รัฐธรรมนูญกับการปกป้องการเกณฑ์แรงงาน


1,255 ผู้ชม


รัฐธรรมนูญกับการปกป้องการเกณฑ์แรงงาน




ระบบไพร่-ทาส กับการเปลี่ยนแปลง

ในอดีตประเทศไทยเราได้มีการใช้วิธีเกณฑ์แรงงานมาช้านานตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งเรียกว่าระบบไพร่-ทาส ต่อมาระบบการเกณฑ์แรงงานได้ค่อยเสื่อมคลายลง เมื่อประเทศไทยต้องเปิดประเทศภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาริงกับประเทศอังกฤษ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงซึ่งร่วมถึงสภาพเศรษฐกิจเกิดการขยายตัวทั้งส่วนภาคเกษตร การค้าขาย การอุตสาหกรรม
จากสภาพเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้ราษฎรมีโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น มีเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย เช่นการอนุญาตให้ไปทำกินที่ใหม่ การสังกัดเจ้านายได้ตามสมัครใจ ดังประกาศอย่างเป็นทางการโดยรัชกาล 5 ซึ่งมีใจความสำคัญว่า " เพื่อให้เชื่อถือว่าให้คนไทย จีน ญวน พม่า มอญ เขมร ลาว แขก และลูกหลานฝรั่ง ฯลฯ ทั้งหญิงชายใครจะใคร่รับจ้างจะได้เป็นค่าจ้างเป็นผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อเลี้ยงตัวเลี้ยงชีพ " จากการเปลี่ยนแปลง ทำให้ระบบไพร่-ทาส การเกณฑ์แรงงานก็ถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 5 การเกณฑ์แรงงานก็ถูกจำกัดอยู่แค่การเกณฑ์ทหารเข้ารับราชการเท่านั้น

กลไกลการคุ้มครองระดับสากล
     เรื่องการใช้แรงงานเกณฑ์นั้นได้มีการกำหนดไว้ใน ปฏิญญาสากลว่า ด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 23 เรื่องสิทธิแรงงาน (3) ว่าทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับสินจ้างที่ยุติธรรม ที่จะประกันแก่ตนและครอบครัว ซึ่งความเป็นอยู่อันควรแก่เกียรติศักดิ์ของมนุษย์ 
    และอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 29 ว่าด้วยการเกณฑ์แรงงานหรือการใช้แรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 ซึ่งได้กำหนดว่าให้ประเทศสมาชิก ซึ่งให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ต้องดำเนินการยกเลิกหรือสิ้นสุดการเกณฑ์แรงงานหรือแรงงานภาคบังคับทุกรูปแบบ และได้มีกำหนดไว้ในอนุสัญญาฉบับที่ 105 ว่าด้วยการยกเลิกแรงงานบังคับ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้แรงงานอันจะนำไปสู่ที่จะคล้ายคลึงกับแรงงานทาส จึงมีการเพิ่มเติมว่าด้วยการเลิกทาส การค้าทาส และสถาบันและการปฏิบัติคล้ายทาส ค.ศ. 1956 ซึ่งกำหนดให้เลิกวิธีการทาสในเรือนเบี้ยฯลฯ ซึ่งประเทศไทยได้มีการให้สัตยาบันรับอนุสัญญาฉบับที่ 29 ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2512 และฉบับที่ 105 วันที่ 2 ธันวาคม 2510 
    สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันยังมีแรงงานอยู่อีกประเภท คือแรงงานต่างด้าว และส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มาจากประเทศพม่า ซึ่งอาจเพราะการที่ประเทศพม่ายังไม่มีการให้สัตยาบันรับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ อาจยังคงมีการการบังคับ หรือการเกณฑ์แรงงาน โดยไม่ถูกต้องและชอบธรรม จึงน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แรงงานพม่ามีการอพยพหลั่งไหลมาขายแรงงานยังประเทศไทย แม้ว่าจะได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายแรงงานไทยกำหนดก็ตาม

กลไกลการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญไทย

ปัจจุบันรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2540 ได้มีการกำหนดเรื่องการเกณฑ์แรงงานไว้ เช่นการใช้แรงงานนักโทษ และการเกณฑ์ทหาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนำวิธีการเกณฑ์แรงงานเพื่อผลประโยชน์ทางการค้ามาใช้ โดยแรงงานเหล่านั้นไม่มีอำนาจการต่อรอง จึงถือว่าเป็นการผิดวัติถุประสงค์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ใน มาตรา 51 เรื่องการเกณฑ์แรงงาน ว่าในกรณีการเกณฑ์แรงงานจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่โดยการใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการป้องกันภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาเป็นการฉุกเฉิน หรือโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งให้กระทำได้ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก

นายปิยเชษฐ์ แคล้วคลาด ประธานสหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทยได้แสดงทัศนะถึง กรณีที่รัฐได้มีการเกณฑ์นักโทษมาทำงานว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง การรับงานจากสถานประกอบการไปให้ผู้ต้องโทษทำ การจ่ายค่าจ้างก็ไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด และถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องขัง หรือเป็นการละเมิดสิทธิคนงาน การกระทำดังกล่าวนั้น นับว่าเป็นการร่วมมือระหว่างรัฐกับนายจ้างเพื่อการลดต้นทุนการผลิต หรือทำลายผู้ใช้แรงงานในระบบซึ่งมีสวัสดิการและผู้ใช้แรงงานที่มีองค์กรสหภาพแรงงาน เป็นการไม่ชอบทางกฎหมายและอนุสัญญาระดับสากลที่มีการกำหนดไว้ เพื่อไม่ให้มีการปฏิบัติในการบังคับใช้แรงงานนักโทษ
ฉะนั้นหากมีการปฏิบัติเราก็ควรจะต้องนำข้อมูลนั้นมาตีแผรให้สังคมรับรู้ เพราะการที่มีการใช้แรงงานนักโทษเหล่านั้นนายจ้างก็จะต้องมีการทำตามเงื่อนไขตามกฎหมายแรงงานกำหนดให้ผู้ใช้แรงงานที่เป็นนักโทษจะต้องได้รับ

     รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แสดงความคิดเห็นต่อมาตรา 51 ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไทยว่า การที่จะเกณฑ์แรงงานได้นั้นมีเพียง 2 กรณีเท่านั้นคือ 1.เกิดเหตุการณฯภัยพิบัติ เช่นกรณีการที่ต้องช่วยกันกั้นเขื่อน 2. กรณีการเกิดศึกสงคราม คือสามารถเกณฑ์คนไปรบได้ นอกจากสองกรณีนี้ก็จะไม่สามารถที่จะเกณฑ์แรงงานได้ ซึ่งในสมัยหนึ่งที่ได้มีการพูดถึงลูกเสือชาวบ้านที่ทำการเกณฑ์ผู้คน และหากผู้ที่ถูกเกณฑ์ไม่เข้ามาร่วมหรือขัดขวางก็จะถูกกล่าวหาว่าไม่รักชาติแต่ในปัจจุบันจะกระทำไม่ได้ ซึ่งถือว่ามีความใกล้เคียงกับการที่มีการห้ามใช้แรงงานนักโทษ ในกรณีนี้มีเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ ( ILO.) หากมีการกระทำการฝ่าฝืน ประเทศคู่ค้าก็จะไม่ซื้อสินค้าที่ทำการผลิตนั้นๆ เหตุเพราะเป็นการใช้แรงงานนักโทษ ซึ่งอาจตีความได้ว่าเพราะกำลังใช้แรงงานที่อยู่ในระหว่างที่เขาไม่มีอำนาจต่อรองได้หรือไม่สามารถต่อรองกับนายจ้างได้ว่าราคาของชิ้นงานที่พวกเขาผลิตนั้นควรต้องมีราคาเท่าไรต่อชิ้น เพราะเขาจะถูกกำหนดให้มีหน้าที่ผลิตอย่างเดียวคือรับคำสั่งให้ทำงานจากผู้คุมเท่านั้น 
    การใช้แรงงานนักโทษจึงเป็นสิ่งที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และได้มีกำหนดไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงานว่าด้วยค่าจ้างหรือค่าตอบแทนการทำงาน หมายความว่าหากใครทำงานให้เราก็ต้องมีค่าตอบแทนให้โดยต้องไม่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำและต้องจ่ายในที่ที่ทำงานจะให้ไปรับที่สำนักงานใหญ่หรือที่อื่นๆกระทำไม่ได้ และต้องจ่ายเป็นเงินตราของประเทศนั้นจะจ่ายเป็นสกุลเงินในประเทศนายจ้าง เช่นนายจ้างสหรัฐอเมริกา หรือไต้หวันนั้นไม่ได้ ความหมายของมาตรา 51 ก็คือหากมีการใช้วิธีเกณฑ์แรงงานที่ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็จะต้องจ่ายเงินค่าจ้างไม่ต่ำกว่ากฎหมายแรงงานกำหนด และในกรณีการเกณฑ์ทหารนั้นถือว่า เป็นการเกณฑ์เพื่อการศึกสงครามเป็นการป้องกันประเทศ และช่วยบรรเทาสาธารณภัยจึงสามารถกระทำได้ 
    จึงสรุปว่าการที่ได้มีการนำนักโทษมาทำงาน หรือการที่การมีนำทหารเกณฑ์ ไปทำงานเป็นทหารรับใช้ในบ้าน หรือแรงงานด้านอื่นๆ ถือว่าเป็นการกระทำผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 อนุสัญญาระหว่างประเทศ ( ILO.) และปฏิญญาสากล เพราะการเกณฑ์ทหาร ถือว่าเป็นแรงงานบังคับ และรัฐควรคุ้มครองแรงงานทหารเกณฑ์ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้มีการกำหนดบทบาท หน้าที่ทหารเกณฑ์ และการใช้แรงานเกณฑ์ไว้ ในมาตรา 51


วาสนา ลำดี
โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูป
สนับสนุนโดยศูนย์อเมริกันเพื่อแรงงานนานาชาติ (ACILS)


แหล่งข้อมูล : https://www.thailabour.org

อัพเดทล่าสุด