Tax knowledge : เงินทำบุญลดหย่อนภาษีได้หรือไม่


1,602 ผู้ชม


Tax knowledge : เงินทำบุญลดหย่อนภาษีได้หรือไม่




สวรรค์หรือนรกมีจริงหรือไม่ ยังพิสูจน์ไม่ได้ แต่มีสุภาษิตหนึ่งเขียนไว้ว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ ก็พอจะเดาออกว่า สวรรค์หรือนรกไม่ต้องรอชาติหน้าหรอกครับ เจอกันในชาตินี้แน่นอน ใครทำความดีไว้ ความดีนั้นก็จะตอบสนองไม่ช้าก็เร็ว ใครทำความชั่วสักวันหนึ่งความชั่วที่ทำไว้ก็จะกลับมาทำร้ายคนนั้น
        หากเราหันมามองตัวเราเองเราก็ควรจะทำความดีมากๆ บ่อยๆ นอกจากจะได้บุญได้กุศลแล้ว ยังทำให้เรามีความสุขที่ได้ทำบุญทำกุศลก็เหมือนกับขึ้นสวรรค์ แต่หากเราทำชั่วไป ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของสังคม ของกฎหมายก็มีสิทธิถูกลงโทษ หรือ อาจจะทำให้เราไม่สบายใจก็ไม่ต่างอะไรกับการตกนรก มีแต่ความกังวล ความเกลียดชัง
        เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นเจ้าของบริษัททำธุรกิจขายโทรศัพท์มือถือในศูนย์การค้าชื่อดัง ค่อนข้างมีเงินมีทองเยอะแยะ แต่ชอบนินทาว่าร้ายคนอื่น มองตนเองว่าเป็นคนดีแต่คนอื่นนอกจากตนเป็นคนเลวไปหมด คนประเภทนี้ก็มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ผมไม่ค่อยได้เจอหน้าบ่อยนักเพราะเวลาเจอหน้าทีไร เพื่อนผมคนนี้ก็จะด่าชาวบ้านให้ฟัง ทั้งที่ไม่ได้ไปทำให้เดือดร้อนอะไรด้วย
        แต่บางครั้งผมก็มักจะเห็นใจเพื่อนคนนี้ของผมเพราะอาจจะเป็นคนเก็บกด คิดมาก จนไม่เป็นอันกินอันนอน ประสาทเสียไปเลยก็ว่าได้ แต่ผมก็ยังคงเห็นใจเพื่อนผมคนนี้เหมือนกัน ล่าสุดเมื่อเจอหน้ามันแบบบังเอิญ (หนีไม่พ้น) ก็เลยบอกเพื่อนว่า ว่างเมื่อไหร่ก็ไปทำบุญทำกุศลบ้างจิตใจจะได้ปลอดโปร่ง ไม่ฟุ้งซ่าน จะได้ขึ้นสวรรค์ทันทีก็คือจิตใจดีขึ้น สมองก็แจ่มใสคิดอะไรวางแผนอะไรทางธุรกิจก็จะประสบความสำเร็จ
        ปรากฏว่าได้ผลครับเพื่อนคนนี้ก็นำเงินไปทำบุญตามที่ต่างๆ วัดบ้าง ขอทานบ้าง มอบให้กับทางราชการเพื่อประโยชน์ช่วยทางราชการ หลังจากนั้นผมเจอมันอีกครั้งปรากฏว่าเพื่อนผมบอกว่า มีปัญหากับสรรพากรเรื่องทำบุญที่ผมแนะนำ สรรพากรไม่ยอมให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
        เอาละสิที่ผมบอกให้ไปทำบุญเพื่อนผมไม่ได้ใช้เงินตนเองครับ กลับเอาเงินบริษัทไปทำบุญแล้วก็เอาไปลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท โดยให้ฝ่ายบัญชีมาบันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายเป็น "ค่ากุศลสาธารณะ" ตามประมวลรัษฎากรการที่บริษัทนำเงินไปบริจาคเพื่อการกุศลสาธารณะเพื่อการสาธารณประโยชน์กฎหมายยอมให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร แต่การบริจาคหรือการทำบุญนั้นจะถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้จะต้องเป็นการบริจาคหรือทำบุญให้กับหน่วยงานดังนี้
        1. สภากาชาด หรือ กาชาดจังหวัด
        2. วัดวาอารามศาสนาใดก็ได้
        3. สถานศึกษาของทางราชการหรือเอกชน
        4. สถานพยาบาลของทางราชการ
        5. มูลนิธิหรือสมาคมที่เป็นองค์กรสาธารณกุศลตามประกาศกระทรวงการคลัง
        ดังนั้นหากคิดจะทำบุญโดยนำเงินของบริษัทไปบริจาคให้กับหน่วยงานดังกล่าวข้างต้นและมีหลักฐานในการบริจาค เช่น ใบอนุโมทนาบัตร ใบเสร็จรับเงิน หนังสือขอบคุณที่ระบุรายละเอียดการบริจาค ก็สามารถนำมาถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร
        แต่หากบริษัทนำเงินหรือสิ่งของไปบริจาคให้กับส่วนราชการจะถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากส่วนราชการไม่ใช่องค์กรสาธารณกุศล ยกเว้นจะมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าการบริจาคให้กับส่วนราชการดังกล่าวเพื่อการสาธารณประโยชน์ เช่น บริจาคเงินสร้างสะพานลอยข้ามถนนแล้วยกให้ส่วนราชการเพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ บริจาคเพื่อการสาธารณภัยน้ำท่วม ถ้าอย่างนี้สรรพากรก็ยอมให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้าม


แหล่งข้อมูล :ผู้จัดการรายสัปดาห์


อัพเดทล่าสุด