพียงแต่ช่วยกันทำให้เกิดความเป็นพิษให้น้อยที่สุดก็พอแล้ว ลองถามตัวท่านเองดูว่า วันนี้...ท่านได้มีส่วนทำให้องค์กรของท่านลดความเป็นพิษไปบ้างแล้วหรือยัง ?


คงไม่มีใครตอบว่า “ก็ฉันจะไปทำอะไรได้มากไปกว่านี้ล่ะ ?” แน่ะ....เหมือนสัญญาณในข้อ 20 เลยไหมครับ ถ้าเหมือนข้อ 20 องค์กรเป็นพิษ ก็คงต้องใช้ข้อ 20 องค์กรเข้มแข็งเข้ามาช่วยรักษาองค์กรของเราแล้วล่ะครับ เพราะ........

เมื่อองค์กรสะสมพิษเอาไว้นาน ๆ เข้า ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือคนในองค์กรทุก ๆ คนนั่นเองครับ.

* ลงพิมพ์ในวารสาร ส่งเสริมเทคโนโลยี ฉบับ 177 เดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน 2547


Posted by ธำรงศักดิ์  ที่มา : https://www.excelexperttraining.com
Category : HR Share Knowledge

อัพเดทล่าสุด