'CEO&HR' ผนวกภารกิจเพิ่มพลังความสามารถองค์กร


742 ผู้ชม


'CEO&HR' ผนวกภารกิจเพิ่มพลังความสามารถองค์กร




        ผนวกภารกิจครั้งสำคัญของ CEO กับ HR ที่ต้องกอดคอกันรับบท "strategic partnership"อย่างถึงลูกถึงคน เพื่อนำพาองค์กรไต่ระดับความสามารถทางการแข่งขัน ขึ้นไปยืนผงาดเหนือโลกธุรกิจให้ได้ มุมสะท้อนของความร่วมแรงร่วมใจที่ส่งผ่านจาก 3 CEO ใน 3 ธุรกิจแถวหน้า : การเงิน-บริการการบิน-ค้าปลีก ถือเป็นอีกประกายความคิดขององค์กรรุ่นใหม่ที่ต้อง "วัดรอยเท้า" แล้วก้าวตามให้ทัน
       บทบาทระหว่าง CEO กับ HR ในฐานะหุ้นส่วนกลยุทธ์ (strategic partnership) กำลังเปล่งประกายมากขึ้นเรื่อยๆท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและบีบคั้นทุกขณะในปัจจุบันคนคู่นี้จะมีกระบวนทัศน์ในการสร้างขีดความสามารถให้องค์กรได้อย่างไร? ท่ามกลางคำกล่าวขวัญที่ว่า ทุกวันนี้ HR กำลังเป็นมือขวาของ CEO ในขณะที่ตัว CEO ยุคใหม่เอง ก็จะต้องเล่นบท HR ควบคู่กันไปด้วย
      มุมสะท้อนของ "สองแรงแข็งขัน" เพื่อหลอมรวมทิศทางองค์กรให้เป็นหนึ่ง ผ่าน 3 CEO ระดับแม่เหล็ก อย่าง "กรพจน์ อัศวินวิจิตร" จากธนาคารออมสิน "กนก อภิรดี"จากการบินไทย และ "ดุสิต นนทะนาคร" จากปูนซิเมนต์ไทย
      นับเป็นประสบการณ์ที่ไม่เล็กเลย สำหรับการจุดประกายความคิดให้ "CEO มือใหม่ไ และ "HR ที่กำลังหัดขับ" ในเวลานี้...ธนาคารออมสินขับเคลื่อนผ่านกลยุทธ์ REF
       หลังจากที่ "กรพจน์ อัศวินวิจิตร" ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เข้ามาบริหารงานในองค์กรเก่าแก่แห่งนี้ สิ่งที่เขา drive เพื่อให้ออมสิน ขับเคลื่อนต่อไปได้ในอนาคตคือ การประเมินสรรพกำลังของคนที่มีอยู่ ทั้งในระดับบน กลาง และล่าง ว่ามีภาวะผู้นำในระดับไหน และเตรียมการรองรับสำหรับคนรุ่นต่อไป (generation change) ที่จะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญ
       กลยุทธ์ REF อันได้แก่ R : Restructuring เป็นการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ให้ทราบว่าทิศทางขององค์กรจะเดินไปทางไหน? งานต่างๆ ที่จะต้องทำมีอะไรบ้าง? พนักงานพร้อมหรือไม่ที่จะเดินไปทางนั้น? โดยธนาคารจะพัฒนาเพิ่มเติมให้ด้วย แต่ถ้าหากพนักงานไม่พร้อมก็จะเข้าสู่โครงการต่อไป
      E : Early Retired เป็นโครงการเกษียณอายุ สำหรับพนักงานที่ไม่พร้อมจะก้าวไปในทิศทางที่องค์กรต้องการ โดยออมสินจะให้เงินก้อนเมื่อเกษียณก่อนอายุ ในอัตราเดียวกับโครงสร้างของราชการและรัฐวิสาหกิจ
       F : Fast Track เมื่อทราบถึงจำนวนตัวเลขพนักงานที่แท้จริง หลังจากโครงการเกษียณ อายุแล้ว จึงดำเนินโครงการต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานทุกคนได้รับรู้ถึงเงื่อนไขต่างๆ ในการเลื่อนตำแหน่งงานให้เร็วขึ้น เรียกว่า "ทางด่วนผู้บริหาร" โดยใครที่มีความสามารถก็จะพิจารณาเป็นพิเศษ
       "สิ่งที่ผมทำคือ เปลี่ยนความรักและความหวงแหนให้ชัดเจนขึ้น มีมูลค่าเพิ่มในการที่จะสร้างการขับเคลื่อนองค์กร"
แนวทางบริหารของเขาคือ การเตรียมความพร้อมในขีดความสามารถของพนักงานในองค์กร เพื่อสร้างความได้เปรียบ และมุ่งประเด็นหลักไปที่การปรับตัว ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้องค์กรไปสู่ความสำเร็จการบินไทยพัฒนาคนด้วยไอเดีย SHARK
       ข้อคิดของ SHARK ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับเครื่องดื่มชูกำลังฉลามบุก เป็นกุศโลบาย 5 ปัจจัยที่ "กนก อภิรดี" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แบ่งปันเวลาเพื่อปฐมนิเทศน์พนักงานใหม่ของการบินไทย เป็นการหลอมสู่เบ้าที่เขาดำเนินการต่อเนื่องกันมา 3 ปี ใช้เวลาครั้งละ 2 ชั่วโมง
       กนกใช้วิธีตั้งคำถามกับเลือดใหม่ของการบินไทยว่า พนักงานจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างไร? ต้องเริ่มต้นที่ S : Skill หรือการสร้างทักษะและสปีดในการทำงานด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง H : Habit ฝึกสิ่งที่ทำเป็นปกติวิสัยให้สอดคล้องกับงาน เลือกงานอดิเรกให้สอดคล้องกับงาน เช่น ตัวเองชอบตีกอล์ฟ แต่อาจจะเลือกไปตีเทนนิสกับลูกค้าเพื่อสร้างความสัมพันธ์ A : Attitude คือเจตคติในเชิงบวกและลบ ต้องเลือกว่าองค์กรอยากได้คนแบบไหนอยู่ในองค์กร แล้วก็ช่วยกันสร้างให้เข้มแข็ง ด้วยการสรรหาจุดแข็งแต่ละคน แต่ละฝ่ายเข้ามา 
       R : Role คือบทบาทของการทำและพูด บทบาทของคนสำคัญ จังหวะในการแสดงออกใน โอกาสไหน เป็นการประพฤติปฏิบัติให้สอดคล้อง กันและถูกโอกาสเพื่อให้เติบโตต่อไป
       K : Knowledge ต้องเสริมสร้างความรู้ตลอดเวลา เพราะการเพิ่มพูนความรู้สามารถช่วย ได้หลายอย่าง
       "บทบาทของผู้บริหารที่จะต้องดำเนินการมีหลายวิธีทั้งไทยและฝรั่ง ผมใช้วิธีเดินสายบรรยาย กระตุ้นให้พนักงานได้เข้าใจ และสร้างความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้นได้ในแบบไทยๆ ต้องทำตัวเองให้เป็นตัวอย่าง ต้องนำและแสดงให้ดูว่าการเพิ่มความสามารถทำได้ไง? ต้องริเริ่มสิ่งใหม่ๆ และทำงานเชิงรุกมากขึ้น" เขาย้ำว่าการทำปัจฉิมนิเทศน์พนักงานใหม่ ถือเป็นการสร้าง productive employee ให้กับองค์กร ภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานจริง
        ค้าวัสดุซิเมนต์ไทยพร้อมเสมอทุกการเปลี่ยนแปลง
       ในองคาพยพแห่งความเป็นเครือซิเมนต์ไทยไม่ต้องบอกอะไรมากว่าเป็นสถาบันที่ให้ความสำคัญกับคนมากมายขนาดไหน? เพราะถ้าเอาแผ่นกระเบื้องที่ออกจากโรงงานในเครือปูนฯ ไปปูให้ทั่วประเทศไทย เชื่อว่าไม่กี่วันก็ปูเสร็จ ด้วยความพร้อมและขีดความสามารถของคนที่ปูนซิเมนต์ไทยได้วางรากฐานเอาไว้
       ความสามารถของบริษัทในเครือปูนฯ มาจากการจัดองค์กรให้เกิดความพร้อม และเป็นความพร้อมในระดับที่แข่งขันกับนานาอารยะประเทศได้ "ในปัจจุบันเราต้องแข่งขันกับต่างประเทศมากขึ้น ฉะนั้นเราต้องมีความพร้อมให้สูง เพื่อให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้" ดุสิต นนทะนาคร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ค้าวัสดุซิเมนต์ไทย จำกัดกล่าว
       เขาบอกว่า สิ่งสำคัญสำหรับผู้บริหารคือ การมีวิสัยทัศน์ ความสามารถในการคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคต รวมทั้งการเปรียบเทียบองค์กร (benchmark) กับองค์กรที่เป็นเลิศในธุรกิจ
       นอกจากนี้ ผู้บริหารต้องรักษาความเป็นผู้นำ รู้จักปรับองค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยน แปลงให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของบุคลากรร่วมกับฝ่าย HR ตลอดจนการวาง แผนที่ชัดเจนในการดูแลบุคลากร และพัฒนาให้มีความ  สามารถเพื่อการปฏิบัติอย่างเต็มศักยภาพ
       และทั้งหมดนี้ก็คือประสบการณ์ไม่เล็ก ที่ส่งผ่าน 3 CEOแถวหน้า สำหรับประกายความคิดใหม่ๆ ของบรรดา "CEO มือใหม่" และ "HR หัดขับ" ที่คิดจะเอาดีกับสถานภาพ "หุ้นส่วนกลยุทธ์"

แหล่งที่มา : ผู้จัดการรายสัปดาห์


Send this page to a friend

อัพเดทล่าสุด