ทำอย่างไรถ้าคุณถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง (Successor)?


648 ผู้ชม


ทำอย่างไรถ้าคุณถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง (Successor)?




คนทำงานหลายคนรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพ ไม่รู้ว่าจะได้ปรับระดับ เลื่อนตำแหน่งกับเขาเมื่อไหร่ เมื่ออยู่ไปๆไม่เห็นอนาคตก็อาจจะออกไปอยู่ที่อื่นๆ บางคนก็ทนอยู่และก็อยู่ทนไปจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะทนอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เรามักจะแอบอิจฉาคนที่ถูกวางตัวให้เป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งของหัวหน้ากันอยู่เสมอ เพราะคนเหล่านั้นมักจะได้รับการดูแลอย่างดี ส่งไปฝึกอบรมเพิ่มเติม หัวหน้ามอบหมายงานที่ท้าทายให้ทำ มิหนำซ้ำ ยังใส่ใจเป็นพิเศษในทุกเรื่องอีก

           แต่ถ้าลองไปถามคนที่เป็นว่าที่หัวหน้าหรือผู้ที่ถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นบ้าง เราก็จะได้รู้อีกมุมหนึ่งของชีวิตคนเหล่านี้ว่าเขารู้สึกอย่างไร บางคนก็บ่นว่าจริงๆแล้วไม่อยากได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นไปหรอก เป็นลูกน้องนี่แหละดีแล้ว สบายดีไม่ต้องคิดอะไรมาก ในขณะที่บางคนก็บ่นว่างานหนักขึ้น(เงินเดือนเท่าเดิม) หัวหน้าก็อ้างเพียงแต่ว่าเพื่ออนาคตของคุณเอง ดังนั้น วันนี้คุณจะต้องทำงานหนักขึ้นกว่าคนอื่นๆ บางคนก็พร้อมและอยากที่จะเป็นหัวหน้า แต่ด้วยภาระหน้าที่ทั้งที่ทำอยู่ในปัจจุบันและงานใหม่ที่ถูกมอบหมายเพิ่มเติมก็หนักเอาการอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นบางคนยังเจอมรสุมชีวิตอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มคนที่ต่อต้าน จากกลุ่มคนที่ไม่อยากเห็นคนอื่นได้ดี

           ยิ่งใครที่ได้รับการซื้อตัวหรือว่าจ้างมาจากบุคคลภายนอกและถูกวางตัวให้เป็น Successor เพื่อก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งระดับบริหาร ยิ่งต้องเจอด่านหินๆหลายด่านแน่นอน ตั้งแต่การไม่ได้รับความร่วมมือจากคนเก่า เพราะหลายคนตั้งป้อมไม่ให้ข้อมูลเพื่อการเรียนรู้อยู่แล้ว บางกลุ่มก็แสดงออกถึงการต่อต้านหรือพูดง่ายๆว่าเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจน คุณอยู่ได้ก็อยู่ไป อยู่ไม่ได้ก็ต้องออกไปจากอาณาจักรนี้ บางกลุ่มต่อต้านแบบไม่แสดงอาการ แต่ลึกๆก็ไม่อยากให้คนนอกเข้ามาหยิบชิ้นปลามันไปกิน ถึงลูกพี่ตัวเองจะไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่ แต่ความผูกพันและเมื่อเทียบกับคนนอกแล้วก็ยังดีกว่า เข้าข่ายเหมือนเราดูมวยไทยชกกับชาติอื่น ถึงแม้ฝีมือมวยเราด้อยกว่า แต่เวลาเชียร์แล้ว เราก็ลำเอียงเข้าข้างมวยไทยอยู่แล้ว เช่นเดียวกันกับคนในที่มักจะเชียร์คนในด้วยกันมากกว่าคนนอกที่เพิ่งเข้ามา ถึงแม้จะเก่งขนาดไหนก็ตาม

           คนที่เป็น Successor หลายคนถูกดับอนาคตเพราะด่าน 18 อรหันต์ โดนทั้งทิ้งให้โดดเดี่ยว โดนยำในที่ประชุม โดนวางยาเกี่ยวกับระบบการทำงาน ถึงแม้ว่าคนที่เป็น Successor จะได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงอย่างดีก็ตาม แต่เวลาลงไปบริหารงานจริงในหน้างาน ผู้บริหารไม่อยู่กับเราตลอดเวลา และผู้บริหารเองก็อยู่ในฐานะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่เหมือนกัน เพราะฝ่ายหนึ่งคืออดีตและปัจจุบันของบริษัท (กำลังสำคัญในการทำงาน) และอีกฝ่ายหนึ่งคืออนาคตของบริษัทฯ (ผู้บริหารรุ่นใหม่ ไฟแรง)

           เพื่อเป็นกำลังใจและเสนอแนะแนวทางให้กับผู้ที่ถูกวางตัวเป็นทายาททางการเมืองขององค์กรต่างๆ สามารถฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมจึงขอให้กำลังใจและแนวทางที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อดาวรุ่งขององค์กรดังนี้

•  ซื้อใจคนก่อนเป็นอันดับแรก

           ผมเชื่อว่าคนที่ถูกกำหนดให้เป็นว่าที่ผู้บริหาร โดยพื้นฐานแล้วความรู้ความสามารถและศักยภาพในเรื่องการทำงานน่าจะมีมากอยู่แล้ว ดังนั้น ในช่วงแรกของการเข้ารับงาน ต้องมุ่งเน้นการซื้อใจคนก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใครมาจากข้างนอก(องค์กรอื่น) เรื่องนี้ยิ่งมีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนเป็นอันดับแรกเลย ช่วงแรกอย่าเพิ่งโชว์ฝีมือหรือความเก่งกาจในการทำงานให้มากนักเพราะอาจจะเกิดความหมั่นไส้จากคนเก่าๆได้นะครับ สำหรับวิธีการในการซื้อใจคน สามารถทำได้หลายวิธี เช่น เก็บที่ละคน เพราะบางครั้งพอเขารวมตัวกันเป็นกลุ่มพลังต้านสูง จำเป็นต้องเก็บทีละคนโดยเริ่มซื้อใจจากคนที่เราคิดว่าน่าจะง่ายก่อนหรือพวกที่ไม่ใช่หัวโจกก่อน หรือเข้าไปช่วยเหลือคนในยามที่เขาลำบาก เช่น เจ็บป่วย ชีวิตมีปัญหา ฯลฯ นอกจากนี้อาจจะเป็นตัวกลางในการนำเสนอเรื่องบางเรื่องให้ผู้บริหารช่วยสนับสนุนหรือแก้ไขปัญหาที่คนบางคนประสบอยู่ก็ได้ สำหรับวิธีนี้อาจจะต้องกระซิบผู้บริหารไว้ก่อนว่าเราขอเรื่องนี้เพื่อสร้างเครดิตสำหรับคนบางกลุ่ม เพื่อไม่ให้ผู้บริหารมองว่าเราเข้าข้างพนักงานมากจนเกินไป

•  หาโอกาสแสดงฝีมือให้เป็นที่ยอมรับ

           โดยทั่วไปแล้วคนเรามักจะเห็นคนอื่นสำคัญก็ต่อเมื่อเราอยู่ในภาวะฉุกเฉิน คับขับ วิกฤติ หรือมีปัญหา ดังนั้น ถ้าเราต้องการสร้างเครดิตให้เป็นที่ยอมรับของคนในองค์กรนั้นๆ ควรจะมองหาโอกาสจากวิกฤติหรือปัญหาใดปัญหาหนึ่ง โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหานั้นๆ อาจจะต้องเสียหน้าบ้างในการช่วงแรกของการลงไปลุยกับปัญหา แต่ในระยะยาวแล้ว เราจะได้ใจของคนในองค์กร เนื่องจากว่าถ้าเราแสดงความสามารถในช่วงเวลาปกติ เช่น ในที่ประชุมประจำเดือน ความคิดเราอาจะไม่ได้รับการยอมรับ แต่ถ้าเราเสนอความคิดเรื่องเดียวกัน แต่เสนอตอนที่กำลังมีปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้า ข้อร้องเรียนของลูกค้า รับรองว่าโอกาสที่คนอื่นจะยอมรับข้อเสนอของเราก็มีมากขึ้น

•  สร้างระบบรองรับตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้น

           นอกจากต้องซื้อใจคนและสร้างเครดิตเกี่ยวกับฝีมือในการทำงานแล้ว ผมคิดว่าคนที่เป็น Successor ที่ดีควรจะศึกษาจุดอ่อนของระบบงานตั้งแต่ยังไม่ขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่องค์กรกำหนดไว้ให้ ทั้งนี้เพื่อว่าเวลาขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นไปแล้ว มีอำนาจในการดำเนินการด้วยตัวเอง จะสามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลงระบบการทำงานให้ดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องไปเสียเวลาคิดตอนที่ได้ตำแหน่งแล้ว

           สรุป ใครก็ตามที่ถูกวางตัวเป็นทายาทผู้สืบทอดตำแหน่งในองค์กร ควรจะมองวิกฤติต่างๆที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาส และต้องมองไกลกว่าปัญหาที่กำลังเจอในแต่ละวัน ต้องคิดว่าถ้าเราขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น เราอาจจะเจอปัญหามากกว่านี้ เพื่อให้เรามองปัญหาวันนี้เล็กกว่าปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญของการฝ่าด่านมนุษย์ทองคำของแต่ละองค์กรไม่ใช่อยู่ที่ฝีมือในการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ศาสตร์และศิลป์ของการเข้าถึงและซื้อใจคนได้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่ง Successor ที่อ่านบทความนี้คงจะมีกำลังใจที่จะต่อสู่เพื่อความก้าวหน้าที่รอเราอยู่แล้วมากยิ่งขึ้นนะครับ

โดยคุณ: ณรงค์วิทย์ แสนทอง
           นักเขียนและวิทยากรอิสระ

    ที่มา : https://hrcenter.co.th


อัพเดทล่าสุด